เมื่อวันจันทร์เวียนมาถึง เราก็ได้แต่เฝ้ารอให้ถึง ‘วันศุกร์’ อีกครั้ง เพราะการเริ่มต้นสัปดาห์ช่างเป็นเรื่องที่เหนื่อยเสียเหลือเกิน
ช่วงที่ยังได้เข้าออฟฟิศปกติ วันจันทร์อาจจะน่ารำคาญตรงที่ต้องฝ่ารถติดตั้งแต่เช้า หรือต้องเข้าประชุม แต่อย่างน้อยก็มีเรื่องดีๆ อยู่บ้าง เช่น การได้พูดคุยกับเพื่อนในที่ทำงาน หลังจากไม่ได้เจอกันในช่วงสุดสัปดาห์ และการได้เปลี่ยนบรรยากาศจากการอยู่ที่บ้าน มาเป็นที่ออฟฟิศอีกครั้ง
แต่การเริ่มต้นสัปดาห์ในช่วงเวลาที่ต้อง Work From Home นั้นแตกต่างออกไป เราติดอยู่ในพื้นที่เดิมๆ ที่ต้องใช้ร่วมกันในการ ‘พักผ่อน’ และ ‘ทำงาน’ เราไม่ได้ทักทายใคร ตื่นมาก็นั่งอยู่หน้าจอและทำงานไปเรื่อยๆ
ยิ่งต้องทำงานที่บ้านมาเป็นเวลานาน เรายิ่งรู้สึกอิดโรย หลายคนอาจรู้สึกว่าตัวเองทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร และใช้เวลานานมาก ในการทำแต่ละอย่างให้สำเร็จ ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย เพราะสิ่งที่เราต้องการมากที่สุดอย่าง ‘แรงจูงใจ’ ดันหายากที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้
รู้จักกับ ‘แรงจูงใจ’ (Motivation)
Stefano Di Domenico นักวิจัยเรื่องแรงจูงใจและศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Toronto Scarborough ได้แบ่งแรงจูงใจออกเป็น 2 ประเภท
ประเภทแรกคือ “Controlled Motivation” หรือแรงจูงใจที่เกิดจากปัจจัยภายนอก ยกตัวอย่างเช่น เดดไลน์ โบนัสท้ายปี หรือความรู้สึกผิด พูดง่ายๆ คือ แรงผลักดันนี้ผลักให้เราทำงานเพราะ ‘ต้องทำ’ ไม่ใช่เพราะ ‘อยากทำ’
อีกประเภทคือ “Autonomous Motivation” ซึ่งก็คือแรงจูงใจที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง เราสร้างแรงผลักดันนี้ขึ้นมาด้วยตนเองเพราะ ‘ความรัก’ ในงานที่ทำ หรือ ‘ความเข้าใจ’ ว่างานนี้มีคุณค่าและจะส่งผลดีต่อตัวเราอย่างไร
แน่นอนว่าเราอยากได้แรงจูงใจประเภทหลังมากกว่าอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือเราจะไปหามันมาจากไหน
Cameron Walker ผู้เขียนบทความ ‘How To Get Things Done When You Don’t Want to Do Anything’ จากเว็บไซต์ The New York Times ได้แบ่งปัน 6 วิธีในการตามหาแรงจูงใจ ในวันที่เราไม่อยากทำอะไรเลย ไว้ดังนี้
1) รางวัลเล็กๆ อาจดีต่อใจกว่าที่คิด
งานวิจัยหลายงานชี้ให้เห็นว่า ‘รางวัลเล็กๆ’ ที่เราให้ตัวเองระหว่างการทำงาน หรือหลังการทำงาน นอกจากจะช่วยให้งานสนุกขึ้นแล้วยังช่วยผลักดันเราได้เป็นอย่างดี
อย่างการฟัง Playlist โปรดขณะทำงานไปด้วย การทำงานแบบ 50-10 (คือการให้เวลาพักตัวเอง 10 นาที ทุกๆ ครั้งที่ทำงานไป 50 นาที) หรือการชงเครื่องดื่มอร่อยๆ ใส่แก้วใบโปรดไว้ดื่มขณะทำงาน ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ผู้เขียนชอบใช้
2) ทบทวนเหตุผลกันอีกครั้ง
แม้รางวัลจะเป็นแรงผลักดันที่ดี แต่บางทีก็ผลักเราไปได้ไม่ถึงไหน ดอกเตอร์ Richard M.Ryan นักจิตวิทยาคลินิกผู้ศึกษาทฤษฎีเกี่ยวกับแรงจูงใจเสนอว่า การตามหาแรงจูงใจที่แท้จริงคือการ ‘ทบทวนคุณค่า’ ของสิ่งที่เราทำกันอีกครั้ง
บางครั้งการทำอะไรซ้ำๆ ไปสักระยะ เราอาจจะลืมไปว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นดีต่อเราอย่างไร ดังนั้นการเชื่อมโยง ‘งานที่ต้องทำ’ กับ ‘เป้าหมาย’ หรือสิ่งสำคัญในชีวิต จะช่วยย้ำเตือนเราได้เป็นอย่างดีว่าที่ทำอยู่นี้ เราทำไปทำไม
3) ไปด้วยกัน ไปได้ไกล
ทุกคนต้องเคยรู้สึกเบื่องานที่ทำ แต่หลายๆ ครั้ง โปรเจกต์ใหม่และการได้ Brainstorm แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันระหว่างคนในทีม ก็ช่วยให้เราตื่นเต้นกับการทำงานอีกครั้ง
จะเห็นได้ว่าการเชื่อมต่อระหว่างบุคคลเป็นเรื่องจำเป็นในการทำงาน เพราะเมื่อเราอยู่ท่ามกลางคนที่มีเป้าหมายคล้ายๆ กัน ไอเดียหรือแรงบันดาลใจจากคนอื่นๆ จะช่วยให้เรารู้สึกฮึกเหิมขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ
ในช่วงเวลาที่ต้องทำงานแยกกันเช่นนี้ สิ่งที่พอจะทดแทนได้คือการติดต่อเพื่อนร่วมงานเป็นประจำ ไม่ว่าจะขอคำปรึกษาหรือความเห็นเกี่ยวกับงาน การจัดประชุมเพื่อ Brainstorm และการสังสรรค์กันผ่านหน้าจอ
4) ให้การแข่งขันช่วยผลักดัน
ในปี 2016 งานวิจัยหนึ่งจากมหาวิทยาลัย Pennsylvania ได้จัดโปรแกรมออกกำลังกาย 11 สัปดาห์ขึ้นมา โดยได้แบ่งนักศึกษาในการทดลองนี้เป็นกลุ่มเล็กๆ ไว้สำหรับติดต่อกันบนช่องทางออนไลน์ ซึ่งปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มมีทั้งแบบให้กำลังใจกัน และแข่งขันกัน
ผลพบว่านักเรียนที่มีการแข่งขันกันภายในกลุ่ม ‘ออกกำลังกายมากกว่า’ กลุ่มที่ให้กำลังใจกันอยู่มาก
เราอาจลองปรับวิธีนี้กับการทำงาน โดยจัดการแข่งขันแบบเป็นกันเองระหว่างทีมขึ้นมาก็ได้ บางทีความรู้สึกอยากเอาชนะก็เป็นแรงจูงใจที่เรากำลังตามหาในภาวะเช่นนี้
5) ใจดีกับตัวเองบ้าง
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ชอบการแข่งขัน สำหรับบางคน หากต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่กดดันเช่นนั้น อาจเครียดและหมดแรงใจไปเลยก็ได้
ที่สำคัญการที่เราใจดีกับตัวเองมี ‘ประสิทธิภาพ’ มากกว่าการกดดันตัวเองเสียด้วยซ้ำ
Kristin Neff ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาการศึกษาแห่งมหาวิทยาลัย Texas กล่าวว่า “หลายคนมักจะพูดจาใจร้ายกับตัวเองเพื่อบังคับให้ตัวเองทำงาน แต่จริงๆ แล้วการใจดีกับตัวเองช่วยให้คนเรามีสมาธิกับเป้าหมาย ช่วยลดความกลัวในการทำผิดพลาด และช่วยเพิ่มความมั่นใจมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้นี่เองจะช่วยสร้างแรงจูงใจได้”
6) เราไม่ได้ตัวคนเดียว
Cameron Walker ผู้เขียนบทความบอกว่าอีกสิ่งหนึ่งที่ผลักดันให้ตัวเองไปต่อได้คือการหันมองคนรอบๆ ตัว
เย็นวันหนึ่ง ขณะที่เธอวิ่งออกกำลังกายอยู่ เธอพบว่าไม่ใช่เธอคนเดียวที่กำลังพยายามผ่านแต่ละวันไปให้ได้ แม้จะเย็นขนาดนั้นก็มีคนมากมายกำลังพาสุนัขมาเดินเล่น เดินทางกลับบ้าน และทำงานอยู่ เธอจินตนาการต่อถึงหมอ พยาบาล และพนักงานออฟฟิศที่ต้องตื่นเช้ามาทำงานในแต่ละวัน ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะชอบหรือไม่ก็ตาม
ในทุกๆ วันเราทุกคนพยายามเท่าที่จะทำได้
แม้จะล้มบ้าง จะเหนื่อยบ้าง เราก็ลุกขึ้นมาใหม่เสมอ
การทำงานให้สำเร็จในแต่ละวันไม่ใช่เรื่องง่าย หวังว่า 1 ใน 6 วิธีนี้จะช่วยให้ผู้อ่านทุกคนพบแรงผลักดันที่กำลังตามหาอยู่ และจัดการสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันให้สำเร็จจนได้นะ
อ้างอิง :
#softskill
ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/