ทำความเข้าใจ พระราชกำหนดกู้เงินฉุกเฉินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท

39
พระราชกำหนดกู้เงินฉุกเฉิน

หลังจากที่เรื่อง ‘พระราชกำหนดกู้เงินฉุกเฉิน’ เป็นประเด็นร้อนในช่วงสัปดาห์นี้ ทำให้หลายๆ คนอาจจะเกิดคำถามว่าแล้วพระราชกำหนดกู้เงินฉุกเฉินคืออะไร และจะส่งผลอย่างไรต่อประเทศ?

ทาง Mission To The Moon ได้รับเกียรติพูดคุยกับ ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่จะพาเราทุกคนไปทำความเข้าใจพระราชกำหนดกู้เงินฉุกเฉินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาทให้มากขึ้น และตอบทุกข้อสงสัยคาใจเรื่องเศรษฐกิจไทยและหนี้สินครัวเรือนในปัจจุบัน!

พระราชกำหนดกู้เงินฉุกเฉินเพิ่มเติมห้าแสนล้านบาทคืออะไร

พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน 5 แสนล้านบาทในปีนี้ เป็นเหมือนภาคสองของพ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาทของปีที่แล้ว ซึ่งพ.ร.ก.ชุดใหม่นี้ก็เกิดขึ้นมาจากความจำเป็นจากการที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19

ซึ่งเข้าใจว่ารัฐนั้นคิดว่า พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านในปีที่แล้วจะเพียงพอต่อการรับมือกับการระบาด แต่ด้วยสถานการณ์ที่ยืดเยื้อมาถึงระลอกที่ 2 และระลอกที่ 3 เม็ดเงินจากพ.ร.ก. ในปีที่แล้วนั้นไม่เพียงพออีกต่อไป ทำให้รัฐบาลตัดสินใจที่จะกู้เพิ่มเพื่อใช้ในการเยียวยาเศรฐกิจ

โดยทั้งสองพ.ร.ก.มีกรอบการใช้จ่ายคล้ายๆ กัน โดยจะมีการแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ  คือ ส่วนของสาธารณสุข ส่วนของการช่วยเหลือเยียวยา และส่วนของการฟื้นฟู ในส่วนของพ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน 5 แสนล้านบาท สาธารณสุขได้ไป 3 หมื่นล้านบาท การช่วยเหลือเยียวยาได้ไป 3 แสนล้านบาท และในส่วนของการฟื้นฟูจะได้ไป 1.7 แสนล้านบาท

แต่แน่นอนว่าผลกระทบจากโควิดจะมีทั้งในระยะสั้นและระยะปานกลาง ดังนั้น เม็ดเงินที่จะใช้ไปกับการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจนั้นก็จะสำคัญมาก และถ้าหากเราสามาถควบคุมสถานการณ์ได้เร็ว เราก็จะมีเม็ดเงินเหลือที่จะเอาไปใช้ในการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจมากขึ้น ที่จะตอบโจทย์การพัฒนาในระยะปานกลางและระยะยาวมากกว่า

รัฐบาลควรมีการจัดสรรเม็ดเงินนี้อย่างไรเพื่อให้ประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ

เนื่องจากวิกฤตนี้เกิดจากโรคระบาด สิ่งแรกที่ควรจะต้องทำคือ #การควบคุม ทำอย่างไรให้สามารถควบคุมโรคระบาดให้ได้อย่างเร็วที่สุด ทั้งในแง่ของการตรวจและการจัดหาวัคซีนให้เพียงพอ เพราะถ้ายังมีการควบคุมสถานการณ์ที่ไม่ดีพอและการฉีดวัคซีนที่ยังไม่มากพอ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว

สิ่งต่อไปคือ #การเยียวยา อย่างที่เราทุกคนเห็นกันว่าหลากหลายธุรกิจได้รับผลกระทบกันอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง จะเห็นได้ว่าการกลับมาในระลอก 3 นี้ส่งผลรุนแรงกว่าการระบาดในระลอก 2 เสียอีก ทำให้กลุ่มคนบางกลุ่มนั้นขาดรายได้จริงๆ รัฐจึงจะต้องมีมาตรการการเยียวยาที่รัดกุมกว่าเดิมเข้ามาช่วย

อีกเรื่องที่น่ากังวลคือเรื่องของ #การจ้างงาน ถึงแม้ว่าในตอนนี้อัตราการว่างงานอยู่ที่ 2% แต่คนที่กำลังทำงานอยู่ในปัจจุบันกลับมีรายได้และเวลางานที่ลดลงอย่างมาก รวมถึงยังมีคนที่ปรับเปลี่ยนสายงานไปยังสายที่ตัวเองนั้นไม่ถนัดและมีรายได้ที่ลดน้อยลง จำนวนกว่า 2 – 3 ล้านคน ดังนั้น มาตรการที่ออกมาก็จะต้องตอบโจทย์ 3 ส่วนเหล่านี้เป็นหลัก และยังมีเรื่องของ SMEss ที่เราจะพูดถึงในคำถามต่อๆ ไป

รัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือการจ้างงานอย่างไร

ในฝั่งยุโรป มาตรการด้านแรงงานที่ออกมาก็จะเน้นไปที่การให้เงินช่วยเหลือ SMEs เพื่อให้ธุรกิจสามารถรักษาแรงงานให้อยู่กับงานเดิม ในอีกทางหนึ่ง ฝั่งสหรัฐฯ ก็จะใช้มาตรการที่แตกต่างออกไป คือการปล่อยให้ธุรกิจปิดตัวไปตามกลไกตลาด แต่ทางรัฐก็ยังมีเงินช่วยเหลือให้ผู้คนนั้นหันไปทำธุรกิจใหม่ๆ มากขึ้น

ในส่วนของประเทศไทย ก็อาจจะไม่ได้มีมาตรการที่ดูแลเรื่องการจ้างงานตรงๆ แต่ที่ออกมาก็จะมี ‘โครงการจ้างเด็กจบใหม่’ ที่เป็น Co-payment ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน แต่ก็มีจำนวนผู้เข้าร่วมที่น้อยมากและยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร

ซึ่งก็ควรที่จะมีเม็ดเงินเข้ามาสนับสนุนการจ้างงานมากขึ้น ไม่ควรโฟกัสอยู่ที่แค่เด็กจบใหม่เท่านั้น เพราะปัญหานี้ส่งผลกระทบกับแรงงานในหลายๆ กลุ่ม และนอกจากการจ้างงาน ก็ควรที่จะให้ความสำคัญกับการรักษาแรงงานด้วยเช่นกัน ซึ่งคาดว่าในรอบนี้มาตรการที่ออกมาก็จะต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือกลุ่มแรงงานหลายๆ กลุ่ม

สถานการณ์ของกลุ่ม SMEs เป็นอย่างไร

ปัญหาของ SMEs ในประเทศไทยนั้นถือว่ารุนแรงมาก เพราะ SMEs ส่วนมากนั้นจะอยู่ในภาคส่วนของการท่องเที่ยวและกลุ่มร้านอาหารต่างๆ เป็นหลัก แต่สิ่งสำคัญคือเราไม่ได้เจอแค่ความท้าทายทางด้านโควิดอย่างเดียวเท่านั้น จริงๆ แล้ว SMEs เหล่านี้ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ก่อนการระบาดเสียอีก ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการแข่งขันที่มากขึ้นหรือการแข่งขันกับผู้เล่นรายใหญ่ โดยจากฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจในปี 2019 พบว่ามีแค่เพียง 1% จากนิติบุคคลทั้งหมดที่กินส่วนแบ่งยอดขายทั้งหมดถึง 74% เท่ากับว่าถ้าหากมีนิติบุคคล 400,000 ราย มีเพียง 4,000 รายเท่านั้น ที่กินส่วนแบ่งยอดขายจำนวน 74% นี้ ทำให้เห็นว่าการแข่งขันค่อนข้างที่จะมีความรุนแรงมาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการเข้ามาของดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ได้เข้ามาท้าทายการอยู่รอดของ SMEs สังเกตได้จากพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป คนที่ทำธุรกิจออฟไลน์อย่างเดียว แน่นอนว่ายอดขายลดลงอย่างมาก แต่คนที่ปรับตัวเข้าสู่ออนไลน์ได้ยอดขายกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

Advertisements

ในส่วนของ #การปรับตัวของธุรกิจขนาดเล็กไปถึงขนาดกลาง ก็ควรที่จะดูแลงบดุลของธุรกิจให้ดี ทำการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้น โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้มากขึ้น เพราะพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไป ธุรกิจก็จะต้องทำความเข้าใจและปรับตามลูกค้าให้เร็ว ซึ่งในเรื่องของเครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆ ภาครัฐก็ควรที่จะเข้ามามีส่วนในการจัดหาให้ SMEs เหล่านี้เช่นกัน

จะเห็นก้าวใหม่ของประเทศไทยหลังโควิดไหม

ในการที่จะเกิด ‘New S-Curve’ แน่นอนว่าประเทศไทยเราก็ยังพอมีจุดแข็งอยู่ คือเรื่องของท่องเที่ยวและด้านของสุขภาพ แต่อาจจะต้องปรับไปที่การสร้าง High Value Tourism เป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวในเชิงของการอนุรักษ์ธรรมชาติและวัฒนธรรม รวมถึงการปรับการท่องเที่ยวไปให้ตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งเม็ดเงินของภาครัฐก็สามารถที่จะเข้ามาสนับสนุนในส่วนนี้ได้

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการ #Reskill และ #Upskill ของคนในทุกๆ ภาคส่วน เราจะต้องปรับทักษะแรงงานไทย เพราะเราไม่สามารถที่จะเติบโตแบบเดิมได้อีกต่อไปเหมือนในยุคก่อนโควิด และส่วนนี้ก็จะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยนั้นสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้ ซึ่งรัฐก็ควรจะเอาการปรับทักษะนี้เข้ามาเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติในช่วง 2 ปีนี้

ในการที่จะทำให้การ Reskill และ Upskill ควรจะจัดทำเป็นในเชิงของพาร์ทเนอร์ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership) สิ่งที่ภาครัฐทำในสมัยก่อน อาจจะเน้นไปที่ Input มากเกินไปแต่ไม่ได้ไปวัดผลลัพธ์ที่ออกมาว่ามีประสิทธิภาพจริงหรือไม่

อย่างในประเทศสิงคโปร์ที่มีการให้ประชาชนเข้าไปประเมินทักษะตัวเองในเว็บไซต์ แล้วดูว่าตัวเองแมทช์กับงานไหนในอนาคตหรือไม่ และยังมีคอร์สเรียนฟรีสำหรับคนที่อยากจะเพิ่มทักษะ โดยภาครัฐก็จะช่วยในการแมทช์ทักษะที่มีกับตำแหน่งงานในบริษัท SMEs และยังจ่ายเงินเดือนให้เต็มๆ 1 ปีอีกด้วย

และเนื่องจากในประเทศไทย รายได้ของรัฐเริ่มน้อยลงบวกกับรายจ่ายของผู้สูงอายุที่มากขึ้น รวมถึงคนรุ่นหนุ่มสาวที่มีจำนวนน้อยลง ทำให้มันเป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้สูงอายุและผู้ปลดเกษียณจะต้อง Reskill ด้วยเช่นกัน เพื่อที่จะทำให้พวกเขานั้นหาเลี้ยงชีพไปได้ด้วยตัวเอง

และถ้าหากถามว่าเม็ดเงินที่ใช้ไปนั้นได้ผลหรือไม่ ก็จะต้องดูว่าหลังใช้พ.ร.ก.นี้ไป มันได้เข้าไปช่วยให้เรามีโอกาสสร้างรายได้ได้มากขึ้นหรือไม่ มีทักษะที่ตรงกับความต้องการตลาดมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งตัวนี้จะเป็นตัวที่ตอบโจทย์ว่าเราจะเติบโตได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ในอนาคต

ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเกิดสภาวะเงินเฟ้อในขณะที่เศรษฐกิจถดถอยหรือไม่

‘Stagflation’ คำที่ช่วงนี้เราได้ยินอยู่บ่อยๆ ที่ได้อธิบายถึงการมีสภาวะเงินเฟ้อที่สูง ในขณะที่เศรษฐกิจถดถอย โดยเริ่มมาตั้งแต่ช่วง 1970 ที่เศรษฐกิจโลกเจอกับปัญหา Oil Shock แต่ในปีนี้ สำหรับประเทศไทยแน่นอนว่าเงินเฟ้อจะเป็นบวก และในฝั่งเศรษฐกิจของเราก็ยังดูซบเซาอยู่ แต่ไม่ได้เป็นผลมาจากเรื่องของราคาน้ำมัน แต่เป็นเรื่องของการที่เศรษฐกิจโลกนั้นเติบโตไปอย่างรวดเร็ว แต่เรากลับเติบโตไม่ทัน ซึ่งจริงๆ แล้วนอกเหนือจากราคาน้ำมันแล้ว ราคาสินค้าอื่นๆ ก็ไม่ได้มีราคาสูงตามไปด้วย จึงคิดว่าไม่น่าเป็นกังวลสักเท่าไหร่ คาดว่าเดี๋ยวอัตราเงินเฟ้อก็จะลดลงมา

แต่จริงๆ แล้วอาการของประเทศไทยอาจจะเป็นเรื่องของ Deflation มากกว่า เพราะหนี้ครัวเรือนสูงมาก ทำให้กำลังซื้อของบ้านเรานั้นหดหายไปค่อนข้างเยอะ ซึ่งการพักหนี้ที่ธนาคารแห่งชาติให้ธนาคารต่างๆ ช่วยพักหนี้อยู่ ไม่ได้แปลว่าหนี้ต่อครัวเรือนจะลดลง แต่แค่เป็นการพักและยืดเวลาชำระหนี้ออกไปเท่านั้น

#missiontothemoonpodcast

#mission #missionhotspot

#พอดแคสต์

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements