เคยไหม? เมื่อหัวหน้าเสนอไอเดียที่เราฟังอย่างไรก็ไม่เวิร์กสุดๆ แต่เหล่าลูกน้องอย่างเราก็ได้แต่มองตากันปริบๆ เพราะ ‘ไม่กล้าแย้ง’ ปล่อยให้หัวหน้าตัดสินใจตามที่เขาคิดว่าดี
“ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้” ไม่ว่าผู้ใหญ่จะว่าอย่างไร ผู้น้อยก็เออออคล้อยตามไปหมด
ปัญหานี้พบบ่อยในที่ทำงาน และพบบ่อยเป็นพิเศษในสังคมไทย ด้วยโครงสร้างของสังคมที่ยังยึดกับค่านิยม ‘ระบบอาวุโส’ ประกอบกับการศึกษาที่ส่งเสริมให้คนเชื่อฟังและทำตาม มากกว่า ‘ตั้งคำถาม’
หัวหน้าไม่รับรู้ข้อมูลจากมุมมองอื่นๆ ลูกน้องก็ไม่มีใครกล้าบอก เมื่อสารสำคัญไปไม่ถึงต้นน้ำ หากเกิดบ่อยเข้า ความเห็นแย้งลึกๆ นี้อาจนำไปสู่ปัญหาใหญ่อื่นๆ ในที่ทำงานได้
อย่างไรก็ตาม แม้การแสดงความเห็นต่างเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญของการสร้างผลงานที่ดี แต่กลับเป็นเรื่องที่ทำได้ยากในชีวิตจริง การแย้งหัวหน้าต้องอาศัยองค์ประกอบมากมาย ทั้งเวลา ตัวสาร และวิธีการส่งสาร เป็นเรื่องที่เราต้องเรียนรู้ราวกับศิลปะแขนงหนึ่งเลยก็ว่าได้!
มาดูกันดีกว่าว่าเราจะแย้งอย่างไรให้ได้ผล
แย้งให้ถูกเวลา (Timing)
มีงานวิจัยงานหนึ่งที่พูดถึงความสัมพันธ์ของเวลาและการตัดสินใจของคน โดยศึกษาผ่านคำตัดสินของผู้พิพากษาในแต่ละช่วงเวลาของวัน ผลปรากฏว่าผู้พิพากษามักพิจารณาลงโทษผู้ต้องหาในช่วงบ่ายหนักกว่าช่วงเช้า แม้ว่าจะเป็นคดีเดียวกัน
การโทรคุยกับนักลงทุนก็เช่นกัน ผู้บริหารเก่งๆ ต่างแนะนำว่า การโทรคุยเป็นสายแรกๆ ของวันจะประสบความสำเร็จมากกว่า
จะเห็นได้ว่าช่วงเวลาก็เป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจ
เลือกวิธีการสื่อสารให้ดี (Approach)
แม้การให้ฟีดแบ็กที่ดีต้องสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมาถึงจะได้ผลดีที่สุด แต่การคุยกับคนที่มีอำนาจมากกว่าอาจต้องใช้ลูกล่อลูกชนกันบ้างถึงจะประสบผลสำเร็จ
บทความเรื่อง “How To Disagree With Your Boss” จาก Harvard Business Review ได้แนะนำวิธีการสื่อสารไว้หลายวิธี
1) แจ้งเจตนาก่อนเนื้อหาเสมอ
หากเราพูดแย้งไปเลยว่า “ผมไม่เห็นด้วย เพราะ….” อาจจะทำให้ฝ่ายตรงข้ามรู้สึกว่า ‘เป้าหมาย’ (Goal) ของเขากำลังถูกโจมตี เลยตั้งการ์ดและเปิดโหมดป้องกัน (Defensive) ปัดไอเดียของเราทิ้งทันที ดังนั้นก่อนจะเสนอมุมมองของเราเอง เราอาจเปิดด้วยคำชมและแจ้งเจตนารมณ์ให้ชัดเจนเสียก่อน เช่น
“ผมเห็นว่าแนวทางของคุณก็น่าสนใจ แต่ผมอยากเสนออีกวิธีที่อาจช่วยให้นิทรรศการของเราครั้งนี้ประสบความสำเร็จเช่นกัน ซึ่งก็คือ…”
การแสดงให้อีกฝ่ายเห็นว่าเรามีเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งก็คือความสำเร็จของบริษัท ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าเราไม่ได้เป็นภัยต่อเป้าหมายของอีกฝ่ายเลย แม้จะมีวิธีการที่แตกต่าง แต่สุดท้ายเราก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน
2) ใช้เทคนิค Contrasting
เทคนิคนี้คือการอธิบายให้อีกฝ่ายเห็นเจตนาของเราชัดเจนยิ่งขึ้น โดยการยกตัวอย่างเหตุการณ์ตรงข้าม เช่น
“ดิฉันอยากจะพูดถึงความกังวลที่มีต่อแผนการนี้อยู่ ไม่ได้พูดเพราะไม่เชื่อในตัวหัวหน้านะคะ แต่พูดเพราะอยากให้ผลงานออกมาดียิ่งขึ้น ดังนั้นขออนุญาตแลกเปลี่ยนมุมมองต่อแผนการนี้ได้ไหมคะ”
การบอกไปตรงๆ เลยว่าที่เราแย้ง ไม่ใช่เพราะข้องใจหัวหน้า แต่เป็นเพราะเราหวังดีต่างหาก ทำให้อีกฝ่ายเห็นชัดเจนยิ่งขึ้นว่ากรณีไหน ‘ใช่’ และ ‘ไม่ใช่’ เจตนาของเรา เป็นการการันตีว่าอีกฝ่ายจะไม่เข้าใจเราผิดแน่นอน
ให้เกียรติกันเสมอ (Respect)
เพื่อเป็นการป้องกันความขัดแย้งที่อาจตามมาได้ เราควรเลือกใช้โทนเสียง คำพูด และวิธีการสื่อสารที่ให้เกียรติอีกฝ่ายเสมอ ไม่ว่าตำแหน่งในหน้าที่การงาน หรืออายุของอีกฝ่ายจะมากกว่าหรือน้อยกว่าก็ตาม
อย่างไรก็ตาม การให้เกียรติไม่ได้หมายความว่าเราต้องพินอบพิเทา พูดอ้อมโลกจนสารที่สื่อออกไปไม่ชัดเจน ในบางกรณี เราก็สามารถให้เกียรติและออกความเห็นอย่างตรงไปตรงมาได้พร้อมกัน เช่น
“ผมขออนุญาตออกความเห็นได้ไหมครับ” และค่อยออกความเห็นเมื่ออีกฝ่ายอนุญาต
ซึ่งการขออนุญาตก็เป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนแล้วว่าเราให้ความเคารพอีกฝ่ายอยู่
ในบทความยังเสนออีกว่า หากมีการขออนุญาตกันตั้งแต่ก่อนเซ็นสัญญาเริ่มงานเลยจะยิ่งดี
เราควรแจ้งหัวหน้าให้ชัดเจนว่า ในอนาคตเราอาจจะต้องแสดงความเห็นต่างบ้าง เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดของงาน เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ต้องเห็นแย้งจริงๆ เราสามารถอ้างอิงถึงข้อตกลงนี้ได้ และจะได้แสดงความคิดเห็นออกมาได้อย่างสบายใจด้วย
การบอกว่า ‘ฉันไม่เห็นด้วย’ ยังเป็นเรื่องในอุดมคติสำหรับบางสังคม ระหว่างนี้ หากเราฝึกทักษะการเห็นแย้งไว้ด้วยคงไม่เสียหายอะไร เพราะสิ่งนี้เองจะเป็นประโยชน์กับตัวเรา จำไว้ว่าหากความคิดเห็นเราดี แต่อีกฝ่ายโมโหวิธีการพูดของเราจนไม่รับฟัง การเปลี่ยนแปลงก็ไม่เกิดขึ้น
อ้างอิง
ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/