จำนวนประชากรเกิดใหม่ลดลง ทำไมถึงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับหลายประเทศ?
.
.
สืบเนื่องจากเมื่อวานนี้ (25 ม.ค. 22) ดร.ธันยวัต สมใจทวีพร ผอ.ศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ได้เปิดเผยข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก Por Tunyawat ที่แสดงให้เห็นว่าอัตราการเกิดใหม่ของเด็กมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะในปี 2021 ที่มีเด็กเกิดใหม่เพียงแค่ 500,000 คนเท่านั้น
.
ข้อความส่วนหนึ่งของ ดร.ธันยวัต ระบุว่า “ดิ่งกว่ามูลค่าเหรียญคริปโทฯ ก็จำนวนประชากรเกิดใหม่ในประเทศไทยนี่ล่ะ ปี 2564 ที่ผ่านมาจำนวนการเกิดต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศ ตัวเลขนี้น่ากลัวและแนวโน้มของกราฟคงไม่ดีขึ้นแน่ นอกจากนี้ปีที่ผ่านมาอัตราการตายสูงกว่าอัตราการเกิดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ด้วย คาดการณ์ไม่ถูกเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต“
.
จากข้อมูลดังกล่าวทำให้เกิดการพูดถึงเป็นวงกว้างบนโลกออนไลน์ถึงสาเหตุที่ส่งผลให้จำนวนประชากรเกิดใหม่ของไทยต่ำลงเรื่อยๆ ทุกปี โดยความคิดเห็นส่วนหนึ่งได้มีการพูดถึงสภาพสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันที่อาจจะเป็นปัจจัยหลักทำให้ประชาชนชาวไทยตัดสินไม่มีลูกในช่วงเวลาที่ยากลำบากแบบนี้
.
อย่างไรก็ตามหากเราลองสำรวจทิศทางของจำนวนประชากรโลกก็จะพบว่า ไม่ใช่เพียงแค่ประเทศไทยเพียงเท่านั้นที่กำลังประสบพบเจอกับจำนวนประชากรเกิดใหม่ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในทำนองเดียวกันกับที่สำนักข่าว BBC ได้รายงานไว้ในปี 2020 ที่ระบุว่า อัตราการเจริญพันธ์ุหรือค่าเฉลี่ยการมีบุตรของผู้หญิง (Fertility Rate) ทั่วโลกจะลดลงเหลือเพียง 1.7 คนในปี 2100 ทั้งนี้เมื่ออัตราการเจริญพันธุ์ของประเทศตกลงต่ำกว่าประมาณ 2.1 จำนวนประชากรจะเริ่มหดตัวลง ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าประชากรโลกจะปรับตัวถึงจุดสูงสุดที่ราว 9,700 ล้านคนในปี 2064 ก่อนจะปรับตัวลดลงเหลือ 8,800 ล้านคนในปี 2100 ในที่สุด
.
ข้อมูลในปัจจุบันระบุว่า ประเทศที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากอัตราการเจริญพันธ์ุปรับตัวลดลงจนประชากรอาจจะปรับตัวลดลงมากถึง 50% ในปี 2100 มีมากถึง 23 ประเทศ อาทิ ไทย, สเปน, อิตาลี, เกาหลีใต้ และอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศอย่างใหญ่หลวงในอนาคตอันใกล้
.
สำหรับสาเหตุที่ส่งผลให้จำนวนประชากรเกิดใหม่ลดลงนั้น World Economin Forum ระบุว่าคือ การขยายตัวของความเป็นเมืองหรือ Urbanization ที่ส่งผลให้การมีเด็กเกิดใหม่จำนวนมากนั้นหมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงมากขึ้น ไม่เหมือนกับการมีเด็กเกิดใหม่จำนวนมากในพื้นที่ชนบทที่หมายถึงจำนวนแรงงานที่มากขึ้นในการทำงาน ขณะเดียวกัน Urbanization ยังเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้หญิงอีกด้วย จากสภาพสังคมแบบเดิมที่ผู้หญิงจะรับหน้าที่เป็นผู้ดูแลสมาชิกในครอบครัว แต่ในสังคมเมืองบทบาทของผู้หญิงนั้นเปลี่ยนไปจากหน้าที่การงานและการศึกษาทำให้ไม่มีความจำเป็นจะต้องมีลูกอีกต่อไป
.
ในส่วนของผลพวงทางเศรษฐกิจของจำนวนประชากรเกิดใหม่ที่ลดลงนั้นถือว่าร้ายแรงและควรจะได้รับการแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ เนื่องจากจำนวนประชากรที่ลดลงหมายถึงแรงงานในระบบที่ลดลง ซึ่งจะตามมาด้วยการจัดเก็บภาษีที่ลดลง ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาลนั้นปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ทางออกสำหรับปัญหานี้นั้นผู้เชี่ยวชาญระบุว่ารัฐบาลอาจจะต้องพิจารณาถึงการเปิดพรมแดนรับแรงงานต่างชาติเข้ามาทดแทนแรงงานที่ขาดหายไป ขณะเดียวกันจะต้องออกนโยบายที่กระตุ้นความต้องการของประชาชนที่จะให้กำเนิดบุตรในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น วันลาคลอดสำหรับทั้งบิดาและมารดา เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด สิทธิพิเศษทางการเงินหรือภาษี หรือสิทธิพิเศษในการจ้างงาน เป็นต้น
.
.
อ้างอิง
https://bbc.in/3KJX5ak
https://bit.ly/3u5Y133
https://bit.ly/3G6SbQZ
https://bit.ly/3raqeE1
https://bit.ly/3rQV6Z5
.