ทำไมเราถึงคิดภาพตัวเองในอนาคตไม่ออก Empathy Gap ทำความรู้จักกับคนแปลกหน้า ที่ชื่อว่า ‘ตัวคุณในอนาคต’

1559
empathy gap

ผมได้มีโอกาสฟังสัมภาษณ์ของ ‘Meg Jay’ ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาที่เชี่ยวชาญเรื่องจิตวิทยา เจ้าของหนังสือ ‘The Defining Decade’ 

.

เธอบอกว่า เคยสงสัยบ้างไหมว่าทำไมเราไม่ค่อย “อิน” กับปัญหาของคนที่มีพื้นฐานไม่เหมือนเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชาติกำเนิด สีผิว หรือภาษา

Advertisements

.

หรือทำไมเราไม่อินกับปัญหาของคนที่รักในสิ่งที่ต่างกับเรา หรือมีวิถีชีวิตต่างกับเราอย่างสุดขั้ว

.

ทำไมบางครั้งเราถึงขั้นเกลียดคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองตรงข้ามกับเราเข้ากระดูกดำ ทั้งๆ ที่บางทียังไม่เคยเจอกันด้วยซ้ำ 

.

ทำไมเราถึงไม่ “ลงมือ” แก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมมากเพียงพอที่จะปกป้องภยันตรายของลูกหลานของเราได้… 

.

สิ่งนี้เรียกว่า “Empathy Gap” ซึ่งอธิบายว่า ทำไมบางครั้งเราไม่สามารถเชื่อมต่อ หรือเห็นอกเห็นใจคนที่ต่างจากเรามากๆ ได้ หรือในกรณีลูกหลานของเรานั้น พวกเขายังไม่เกิด หรือยังไม่มีตัวตนด้วยซ้ำ ยิ่งทำให้การมี Empathy ยากเข้าไปใหญ่

.

แต่มีคนหนึ่งที่เป็นคนสำคัญมากและยังไม่มีตัวตนเหมือนกัน 

.

คนคนนั้นคือ “คุณในอนาคต” 

.

ถ้าหากว่าคุณอายุยี่สิบนิดๆ ในวันนี้ สิ่งที่คุณอาจจะอยากทำคือการหางานที่ถูกต้อง หาคู่ชีวิตที่ถูกต้อง และหาคำตอบที่ถูกต้อง 

.

แต่ข่าวร้ายคือ มันไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง เพราะชีวิตมีตัวแปรที่เราไม่รู้มากเกินไป ไม่ว่าคุณใช้แอปพลิเคชัน  เว็บไซต์ค้นหาบุคลิกภาพ หรือหมอดูสักกี่คน ก็ไม่สามารถช่วยคุณหาคำตอบที่ ‘ถูกต้อง’ ได้

.

ทว่ามันก็เป็นข่าวดีด้วย เพราะมันไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง ก็เลยไม่มีคำตอบที่ผิดเช่นกัน มันมีแต่คำตอบของคุณเท่านั้น

Derek Parfit นักปรัชญาเคยกล่าวไว้ว่า ที่เราละเลยหรือไม่เข้าใจตัวตนในอนาคตของเรา เพราะเราไม่สามารถจินตนาการถึงคนคนนั้นได้ ซึ่งเอาจริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่ยากมาก 

ถ้าตอนนี้คุณอายุ  20 คุณอาจจะนึกไม่ออกจริงๆ ว่าตัวคุณตอนอายุ 35 เป็นยังไง บางทีลึกๆ แล้วคุณอาจจะคิดว่าคุณจะไม่แก่จนอายุ 35 ได้หรอก

.

ถ้าตอนนี้คุณอายุ 40 คุณก็อาจจะนึกไม่ออกว่าเราจะแก่ไปอายุ 60 ได้ยังไง ความสามารถในการจินตนาการจริงๆ ว่าเราตอนอายุเยอะขึ้นจะเป็นยังไง หรือต้องการอะไรนั้นเป็นเรื่องยากมาก คนส่วนใหญ่เลยใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ

.

คนอายุ 20 ใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ เงยหน้ามาอีกทีก็ 35 แล้ว

.

คนอายุ 40 ใช้ชีวิตมาเรื่อยๆ เงยหน้ามาอีกที อาจจะใกล้ๆ วาระสุดท้ายของชีวิตแล้วก็ได้ 

ทั้งหมดนี้เพราะเราจินตนาการถึงตัวเราที่เรายัง “ไม่เคยเจอ” ไม่ออกจริงๆ 

.

Empathy Gap จึงอธิบายว่าทำไมเราถึงไม่ค่อยแคร์คนในอนาคตที่เราไม่เคยเจอ แม้คนนั้นจะเป็นตัวเราเองก็ตาม 

งานวิจัยต่างๆ บอกว่าถ้าเราสามารถที่จะ “ปิด” หรือ “ลด” Empathy Gap นี้ได้ เราจะคิดเยอะขึ้นมากถึงสิ่งที่เราจะทำวันนี้ที่จะส่งผลต่อเราในอนาคต 

.

Advertisements

มีการทดลองหนึ่งที่ไปทำกับคนอายุ 20 นิดๆ โดยการแบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่ม 

.

กลุ่มแรกได้รับชมภาพจำลองเสมือนของพวกเขายามแก่ว่าหน้าตาของพวกเขาจะเป็นอย่างไร โดยสร้างจาก VR ส่วนคนกลุ่มที่สองนั้นไม่ได้ให้ดูอะไรเลย

.

ทั้งสองกลุ่มได้รับคำถามว่า จะเก็บเงินเป็นจำนวนเท่าไรต่อเดือนเพื่อเป็นทุนสำหรับการเกษียณ 

.

ผลปรากฏว่า กลุ่มที่ได้เห็นภาพของตัวเองตอนแก่นั้นมีอัตราความตั้งใจจะเก็บเงินเพื่อเกษียณเยอะกว่าอีกกลุ่ม 

.

Meg Jay บอกว่าเธอจะถามคำถามที่ “เฉพาะเจาะจงมากๆ” กับคนที่มาขอคำปรึกษากับเธอเสมอ โดยให้ลองจินตนาการอย่างจริงจังเลยว่า 15  ปีต่อจากนี้ คุณจะเป็นอย่างไร

.

คุณจะหน้าตายังไง, น้ำหนักเท่าไร , คุณจะอยู่ที่ไหน, คุณจะทำงานอะไร, คุณจะชอบงานที่คุณทำตอนนั้นหรือเปล่า, รายได้ของคุณจะเป็นเท่าไร , คุณจะมีคู่ไหม, คุณจะแต่งงานไหม, คุณจะมีลูกไหม, ความสัมพันธ์ของคุณจะเติมเต็มไหม แล้วมันจะแตกต่างจากความสัมพันธ์ของคุณตอนนี้ไหม, เลิกงานแล้วคุณจะทำอะไร, คุณจะเลี้ยงหมาไหม, คุณจะแข็งแรงไหม, คุณจะมีความสุขไหม, แล้วถ้าคุณไม่มีความสุขและไม่แข็งแรงแล้วคุณจะทำยังไง ฯลฯ

.

ถ้าหากไม่ได้ตอบคำถามเหล่านี้แบบส่งๆ แต่ตั้งใจตอบ Meg Jay บอกว่ามันเหมือนกับการได้ตั้งใจทำความรู้จักกับคนคนหนึ่งแบบลึกซึ้งเลยทีเดียว 

.

เมื่อเราเห็นภาพในอนาคต เราสามารถที่จะ Reverse Engineer เพื่อพาตัวตนในอนาคตมาเจอกับตัวตนของเราตอนนี้ ที่ตรงไหนสักแห่งระหว่างทาง 

การทำแบบนี้จะทำให้เราถามตัวเองตอนนี้ว่า 

.

“ถ้าตัวเราในอนาคตอยากเป็นแบบนั้น ตอนนี้เราต้องทำอะไร”

.

“เรื่องต่างๆ จะประกอบมาเป็นตัวเราในอนาคตได้อย่างไร”

.

“ถ้า ‘หน้าที่การงาน’ หรือ ‘ความสัมพันธ์’ หรือ ‘สถานการณ์’ ที่เรามี ไม่ใช่เส้นทางที่จะพาเราไปในที่ที่เราอยากไปใน 5 ปี เราจะทำอะไรกับเรื่องเหล่านี้บ้าง เราจะใช้เวลากับตรงนี้อีกนานแค่ไหน”

.

คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่ยากมาก หลายครั้งมันยากจนเราไม่อยากหาคำตอบเลยด้วยซ้ำ 

แต่ Meg Jay บอกว่าสิ่งที่น่ากลัวกว่าการได้รับคำถามที่ยาก คือ การไม่ได้รับคำถามที่ยาก 

แปลว่าถ้าเราไม่เคยตั้งใจถามตัวเองเลย แล้วปล่อยชีวิตไปเรื่อยๆ นั่นเป็นเรื่องที่น่ากลัวกว่ามาก 

.

ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไร การถามคำถามยากๆ เหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นมาก 

ซึ่งบทสนทนาที่กล้าหาญที่สุดที่มนุษย์คนหนึ่งจะมีได้ อาจจะเป็นบทสนทนากับตัวเอง 


เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ:

ไม่มีคนคุย? ไม่เป็นไร! ผลวิจัยเผยพูดกับตัวเองมีประโยชน์มากกว่าที่คิด

​​คนอายุ 35 ปีขึ้นไป รู้สึกเสียใจและเสียดายกับเรื่องอะไรมากที่สุด?

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#softskill

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements