ปรับตัวได้ดี จึงไปได้ไกล! รู้จัก “Situational Adaptability” ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21

4890
Situational Adaptability

“ระยะทาง 500 ไมล์จากชายฝั่งแคลิฟอร์เนีย เรือพายของพวกเรากำลังลอยอยู่ ณ ท่ามกลางมหาสมุทรแปซิฟิกอันเวิ้งว้างและมืดมิด ฉันจำได้ดีว่าคืนนั้นเมฆหนาปกคลุมทุกอย่าง ทั้งแสงจันทร์ แสงดาว และคลื่นยักษ์ขนาด 40 ฟุตที่กำลังจะถาโถมใส่พวกเรา…”

ลอร์รา เพนฮอลล์ (Laura Penhaul) เล่าถึงประสบการณ์การพายเรือพายข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกพร้อมกับเพื่อนในทีมอีก 3 คน เป็นการเดินทางที่หลายคนบอกว่า ‘อันตราย’ และ ‘เป็นไปไม่ได้’ เพราะระยะทางจากอเมริกาไปยังออสเตรเลียนั้นไกลถึง 9,000 ไมล์ ซึ่งต้องพายกันนานถึง 6 เดือน แต่เธอไม่เคยย่อท้อตลอดการเตรียมตัว จนกระทั่งย่างเข้าวันที่ 10 ของการเดินทาง

Advertisements

เพียงแค่ 10 วันแรกเท่านั้น พวกเธอต้องเผชิญกับพายุฝนถึง 2 ลูก คลื่นสูงถึง 40 ฟุตและอาการเมาเรืออย่างหนัก เท่านั้นยังไม่พอ น้ำยังไหลเข้าไปในที่เก็บแบตเตอรี่จนเกิดไฟลุกอีก เริ่มต้นยังหนักขนาดนี้ อีก 6 เดือนที่เหลือจะขนาดไหน

เป็นครั้งแรกที่ลอร์ราเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะ ‘ยอมแพ้’ หรือจะ ‘สู้ต่อ’

หากเป็นคนอื่นคงยอมแพ้ไปแล้ว แต่ไม่ใช่ลอร์รา เธอและทีมเลือกพายกลับเข้าฝั่งเพื่อซ่อมเรือและออกเดินทางอีกครั้ง จนในที่สุด พวกเธอก็กลายเป็นนักพายหญิงล้วนกลุ่มแรกที่พายเรือข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกสำเร็จ แม้จะใช้เวลาทั้งหมดถึง 9 เดือน ซึ่งนานกว่าที่ตั้งไว้ในตอนแรก

เจออุปสรรคหนักหนาขนาดนั้น เหตุใดลอร์ราถึงสู้ต่อได้จนสำเร็จ?

เพราะเธอมี “ทักษะการปรับตัว” (Situational Adaptability) นั่นเอง!

รู้จักกับ “Situational Adaptability” ทักษะที่ต้องมีหากคุณอยากประสบความสำเร็จ

ทักษะการปรับตัวคือความสามารถในการปรับตัวได้อย่างทันท่วงทีต่อความต้องการและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ทักษะความยืดหยุ่นนี้คือความสามารถของเราในการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดเดิมๆ แก้ไขปัญหา และหาทางออกด้วยวิธีใหม่ๆ ได้ แม้ว่าจะเจออุปสรรคแบบใดก็ตาม

ในโลกปัจจุบันที่ผันผวนอยู่ตลอดเวลา ทักษะการปรับตัวถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก

เพราะมันแสดงให้เห็นว่า เราไม่ได้โฟกัสแค่เป้าหมายอย่างเดียว แต่ยังคำนึงถึงการปรับเปลี่ยน ‘วิธีการ’ ในการไปถึงเป้าหมายอีกด้วย

แล้ว Situational Adaptability ดีต่อเราอย่างไร

งานวิจัยของ Korn Ferry บริษัทที่ปรึกษาระดับนานาชาติพบว่า ทักษะการปรับตัวเป็นหนึ่งในทักษะที่ฝึก ‘ยากที่สุด’ ในมนุษย์เรา แม้จะพัฒนายาก แต่ถ้าหากทำได้ก็ถือว่าคุ้มค่าสุดๆ เพราะทักษะนี้ส่งผลอย่างมากต่อ ‘ความสำเร็จ’ ในชีวิต ตั้งแต่ผลการทำงาน การได้เลื่อนขึ้น ไปจนถึงการเป็นผู้นำที่ดี ถึงขั้นพูดได้เลยว่า

“ชีวิตนี้จะประสบความสำเร็จมากขนาดไหน อาจขึ้นอยู่กับว่าเราปรับตัวได้ดีแค่ไหน”

ขนาดนั้นเชียวหรือ ถ้าอย่างนั้นเรามาดูกรณีศึกษาความล้มเหลวจากการปรับตัวช้ากันดีกว่า คิดว่าทุกคนยังจำ ‘Blackberry’ ได้ดี เพราะโทรศัพท์ยี่ห้อนี้เป็นที่นิยมมากในช่วง 10 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อ Android และ Apple ปล่อยสมาร์ตโฟนแบบหน้าจอสัมผัสออกมา Blackberry เริ่มเสียส่วนแบ่งทางการตลาด แต่แทนที่จะปรับตัวและออกสมาร์ตโฟนลักษณะคล้ายกันออกมาบ้าง พวกเขากลับทุ่มเต็มหน้าตักให้กับฟีเจอร์แป้นพิมพ์อันเป็นเอกลักษณ์เหมือนเดิม

ผลที่ตามมาคือยอดขายร่วงไม่เป็นท่า จน CEO ทั้งสองถูกเชิญออก

ภายหลังบริษัทออกมาให้สัมภาษณ์ว่าพวกเขา ‘ปรับตัวช้า’ และพลาดโอกาสเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง 4G กับจอสัมผัส แต่กว่า Blackberry จะปรับตัวทันก็สายไปเสียแล้ว จากรายได้เกือบ 20,000 ล้านเหรียญในปี 2010 ปัจจุบันรายได้ของบริษัทลดลงถึง 96% เหลือเพียง 800 ล้านเหรียญเท่านั้น

เห็นหรือยังว่าจะไปได้ใกล้หรือไกล ขึ้นอยู่กับว่าปรับตัวได้ดีแค่ไหนล้วนๆ

mm2021

ย้อนกลับมาที่ลอร์รา ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่ดีของความสำเร็จในการปรับตัว แต่ที่น่าสนใจคือเธอไปเรียนรู้ทักษะเหล่านี้มาจากไหน

Advertisements

สำหรับลอร์รา เหตุการณ์นั้นไม่ใช่ครั้งแรกที่ทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผน ก่อนเริ่มการเดินทาง เธอต้องปรับตัวและผ่านความผิดหวังมานับไม่ถ้วน เธอใช้เวลาถึง 4 ปีในการเตรียมตัว ระหว่างนั้นเธอต้องตามหาสปอนเซอร์ที่ยินยอมจ่ายเงินถึง 250,000 เหรียญ (หรือกว่า 8 ล้านบาท) ซึ่งเธอถูกปฏิเสธหลายต่อหลายครั้ง ส่วนเพื่อนร่วมทีมก็เข้าร่วมและลาออกไปแล้วถึง 8 คน แต่เธอก็หาทางออกด้วยวิธีการใหม่จนเริ่มการเดินทางได้ในที่สุด

นอกจากนั้น เธอยังมีโอกาสได้พบคนปรับตัวเก่งมามากมาย ในฐานะนักกายภาพบำบัดในการแข่งขันพาราลิมปิก นักแข่งผู้พิการเหล่านั้นล้วนได้พบกับความสูญเสียที่ไม่คาดฝันจนชีวิตต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล พวกเขาเหล่านี้อาจตื่นมาในเช้าวันหนึ่งและเลือกที่จะยอมแพ้ก็ได้ แต่พวกเขากลับเลือกที่จะใช้ชีวิตที่มีอย่างเต็มที่ หาเป้าหมายใหม่อีกครั้ง แน่นอน การสูญเสียขาหรือแขนไม่ได้อยู่ในแผนที่พวกเขาวางไว้ แต่ในเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว พวกเขาก็ต้องปรับตัวและอยู่กับวิถีชีวิตแบบใหม่นี้ให้ได้

ประสบการณ์เหล่านี้นี่แหละที่สอนให้เธอรู้จักปรับตัว หากลองทำอะไรแล้วไม่ได้ผล ให้ลองอีกครั้งด้วยวิธีการใหม่ ไม่ใช่ล้มเลิก

แล้วถ้าหากเราอยากมีทักษะการปรับตัวบ้าง จะสร้างอย่างไร?

มีหลายวิธีที่จะช่วยให้เราฝึกทักษะนี้ โดยที่เราไม่ต้องพายเรือข้ามมหาสมุทร

1) รับฟังและสังเกตสิ่งรอบตัว

การจะปรับตัวได้ดีต้องเริ่มจากการมี Awareness ที่ดีเสียก่อน บนโลกนี้ไม่มีสถานการณ์ ใดที่เหมือนกัน 100% ดังนั้นสิ่งที่เราควรทำคือสังเกตรายละเอียด และปรับตัวเพื่อตอบสนองกับแต่ละสถานการณ์นั้นๆ ให้ได้

2) เปิดใจรับสิ่งใหม่

ไม่มีแนวคิดไหนที่หยุดยั้งการพัฒนาตนเองและองค์กรได้มากเท่ากับความคิดประเภท ‘ที่ผ่านมาก็ทำแบบนี้มาตลอด’ แล้ว จริงอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงนั้นน่าหวาดหวั่น แต่หากเราไม่เปิดรับความคิดใหม่ๆ หรือวิธีการใหม่ๆ เราจะพลาดโอกาสในการพัฒนา เรียนรู้ และเติบโต

ดังนั้นเลิกปิดกั้นและหันมาเปิดกว้าง ให้โอกาสตัวเองได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ผ่านความคิดของตัวเอง หรือผ่านความเห็นของผู้อื่น แต่นอกจากเราจะเปิดใจตัวเองแล้ว เราควรสนับสนุนให้ผู้อื่นเปิดใจด้วย หากทุกคนอยู่ในบริบทที่ให้อิสระทางความคิด อาจผุดแนวคิดใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย เพราะไม่มีอะไรดีกว่าหลายหัวช่วยกันคิดแบบไม่มีลิมิตกั้นแล้ว

3) กล้าเสี่ยง

สำหรับบางคน หากได้ยินคำว่า ‘เสี่ยง’ คงอยากหนีไปให้ไกลที่สุด แต่เราลืมไปหรือเปล่าว่าทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมมีความเสี่ยง ดังนั้นแทนที่จะโฟกัสไปที่ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น เราเบนความสนใจไปที่ ‘วิธีรับมือ’ ดีกว่า

4) เรียนรู้ให้เป็นชีวิตจิตใจ

คนที่รู้จักตั้งคำถามและสนใจเรื่องราวรอบตัวที่เกิดขึ้นมักจะปรับตัวได้ดีกว่า เพราะฉะนั้นเราควรเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ให้เป็นนิสัย ไม่ว่าจะเป็นข่าวสารบ้านเมือง เทรนด์ เทคโนโลยี และการพัฒนาตัวเอง ไม่จำเป็นเสมอไปว่าเราต้องเรียนรู้จากการอ่านหรือการเข้าร่วมสัมมนา อย่าลืมว่าเรายังสามารถเรียนรู้ผ่านการทดลอง ผ่านความผิดพลาด และผ่านการพูดคุยกับผู้อื่นได้อีกด้วย

5) มี Self-Control

ทักษะการปรับตัวนั้นเกี่ยวข้องกับการทักษะอื่นๆ อย่างการมี Self-Control ด้วย หากเราต้องพบเจออุปสรรคที่ไม่คาดฝัน การมีสติและรู้จักควบคุมอารมณ์ ช่วยให้เราไม่จมอยู่กับอุปสรรค และมุ่งหน้าหาวิธีแก้ปัญหาแทน

mm2021

กว่าวิวัฒนาการของมนุษย์จะพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน บรรพบุรุษของเราต้องเจอบททดสอบมากมาย แต่พวกเขาก็ผ่านมาได้ด้วยสัญชาตญาณการเอาตัวรอด เราจะเห็นได้ว่าจริงๆ ‘ทักษะการเอาตัวรอด’ มีอยู่ในตัวทุกคน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะฝึกฝนและนำไปใช้จริงมากแค่ไหน

โลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาราวกับทะเลที่ผันผวน เราทุกคนล้วนต้องเจออุปสรรคใหม่ทุกวัน ไม่ต่างจากที่ลอร์รา เพนฮอลล์ต้องเจอในการพายเรือข้ามทะเลเลย แต่เราก็สามารถใช้โอกาสนี้ฝึกทักษะการเอาตัวรอดได้ตามข้อคิดที่ลอร์ราได้ทิ้งท้ายไว้

“อย่าปล่อยให้การยอมแพ้เป็นตัวเลือกของเรา เอามันออกไปจากหัว และดูว่าเราจะปรับตัวได้มากแค่ไหน”

– Laura Penhaul –

 

อ้างอิง:
https://bit.ly/3gWpKeQ
https://bit.ly/3yLxAOt
https://bit.ly/38BifWf
https://bit.ly/2WUE3d7
https://bit.ly/3h0H3vz

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#softskill

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements