9 เคล็ดลับการพรีเซนต์แบบมืออาชีพ รับประกันความปัง 10 10 10!

6760
การพรีเซนต์

กลัวการพรีเซนต์งาน ไม่กล้าพูดในที่สาธารณะ ทำอย่างไรดี?

เชื่อว่าปัญหาเรื่อง ‘การนำเสนอ’ คงเป็นปัญหาใหญ่ของใครหลายๆ คน เมื่อต้องพรีเซนต์งาน เราจะรู้สึกกังวลไปหมด มือไม้สั่น เสียงสั่นจนควบคุมไม่ได้ ความกังวลเหล่านี้ทำให้เราพยายามหลีกเลี่ยงมัน ทว่า ในชีวิตการเรียนหรือชีวิตการทำงานล้วนต้องเจอทั้งสิ้น การหลีกเลี่ยงไม่ได้ช่วยให้เราเก่งขึ้น แล้วเราควรทำอย่างไรดี?

ถ้าคุณเป็นคนที่กังวลทุกครั้งเมื่อต้องพรีเซนต์งาน และอยากจะพัฒนาทักษะการนำเสนอ มาลองดูเคล็ดลับเหล่านี้ดูสิ มันจะช่วยทำให้การพรีเซนต์กลายเป็นเรื่องหมูๆ ไปเลย!

Advertisements

1) ตั้งเป้าหมายการพรีเซนต์ให้ชัดเจน

ก่อนที่จะพรีเซนต์งาน เราควรเขียนในกระดาษว่ามีเรื่องหลัก เรื่องย่อยอะไรที่เราต้องพูดบ้าง การทำเช่นนี้จะทำให้เรารู้ว่าควรวาง Timeline อย่างไร แต่ไม่จำเป็นต้องทำให้เป็นแบบแผนมากนัก เขียนออกมาเพื่อให้ตัวเองเข้าใจก็พอ โดยตั้งคำถามกับตัวเองว่า

– ประเด็นหลักที่เราจะพูดคืออะไร?

– เรามีวิธีหรือแนวทางในการนำเสนออย่างไร?

– คนฟังจะได้อะไรจากสิ่งที่เราพูด?

การจับคอนเซ็ปต์ของการพรีเซนต์จะทำให้เราไม่หลงประเด็น และสามารถสื่อสารมันออกมาอย่างตรงจุด นอกจากนี้ ยังทำให้คนฟังเข้าใจเนื้อหาที่เราพูดได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

2) เข้าใจผู้ฟัง

ศึกษาว่า ผู้ฟังของเราเป็นใคร? และต้องการอะไร?

เพราะคนฟังมีลักษณะนิสัยที่หลากหลาย บางคนชอบฟังเรื่องที่มีพลัง ต้องการพลังจากผู้พูด ชอบฟังแรงบันดาลใจ แต่สำหรับบางคน ก็ต้องการการนำเสนอที่มีหลักฐานพิสูจน์ประกอบ ชอบดูตัวเลขและแนวโน้มต่างๆ สนับสนุน ดังนั้น การเข้าใจคนฟังจะทำให้รู้ว่าควรนำเสนองานในรูปแบบใด

3) พูดให้เข้าใจง่ายและกระชับ เน้นใช้รูปภาพในการนำเสนอ

เนื้อหาที่เราจะกล่าวไม่ควรยาวเกินไป ส่วนเนื้อหาบนสไลด์ไม่ควรมีตัวอักษรเยอะจนเกินไป และถ้าเรากลัวลืมเนื้อหา สามารถจดโน้ตเล็กๆ ติดตัวได้ แต่ไม่ควรเป็นสคริปต์ที่เราเอาไว้อ่าน ควรเขียนแต่ประเด็นสำคัญๆ เท่านั้น

ในขณะเดียวกัน เราควรเน้นการใช้รูปภาพให้มากขึ้น เพราะการใช้รูปภาพในการนำเสนอจะทำให้คนฟังจดจำเนื้อหาได้ดีกว่าการใช้ตัวอักษร นักชีววิทยาระดับโมเลกุล John Medina กล่าวว่า คนเรามีความสามารถในการจดจำรูปภาพได้อย่างดีเยี่ยม  จากการทดสอบการฟังข้อมูลเพียงอย่างเดียว เมื่อผ่านไปสามวัน เราจะจำเนื้อหาได้เพียง 10%  แต่เมื่อเพิ่มรูปภาพในการนำเสนอ เราจะจำเนื้อหาได้ถึง 65% เห็นแบบนี้แล้ว ลองลดตัวอักษรแล้วเพิ่มรูปภาพเข้าไปในการนำเสนอให้มากขึ้นดูสิ!

