เรื่องของ “จังหวะ”

3513
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
  • “จังหวะ” เป็นอีกเรื่องที่สำคัญในการทำอะไรก็แล้วแต่ บางครั้งการเลือกใช้จังหวะให้เป็น หรือการอดทนรอเวลาที่เหมาะสม ก็หมายถึงความสำเร็จหรือล้มเหลวของเราด้วยเช่นกัน
  • ซาฮา ฮาดิต สถาปนิกหญิงชื่อดังเจ้าของผลงานตึกเจ๋งๆหลายแห่งบนโลก ต้องรอเวลาเป็นสิบปีกว่าผลงานของเธอจะเป็นรูปเป็นร่างจริงๆ เพราะไอเดียของเธอล้ำเกินกว่าที่เทคโนโลยียุคนั้นจะเข้ามาช่วย
  • ในยุคที่คนมองหากางเกงคุณภาพดี เรนโซ รอสโซ เจ้าของกางเกงยีนส์ยี่ห้อ Diesel ออกแบบกางเกงยีนส์ให้เก่าและขาด ซึ่งแตกต่างจากยี่ห้ออื่น จึงเป็นแฟชั่นที่มาก่อนใครและขายดีเป็นอย่างมาก

จังหวะเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

มีเรื่องเล่าจากยุคก่อนว่า สมัยที่ “มิยะโมโตะ มูซาชิ” นักดาบผู้ยิ่งใหญ่ ดวลดาบกับคู่ปรับตลอดกาลอย่าง “ซาซากิ โคจิโร่” มูซาชิไม่ได้เพียงแต่ใช้วิชาดาบเอาชนะคู่ปรับที่เก่งกาจเท่านั้น แต่เขาใช้ “เวลา” มาสร้างข้อได้เปรียบให้ตัวเอง มูซาชิมาช้ากว่าเวลานัดหมายที่ตกลงไว้ เพราะอยากให้โคจิโร่โกรธและเกิดอาการร้อนใจจนผลีผลามวู่วาม กลายเป็นช่องโหว่ให้มูซาชิเอาชนะได้

และมูซาชิก็ใช้การยืดเวลานั้นเอาชนะโคจิโร่ได้จริงๆ ครับ

ที่ผมพูดถึงเรื่องนี้ เพราะเรื่องนี้สอนผมอย่างหนึ่งว่า “จังหวะ” หรือ Timing นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ ในการทำอะไรก็แล้วแต่ บางครั้ง หากมาถูกจังหวะหรือเลือกใช้จังหวะให้เป็น หรือการอดทนรอเวลาที่เหมาะสม ก็หมายถึงความสำเร็จหรือล้มเหลวของเราด้วยเช่นกัน เช่น งานสำรวจของ LinkedIn ที่พบว่าวันจันทร์นั้นเป็นวันที่เหมาะสมที่สุดในการส่งใบสมัครงาน เพราะวันจันทร์เป็นวันที่คนรู้สึกตื่นตัวมากที่สุด และการส่งใบสมัครในวันจันทร์ช่วยเพิ่มโอกาสให้ใบสมัครของเราอยู่ด้านบนของกองใบสมัครคนอื่นๆ

Advertisements

โดย LinkedIn พบว่า คนที่ส่งใบสมัครงานวันจันทร์ จะประสบความสำเร็จในการสมัครงานมากกว่าคนที่ส่งใบสมัครในวันอื่นอย่างมีนัยยะสำคัญ นี่เป็นเรื่องของ ”จังหวะ” แบบง่ายๆ

อย่างไรก็ตาม เรื่องของจังหวะไม่ได้มีแค่มุมนี้มุมเดียวนะครับ บางครั้งเรื่องของจังหวะก็มาในรูปแบบของอุปสรรคได้เหมือนกัน และการอดทนรออย่างเข้าใจ บางครั้งก็นำมาซึ่งความสำเร็จ

กล่าวคือ สินค้าหรืองานของเราอาจจะดีมากๆ แต่เมื่อมันยังไม่ถึงจังหวะที่ใช่ ก็อาจไม่สำเร็จในทันที แต่ต้องอาศัยการรอเวลาที่เหมาะสม


จังหวะกับการอดทนรอ

Guangzhou Opera House
Guangzhou Opera House | รูปภาพจาก Number 24 x Shutterstock.com

ซาฮา ฮาดิด (Zaha Hadid) สถาปนิกหญิงชื่อดังของโลกชาวอังกฤษ เชื้อสายอิรัก เจ้าของผลงานออกแบบตึกเจ๋งๆ ที่เป็นแลนด์มาร์คหลายแห่งบนโลก

งานของฮาดิดเป็นสถาปัตยกรรมที่พูดภาษาชาวบ้านคือ ออกแนวล้ำๆ ครับ รูปทรงของตึกจะโค้งมนประหลาด เหมือนยานอวกาศหรือโลกอนาคตซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร

ลองค้นกูเกิลดูงานของฮาดิดแล้วคุณจะพอเข้าใจว่าผมหมายถึงอะไร ตัวอย่างงานที่โดดเด่นของเธอก็เช่น Guangzhou Opera House, Heydar Aliyev Center หรือ Maxxi National Museum of the 21st Century Arts เป็นต้น

Heydar Aliyev Center
Heydar Aliyev Center | รูปภาพจาก Number 24 x Shutterstock.com

แต่เชื่อไหมครับว่า กว่าที่ผลงานฮาดิดจะเป็นรูปเป็นร่างจริงๆ เธอต้องรอเวลาเป็นสิบปี และต้องทนโดนคนอื่นวิจารณ์ว่างานของเธอเป็นแค่ “สถาปัตยกรรมบนกระดาษ”

