เป็นระยะเวลา 45 ปีแล้ว หลังเกิดเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 หรือ เหตุการณ์ที่สื่อต่างชาติเรียกว่า “6 October 1976 Massacre” โศกนาฏกรรมทางการเมืองของประเทศไทยที่ยังคงหลอกหลอนประชาชนจนถึงทุกวันนี้ กับการใช้กำลังทหารปราบปรามและสังหารนิสิตนักศึกษา ที่มาร่วมชุมนุมประท้วงการเดินทางกลับประเทศของ ‘จอมพล ถนอม กิตติขจร’ อดีตนายกรัฐมนตรี 4 สมัย ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516
เกิดอะไรขึ้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519
เช้ามืดของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ซึ่งเป็นสถานที่จัดการชุมนุมของกลุ่มนิสิตนักศึกษา ถูกปิดล้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจพร้อมอาวุธครบมือ และประมาณ 05.30 น. ได้มีการยิงลูกระเบิด M-79 ลงมากลางสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ระเบิดลูกดังกล่าวถูกคาดการณ์ว่า เป็นสัญญาณเริ่มต้นของการเข้าสลายการชุมมนุม และเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเป็นทางการ
หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารพร้อมอาวุธสงคราม และกองกำลังกึ่งทหารอย่างกลุ่มลูกเสือชาวบ้านและกระทิงแดงจำนวนหนึ่ง ได้จู่โจมเข้าไปภายในมหาวิทยาลัยเพื่อปราบปรามนักศึกษาที่รวมตัวชุมนุมประท้วง เกิดการสังหารกลุ่มนักศึกษาด้วยอาวุธสงคราม และวิธีการต่างๆ อาทิ การแขวนคอ รวมไปถึงการทำอนาจารนักศึกษาหญิงและการตะโกนสาปแช่ง
ช่วงเวลาประมาณ 11.00 น. เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมสถานการณ์ทั้งหมดไว้ได้ และสั่งให้กลุ่มนักศึกษาและประชาชนผู้ร่วมชุมนุมราว 1,000 คน ถอดเสื้อและนอนลงกับพื้น
รายงานของทางการไทยระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว 46 ราย มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 167 ราย และ มีนิสิตนักศึกษาถูกจับกุมตัวกว่า 3,000 ราย อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้เสียชีวิตที่แท้จริงยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากบันทึกประจำวันของมูลนิธิร่วมกตัญญูระบุว่ามีผู้เสียชีวิตกว่า 500 ราย ขณะเดียวกัน ก็ยังไม่เคยมีการสืบสวนสอบสอนหาผู้กระทำความผิดในเหตุการณ์ 6 ตุลา อย่างเป็นทางการแต่อย่างใด
พิธีรำลึกครบรอบ 45 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลา 19
หลังจากที่มีข้อกังวลถึงการจัดงาน ‘ครบรอบ 45 ปี 6 ตุลา 2519’ ประจำปี 2564 ของคณะกรรมการจัดงาน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในที่สุด วันนี้ (6 ตุลาคม 2564) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ก็ได้มีการจัดงาน ‘ครบรอบ 45 ปี 6 ตุลา 2519’ ประจำปี 2564 ตามความตั้งใจของคณะผู้จัดงาน โดยมีนักการเมืองและนักเคลื่อนไหวหลายคนเดินทางเข้ารวมงานตั้งแต่ช่วงเช้า อาทิ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า, นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมนปช. รวมถึงตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นอกเหนือจากการจัดกิจกรรมรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว ยังมีการมอบรางวัล ‘จารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อประชาธิปไตย’ ซึ่งคัดเลือกโดยสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะองค์กรหนึ่งในคณะกรรมการจัดงานรำลึก โดยผู้ที่ได้รับรางวัลในปี 2564 คือ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน นักเคลื่อนไหวซึ่งอยู่ระหว่างถูกคุมขัง โดยมีนางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของเพนกวินเป็นผู้รับรางวัลแทน
เหตุการณ์ 6 ตุลา กับสังคมไทยในยุคปัจจุบัน
สำนักข่าว AP รายงานว่า คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันมีความสงสัยต่อเหตุการณ์ 6 ตุลา ปี 2519 การจัดพิธีรำลึกจึงกลายเป็นจุดสนใจของผู้คนต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาบนโลกออนไลน์ ที่มาพร้อมกับกระแสการชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบัน ส่งผลให้มีผู้เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่มีชื่อว่า “โครงการบันทึก 6 ตุลา” ที่จัดบนโลกออนไลน์มากกว่า 1.3 ล้านครั้ง
ภัทรภร ภู่ทอง ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AP ที่เผยแพร่เมื่อปี 2563 ว่า คนรุ่นใหม่ไม่เพียงแต่จะตั้งคำถามถึงประเด็นทางการเมืองหรือประเด็นทางสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน หากแต่ยังต้องการหาคำอธิบายถึงสาเหตุและปัญหาของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต ที่ส่งผลกระทบต่อพวกเขาในปัจจุบันด้วย
ด้านอาจารย์ พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความเห็นกับสำนักข่าว AP เมื่อปี 2563 ว่า เมื่อลองพิจารณาถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 แล้ว จะเห็นถึงความเชื่อมโยงของเหล่าผู้มีอำนาจและทรงอิทธิพลในสังคมไทยกับเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้มีอำนาจไม่ต้องการให้ประชาชนจดจำหรือรำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา
ขณะที่ Kingsley Abbot ที่ปรึกษากทางฎหมายของคณะกรรมาธิการลูกขุนระหว่างประเทศ กล่าวกับนิตยสาร TIME ที่เผยแพร่เมื่อปี 2559 ว่า “ไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องรับผิดชอบต่อการสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” และ “เหตุการณ์ดังกล่าวได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมการไม่ต้องรับโทษ ที่ยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย จนส่งผลเสียหายต่อการปรองดองที่แท้จริงในสังคม”
เรียบเรียงจาก:
https://bit.ly/2YtJT67
https://bit.ly/3leqf6y
https://bit.ly/3Fg7rMt
https://reut.rs/3Fmc9Iw
https://bit.ly/3oD7HiM
https://bit.ly/3ldGOQ4
https://bit.ly/3leUkDi
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#thailandnews
ติดตามข่าวสารอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/category/news/