ผู้ว่าธปท.หนุนรัฐกู้เพิ่ม 1 ล้านล้านบาท สู้วิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-19 แม้จะทำให้หนี้สาธารณะแตะ 70%

48
วิกฤตเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในงาน ผู้ว่าพบสื่อมวลชนถึงข้อเสนอแนะให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่มอีกอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท เพื่อพยุงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่มีความรุนแรงและลากยาวกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยประเมินเอาไว้ แม้การกู้เงินในครั้งนี้จะส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีพุ่งแตะระดับ 70% แต่สัดส่วนของหนี้สาธารณะจะปรับลดลงได้เร็วกว่าในกรณีที่รัฐบาลไม่ได้มีการกู้เงินเพิ่ม

ดร.เศรษฐพุฒิ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ในระลอกนี้จะส่งผลให้เกิดปัญหา “หลุมรายได้” ที่ได้มีการคาดการณ์ว่า รายได้ภาคครัวเรือนในช่วง 3 ปี คือตั้งแต่ปี 2563 ถึง 2565 จะหายไปราว 2.6 แสนล้านบาท จากอัตราการจ้างงานที่ได้รับผลกระทบรุนแรงและคาดว่าจะยังไม่ฟื้นตัวโดยเร็ว โดยเฉพาะในภาคบริการและกิจการที่มีสายป่านสั้น อีกทั้งเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าประเทศในภูมิภาคเนื่องจากการพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีสัดส่วนสูงถึง 11.5% ของจีดีพี ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมาหดตัวหนักกว่าค่าเฉลี่ยของทวีปเอเชีย ซึ่งเม็ดเงินที่มีอยู่ของภาครัฐในปัจจุบันยังคงไม่เพียงพอต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ดังนั้นรัฐอาจจำเป็นจะต้องเติมเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีกอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท เพื่อเพิ่มแรงกระตุ้นทางการคลังเพื่อช่วยให้รายได้ภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกลับมาฟื้นตัวโดยเร็วที่สุด ถึงแม้การกู้เงินเพิ่มเติมอีก 1 ล้านล้านบาทจะดันให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีพุ่งทะลุเพดานจากระดับ 55.4% ไปอยู่ที่ระดับ 70% แต่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวว่า สัดส่วนของหนี้สาธารณะจะลดลงได้ค่อนข้างเร็วตามการขยายตัวและฟื้นตัวของเศรษฐกิจกว่ากรณีที่รัฐบาลไม่กู้เงินเพิ่ม โดยจากการประมาณการพบว่า ในระยะยาวสัดส่วนหนี้สาธารณะจะลดลงเหลือ 62.6% ในกรณีที่มีการกู้เพิ่ม เทียบกับ 67.6% ในกรณีไม่มีการกู้เงิน

อย่างไรก็ตาม การกู้เงินเพิ่มเติมเป็นอำนาจการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรี โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ทำการกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 ไปแล้วทั้งสิ้น 2 ครั้ง คิดเป็นวงเงินกว่า 1.5 ล้านล้านบาท และหากมีการกู้เงินเพิ่มเติมจะมีโอกาสส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีทะลุกรอบที่กฎหมายกำหนดไว้ที่ 60% ตาม พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ ขณะที่ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการประกาศปรับตัวเลขประมาณการทางเศรษฐกิจจากการคาดการณ์ว่า จีดีพี ของประเทศ จะเติบโตอยู่ที่อัตรา 1.8% ในปี 2564 เหลือ 0.7% ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 2 เดือน



อ้างอิง:
https://bit.ly/2XyWG6l
https://bit.ly/3gf7BJ6
https://bloom.bg/2W4MKRG
https://bit.ly/3gf7BJ6
https://bit.ly/2Xv0Pbu

Advertisements


#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#thailandnews

ติดตามข่าวสารอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/category/news/

Advertisements