เหตุผลก็เพราะว่า สิ่งที่เธอคิดและสร้างสรรค์ออกมานั้นมันล้ำสุดๆ แต่มันล้ำหน้าเกินเทคโนโลยียุคนั้นที่จะเข้ามาช่วย render (สร้างภาพจำลอง) งานออกแบบของเธอ สำหรับนำไปทำเป็นตึกจริงๆ

เธอเลยต้องรอจนถึงเกือบช่วงปี 2000s สถาปัตยกรรมหลายชิ้นที่เธอออกแบบไว้ถึงค่อยๆ ปรากฏขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้โลกได้ชื่นชมความงามสุดล้ำของเธอ

ตอนผมรู้เรื่องนี้ของฮาดิดบอกตามตรงนะครับว่า ผมรู้สึกทึ่งและนับถือใจเธอมากๆ เพราะมันเป็นเวลานับสิบปีที่เธอต้องรอคอยและต้องต่อสู้กับศรัทธาของเธอ ซึ่งถ้าเป็นคนอื่นก็ไม่แน่ว่าอาจล้มเลิกหรือถอดใจไปแล้วก็ได้ แต่ดีที่เธอเลือกรอนะครับ

เพราะพอจังหวะที่ใช่แล้วอะไรๆ ก็ฉุดไม่อยู่จริงๆ ครับ

Advertisements

ความสามารถของเธอก็ได้เปล่งประกายให้ทุกคนได้ประจักษ์และรับรู้

น่าเสียดายที่ตอนนี้เธอจากโลกนี้ไปแล้ว แต่ก็ได้ทิ้งผลงานสุดล้ำที่ยังโดดเด่นสง่าแสนสะดุดตาให้คนได้ชื่นชม


ใช่ว่าจังหวะที่ไม่ใช่ จะต้องรอเสมอไป

แต่เล่ามาแบบนี้ก็ใช่ว่า จังหวะที่ไม่ใช่ จะเป็นอุปสรรคหรือต้องรอเสมอนะครับ

บางทีก็อาจแค่ดูเหมือนไม่ใช่ แต่มันอาจจะใช่ก็ได้ เช่นตัวอย่างของ เรนโซ รอสโซ (Renzo Rosso)

เรื่องของ เรนโซ รอสโซ กับฮาดิดคล้ายๆ กัน คือมาก่อนกาลหรือพูดง่ายๆ ว่า “ล้ำ” นั่นเองครับ เพียงแต่ของฮาดิดจำเป็นต้องรอ เพราะงานของเธอต้องพึ่งพาเทคโนโลยี แต่ของรอสโซไม่ต้องรอ เพราะเขาทำได้เลย

งานของเขาคือ ทำกางเกงยีนส์ขายครับ โดยเขาเริ่มขายกางเกงยีนส์ครั้งแรกช่วงปี 1970 กว่าๆ เพียงแต่รอสโซออกแบบกางเกงยีนส์ของเขาให้ขาดๆ และดูเก่าทันที ในยุคที่คนยังมองหากางเกงยีนส์ที่มีคุณภาพดีอยู่เลย

ว่าง่ายๆ คือ กางเกงยีนส์ของเขาดูเหมือนมาผิดจังหวะไปหน่อย นั่นทำให้รอสโซเลยต้องเหนื่อยกว่าคนอื่น เพราะเวลาที่เขาส่งกางเกงไปวางขาย จะโดนร้านค้าตีกลับว่ากางเกงของเขาคุณภาพไม่ดี ทั้งที่จริงแล้วมันเป็นการออกแบบที่เขาตั้งใจให้มันดูเก่าและซีด

แต่สิ่งหนึ่งที่รอสโซกับฮาดิดมีร่วมกันคือ ความศรัทธาในสิ่งที่พวกเขาออกแบบ การถูกตีกลับไม่ได้ทำให้รอสโซย่อท้อ เขาตัดสินใจขอโอกาสร้านค้าด้วยการการันตีว่าจะรับซื้อคืนกางเกงยีนส์ทั้งหมด ถ้าเกิดมันขายไม่ได้

และปรากฎว่า มันกลับขายได้ครับ และขายได้เยอะด้วย แง่หนึ่งอาจเพราะมันแตกต่างจากกางเกงยีนส์ยี่ห้ออื่นๆ และโดนใจคนที่ต้องการความไม่ซ้ำใคร ในยุคที่กางเกงยีนส์เหมือนๆ กันหมด

และนั่นก็สร้างชื่อให้กางเกงยีนส์ของรอสโซ หรือที่เรารู้จักกันในแบรนด์ Diesel ถึงความล้ำยุค และการเป็นแฟชั่นที่มาก่อนใคร ซึ่งถ้าพูดอีกอย่าง สิ่งที่รอสโซทำ อาจมาผิดจังหวะชาวบ้าน แต่มันดันเป็นจังหวะที่ใช่ของเขา


ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของจังหวะในแต่ละมุมที่ผมพอจะนึกออก ซึ่งก็ตอบยากนะครับว่า แล้วอะไรคือจังหวะที่ใช่ เพราะเอาจริงๆ มันก็ไม่มีสูตรตายตัว

ผมเพียงแต่อยากเสนอว่า “จังหวะ” ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราไม่ควรลืมมอง หลายครั้งของดีจังหวะไม่ดีก็แป้กได้เหมือนกัน ของเจ๋งๆ บางทีต้องการจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการสร้างความโดดเด่น

ที่สำคัญคือคนที่อยู่เบื้องหลังมันต้องไม่ท้อไปซะก่อน เพราะบางทีงานที่ทำอาจจะไม่ได้ไม่ดี แค่เวลามันยังไม่ได้เท่านั้นเอง

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่