4) นำเสนอเนื้อหาที่มีสาระและสนุก

เวลาที่เราไปฟังบรรยายใครสักคน ส่วนใหญ่แล้ว เราไม่ได้จำเนื้อหาบนสไลด์หรือคำทุกคำที่เขาพูด แต่เราจะจำความรู้สึกนั้นได้ว่า “คนคนนั้นเจ๋งมากๆ” “เขาพูดดีมากเลย” เราจะรู้สึกว่าได้อะไรกลับมา การใส่ความสนุกและความตลกลงไป จะสร้างความประทับใจให้กับผู้ฟังได้ แต่เราต้องมั่นใจว่าความสนุกนั้นยังมีเนื้อหาสาระซ่อนอยู่ ไม่ใช่เพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียว

Advertisements

5) นำเสนอเนื้อหาเป็นเรื่องเล่า

คนส่วนใหญ่มักจะชอบฟังเรื่องเล่า เราจึงสามารถใช้สิ่งนี้ดึงความสนใจจากผู้ฟังได้ โดยการนำเสนอแบบเรื่องเล่าจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ถ้าเราหาจุดเชื่อมโยงที่ทำให้คนฟังรู้สึกมีอารมณ์ร่วมไปกับสิ่งนั้นๆ ได้ เช่น การหยิบยกสถานการณ์ที่ผู้คนส่วนใหญ่พบเจอ เป็นต้น แต่วิธีการนำเสนอที่มีการเล่าเรื่องต้องมีเนื้อหาที่ค่อนข้างเป๊ะ เหมือนกับการที่เราเข้าใจและจำเรื่องราวนั้นได้จริงๆ และถ่ายทอดมันออกมาให้ผู้ฟังเข้าใจมากที่สุด

6) ใช้โทนเสียงที่แตกต่างกัน

งานวิจัยของศาสตราจารย์ด้านการตลาดจาก Wharton และ Jonah Berger ระบุว่า ผู้ที่เพิ่ม ลดระดับเสียง และใช้โทนเสียงที่แตกต่าง จะมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น และมีพลังในการโน้มน้าวใจคนฟังได้มากกว่าผู้ที่ใช้เสียง Monotone โดยเราสามารถทำได้โดย ขึ้นเสียงเมื่อเน้นข้อความสำคัญ หรือหยุดพูดหลังจากกล่าวประเด็นสำคัญ เป็นต้น 

7) สบตาผู้ฟังเป็นระยะ

ในบรรดาผู้ฟังทั้งหมด จะมีผู้ฟังบางคนที่เรารู้สึกว่าเขากำลังมองเราอยู่ ให้มองเขากลับไปเหมือนที่พักสายตา มองไปหลายๆ จุด หลายๆ คนทั่วห้อง เวลาเรามองหน้าคน เราจะรู้สึกว่ากำลังพูดอยู่กับเขา และเราจะคิดว่าพูดเพื่อให้เขาฟัง เมื่อทำเช่นนี้ ท่าทางและภาษาที่เราใช้จะเป็นธรรมชาติมากขึ้น 

8) ฝึกพรีเซนต์บ่อยๆ 

การพึมพำ หรือท่องจำเนื้อหาในใจไม่ใช่การฝึกฝนที่มีประสิทธิภาพ เราต้องพูดออกมาดังๆ และฝึกฝนเหมือนกำลังนำเสนอจริงๆ ตั้งแต่เริ่มขึ้นเวที แนะนำตัว นำเสนองานไปจนถึงขั้นตอนสุดท้าย การฝึกซ้อมที่เหมือนจริง จะทำให้เราคุ้นเคยกับทุกกระบวนการนำเสนอได้มากขึ้น

9) ขอ Feedback จากคนรอบข้าง

เมื่อเราฝึกฝนการนำเสนอจนมั่นใจแล้ว ให้ลองนำเสนอแบบมีผู้ชม โดยอาจจะให้คนใกล้ชิดมานั่งฟังเราขณะนำเสนอ หรือลองอัดคลิปและส่งให้พวกเขาดูก็ได้เช่นกัน เพื่อที่จะให้พวกเขาได้เห็นข้อบกพร่องในส่วนที่เราไม่เห็น เห็นมุมต่างๆ เพื่อนำมาแก้ไข หลังจากนั้น นำข้อติชมที่ได้ไปแก้ไขและพัฒนาเพื่อการนำเสนอในรูปแบบที่ดีขึ้น

การพรีเซนต์งานเป็นทักษะที่เราสามารถฝึกฝนกันได้ เราอาจจะรู้สึกว่ามันยาก เพราะเราไม่ค่อยได้ใช้มัน การฝึกฝนบ่อยๆ ทำความเข้าใจคอนเซ็ปต์ของมัน จะทำให้เราสามารถพัฒนา ‘`ทักษะแห่งการนำเสนอ’ จนกลายเป็นหนึ่งในทักษะที่เราชำนาญได้ 

เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

– พูดไม่เก่ง กลัวการพรีเซนต์งาน ไม่กล้าออกไอเดีย ฝึกอย่างไรดี? | 5M EP.875

– เคล็ดลับการพรีเซนต์แบบมืออาชีพ | Mission To The Moon Remaster EP.3

อ้างอิง
https://bit.ly/3aMSraY
https://bit.ly/3BVOsof

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#softskill

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements