เราเชื่อแบบนั้นจริงๆ หรือแค่ไม่กล้าที่จะแตกต่าง..’Groupthink’ หลุมพรางที่ต้องระวังจากการอยู่ในกลุ่มสังคม

1725
groupthink

เคยเป็นไหม? จริงๆ แล้วเรามีความเชื่ออีกแบบหนึ่ง แต่คนรอบตัวเรา ในกลุ่มสังคมของเรา กลับเชื่ออีกแบบหนึ่ง ทำให้เราคล้อยตาม จนมีความเชื่อแบบนั้นไปด้วย

หรือในการประชุม เมื่อทีมต้องตัดสินใจทางเลือกระหว่างสองตัวเลือก เราก็กลับเออออไปกับตัวเลือกที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพียงแต่เพราะคนอื่นคิดแบบนั้น

หรือแม้แต่เรื่องเล็กๆ อย่างการซื้อของ เวลาเราเห็นเพื่อนๆ ของเราซื้อของสิ่งหนึ่งกันหมด มันก็ทำให้เราอยากได้อยากซื้อไปด้วย 

Advertisements

เหตุผลหนึ่งที่คนเราประพฤติตัวเช่นนี้ก็มาจากการที่เราอยู่ใน ‘กลุ่มสังคม’ 

การอยู่ในกลุ่มสังคมเช่นนี้ ทำให้เราเกิดความคิดชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ‘Groupthink’ ที่คอยขัดขวางเราจากการคิดด้วยตัวเองและตัดสินใจจากความคิดตัวเอง โดยไม่มีความเห็นของคนอื่นมายุ่งเกี่ยว ทำให้เรามักจะคล้อยตามคนในกลุ่มสังคมที่เราอยู่ไปด้วย หรือเลือกที่จะอยู่เงียบๆ แทน เป็นเพราะว่าเราในฐานะมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคมตั้งแต่กำเนิด อยากที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มก้อนที่เราอยู่ และไม่อยากที่จะโดนมองว่าแปลกแยกและแตกต่าง

Groupthink เกิดได้จากหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางด้านตัวตนของกลุ่มที่แข็งแรง จากการที่มีคนประเภทคล้ายกันอยู่ในกลุ่ม จนทำให้เกิดสายสัมพันธ์ที่เข้มแข็ง ซึ่งสมาชิกในกลุ่มก็มักจะมองกลุ่มของตัวเองว่า เป็นกลุ่มที่ทำอะไรก็ถูกและเหนือกว่าคนอื่นๆ ที่อยู่นอกกลุ่ม

การที่ผู้นำในกลุ่มมีอำนาจและมีอิทธิพลที่เหนือกว่าก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิด Groupthink ได้ โดยจะเกิดขึ้นบ่อยๆ ในกลุ่มของคนทำงาน ที่ไม่ว่าหัวหน้าจะเสนออะไรมา ทุกคนก็พร้อมที่จะเห็นด้วยไปหมด นอกจากนี้ การที่คนคนหนึ่งมีความรู้ความเข้าใจน้อย ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เขาคิดเอนเอียงไปทาง Groupthink เป็นเพราะว่าเขาไม่มีข้อคิดเห็นและไม่มีจุดยืนอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่

ปรากฏการณ์แบบนี้นั้นถือว่าเป็นปัญหาอย่างมากในหลายๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นทางความคิดเห็นทางสังคมหรือการตัดสินใจทางธุรกิจ ที่แม้แต่คนที่มีเหตุผลมากๆ บางครั้งก็ยังตัดสินใจแบบไม่เป็นเหตุเป็นผลและลงมือกระทำผิดๆ จากการกดดันของกลุ่มสังคมที่ตัวเองอยู่

Groupthink กับ Bandwagon Effect

ซึ่งการที่เราคิดแบบ Groupthink ก็ไปสอดคล้องกับความลำเอียงชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า ‘Bandwagon Effect’ ที่ได้อธิบายว่าบางครั้งการที่คนเราหยิบยกนิสัย สไตล์ หรือการที่คนเรามีความเชื่อและมีทัศนคติแบบใดแบบหนึ่ง เป็นผลมาจากการที่หลายๆ คนทำหรือมีสิ่งเหล่านี้ จากเหตุผลเดียวกันกับ Groupthink นั่นก็คือ ความต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม และอยากที่จะอยู่ในฝั่งที่ ‘ถูก’

เมื่อคนรอบๆ ตัวเราหลายๆ คนเชื่อในสิ่งเดียวกัน มันก็มีโอกาสมากที่เราจะเชื่อแบบนั้นไปด้วย เพราะใครๆ ก็อยากที่จะอยู่ฝั่งที่ ‘ถูก’ และ ‘ชนะ’ อยู่แล้ว และการที่มีคนจำนวนมากเชื่อแบบนี้คิดแบบนี้ ก็เหมือนเป็นหลักประกันให้กับตัวเราแล้วว่า นี่เราอยู่ฝั่งเสียงข้างมากอยู่นะ

Advertisements

อย่างไรก็ตาม ความลำเอียงทางความคิดแบบ Bandwagon นั้นไม่ได้ให้อันตรายมาก ถ้าหากอยู่ในเรื่องของการซื้อของตามคนหมู่มาก การตามเทรนด์ที่กำลังเป็นกระแส หรือการคล้อยตามการตัดสินใจเล็กๆ น้อยๆ 

แต่ถ้าหากเป็นประเด็นใหญ่ๆ ที่เมื่อเราเชื่อแล้วจะส่งผลกระทบต่อคนหมู่มาก โดยไม่มองถึงหลักความเป็นจริงว่ามันผิดหรือถูกนั้น ถือว่าเป็นภัยอันตรายอย่างมาก อย่างเช่น การที่มีคนเคยโดนครอบงำทางความคิดจากกลุ่ม Anti-vaccination ต่อต้านการฉีดวัคซีน ส่งผลให้เด็กหลายๆ คนขาดภูมิคุ้มกันที่ควรจะได้ในวัยเด็ก ส่งผลทำให้เกิดการระบาดครั้งใหญ่ของหัด เพียงเพราะว่าพวกเขาไม่ได้รับวัคซีนที่จะช่วยป้องกันการติดเชื้อ

หรือแม้กระทั่งเรื่องของการทำงาน อย่างการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ถ้าเรามัวแต่คล้อยตามความคิดของคนอื่นของส่วนรวม จนไม่ยอมมองภาพแห่งความเป็นจริง หรือไม่แย้งถ้าหากข้อเสนอนั้นดูท่าจะไม่เวิร์ก ก็อาจจะส่งผลถึงผลลัพธ์ของงานในท้ายที่สุด ที่อาจจะไม่ตอบโจทย์หรือไม่ได้คุณภาพเท่าที่ควร และสุดท้ายก็อาจจะส่งผลกระทบต่อทีมต่อบริษัทได้

เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว เวลาจะตัดสินใจเรื่องอะไร หรือจะตัดสินใจว่าเราจะคิดแบบไหน ก็ลองก้าวถอยหลังออกมาสักหนึ่งก้าว และมองภาพกว้างๆ หาเหตุผลให้เยอะ และคิดไตร่ตรองด้วยตัวเอง อย่าพยายามเอาความคิดของเราไปพึ่งกับใครหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะมันอาจจะสร้างทั้งความอันตรายให้กับตัวเราเองและกับคนอื่นไม่น้อยเลยล่ะ



อ้างอิง:
https://bit.ly/3ix0JXV
https://bit.ly/3kUoDPZ
https://bit.ly/3BpR26a

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#behavior

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements