SOFT SKILLเป็นคนสู้งาน แต่งานสู้กลับ! รับมืออย่างไรเมื่องานชวนเครียดกว่าที่คิด (Overwhelmed)| MM EP.1454

เป็นคนสู้งาน แต่งานสู้กลับ! รับมืออย่างไรเมื่องานชวนเครียดกว่าที่คิด (Overwhelmed)| MM EP.1454


*สามารถเปิดฟังโดยปิดหน้าจอมือถือได้ 

เป็นคนสู้งาน แต่งานสู้กลับ! รับมืออย่างไรเมื่องานชวนเครียดกว่าที่คิด

จุดแข็ง: เป็นคนสู้งาน
จุดอ่อน: แต่งานสู้กลับ

หลายๆ คนอาจหัวเราะออกมาเมื่อเห็นประโยคดังกล่าวที่กำลังเป็นไวรัลอยู่ตอนนี้ เราเข้าใจเป็นอย่างดีกับความรู้สึกนั้น เพราะเราเองก็เป็นคนหนึ่งที่บอก HR ไว้ตอนสมัครงานว่า ‘เป็นคนอดทนและรับมือกับความกดดันได้ดี’ แต่พอเอาเข้าจริงๆ แล้วกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ความเป็นจริงคือการรับมือกับงานนั้นยากกว่าที่เราคิด โดยเฉพาะโปรเจกต์ใหญ่ๆ ที่มีความสำคัญมากหรือกินระยะเวลานาน ปัญหาใหม่ผุดขึ้นมาเรื่อยๆ ราวกับไม่มีที่สิ้นสุด แม้ตอนแรกเราอาจจะรับมือได้ดี แต่เมื่อเวลาผ่านไป พลังกายและใจของเราเริ่มลดลง ประกอบกับปัญหาชีวิตส่วนตัวและครอบครัวที่อาจจะต้องเผชิญ

นอกจากนั้น เมื่อเวลางานเยอะขึ้นและยากขึ้น เรามักจะตอบสนองด้วยการทำงานให้หนักขึ้น และใช้เวลาไปกับมันมากขึ้น จากเลิกงาน 5 โมงกลายเป็น 2 ทุ่ม น้อยนักที่เราจะหยุดพักและตั้งคำถามว่า.. ‘วิธีที่เราจัดการกับงานนี้มีประสิทธิภาพจริงหรือ’

ผลที่ตามมาคือเราทั้งวิตกกังวลและจับต้นชนปลายไม่ถูก แถมสุขภาพกายและสุขภาพจิตก็แย่ไปตามๆ กัน

จะรับมือกับความเครียดและความกดดัน (Overwhelmed)ในที่ทำงานอย่างไร? วันนี้ Mission To The Moon ได้รวบรวมวิธีต่างๆ ที่จะช่วยให้เรา ‘สู้งานกลับ’ และชนะงานได้ในที่สุดมาแบ่งปัน

จะรับมือกับอาการ Overwhelmed หรือความเครียดและความกดดันในที่ทำงานอย่างไร?

1) ตามหา ‘ต้นเหตุ’ ที่ทำให้เรารู้สึกท่วมท้น

บางคนอาจตอบว่าก็ ‘งานทั้งหมด’ อย่างไรล่ะที่ทำให้เรารู้สึกเครียด แต่อย่าลืมว่างานบางงาน (เช่นงานที่เป็นงาน Routine) เราก็ทำมาตั้งนานแล้ว ทำไมก่อนหน้านี้ไม่เครียดขนาดนี้? มีอะไรเปลี่ยนไปหรือเปล่า?

ลองถามตัวเองว่า “งานชิ้นใดบ้าง ถ้าเราเลิกทำ เราจะหายเครียดไปกว่า 80%”

แม้เราจะไม่สามารถเลิกทำได้จริงๆ อย่างสถานการณ์สมมุติ แต่เราก็พอจะมองออกแล้วว่างานไหนที่ดูดพลังเราไปมากที่สุด ถ้าเป็นโปรเจกต์ใหญ่ที่ใกล้จะสำเร็จ ก็รีบทำให้สำเร็จเสีย แต่ถ้าหากยังเหลืออีกเยอะกว่าจะสำเร็จ ลองแบ่งสิ่งที่ต้องทำออกมาเป็นงานเล็กๆ ขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น และถ้าเป็นไปได้ ลองต่อรองเรื่องเดดไลน์ดู

2) ขีดเส้นให้ชัดเจน

สองเส้นสำคัญที่เราต้องขีดคือ ‘เส้นระหว่างเวลางานกับเวลาส่วนตัว’ และ ‘เส้นความรับผิดชอบของเรา’

ตั้งใจทำงานในเวลางานให้เสร็จและออกจากออฟฟิศอย่างตรงเวลา แม้จะเป็นเรื่องที่ทำยากสำหรับใครหลายๆ คน แต่ถ้าทำได้ เราจะมีเวลาพักผ่อนอย่างเต็มที่และมีแรงในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในวันต่อไป

ลองจินตนาการดูว่า หากเราทำงานเรื่อยๆ ยันดึก เราคิดว่าเช้าวันต่อมาค่อยตื่นมาทำงานสายๆ ก็ได้เพราะเวลาที่ออฟฟิศค่อนข้างยืดหยุ่น แต่ในความเป็นจริงนั้น ถึงเราจะตื่นสายได้ แต่พลังงานและสมาธิของเราอาจไม่ดีเท่าเดิม ผลที่ตามมาคืองานที่ไม่มีประสิทธิภาพ และต้องใช้เวลาในการทำงานยันดึกเช่นเคย

วัฏจักรนี้ไม่ได้ดีต่อใครเลย ทั้งเราและบริษัท ดังนั้นขีดเส้นแบ่งให้ชัดเจนจะดีกว่า

นอกจากนั้น การฝึกปฏิเสธเมื่อมีคนมาขอให้เราทำงานเกินหน้าที่ก็จำเป็นเช่นกัน หากเราตอบตกลงกับทุกอย่างที่ถูกโยนมาให้เรา ผลกระทบที่ตามมาจะทำเราแย่เอาได้

Advertisements

3) ต่อกรกับความ ‘Perfectionist’ ของตัวเอง

หลายครั้งปัญหาก็มาจากตัวเราเองที่ต้องการให้ทุกอย่าง ‘สมบูรณ์แบบ’ และออกมาดีที่สุดจนปล่อยวางไม่ได้

การเป็น Perfectionist (หรือผู้ชื่นชอบความสมบูรณ์แบบ) นั้น ทำให้เราเผลอ ‘เล่นใหญ่’ และทำให้โปรเจกต์อลังการ ทั้งๆ ที่จริงๆ ไม่ต้องทำถึงขั้นนั้นก็ได้ กว่าจะรู้ตัวอีกทีเราก็เครียดกับงานชิ้นใหญ่นี้ และเครียดที่ตัวเองผัดวันประกันพรุ่ง ไม่กล้าลงมือทำเสียที่เพราะกลัวออกมาไม่สมบูรณ์แบบ

เราต้องเข้าใจก่อนว่า บางครั้งเราไม่สามารถทำให้ ‘ทุกอย่าง’ ออกมาสมบูรณ์แบบได้ และบางครั้ง คำว่า ‘ดี’ ก็คือดีพอแล้ว

4) สำรวจว่าเรา ‘คิดไปเอง’ หรือเปล่า

บ่อยครั้งความรู้สึกเหนื่อยและเครียดจากการทำงาน ไม่ได้เกิดจากงานหนักอย่างเดียว แต่เกิดจากการที่เรากระจายงานไม่เป็นด้วย

เราแบกงานไว้ทำคนเดียว เพราะกลัวว่าหากคนอื่นทำพลาด มันจะแก้ไขไม่ได้
เราแบกงานไว้ทำคนเดียว เพราะกลัวคนอื่นจะมองว่าเราไม่ได้ช่วยอะไร หากเราไม่ทำ
เราแบกงานไว้ทำคนเดียว เพราะเชื่อว่าคนอื่นทำงานออกมาไม่ดีเท่า สุดท้ายเราก็ต้องแก้อยู่ดี

หลายคนคิดแบบนี้จึงโหมงานหนักอยู่คนเดียว จริงอยู่ที่ว่าเราอาจทำได้ดีกว่าคนอื่น แต่หากมองในภาพรวมของการทำงานเป็นทีมนั้น การไม่กระจายงานเป็นสิ่งที่ไม่ Productive เอาเสียเลย นอกจากงานอาจสำเร็จช้าแล้ว คนอื่นๆ ยังไม่ได้มีโอกาสเรียนรู้ แถมเราอาจล้มป่วยอีก

ดังนั้นลองสำรวจดูว่าบางความคิดของเรานั้น เราทึกทักไปเองหรือเปล่า และลองเปิดใจมองคนรอบข้างดู พวกเขามีความสามารถและประสิทธิภาพในการเรียนรู้กว่าที่เราคิดนะ

5) มีงานไหนที่ไม่ต้องทำเองบ้าง?

เราตัวคนเดียวอาจทำสำเร็จได้ก็จริง แต่ถ้ามีคนอื่นช่วยแล้วเราเครียดน้อยลง ทำงานได้ดีขึ้น และงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น แบบนี้ก็ดีกว่าอยู่แบบหัวเดียวกระเทียมลีบหรือเปล่า?

ตรวจสอบลิสต์สิ่งที่ต้องทำ (ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว) ดูว่างานไหนแบ่งให้คนอื่นทำได้บ้าง และงานไหนต้องขอความช่วยเหลือบ้าง เช่น ไม่เข้าประชุมที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรานัก แต่ขอโน้ตสรุปการประชุมมาอ่านทีหลังแทน หรือ สั่งวัตถุดิบในการทำอาหารผ่านจากแอปฯ แทน เราจะได้ไม่เสียเวลาไปตลาดเอง เป็นต้น

มีหลากหลายวิธีที่ช่วยให้เราประหยัดเวลา โดยเฉพาะในโลกที่เทคโนโลยีพัฒนาเช่นนี้ ดังนั้นแบ่งงานที่ไม่จำเป็นต้องทำเองให้คนอื่นบ้าง แล้วเอาเวลาที่เหลือไปโฟกัสกับสิ่งที่จำเป็นจริงๆ ดีกว่า

6) ดูแลตัวเองให้ดี

รายงานจาก The New York Times ระบุว่า ความเครียดและความวิตกกังวลส่งผลกระทบต่อทักษะทางปัญญา (Cognitive Skills) และส่งผลต่อการตัดสินใจทั้งในเรื่องชีวิตส่วนตัวและการทำงาน แต่การดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอนั้นจะช่วยลดอาการดังกล่าว แถมลดความเสี่ยงในการเบิร์นเอาต์อีกด้วย

การออกกำลังกาย การนอนอย่างมีประสิทธิภาพ และการพบปะสังสรรค์กับผู้คน (ไม่ว่าจะโทรคุย วิดีโอคอล หรือเจอตัวจริง) ช่วยลดความเครียดและวิตกกังวลได้ดี และถ้าเป็นไปได้ การลดการใช้โซเชียลมีเดียก็ช่วยได้มากเช่นกัน

แม้ตอนนี้หลายๆ คนอาจรู้สึกเหนื่อยกับงานและความเครียดพลอยทำให้เรารู้สึก ‘ไร้ความสามารถ’ อย่างช่วยไม่ได้ แต่อย่าพึ่งท้อถอย! บางช่วงอาจหนักไปบ้าง แต่ถ้าหากทำตาม 6 คำแนะนำในบทความนี้ได้ เราจะผ่านช่วงยากลำบากนี้ไปได้ด้วยดีแน่นอน

จำไว้เสมอว่าเรายังเป็นคนเดิมที่มีความสามารถ และเป็นคนเดิมที่บอกกับ HR ว่าเรา ‘รับมือกับความกดดันได้ดี’ ดังนั้นอย่าเพิ่งรีบถอดใจนะ ถึงงานจะสู้กลับแต่เราก็รับมือได้แน่นอน!

อ้างอิง:
https://bit.ly/3IqTMm3
https://bit.ly/3ilqESA

เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
เลิกคิดมากแบบง่ายๆ ด้วยเทคนิค Brain Dump Exercise!
เมื่อ “การตัดสินใจ” ทางธุรกิจดีขึ้นได้ด้วย Data Analytics

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#softskills

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Tanyaporn Thasak
Tanyaporn Thasak
ผู้โดยสารคนหนึ่งบนยาน Mission To The Moon ที่หลงใหลในวรรณกรรม ภาพยนตร์ บทกวี การอ่าน การเขียน และการนอน

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า