ตามรอยอินเดียโมเดล หรือทางรอดโควิด คือติดเชื้อทั้งประเทศ?

313
อินเดียโมเดล

ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา เราคงจะเคยได้ยินข่าวผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในอินเดียที่เข้าขั้นวิกฤต โดยมียอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงสุดถึง 400,000 คนต่อวัน ในขณะที่ประเทศไทยในตอนนั้นยังมีผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ที่หลักพัน พร้อมกับการได้ยินประชาสัมพันธ์จากภาครัฐที่บอกว่าประเทศไทยเรายัง ‘โชคดีกว่า’ เมื่อเปรียบเทียบอินเดียในตอนนั้น กลับกันในตอนนี้ ที่ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศไทยพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ในหลักหมื่นทุกวัน และกินเวลาเกือบ 2 เดือนแล้วที่มีการประกาศล็อกดาวน์ แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงแต่อย่างใด ในขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อในอินเดียได้ลดลงมาเหลือ 40,000 คนต่อวันภายใน 1 เดือน และลดลงมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 

ประเทศอินเดียมีการจัดการรับมือกับโควิดได้อย่างไร? มาตามรอยอินเดียโมเดลกับปัจจัยทั้ง 5 นี้กัน

ปัจจัยที่ 1

ตัดสินใจทุกอย่างตามคำแนะนำของนักวิทยาศาสตร์และแพทย์ จัดตั้งทีมงานพิเศษเพิ่ม ในการหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เพื่อช่วยรัฐในการตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง และนำไปแบ่งงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจัยที่ 2

ติดตามตัวชี้วัดการระบาดวิทยา โดยจริงจังในการจัดเก็บข้อมูลการระบาดในพื้นที่ ดึงตัวชี้วัดที่สำคัญและเก็บข้อมูลทางสถิติมาอย่างแม่นยำ เพื่อนำไปสู่วิธีการบริหารงานที่ถูกต้อง รวมทั้งยังมีการเก็บข้อมูลไปถึงการปนเปื้อนในน้ำเสีย เพราะจะทำให้สามารถทราบพื้นที่ที่จะมีการระบาดหนักได้ล่วงหน้า หากการวัดผลของน้ำมีการปนเปื้อนอยู่เยอะ จะคาดการณ์ได้ว่ามาจากปฏิกูลของผู้ติดเชื้อในพื้นที่นั้นที่มีอยู่จำนวนมาก

Advertisements

ปัจจัยที่ 3

ลงทุนกับการตรวจหาเชื้อและสายพันธุ์กลายพันธุ์ เพราะอินเดียทุ่มให้กับการตรวจหาเชื้อเชิงรุกอย่างจริงจัง ทำให้พบผู้ติดเชื้อในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก แต่ก็ทำให้สามารถคัดแยกผู้ป่วยออกมาได้ทันเวลา ไม่ขยายการแพร่เชื้อต่อไปเป็นเวลานาน

ปัจจัยที่ 4

นำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการเฝ้าระวังโรค ตั้งแต่หาผู้ติดเชื้อหรือการประเมินอาการด้วยตัวเอง การพัฒนาระบบเทคโนโลยีให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายและมีราคาถูก จึงทำให้สามารถควบคุมเชื้อได้อย่างแม่นยำและเป็นวงกว้าง

ปัจจัยที่ 5

วางแผนฉีดวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการเร่งผลิตและฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด มีการติดตามวัคซีน หาช่องทางฉีดวัคซีนเพิ่ม และมีวัคซีนหลายตัวเลือกให้กับประชาชน

นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียยังได้บทเรียนจากครั้งที่ผ่านมา ทำให้ตอนนี้มีการเตรียมตัวรับมือทั้งเรื่องอุปกรณ์ทางการแพทย์ และการสื่อสารกับประชาชนให้ชัดเจน เพื่อเตรียมพร้อมหากเกิดการระบาดระลอกใหม่ หรือมีเชื้อสายพันธุ์กลายพันธุ์ใหม่ขึ้นมา จะได้พร้อมรับมือได้ทัน

แต่ข้อมูลที่น่าสนใจอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าในอินเดียลงไปได้  คือ ผลจากการสำรวจสุ่มตรวจประชากรประมาณ 30,000 คนทั่วประเทศ พบว่า ประชากร 2 ใน 3 ของอินเดียมี ‘ภูมิคุ้มกัน’ เรียบร้อยแล้ว

mm2021

ที่น่าแปลกใจคือ ทั้งที่มีคนอินเดียฉีดวัคซีนครบ 2 โดสไปได้แค่ 7% เท่านั้น แต่ทำไมประชากรเกินครึ่งถึงมีภูมิคุ้มกันแล้ว?

วิธีสร้างภูมิคุ้มกันจากโควิด นอกเหนือจากการฉีดวัคซีน ยังมีอีกทางหนึ่งก็คือ การได้รับภูมิคุ้มกันด้วยวิธีธรรมชาติ จาก ‘การได้รับเชื้อ’ จน ‘รักษาตัวหายแล้ว’ ดังนั้น การที่ประชากรอินเดียกว่า 67% มีภูมิคุ้มกัน และกลายเป็นภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ได้ นอกจากจะเป็นเพราะได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ส่วนที่เหลือนั้นก็คือ เป็นผู้ที่ได้รับเชื้อโควิดจนรักษาตัวหายแล้วกว่า 60% หรือเรียกได้ว่า เพราะคนติดเชื้อกันไปครึ่งประเทศแล้วนั่นเอง

Advertisements

กลับมามองย้อนที่ประเทศไทยของเราในตอนนี้ จะเห็นได้ว่า การจะทำตามรอยอินเดียโมเดล ไม่ใช่แค่ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนเท่านั้น แต่มันคือหน้าที่ของรัฐบาล จากตัวอย่างของอินเดียน่าจะแสดงให้เห็นชัดแล้วว่า ‘ประสิทธิภาพในการบริหารงานของรัฐบาล’ คือสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่แค่กล่าวโทษว่าเป็นเพราะประชาชนไม่ให้ควรร่วมมือแต่เพียงอย่างเดียว หากรัฐบาลไม่สามารถทำตามรอยอินเดียในปัจจัยที่ 1-5 ได้ เราก็คงจะได้แต่รอคอยปัจจัยสุดท้าย… ที่จะติดเชื้อและรักษาตัวให้หายไปเองในสักวัน

หากรัฐบาลได้ตระหนักและมองเห็นว่า จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในแต่ละวันพวกนี้ ไม่ใช่แค่ตัวเลขธรรมดาๆ ตัวเลขหนึ่ง แต่ตัวเลขเหล่านี้คือ ‘โอกาสการใช้ชีวิตของคนคนหนึ่งที่เสียไป’ มันคือตัวเลขของครอบครัว คนรัก เพื่อน หรือคนรู้จักของใครสักคนที่รอคอยการกลับมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขกับคนที่เขารักตามเดิม 

และนี่ยังไม่นับรวมไปถึงค่าเสียโอกาสของประชาชนในประเทศที่ต้องอยู่อย่างหวาดระแวง ไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตตามปกติข้างนอกได้ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนหรือนักศึกษาที่ต้องเสียโอกาสทางการศึกษา และเสียโอกาสการใช้ชีวิตในช่วงเวลาวัยรุ่นที่เบ่งบานที่สุดไป หรือบางคนที่ต้องยอมเสี่ยงออกไปทำงานนอกบ้านเพื่อหารายได้จุนเจือตัวเองและครอบครัวอย่างเลี่ยงไม่ได้ ไม่มีประชาชนคนไหนอยากติดเชื้อ ไม่มีใครอยากออกจากบ้านไปเผชิญความเสี่ยง หากไม่ใช่เพราะคนเหล่านั้นหมดสิ้นซึ่งหนทางแล้วจริงๆ เพราะพวกเขาไม่สามารถนั่งกินนอนกินอยู่บ้านเฉยๆ เพื่อรอรับเงินจำนวนอันน้อยนิดแบบสุ่มดวงจากรัฐบาลอย่างเดียวต่อไปได้

จำนวนเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่พุ่งทะยานสูงขึ้นในแต่ละวัน จึงเป็นตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวในการจัดการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลชุดนี้อย่างแท้จริง ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนต้องขอความร่วมมือจากภาครัฐด้วยเช่นกัน ในการจัดการกับสถานการณ์โควิดนี้อย่างเร่งด่วนที่สุด ไม่ใช่แค่เพียงทางภาครัฐจะมาขอความร่วมมือกับประชาชน เพราะตอนนี้ประชาชนทุกคนก็พยายามให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ที่สุดแล้ว เหลือเพียงแค่ความร่วมมือจากภาครัฐที่จะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือประชาชนอย่างจริงจังบ้างก็เท่านั้นเอง

สิ่งที่คนไทยต้องการที่สุดในตอนนี้คือ ‘การได้รับวัคซีนที่ดีและกระจายอย่างทั่วถึง’ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี โดยไม่ใช่ ‘ภูมิคุ้มกันธรรมชาติ’ จากการต้องมาเสี่ยงชีวิต ไม่รู้ว่าตัวเองจะติดเชื้อโควิดอยู่วันไหนอย่างในทุกวันนี้




อ้างอิง:
https://bit.ly/3jYLPu2
https://cnn.it/2VXTNvp


เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ: 
ค่าเสียโอกาส…ที่ไม่ได้เสียแค่ ‘โอกาส’ เมื่อ ‘ทางที่ไม่ได้เลือก’ อาจมีสิ่งที่ต้องสูญเสียเกินกว่าที่คิด
เมื่อโควิด-19 ติดผ่าน ‘ละอองลอย’ ภัยอันตรายที่ห้ามมองข้าม
5 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโควิด-19 ที่คุณอาจจะยังไม่เคยรู้

#missiontothemoon 
#missiontothemoonpodcast
#society
#covid19

ติดตามข่าวสารอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/category/news/

Advertisements