ไม่มีเพื่อนก็ไม่เป็นไร! นักจิตวิทยาเผย “คุยกับคนแปลกหน้า” คือเรื่องปกติ แถมดีต่อใจอีกด้วย

5327
คุยกับคนแปลกหน้า

หากเราเดินอยู่ดีๆ แล้วมี “คนแปลกหน้า” เข้ามาทักทาย ความรู้สึกแรกของเราเลยอาจเป็นความ ตกใจหรือหวาดกลัว ตามมาด้วยความสงสัยว่าคนคนนั้นจะเข้ามาหลอกเราหรือขายตรงหรือเปล่า ทั้งๆ ที่จริงแล้วคนแปลกหน้าก็คือคนธรรมดา เฉกเช่นเดียวกับการที่เราเป็นคนแปลกหน้าของคนอื่น 

หรือเพราะแม่สอนตั้งแต่เด็กว่า “อย่าคุยกับคนแปลกหน้า” หรือเปล่า เราเลยกลัวแบบนี้!

เรากลัวการคุยกับคนแปลกหน้ามากกว่าที่คิด หากให้เลือกระหว่างความเหงาหรือคุยกับคนแปลกหน้า หลายๆ คนอาจยอมเหงาแทน ทั้งๆ ที่มีงานวิจัยบอกว่าความเหงานั้นส่งอันตรายต่อสุขภาพพอๆ กับการสูบบุหรี่เลยด้วยซ้ำ

Advertisements

หลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความกลัวคนแปลกหน้าของมนุษย์เรา คงจะเป็นผลวิจัยที่พบว่าคนทั่วโลกกำลังโดดเดี่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะชาวอเมริกันและชาวอังกฤษ และอคติต่อผู้อพยพ ที่เรามักจะเห็นจากข่าวผู้อพยพถูกทำร้ายและพูดจาเหยียดหยามอยู่บ่อยๆ

จริงๆ แล้วการคุยกับคนแปลกหน้ามีประโยชน์มากกว่าที่เราคิด! ในหนังสือจิตวิทยาชื่อดังเรื่อง “The Power of Strangers” โดย โจ โคเฮน ได้พูดถึงข้อดีของการคุยกับคนแปลกหน้าไว้ พร้อมค้นหาคำตอบว่าทำไมเราถึงไม่ชอบคนแปลกหน้า และแบ่งปันวิธีหัดพูดคุยกับคนแปลกหน้าสำหรับคนที่ไม่กล้าคุย

ทำไมเราถึงไม่ชอบคุยกับคนแปลกหน้า

เรามักจะรายล้อมไปด้วยคนแปลกหน้าเมื่อเดินทางด้วยรถสาธารณะ อย่างรถไฟฟ้าหรือรถเมล์ ในการเดินทางคนเดียวเรามักจะรู้สึกเคว้งคว้างอยู่บ้าง แต่แทนที่จะหันไปคุยกับคนข้างๆ สิ่งที่หลายคนเลือกทำคือ.. การก้มหน้าเล่นโทรศัพท์

แน่นอนว่าการเลือกทำเช่นนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เราเคยสงสัยไหมว่า ‘ทำไม’ จึงเป็นเช่นนั้น

นักวิจัยพบว่ามีอยู่ 2 เหตุผลด้วยกัน เหตุผลแรกคือเราคิดไปเองว่าคนอื่นจะ ‘ไม่ชอบ’ เรา 

ในปี 2018 เอริก้า บูธบี้ นักจิตวิทยาท่านหนึ่งได้ทำการทดลอง โดยการให้ผู้ร่วมการทดลองมีปฏิสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าในหลายๆ สถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นในห้องทดลอง ในหอพัก และในห้องเวิร์กชอป ผลพบว่าเกิดปรากฏการณ์ที่เราเรียกว่า “The Liking Gap”

The Liking Gap เกิดขึ้นเมื่อคนเราเชื่อว่าเราชอบคนอื่น แต่คิดว่าพวกเขาไม่น่าจะชอบเราเท่าไร (ทั้งๆ ที่จริงแล้วอาจไม่ใช่แบบนั้นเลย เขาอาจจะชอบเรามากกว่าที่เราคิดก็ได้) ถึงแม้บทสนทนาระหว่างผู้ร่วมการทดลองนั้นเป็นไปได้ด้วยดี พวกเขามักจะคิดไว้ก่อนเสมอว่าคนอื่นไม่ชอบตนเอง นี่เองเป็นเหตุผลที่ทำให้เราไม่ค่อยคุยกับคนแปลกหน้า

ส่วนอีกเหตุผลคือ เรามักจะมองคนไม่รู้จักว่า ‘ด้อยกว่า’

ผู้คนที่อยู่ในเมืองใหญ่มักจะเจอคนแปลกหน้าจำนวนมากอยู่เป็นประจำ แม้จะขึ้นชื่อว่า ‘คน’ แปลกหน้า เรากลับให้ค่าพวกเขาน้อยกว่ามนุษย์ พวกเขาเป็นเพียง ‘สิ่งกีดขวาง’ ที่เราเจอในชีวิตประจำวันเท่านั้น และเรามักจะคิดอยู่ลึกๆ ว่าคนเหล่านี้เก่งน้อยกว่า มีความสามารถน้อยกว่าเรา

ในการทดลองของนิโคลัส เอปลีย์ และจูเลียนา ชโรเดอร์ ในปี 2013 ผู้เข้าร่วมการทดลองต้องพูดคุยกับคนแปลกหน้าขณะใช้รถโดยสารสาธารณะ ผลทดลองพบว่าผู้เข้าร่วมรู้สึกแปลกใจอย่างมากที่จริงๆ แล้วคนแปลกหน้าเหล่านั้นน่าสนใจกว่าที่พวกเขาคิด (หรือพูดง่ายๆ  ก็คือพวกเขาไม่คิดว่าคนอื่นจะฉลาดเหมือนกันนะเนี่ย!)

ไม่รู้จักก็คุยได้! แถมดีต่อใจด้วย

ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความสุขและความเป็นอยู่ของมนุษย์คือ ‘ความสัมพันธ์’ ระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกันนั่นเอง เราเคยได้เห็นผลวิจัยผ่านตากันบ่อยๆ ว่าคนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อเพื่อนและคนในครอบครัวนั้น มักจะมีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง ในขณะเดียวกัน คนที่ไม่ค่อยมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับใคร มักจะเจอปัญหาทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพกาย อย่างโรคหัวใจ เป็นต้น

การศึกษาเหล่านั้นมุ่งเน้นไปที่ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด แล้วเราเคยสงสัยมั้ยว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘คนแปลกหน้า’ ล่ะ ส่งผลอย่างไรต่อเราบ้าง

Advertisements

ในปี 2013 กิลเลียน แซนด์สตอร์ม และอลิซาเบธ ดันน์ ทำการศึกษาเกี่ยวกับผลลัพธ์จากการคุยกับคนแปลกหน้า มีผู้ร่วมวิจัยกว่า 60 คน แบ่งเป็นชาย 30 คนและหญิง 30 คน โดยพวกเขาเหล่านี้ต้องพูดคุยกับบาริสต้าขณะซื้อกาแฟ และต้องพยายามให้เป็นการคุยสั้นๆ เท่านั้น

ผลที่พบคือ แม้แต่บทสนทนาเล็กๆ ระหว่างคนแปลกหน้าก็ช่วยให้มีความสุขขึ้นได้

เพื่อยืนยันผลการทดลอง ทั้งสองได้ทำงานวิจัยคล้ายกันอีกงาน ครั้งนี้ผู้เข้าร่วมได้รับคลิกเกอร์สีแดงและสีดำ โดยสีแดงหมายถึงความสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าที่ให้ความรู้สึกแน่นแฟ้น ราวกับเป็นเพื่อนหรือคนในครอบครัว ส่วนสีดำแทนความสัมพันธ์ที่ให้ความรู้สึกเหมือนคนแปลกหน้ารู้จักกันผ่านๆ อย่างแท้จริง

ความเชื่อเดิมๆ ในสังคมมักจะเชื่อกันว่าความสัมพันธ์ผิวเผินนั้นไม่มีค่าและทำให้เรารู้สึกเหงา แต่ผลการทดลองพบว่าคนที่พบเจอความสัมพันธ์ผิวเผินมากกว่า โดยรวมแล้วมีความสุขมากกว่าและรู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไม่แพ้กัน ดังนั้นหากวันใดเรารู้สึกเหงาๆ ลองไปสั่งกาแฟสักแก้วแล้วคุยกับบาริสต้าดูไหม อาจช่วยให้เรามีความสุขมากขึ้นก็ได้นะ

ฟังดูง่ายสำหรับคนที่ชอบเข้าสังคมอยู่แล้ว คนเงียบๆ อย่างเราล่ะ พอจะมีวิธีชวนคุยกับคนอื่นแบบไม่ให้เขินไหม

รู้จักวิธีคุยกับคนแปลกหน้าฉบับมืออาชีพ

อันดับแรกเลยคือเปิดด้วย “สมอลทอล์ก” (Small Talk) หรือการชวนคุยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ทั่วไปอย่างเรื่องดินฟ้าอากาศ จริงอยู่ที่เป็นบทสนทนาแบบผิวเผินมากๆ แต่ก็เป็นตัวเปิดประตูสู่บทสนทนาจริงๆ ได้ดี

ขั้นตอนต่อไปก็คือลอง “ออกนอกบท” ดู ปกติมนุษย์เรามักจะมีคำตอบที่ชินในการตอบคำถามทั่วๆ ไปอยู่แล้ว เช่น หากโดนถามว่าสบายดีมั้ย เรามักจะตอบว่าสบายดี (ทั้งๆ ที่จริงอาจจะไม่สบายเลยก็ได้) คำตอบเดิมๆ เช่นนี้มักจะทำให้บทสนทนาตัดจบลงแทบจะทันที เราลองมาออกนอกบทแล้วตอบคำถามแบบสร้างสรรค์บ้างดูไหม

เป็นต้นว่า ‘ดีมากเลยช่วงนี้ ถ้าคะแนนเต็ม 10 เอาไปเลย 8’ คำตอบเช่นนี้ช่วยให้เราดูจริงใจ ดูเหมือนคิดก่อนตอบคำถามจริงๆ ไม่ได้ตอบส่งๆ แบบหุ่นยนต์ แถมยังช่วยกระตุ้นให้ผู้ถามสงสัยและถามถึงสาเหตุต่ออีกด้วย

นอกจากการตอบคำถามแล้ว เราควร “ถามกลับ” ด้วย เพราะมนุษย์เรานั้นพอใจในการสื่อสารกับคนที่สนใจในตัวเรา มากกว่าคนที่สนใจแต่ตัวเอง สิ่งสุดท้ายที่อย่าลืมทำคือ “การมองตา” เพราะการกระทำง่ายๆ อย่างการมองตาผู้พูดนี่แหละ จะช่วยให้ร่างกายหลั่งสารออกซิโทซิน (Oxytocin) หรือฮอร์โมนสำคัญในการสร้างสัมพันธไมตรี

ในเมื่อรู้กันแบบนี้แล้ว วันนี้ก็อย่าลืมลองทักทายคนแปลกหน้าที่บังเอิญเจอดูบ้างนะ ถึงจะเขินๆ อยู่บ้าง แต่เราขอแนะนำว่าอย่าคิดมาก อย่ามัวแต่กังวลว่าเราคุยไม่เก่งหรือพูดอะไรน่าอายไปไหม คิดเสียว่าไม่มีใครสนใจเราหรอก! เพราะอีกฝ่ายก็กังวลในใจไม่แพ้กันว่าทักษะการพูดของเขาเป็นอย่างไร สิ่งที่เราควรจะโฟกัสคือ ‘ความสุข’ และ ‘เรื่องราวใหม่ๆ’ ที่เราได้จากบทสนทนามากกว่า


เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง:
ชวนคุยไม่เก่ง? ลองวิธี ‘Small Talk’ พูดเรื่องไร้สาระให้มีสาระดูสิ

อ้างอิง
หนังสือ The Power of Strangers โดย Joe Keohane

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#softskill
#psychology

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements