Space Colony อาณานิคมอวกาศ บ้านหลังใหม่ของมนุษยชาติ

1253
สตีเฟน ฮอว์กิง นักฟิสิกส์ผู้ล่วงลับ กล่าวไว้ว่า “มนุษย์จะสูญพันธุ์ในอีก 1,000 ปี และมนุษย์ต้องสร้างอาณานิคมนอกโลกให้ได้ภายใน 200 ปี ไม่เช่นนั้นเราจะตายอยู่บนโลกใบนี้” ทำความรู้จักแนวคิด “Space Colony” เมื่อมนุษย์เริ่มมองขึ้นไปบนท้องฟ้า และหาบ้านใหม่ให้กับตัวเอง
 
“Space Colony” หรือ การตั้งอาณานิคมบนอวกาศ การนำมนุษย์ออกไปอาศัยอยู่นอกชั้นบรรยากาศของโลกเป็นการถาวร
 
แนวคิดนี้เกิดจากการขยายตัวเพิ่มขึ้นของประชากรมนุษย์ และเพื่อหลีกหนีจากภัยพิบัติและการขาดแคลนทรัพยากรต่างๆ บนโลกที่กำลังจะเกิดขึ้น มนุษย์จึงเริ่มหาทางออกด้วยการมองขึ้นไปบนท้องฟ้า และหาบ้านใหม่ให้กับตัวเอง
 
ซึ่งหากจะแบ่งเหตุผลหลักๆ ว่าทำไมเราถึงต้องย้ายไปตั้งอาณานิคมบนอวกาศ จะแบ่งออกได้เป็น 4 ข้อหลักๆ ดังนี้
 
เพื่อความอยู่รอด
 
อาณานิคมในอวกาศคือความอยู่รอดในระยะยาวของอารยธรรมมนุษย์ เพื่อหลีกหนีความไม่แน่นอนจากภัยพิบัติ ภาวะโลกร้อน, ภูเขาไฟระเบิด, สงครามนิวเคลียร์, ภัยธรรมชาติ หรือแม้แต่ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก ทั้งหมดนั้นอยู่นอกเหนือการควมคุมของมนุษย์ การไปอยู่เหนือชั้นบรรยากาศของโลกคือการตัดปัจจัยหลายๆ อย่างที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของมนุษย์
 
อวกาศเป็นแหล่งทรัพยากรชั้นดี
 
ถือได้ว่าในอวกาศเป็นแหล่งทรัพยากรชั้นดี ที่มีทั้งวัตถุดิบและพลังงานอยู่เป็นจำนวนมาก เพียงแค่ในระบบสุริยะของเราก็มีแหล่งทรัพยากรเพียงพอต่อปริมาณความต้องการของเรานับพันล้านเท่า หรือแม้แต่นอกระบบสุริยะเราก็ยังมีดาวเคราะห์นับแสนล้านดวงในทางช้างเผือก ที่ให้เราสามารถใช้เป็นแหล่งเก็บเกี่ยวทรัพยากรได้อย่างมหาศาล
 
โดยน้ำและวัตถุดิบสามารถใช้สร้างเป็นสิ่งก่อสร้างต่างๆ ได้ สามารถหาได้ง่ายในหินดาวเคราะห์น้อย ดังนั้นทรัพยากรเหล่านี้จึงสามารถเข้ามาแทนที่เสบียงจากโลก เช่น การทำสถานีเชื้อเพลิงในอวกาศ ซึ่งจะทำให้การเดินทางในอวกาศเป็นไปได้ง่ายขึ้น โดยนาซ่าเชื่อว่า ทรัพยากรในอวกาศจะสามารถประหยัดต้นทุนในโครงการสำรวจไปได้มากกว่าแสนล้านดอลลาร์
 
ปัญหาประชากรและความต้องการทรัพยากรบนโลก
 
จากข้อมูลประชากรในปี ค.ศ. 2020 มีประชากรมนุษย์ราว 7,300 ล้านคน ซึ่งคาดว่าในอีก 80 ปี หรือ ค.ศ. 2100 เราจะมีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 11,200 ล้านคน ซึ่งเทียบกับจำนวนทรัพยากรที่กำลังลดลงสวนทางกันอย่างน่าตกใจ
 
หากเราสามารถหาแหล่งทรัพยากรที่สามารถมาสนับสนุนการอยู่อาศัยของมนุษย์ได้ แปลว่า เมื่อความต้องการทรัพยากรจากภายนอกโลกมากขึ้น ความต้องการทรัพยกรภายในโลกก็จะลดลง
 
เราจึงสามารถควบคุมมลภาวะต่างๆ บนโลกได้ รวมถึงยังเป็นการขยายอาณาเขตของมนุษย์ออกไป เพื่อรองรับการขยายเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ในอนาคตอีกด้วย
 
เพื่อการสำรวจ
 
มนุษย์เราขึ้นชื่อเรื่องของความอยากรู้อยากเห็นมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แน่นอนในอวกาศมีสิ่งต่างๆ มากมายรอให้มนุษย์ตัวจิ๋วอย่างเราค้นพบ (หรือเราอาจจะเป็นฝ่ายถูกค้นพบซะเอง) ความขี้สงสัยนี้เองที่พามนุษย์เรามายืนอยู่ตรงจุดนี้ ทุกอย่างเกิดขึ้นจาก “ความสงสัย ตั้งคำถาม และการหาคำตอบ”
 
แต่แนวคิดเรื่อง Space Colony นั้น ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่หลายฝ่ายเหมือนกัน เพราะมันมีความเสี่ยงสูง และต้องแลกกับอะไรหลายๆ อย่าง เพื่อให้แนวคิดนี้เกิดขึ้นได้จริง
 
นิค บอสตรอม (Nick Bostrom) นักปรัชญาชาวสวีเดน ได้ออกมาโต้แย้งในเรื่องการจัดตั้งอาณานิคมในอวกาศให้เป็นเป้าหมายหลักของมนุษยชาติว่า “สิ่งสำคัญยิ่งกว่าการไปเร่งพัฒนาเทคโนโลยีให้นิคมอวกาศเกิดขึ้นเร็วก็คือ การไปลดความเสี่ยงที่มีอยู่ต่างๆ ให้ได้เสียก่อนที่จะไปเพิ่มความเป็นไปได้ในการก่อตั้งอารยธรรมในอวกาศ เพราะหากการก่อตั้งอาณานิคมอวกาศล้มเหลวขึ้นมาล่ะก็ นั่นจะเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่สุด เพราะนั่นจะหมายความว่า “ชีวิตที่มีค่า” เหล่านี้ไม่ได้มีอยู่จริงเลยในจักรวาลอันกว้างใหญ่ และจะไปส่งผลทำให้จิตใจของผู้คนต่างๆได้แย่ลงไปอีก”
 
อย่างไรก็ตาม มนุษยชาติยังคงเดินหน้าต่อไป เพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์และความเจริญรุ่งเรืองทางอารยธรรมของมนุษย์ เรายังคงพัฒนาและก้าวต่อไป เหมือนกับที่เราทำมาหลายพันปี
 
หากใครยังนึกภาพไม่ออกว่าอนาคตของเราจะเป็นไปในทิศทางไหน เรามีตัวอย่างของการ์ตูนที่จำลองเหตุการณ์ ที่เป็นดั่งคำพยากรณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้จริงของมนุษยชาติเอาไว้ อย่างเรื่อง Gundam การ์ตูนหุ่นรบที่เต็มไปด้วยทฤษฎีและแนวคิดทางวิทยาศาสตร์
 
ตั้งแต่การตั้งอาณานิคมในอวกาศ เผ่าพันธุ์มนุษย์ที่มีพลังจิต หรือการหาพลังงานทดแทนจากดวงอาทิตย์ เรียกได้ว่า Gundam เป็นหนึ่งในการ์ตูนที่อ้างอิงหลักวิทยาศาสตร์มาสร้างเป็นโลกของตัวเอง และนำเสนอได้อย่างน่าติดตาม เรื่องราวจะเป็นอย่างไรติดตามรับฟังได้ที่
 
Time to Play Podcast EP.1 “Sci-Fi Behind Gundam ไซไฟฉาบด้วยกันดั้ม”
 
Soundcloud: https://bit.ly/32tJsru
 
Apple Podcast: https://apple.co/32s9Lyr
 
Author: Thongthong Mahawijit
Illustrator: Arisara Wanapan
 
อ้างอิง
Advertisements