“โลกร้อน” ตัวการใหญ่ ทำให้เกิดน้ำมันรั่วที่รัสเซีย

1121

เกิดเหตุน้ำมันกว่า 2 หมื่นตันรั่ว ทางตอนเหนือของรัสเซีย | รูปภาพจาก Number 24 x Shutterstock Thailand

มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
  • เกิดเหตุการณ์น้ำมันดีเซลกว่า 2 หมื่นตันรั่วไหลลงสู่แม่น้ำ Ambarnaya ในไซบีเรีย ซึ่งเป็นแม่น้ำที่เชื่อมไปสู่มหาสมุทรอาร์กติก ทำให้ตอนนี้น้ำมันบางส่วนเริ่มไหลออกสู่มหาสมุทรอาร์กติกแล้ว
  • บริษัท Norilsk Nickel สันนิษฐานว่า การพังทลายของคลังน้ำมันนี้เกิดจากชั้นดิน Permafrost ที่เคยทับถมมานานหลายปีเกิดทรุดตัว เพราะสภาพอากาศของโลกร้อนขึ้น
  • องค์กร Greenpeace Russia กล่าวว่า นี่เป็นเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์อาร์กติก เพราะน้ำมันที่รั่วไหลคือน้ำมันดีเซล ซึ่งมีความเป็นพิษสูง

ถือว่าเป็นข่าวที่กระทบต่อวงการสิ่งแวดล้อมอย่างมาก สำหรับเหตุการณ์น้ำมันดีเซลกว่า 2 หมื่นตันรั่วไหลลงสู่แม่น้ำ Ambarnaya ในไซบีเรีย ทางตอนเหนือของรัสเซีย ทำให้แม่น้ำทั้งสายกลายเป็นสีแดง และมีคราบน้ำมันเกาะตลอดแนว ก่อนที่น้ำมันบางส่วนจะเริ่มไหลออกสู่มหาสมุทรอาร์กติก

โดยต้นเหตุของน้ำมันรั่วในครั้งนี้มากจากคลังเก็บน้ำมันในโรงไฟฟ้าใกล้เมือง Norilsk พังทลายในวันที่ 29 พฤษภาคม แต่ทางบริษัท Norilsk Nickel ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า รายงานทางการช้าไป 2 วัน ทำให้การแก้ไขเป็นไปด้วยอย่างยากลำบาก เพราะการรั่วไหลลุกลามไปมากแล้ว

ตอนนี้ยังไม่มีการชี้แจงถึงสาเหตุของน้ำมันรั่วที่ชัดเจน แต่บริษัท Norilsk Nickel สันนิษฐานว่า การพังทลายของคลังน้ำมันนี้อาจเกิดจาก ชั้นดิน Permafrost ทรุดตัว จากสภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้น 

Advertisements

อธิบายง่ายๆ ได้ว่า Permafrost เป็นพื้นดินที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส และถูกทับถมมาเป็นเวลานาน สามารถพบได้บริเวณขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ และพื้นที่ที่หนาวเย็นจัด เมื่ออุณภูมิโลกเริ่มร้อนขึ้น ทำให้ชั้นดินเหล่านี้ทรุดตัว เป็นผลให้คลังน้ำมันขนาดใหญ่พังทลายไปด้วย

ทาง Greenpeace Russia ให้ข้อมูลกับสำนักข่าว Forbes ว่า นี่เป็นเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์อาร์กติก และจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างมาก เพราะน้ำมันที่รั่วคือ น้ำมันดีเซล ซึ่งมีความเป็นพิษสูงกว่าน้ำมันทั่วไป

Advertisements

สำหรับแนวทางในการกำจัดน้ำมันที่รั่วออกมานี้ก็ทำได้ยาก เนื่องจากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเขตหนาว ทำให้การกำจัดน้ำมันลำบากกว่าเขตร้อน และไม่ว่าจะแก้ปัญหาด้วยวิธีไหน ก็ไม่สามารถกู้ระบบนิเวศให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ 

ก่อนหน้านี้ มีการเสนอให้จุดไฟเผา เพื่อผลาญเชื้อเพลิงทิ้งจนหมด แต่วิธีดังกล่าวจะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมชนิดที่ว่าต่อให้ใช้เวลาหลายสิบปีก็ไม่อาจกลับมาสมบูรณ์เช่นเดิมได้ เพราะนอกจากจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังกระทบต่อสัตว์ในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นสปีชีส์หายาก และยังไม่มีการเพาะพันธ์ุทดแทน เรียกได้ว่าหากสูญพันธ์ุไป คงไม่สามารถประเมินความเสียหายทางระบบนิเวศได้แน่นอน

นี่เป็นอีกครั้งที่ “ภาวะโลกร้อน” สร้างความเสียหายให้กับโลกของเรา ซึ่งล้วนเป็นผลกระทบจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น การเผาถ่านหินและเชื้อเพลิง การใช้สารเคมีที่มีส่วนผสมของก๊าซเรือนกระจก และอื่นๆ จนทำให้ก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้น และเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน

แน่นอนว่าปัญหาใหญ่ระดับโลกนี้ คงไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยใครเพียงคนเดียว แต่ต้องมีการร่วมมือกันจากทุกฝ่าย ทั้งภาคประชาชน และภาครัฐบาล รวมถึงในระดับประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ได้เห็นความพยายามของนานาชาติให้การเข้ามาแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง และเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ เราจะสามารถหาทางออกในเรื่องนี้ให้กับโลกได้อย่างแน่นอน

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่