‘หรือนรกที่แท้จริงคือความสัมพันธ์ของเรากับผู้อื่น’ เรียนรู้ข้อคิดจากปรัชญาดังของ Jean-Paul Sartre

2107
นรกที่แท้จริง

“Hell is other people” หรือ “นรกคือผู้อื่น” เป็นคำพูดทางปรัชญาจากวรรณกรรม ‘No Exit’ ที่ถูกแต่งโดยนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส Jean-Paul Sartre

วรรณกรรมดังกล่าวเล่าเรื่องเกี่ยวกับมนุษย์สามคนที่ถูกล็อกอยู่ในห้องเล็กๆ ห้องหนึ่งด้วยกัน และก็ได้รู้ว่าทั้งสามคนนั้นได้ตายไปแล้ว และห้องนี้เป็นเหมือนนรกที่พวกเขาต้องอาศัยอยู่ไปตลอดกาล

โดยสิ่งแรกๆ ที่พวกเขาสนทนากันคือ การที่นรกไม่เหมือนกับที่พวกเขาคิดไว้เลย ไม่มีปิศาจหรืออสูรกายคอยข่มเหง ไม่มีวิบากกรรมให้ต้องเผชิญ ไม่รู้สึกร้อนด้วยซ้ำ แต่เป็นแค่ห้องๆ หนึ่งกับคนสามคนที่ถูกล็อกอยู่ในห้องเดียวกัน

Advertisements

แต่พอนั่งอยู่ด้วยกันซักพัก เขาทั้งหมดกลับมารู้ตัวว่า ด้วยนิสัย ประสบการณ์ มุมมองของแต่ละคน มันเหมือนกับว่า การนำสามคนนั้นมาอยู่ด้วยกัน ถือเป็นการทรมานอย่างหนึ่งแล้ว

ตัวอย่างเช่น หนึ่งในตัวละครเป็นผู้ชายคนหนึ่งชื่อ “การ์ซอง” ที่เมื่อตอนเขามีชีวิตอยู่เขาได้หนีสงคราม เนื่องจากไม่ชอบความรุนแรง แต่เขาก็เกิดคำถามกับตัวเองและกลัวว่า หรือแท้จริงแล้วที่เขาหนี เป็นเพราะว่าเขาขี้ขลาดกันแน่ ด้วยเหตุนี้ เขาจึงจำเป็นที่จะต้องให้ผู้อื่นคอยบอกว่าเขาไม่ใช่คนขี้ขลาด เลือกที่จะฟังคำพูดของคนอื่นเพื่อปฏิเสธความกลัวของตัวเอง เพื่อที่จะทำให้ตัวเขาเองมีความมั่นใจ

แต่ทว่า อีกสองตัวละครที่การ์ซองถูกจองจำอยู่ด้วย ประกอบไปด้วยผู้หญิงหนึ่งคนที่แอบรักการ์ซอง คำพูดของเธอเลยทำให้เขาไม่เชื่อว่าเขาไม่ใช่คนขี้ขลาดจริงๆ เพราะการ์ซองเห็นว่าคำพูดของเธอล้วนพูดออกมาเพื่อเอาใจเขาเท่านั้น และผู้หญิงอีกคนที่เป็นคนหัวแข็ง ไม่ยอมรับว่าการ์ซองเป็นคนดีที่ไม่ชอบความรุนแรง

ด้วยเหตุนี้ บวกกับอีกหลายๆ อย่างที่พวกเขาทำมาตอนยังมีชีวิต จึงทำให้พวกเขาเหมาะสมในการทรมานกันเอง การ์ซองไม่มีความมั่นใจเลยที่อยู่กับอีกสองคนนั้น และมีความกลัวอยู่ตลอดว่าจริงๆ แล้ว เขาก็แค่คนขี้ขลาดคนหนึ่ง จนได้พูดออกมาว่า “นรกคือผู้อื่น”

หลายๆ คนได้วิเคราะห์คำพูดนี้ออกมาเชิงลบ ว่าการที่เรามีความสัมพันธ์ใดๆ กับผู้อื่น ความสัมพันธ์นั้นย่อมกลับมาทำร้ายเราได้ในอนาคต หรือการที่เราไม่สามารถหนีผลกระทบของผู้อื่นที่มีต่อเราได้ ซึ่งทั้งหมดนั้นทำให้ความสัมพันธ์ที่เรามีต่อผู้อื่น เหมือนนรกขุมหนึ่งนั่นเอง

แต่แล้ว Sartre ได้ออกมาพูดด้วยตัวเองว่า จริงๆ แล้วสิ่งที่เขาต้องการสื่อจากเรื่อง ‘No Exit’ คือไม่ใช่ว่าทุกความสัมพันธ์เป็นเหมือนนรกเสมอไป แต่ถ้าความสัมพันธ์นั้นไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่ดี นั่นแหละคือนรกที่แท้จริง

โดยได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ความสัมพันธ์ที่แย่ในรูปแบบของเขาคือการที่เขาเอาความสุขและความทุกข์ พึ่งอยู่กับผู้อื่นมากจนเกินไป การที่เรานำสิ่งที่ผู้อื่นคิดมาตัดสินตัวตนของเรา จนทำให้เรารู้สึกเหมือนถูกทรมานอยู่ เหมือนกับชายในวรรณกรรมที่ต้องให้คนอื่นมาบอกว่าเขาไม่ได้เป็นคนขี้ขลาดถึงจะเชื่อ เขาจึงรู้สึกว่าผู้อื่นคือนรกของเขา

Advertisements

การที่เรามีความสัมพันธ์ต่างๆ กับคนรอบกาย หรือการที่นำสิ่งที่คนอื่นพูดมาคิด เป็นเรื่องปกติ ซึ่งมันก็มีข้อดีของมันอยู่บ้าง แต่อะไรที่มีข้อดีย่อมมีข้อเสียถ้าเรานำมาใช้เยอะจนเกินไป โดยผู้ชายในเรื่องจะไม่รู้สึกว่าอีกสองคนคือนรก ถ้าตอนยังมีชีวิตอยู่เขาพยายามทำตัวดี และมีความคิดดีต่อกัน อีกทั้งพออยู่ในห้องด้วยกัน ถ้าเขาไม่เอาตัวตนของตัวเองไปพึ่งอยู่กับคำพูดของผู้หญิงอีกสองคนมากเกินไป เขาก็สามารถนั่งอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุขได้มากขึ้น

สรุปแล้ว Sartre ไม่เคยบอกว่าความสัมพันธ์เป็นเรื่องที่แย่ แต่ถ้าเราคอยสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วยความจริงใจ คอยพูดดี ทำดีต่อกัน และไม่ลืมที่จะเก็บคำพูดของคนอื่นมาคิดในปริมาณที่พอดี คำว่า “นรกคือผู้อื่น” จะไม่มีอยู่จริง

แล้วสำหรับคุณล่ะ เห็นด้วยกับคำว่า “นรกคือผู้อื่น” หรือไม่?


แปลและเรียบเรียงจาก:

https://bit.ly/3qx3xrx

https://bit.ly/3jk6KZT

#missiontothemoon 

#missiontothemoonpodcast

#selfimprovement #behavior

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements