ผู้พิทักษ์ความรุนแรง ‘Police Brutality’ ที่โหดร้ายเพราะนายสั่งมา?

642
Police Brutality

ถ้าให้นับเหตุการณ์ความรุนแรงของตำรวจกับประชาชนที่ ‘ตกเป็นข่าว’ ภายในเดือนสิงหาคมนี้ ก็สามารถไล่มาได้ตั้งแต่การสลายการชุมนุมที่ทำเกินกว่าเหตุ มีการใช้ทั้งแก๊สน้ำตา และกระสุนปืนยาง จนทำให้มีผู้ร่วมชุมนุมบาดเจ็บถึงขั้นตาบอด ไปจนถึงการใช้กระสุนปืนจริง จนมีเด็กอายุเพียง 15 ปีถูกยิงบาดเจ็บสาหัส 

หรืออย่างประเด็นร้อนแรงที่สุดในตอนนี้ กับกรณี #ผู้กำกับโจ้ ที่ใช้ถุงพลาสติกคลุมหัวผู้ต้องหายาเสพติดจนเสียชีวิต

เรียกได้ว่าเราสามารถพบเห็นเหตุการณ์การใช้ความรุนแรง ถูกอุ้มหาย และซ้อมทรมานของตำรวจกันผ่านหูผ่านตา จนกลายเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่ไม่ควรเป็นปกติ ปรากฏอยู่บนสื่อแต่ละช่องทางกันมาโดยตลอดครั้งแล้วครั้งเล่าในประเทศไทย

Advertisements

ทำไมสิ่งเหล่านี้ยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในไทย?

‘Police Brutality’ หรือการใช้ความรุนแรงของตำรวจ ส่วนใหญ่มักถูกอ้างว่าเป็นเพราะ “นายสั่งมา” แบบที่มักจะได้ยินจากปากตำรวจชั้นผู้น้อยใช้พูดกัน ทั้งในเหตุการณ์สลายการชุมนุม มาจนถึงลูกน้องผู้กำกับโจ้ที่ถูกจับกุมไปก่อนตัวเจ้านายที่สั่งการเสียอีก สาเหตุความรุนแรงทั้งหมดนี้ล้วนเกิดจากการถูกสั่งมาของผู้มีอำนาจชั้นผู้ใหญ่… แค่นั้นจริงๆ เหรอ?

ในทางจิตวิทยาสามารถอธิบายสาเหตุการเกิด Police Brutality ออกมาเป็น 2 ปัจจัย คือ

ปัจจัยระดับบุคคล – สภาพจิตใจ

จากการสำรวจในปี 2019 พบว่า การฝึกซ้อมที่รุนแรงของตำรวจส่งผลต่อสุขภาพจิตตำรวจหลายนายให้เกิดอาการ Post-Traumatic Stress Disorder (PTSD) หรือสภาวะจิตใจที่ถูกกระทบกระเทือนอย่างหนักหลังผ่านเหตุการณ์อันเลวร้ายมา อย่างที่เราเห็นได้จากข่าวการถูกสั่งสอน ฝึกโหด ซ้อมกันจนตายของตำรวจและทหาร แบบที่หลุดออกมาให้เห็นในข่าวกันอยู่เป็นประจำ

จากอาการ PTSD นี่เองที่ทำให้มีแนวโน้มเกิดเป็น Startle Response หรือการโต้ตอบที่มากเกินไปจนกลายเป็นความรุนแรง จากความต้องการป้องกันตนเอง และแสดงออกผ่านการใช้อำนาจในการใช้กำลังกับผู้อื่นเกินความจำเป็น

และอาจเป็นเพราะอาการทางจิตที่พบได้ยาก อย่างอาการ Antisocial Personality Disorder (APD) ที่ผู้ป่วยจะไม่สนใจว่าสิ่งใดถูกผิด หรือไม่แม้แต่ใส่ใจความรู้สึกของผู้อื่น เพียงแค่อยากแสดงออกถึงอำนาจและการควบคุมที่อยู่เหนือกว่าผู้อื่นเท่านั้น

หรือพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้อาจเป็นผลมาจากประสบการณ์ส่วนตัว อคติ ความเกลียดชัง โดยระบายผ่านการใช้อำนาจกดขี่คนอื่นที่อ่อนแอกว่าหลังจากก่อนหน้านี้ถูกกดขี่มาอีกที

ปัจจัยระดับองค์กร – สภาพแวดล้อม

เมื่อการใช้อำนาจของตำรวจไม่ได้มีขอบเขตที่ชัดเจน ทำให้ตำรวจมีสิทธิ์ใช้อำนาจได้อย่างอิสระ จนบางครั้งกลายเป็นการใช้กำลังเกินจำเป็น แถมสุดท้ายก็ยังมีการคุ้มครองจากภายในองค์กรด้วยกันเอง ไม่ต้องถูกลงโทษเท่าที่ควรจะเป็น เพียงแค่กล่าวว่า “เป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อพิทักษ์สันติราษฎร์” แล้วนั้น การใช้ความรุนแรงของตำรวจก็กลายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในทันที

ระบบในองค์กรที่ไม่ดีมาตั้งแต่ต้น สร้างช่องโหว่ในการสนับสนุนการกระทำความผิด ทำให้การใช้อำนาจโดยมิชอบของตำรวจนั้นถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติ หากเป็นประชาชนทั่วไปก่อคดีในรูปแบบเดียวกันแล้วนั้น ก็อาจจะมีตอนจบที่ไม่ค่อยสวยเท่าไรนัก ถ้าคนคนนั้นไม่ใช่ตำรวจ หรือมีเงินไม่มากพอ

ผู้พิทักษ์ ‘สันติราษฎร์’ หรือพิทักษ์ ‘ความรุนแรง’?

การใช้กำลังเกินกว่าเหตุเช่นนี้ของตำรวจ ล้วนเริ่มต้นมาจากการถูกปลูกฝังความรุนแรงจนกลายเป็นรากลึกฝังแน่นในองค์กร และดูไม่มีทีท่าว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในทิศทางที่ดีขึ้นในเร็วๆ นี้

เพราะแม้จะมีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย รวมทั้งมีการสนับสนุนให้ปรับปรุง พ.ร.บ. ตำรวจกันไปแล้ว แต่ตอนนี้ก็ยังคงไม่มีความคืบหน้าใดๆ เพิ่มเติมขึ้นมาบ้างเลย 

ถึงจะบอกว่าตำรวจดีๆ ก็มี อย่าเหมารวม แต่ความจริงแล้วอาชีพนี้ไม่ควรมีคนไม่ดีเลยตั้งแต่แรกแล้วหรือเปล่า?

Advertisements

ไม่เช่นนั้น ประชาชนจะสามารถหันไปหวังพึ่งใครได้ ในเมื่อผู้ร้ายกลับกลายเป็นตำรวจเสียเอง

เชื่อว่าตำรวจหลายนาย อาจเข้าไปตอนแรกด้วยอุดมการณ์ และความยุติธรรมที่เต็มเปี่ยม แต่เพราะระบบในองค์กรที่ถูกปลูกฝังมาตลอดการเรียน 4 ปี และถูกครอบงำต่อด้วยคำว่า “นายสั่งมา” จนกัดกินความมุ่งมั่นที่เคยตั้งใจไว้ในตอนแรก กลายมาเป็นความรุนแรงที่เกิดจาก “ใจสั่งไป” ให้ทำตามความเคยชิน

อนาคตข้างหน้า หากยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงภายในระบบใดๆ ให้ดีขึ้นกว่านี้ 

ถ้าลองถามเด็กๆ ว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร?” ในอนาคต

คงไม่มีคำว่า “ตำรวจ” ออกมาจากปากเด็กคนไหน 

หรือผู้ปกครองคงขอลูกหลานตัวเองแค่ว่า “โตไปเป็นอะไรก็ได้ แต่อย่าเป็นตำรวจก็พอ”

และเพื่อไม่ให้เป็นเช่นนั้น ในตอนนี้เราควรถึงเวลา #ปฏิรูปตำรวจ กันได้แล้วหรือยัง?


เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ:

อย่าให้ความลำเอียงบังตาจนตัดสินใจผิด! สำรวจ 5 อคติที่กำลังครอบงำความคิดของเรา

อ้างอิง:
https://bit.ly/3BiHJE7
https://bit.ly/3gHsmxk

#missiontothemoon 
#missiontothemoonpodcast
#society

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements