‘ทักษะนี้ก็อยากเก่ง เรื่องนี้ก็อยากพัฒนา ความสัมพันธ์ก็อยากจะรักษา ส่วนเรื่องรูปร่างหน้าตาก็อยากจะให้เป๊ะอยู่ตลอด…’
ความรู้สึกว่าอยากเป็น “ตัวเองที่ดีกว่า” ในทุกๆ ด้านเช่นนี้ทำให้ทุกครั้งที่ต้องเริ่มต้นใหม่ (อย่าง ในช่วงปีใหม่) เราตั้งเป้าหมายต่อปีไว้มากมาย ในช่วงแรกที่เราพอมีไฟ ทุกอย่างอาจเป็นไปได้ด้วยดี อย่างไรก็ตาม กว่าเราจะรู้ตัวอีกทีว่ามันเยอะเกินไปก็เบิร์นเอาท์ไปแล้ว การพยายามทำทุกอย่างพร้อมๆ กันช่างยากเย็นเสียเหลือเกิน!
เพราะชีวิตจริงนั้นยากยิ่งกว่าการเล่นกายกรรมโยน-รับบอล 3 ลูกพร้อมๆ กัน แม้เราจะมีความสามารถและความตั้งใจที่แน่วแน่ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถทำทั้งหมดไปพร้อมๆ กันได้
คำถามที่ตามมาคือ เราควรตั้งเป้าหมายอย่างไร?
มีเป้าหมายหลายข้อเกินไปไม่ดีจริงไหม?
และจะรู้ได้อย่างไรว่าเป้าหมายไหน “สำคัญ” สำหรับเราที่สุด?
ทำไมเป้าหมายเยอะเกินไปก็ไม่ดี
หากเรามีเรื่องสำคัญต้องทำพร้อมๆ กันตลอดเวลาก็อาจจะก่อให้เกิดความรู้สึกท่วมท้น (Overwhelmed) ขึ้นมาจนเครียดได้ เพราะไม่ว่าจะมองไปทางไหนทุกอย่างก็สำคัญไปหมด หากเราจัดการเวลาพลาดแม้แต่นิดเดียวอาจกระทบเรื่องอื่นๆ ราวกับโดมิโนที่ล้มครืนเลย หากเราฝืนทำต่อไปก็อาจจะไม่มีความสุขจนเกิดอาการเบิร์นเอาท์ ไม่ก็รู้สึกขยาดจนหันไปทำอะไรอย่างอื่นที่ให้ความ ‘สบายใจ’ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ
บางคนอาจหันไปทำงานเล็กๆ ง่ายๆ แต่ไม่ได้สำคัญก่อน เพราะความสำเร็จที่ได้มาเร็วนั้นทำให้เรารู้สึกดีทันทีทันใด อย่างการตอบอีเมลไม่สำคัญๆ หรือการตกแต่งสไลด์สำหรับการพรีเซนต์
อีกข้อเสียของการทำอะไรหลายอย่างพร้อมกันคือ “ต้นทุนในการเปลี่ยนงาน” (Task Switching Cost) ซึ่งก็คือเวลาและสมาธิที่เราต้องเสียทุกๆ ครั้งที่เราเปลี่ยนจากการทำอย่างหนึ่งไปทำอีกอย่างหนึ่ง
นักวิจัยพบว่าต้นทุนที่เราเสียไปกับการเปลี่ยนงานนั้นมีตั้งแต่ 25% ไปจนถึงกว่า 100% เลยทีเดียว ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้กว่าเราจะตั้งสมาธิทำอะไรสักอย่างใช้เวลาไปไม่น้อย หากต้องมาตั้งสมาธิเริ่มต้นทำใหม่บ่อยๆ คงจะเสียเวลากว่าเดิมอีก ดังนั้นการทำอะไรหลายอย่างพร้อมกันอาจไม่ Productive เอาเสียเลย
แล้วถ้าหากเราจะเริ่มตั้งเป้าหมายใหม่ต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง
1. อย่าลืมว่า “เป้าหมาย = การกระทำเล็กๆ รวมกัน”
ในตอนที่เราวางแผน หลายครั้งเราคิดว่าเป้าหมายอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง เราจึงเขียนอะไรต่างๆ ลงไปมากมายและตัดสินใจทำมันเสียทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การลดน้ำหนัก การอ่านหนังสือเดือนละเล่ม และการทำแบรนด์เล็กๆ ของตัวเอง
แต่ในความเป็นจริงนั้น เราลืมไปว่าการจะไปถึงเป้าหมายประกอบด้วย “สิ่งที่ต้องทำ” มหาศาล! อย่างเช่นในการลดน้ำหนัก ไม่ได้มีแค่ขั้นตอนเดียวซึ่งก็คือการออกกำลังกาย แต่ประกอบด้วยขั้นตอนอื่นๆ อีก เช่น
– ไม่นอนดึก พักผ่อนให้เพียงพอ
– ต้องทำงานให้เสร็จภายในชั่วโมงทำงานจะได้มีเวลาออกกำลังกาย
– ทานอาหารให้ครบทุกมื้อจะได้มีแรงออกกำลังกาย
– มีเวลาเตรียมอาหารและทำอาหารในทุกๆ วัน
จะเห็นได้ว่าแต่ละเป้าหมายมีขั้นตอนแฝงเต็มไปหมด ดังนั้นพอเราตั้งเป้าหมายจริงๆ เราควรนึกถึง “ขั้นตอน” ของมันด้วยว่าเราจะสามารถทำได้จริงหรือเปล่า
ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนใดๆ ก็ตาม ควรคำนึงถึงระหว่างทางด้วย มิใช่แค่ปลายทางอย่างเดียว
2. ควรทำ vs อยากทำ
เป้าหมายคือสิ่งที่เราต้องการ อยากได้ หรืออยากมี แต่ท่ามกลางความต้องการนับร้อยของเรานั้น มีบางอย่างที่สำคัญกว่าอีกอย่างเสมอ ดังนั้นเราอาจเริ่มจากการจัดลำดับความสำคัญ โดยเขียนทุกอย่างลงไปในลิสต์ให้หมดก่อน จากนั้นก็ค่อยแบ่งประเภทว่า เป้าหมายไหน “ควรทำ” ในช่วง 1 ปีนี้และอันไหนที่ “อยากทำ”
จากนั้นให้เลือกสิ่งที่ควรทำ (ซึ่งก็คือสิ่งที่เรามองว่าสำคัญและจะส่งผลต่อชีวิตเรามากที่สุด) มาตั้งเป็นเป้าหมาย โดยอาจเลือกมาเพียง 3-5 อย่างเท่านั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เยอะเกินไป
และแน่นอนว่า สิ่งที่เราอยากทำก็เป็นเรื่องจำเป็นต่อความสุขในการดำรงชีวิต (อย่างเช่น การฝึกเล่นเครื่องดนตรี 1 ชิ้น การใช้เวลากับเพื่อนให้มากขึ้น หรือการไปเที่ยวไกลๆ สักที่) ถ้าหากสิ่งเหล่านี้มีความจำเป็นต่อเรามากๆ เราสามารถเลือกสิ่งที่เราอยากทำมากที่สุดมาเพียงสักข้อก็ได้ เป้าหมายรายปีของเราอาจประกอบด้วยสิ่งที่ควรทำ 3 ข้อ และอยากทำ 1 ข้อ
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราต้องใช้เวลากับตัวเอง คิดวิเคราะห์ให้ดีว่าสิ่งใดบ้างที่จะส่งผลดี สอดคล้องไปกับเป้าหมายของเราในระยะยาว เราอาจถามตัวเองด้วยคำถามที่ว่า หากเราไม่ทำมันในปีนี้ ปีหน้าเราจะเสียใจและเสียดายมากไหม จะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง
3. โฟกัสให้ถูกที่ถูกเวลา
มีแนวคิดหนึ่งที่นักจิตวิทยาเรียกว่า “การที่เป้าหมายแข่งขันกันเอง” กล่าวคือ อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดในการทำเป้าหมายหนึ่งให้สำเร็จ คือ เป้าหมายอื่นๆ ที่เรามี พูดง่ายๆ ก็คือการที่เราทำบางอย่างได้ไม่สำเร็จสักที อาจเป็นเพราะเราเอาเวลา แรงกาย และสมาธิไปโฟกัสกับเป้าหมายอื่นๆ ในชีวิต
หากเรามีเพียงแค่ 1 เป้าหมายต่อปี การวางแผนและการตัดสินใจมักจะทำได้อย่างสะดวกและรวดเร็วกว่า โอกาสในการทำสำเร็จอาจมากกว่าด้วย หลายคนจึงนิยมทำให้สำเร็จไปทีละอย่าง
แน่นอน หากเป็นไปได้เราก็อยากแนะนำให้เลือกสิ่งที่สำคัญที่สุดมา 1 อย่างและโฟกัสกับมันให้เต็มที่จนทำสำเร็จ แต่ในชีวิตจริงอาจไม่ใช่แบบนั้นเสมอไป เรามีสิ่งที่ควรทำเต็มไปหมด แม้จะเลือกที่สำคัญสุดๆ มาแล้วแต่ก็อาจจะมีถึง 2-3 อย่างอยู่ดี
หากเราเลือกแล้วว่าจะทำหลายๆ อย่างไปพร้อมๆ กัน สิ่งที่ควรมีอย่างแรกคือการวางแผนที่ดี และการประเมินความสำคัญเป็นประจำ (Re-evaluate) เราจะได้โฟกัสได้ถูกจุด เพราะในการทำให้สำเร็จ อาจหมายความว่าเราต้องตัดสินใจเลือกสิ่งหนึ่ง และทุ่มเทให้กับสิ่งอื่นน้อยลง (แต่ไม่ได้หมายความว่าทิ้งมันไปเลยนะ)
ยกตัวอย่างเช่น เราอาจตัดสินใจว่าจะตั้งใจพัฒนาโปรเจกต์ที่ถืออยู่ให้เต็มที่ภายใน 3 เดือนนี้ เนื่องจากใกล้ช่วงประเมินผลการทำงาน แต่ในช่วงนั้นเราอาจต้องออกกำลังกายน้อยลงกว่าเดิม ถึงแม้ว่าเป้าหมายด้านการงานและสุขภาพจะมีความสำคัญเท่าๆ กัน แต่ในช่วงเวลานั้น เป้าหมายด้านการงานมีความเร่งด่วนและจำเป็นกว่า
เมื่อเรามีอะไรมากมายหลายอย่างให้ทำ เราอาจรู้สึกว่าอยากมีเวลาว่างเยอะกว่านี้ หรืออาจถึงขั้นแอบภาวนาให้วันๆ หนึ่งมี 48 ชั่วโมงต่อวัน อย่างไรก็ตาม หากเราคิดดูดีๆ เราอาจพบว่าจริงๆ แล้วเราไม่ได้ “ต้องการเวลา” มากขึ้น แต่เรา “ต้องเลือก” สักทีเสียมากกว่า ว่าจะลงมือทำอะไรก่อน
การเลือกและวางแผนให้ดีเป็นสิ่งสำคัญในการทำเป้าหมายให้สำเร็จ แต่ทุกอย่างจะง่ายขึ้นเมื่อคุณมีตัวช่วยที่ดี อย่าง ‘One Small Step Planner’ แพลนเนอร์ปี 2022 ที่จะช่วยให้คุณมุ่งสู่ความสำเร็จด้วยก้าวเล็กๆ วันละนิด สามารถสั่งซื้อได้เลยที่ >> https://bit.ly/2YBLOpv
และ พิเศษสุดๆ ตรงที่ พรุ่งนี้เรามี “แจกฟรี” ถึง 5 เล่ม!
ติดตามชมและลุ้นเล่นเกมชิงรางวัลรับ ‘One Small Step Planner’ ได้ในรายการ Mission To The Moon Remaster Live ในวันที่ 18 ตุลาคม 2564 เวลา 19:00-20:30 น.
แล้วมาร่วมสนุกกันนะ
เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
- ‘ภาวะ Brownout’ ไม่ได้หมดแรงแต่หมดใจ ไม่อยากไปต่อกับการทำงาน
- ‘Eisenhower Matrix’ อยากบริหารเวลาให้ได้ ต้องจัดลำดับความสำคัญให้เป็น
อ้างอิง
https://bit.ly/3jcJf43
https://bit.ly/3DLwAwQ
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#selfimprovement
ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/