ว่างเปล่า? ใช้ชีวิตวนไปแบบไร้จุดหมาย? แก้ได้ด้วยแนวคิด “Flow”

4736
Flow

สงสัยกันบ้างไหมว่าหากเราตื่นมาใน ‘วันเดิมๆ’ แบบพระเอกเรื่อง Groudhog Day บ้าง เราจะรู้สึกอย่างไร? ว่างเปล่า ไม่ยินดียินร้าย หรือไร้จุดหมาย? หลายคนอาจมีคำตอบอยู่ในใจแล้ว เพราะว่าช่วงเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ชีวิตของเราก็ติดอยู่ในวังวนซ้ำเดิมเหมือนหนังเรื่องนั้นเลย

หากต้องตอบออกมาจริงๆ เพราะมีคนถามว่า “เป็นอย่างไรบ้าง?”

เราคงตอบได้แค่ว่า “เรื่อยๆ” ไปตามมารยาท เพราะถ้าจะให้อธิบายก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแถมน่าจะต้องใช้เวลากันน่าดู

Advertisements

เราเรียกภาวะนี้ว่า “Languishing”

ในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักว่าภาวะอารมณ์นี้คืออะไร อันตรายหรือไม่ และที่สำคัญคือต้องทำอย่างไรถึงจะออกจากความรู้สึกนี้ได้

รู้จักกับ “Languishing” โดยสังเขป

โดยปกติแล้วนักจิตวิทยาจะแบ่งสุขภาวะทางอารมณ์ออกเป็นสองขั้วคือ “Flourishing” (จุดสูงสุดในความสุข) และ “Depression” (จุดต่ำสุดในความทุกข์) แต่ “Languishing” คือความรู้สึกครึ่งๆ กลางๆ ที่อยู่ระหว่างสองความรู้สึกนี้ เราไม่ได้มีความสุขในชีวิตก็จริง แต่เราก็ไม่ได้เศร้าขนาดนั้น

ในช่วงโรคระบาดโควิด-19 หลายคนต้องเจอกับความรู้สึกนี้ เพราะปัจจัยภายนอกที่ควบคุมยากเช่น โรคระบาด การล็อกดาวน์ หรือการจัดการของภาครัฐทำให้เรารู้สึกว่า ‘ทำอะไรไม่ได้’  ไร้ทางออก และไร้ความสามารถ สิ่งที่เราพอจะทำได้คือการใช้ชีวิตไปวันๆ

ณ จุดนี้เองที่ ‘ความสุข’ ของเราเริ่มลดลงและ ‘เป้าหมาย’ เริ่มเลือนหายไป

เฉื่อยชาไม่ได้แปลว่าจะไม่ก่อให้เกิดผลเสีย ผลวิจัยพบว่าอาการว่างเปล่านี้ทำให้เราโฟกัสในการทำอะไรบางอย่างได้ยากขึ้น และหากปล่อยไว้นานเข้า แรงจูงใจในการใช้ชีวิตของเราจะหายไปเรื่อยๆ จนสุ่มเสี่ยงต่ออาการซึมเศร้า อย่างไรก็ตาม เรารู้กันดีว่าจะยื่นมือขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ ‘เฉยๆ’ ฟังดูไม่ได้น่าเป็นห่วงเท่าความเศร้าและยากยิ่งกว่าในการอธิบายว่าเราต้องการอะไร ในเมื่อตัวเราก็ยังไม่รู้เลย!

วันนี้เราเลยมีแนวคิดที่จะช่วยให้เราออกจากอารมณ์เฉื่อยๆ นี้มาแนะนำ แนวคิดนี้ชื่อว่า “Flow” นั่นเอง

มารู้จัก “Flow” เพื่อสนุกกับทุกจังหวะของคลื่นชีวิต

อดัม แกรนท์ นักเขียนและศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาคือหนึ่งในคนที่เผชิญกับภาวะ ‘เฉื่อยๆ’ เมื่อต้องเข้าสู่ช่วงล็อกดาวน์ เขาพบว่าชีวิตเขาว่างเปล่าและขุ่นมัว ราวกับแต่ละวันเขามองชีวิตผ่านม่านหมอก แต่กระนั้นเขาก็ได้พบความสุขและจุดหมายของชีวิตอีกครั้งเมื่อได้ลองทำตามแนวคิดการใช้ชีวิตแบบ “Flow”

“สภาวะ Flow คือช่วงเวลาที่เราจดจ่อกับความท้าทายหรือความสัมพันธ์ที่อยู่ตรงหน้า จนการรับรู้เรื่องเวลา สถานที่และตัวตนของคุณละลายหายไป” อดัม แกรนท์ให้นิยามไว้ เขามองว่าคนที่ง่วนกับโปรเจ็กต์อะไรบางอย่างของตัวเอง เมื่อเข้าสู่ช่วงเวลายากลำบาก เช่น สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 พวกเขามีแนวโน้มที่จะมีความสุขกว่าและเผชิญกับภาวะเฉื่อยชาน้อยกว่า 

ถ้าเราอยาก Flow บ้างต้องเริ่มจากตรงไหน? สภาวะนี้ประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 อย่างได้แก่ Mastery, Mindfulness, และ Mattering

1) Mastery หรือ การทำอะไรสักอย่างให้สำเร็จ 

อย่างที่บอกไปว่าความรู้สึกว่างเปล่าเกิดขึ้นเพราะเรารู้สึกไร้ความสามารถ ทำอะไรไม่ได้ ดังนั้นวิธีแก้คือทำอะไรสักอย่างให้สำเร็จ เพราะหากทำได้แล้ว เราจะรู้สึกถึงความรู้สึก ‘มีจุดมุ่งหมาย’ (Sense of Purpose) อีกครั้ง ความสุขและแรงจูงใจในแต่ละวันก็จะตามมาด้วย 

เรารู้สึกว่า ‘ถ้าฉันทำสิ่งนี้ได้ อย่างอื่นฉันก็ทำได้!’ แต่แน่นอนว่า ความฮึกเหิมนี้อาจสร้างยากเพราะช่วงเวลาที่ไม่มีสมาธิแบบนี้ เราดันทำอะไรไม่สำเร็จสักอย่าง! 

เพราะเราวางเป้าหมายไว้ยากเกินไปหรือเปล่า มาเริ่มที่อะไร ‘เล็กๆ’ กันไหม

‘Small Wins’ หรือความสำเร็จจากการทำอะไรเล็กๆ คือสิ่งที่อดัม แกรนท์แนะนำ โดยเฉพาะจากกิจกรรมที่ ‘ยาก แต่พอทำได้’ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นครอสเวิร์ด ทำงานบ้านที่ดองมานาน ไปจนถึงการแก้ปัญหาเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน บางทีเราอาจค้นพบว่าความสำเร็จเล็กๆ ที่อาจดูไม่สำคัญนี่แหละ เป็นสิ่งที่นำพาเราไปสู่พลังงานและความกระตือรือร้นที่เราโหยหามาตลอดหลายเดือน

Advertisements

หากสนใจตัวช่วยในการตั้งเป้าหมายเล็กๆ และทำให้สำเร็จ เราขอแนะนำ ‘One Small Step Planner’ แพลนเนอร์ปี 2022 จาก Mission To The Moon ที่มาพร้อมกับฟังก์ชันหลากหลาย ช่วยให้คุณมุ่งสู่ความสำเร็จด้วย ‘ก้าวเล็กๆ’ วันละนิด! สั่งซื้อได้ที่ >> https://bit.ly/3AwlJ89

2) Mindfulness หรือ การโฟกัสกับสิ่งเดียว

จะทำอะไรสักอย่างให้เสร็จ ปัจจัยสำคัญคือการจดจ่อกับสิ่งนั้น อย่างไรก็ตาม มันไม่ได้ทำกันง่ายๆ เลย! เพราะทุกวันนี้เราทำอะไรพร้อมกันหลายอย่าง (Multitask) จนเป็นนิสัย เช่น นั่งทำงานอยู่ก็เข้าไปเช็คอีเมล ตอบแชทที่ทำงาน หรือเผลอหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเล่นทุก 10-20 นาที

ก้อนเวลาก้อนใหญ่ๆ ที่เราสามารถทำให้มีค่า ถูกหั่นให้เป็นก้อนเล็กๆ ที่เราใช้ไปกับการทำอะไรหลายอย่าง แต่ไม่เสร็จสักอย่าง

ไม่ใช่เราคนเดียวที่เจอปัญหานี้ เมื่อหลายปีก่อน บริษัทซอฟต์แวร์แห่งหนึ่งในอินเดียต้องเจอปัญหานี้เช่นกัน จนพวกเขาต้องออกกฎใหม่ ซึ่งก็คือการ “ห้ามรบกวนกันและกัน” ในช่วงเช้าของวันอังคาร พฤหัส และศุกร์ ผลพบว่า 65% ของพนักงานทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ดังนั้นเรามาลองหาเวลา “ห้ามรบกวน” ของตัวเองกันบ้างไหม อาจเป็นการใช้กฎ 50-10 (ทำงาน 50 นาที พัก 10 นาที) หรือใช้เทคนิคคลาสสิก Pomodoro (ทำงาน 25 นาที พัก 5 นาที) ก็ได้ การแบ่งเวลาทำทีละนิดแบบนี้จะช่วยให้เรามีสมาธิมากขึ้น

3) Mattering หรือ การหาความหมายในสิ่งที่ทำ

จริงอยู่ว่าเราทำงานเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพ แต่การตระหนักว่างานของเรามี ‘ความหมาย’ ต่อใครบางคนนั้นช่วยให้เรามีแรงใจในการทำงานเพิ่มขึ้นหลายเท่าเลยทีเดียว

ในการทดลองหนึ่งของอดัม แกรนท์ เขาต้องติดตามการทำงานของพนักงานคอลเซ็นเตอร์แผนกทุนของมหาวิทยาลัย หน้าที่ของคนเหล่านี้คือการโทรติดต่อเพื่อ ‘ขอทุน’ จากคนที่น่าจะมีเงินบริจาค ฟังดูก็รู้เลยว่าไม่ใช่งานที่สนุกแน่นอน เพราะนอกจากจะได้เงินเดือนน้อยแล้ว พวกเขายังต้องเจอกับคำปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำเอาหมดกำลังใจไปตามๆ กัน

สิ่งที่การทดลองทำเพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้พนักงานคือให้พวกเขาคุยกับเด็กๆ ที่ยื่นขอทุน

แม้จะเป็นการพบปะสั้นๆ เพียง 5 นาที แต่ก็ช่วยให้พนักงานเหล่านี้เห็นว่างานของพวกเขามีความหมายกับการศึกษาของเด็กๆ มากเพียงใด เพียงแค่ 1 เดือนต่อมา ผลวิจัยพบว่าพนักงานคอลเซ็นเตอร์ใช้เวลาโทรขอทุนมากขึ้นเป็นเท่าตัว แถมยังหาเงินบริจาคได้มากถึงสัปดาห์ละ 500 เหรียญ! (จากเดิมสัปดาห์ละ 185 เหรียญ)

อดัม แกรนท์ ทำการทดลองลักษณะเช่นนี้อยู่หลายการทดลอง สิ่งที่เขาสรุปได้คือ ไม่มีสิ่งใดทำให้เรารู้สึกถอดใจไปได้มากกว่าความรู้สึกที่ว่า ‘ทำดีไปก็ไม่มีความหมาย’  ในขณะเดียวกัน หากเราตระหนักรู้ว่างานของเรามีความหมาย เรามักจะมีความสุขมากขึ้นและทำงานได้มีประสิทธิภาพกว่าเดิมด้วย

หากเราเผชิญกับปัญหาทำงานไม่ได้ หรือ ทำงานไม่สำเร็จสักที ลองนั่งทบทวนกันดูอีกทีไหมว่างานที่เราทำส่งผลดีต่อตัวเรา ผู้อื่น หรือสังคมโดยรวมอย่างไร บางทีเราอาจจะมีกำลังใจในการทำงานเพิ่มขึ้นก็ได้นะ นอกจากนั้นแล้ว อย่าลืมเอ่ยปากชมลูกน้องและเพื่อนร่วมงานเป็นประจำด้วยนะ พวกเขาจะได้รู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำก็มีความหมายไม่น้อยเลย

อดัม แกรนท์ กล่าวปิดท้ายในบทความว่า “ไม่ได้ซึมเศร้า ไม่ได้หมายความว่าไหว และ ไม่ได้เบิร์นเอาท์ ไม่ได้หมายความว่ามีไฟ” ดังนั้นอย่าปล่อยให้ตัวเองรู้สึกเฉยๆ เช่นนี้ มาหาอะไรสนุกๆ น่าจดจ่อ และมีความหมายทำให้สำเร็จดีกว่า 

ออกจากความว่างเปล่าและหาเป้าหมายให้ตัวเองกันอีกครั้งนะ

อ้างอิง
https://nyti.ms/3BG70ca
https://whr.tn/2YHp1rZ
https://bit.ly/3lzYZ2A

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#selfimprovement

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements