“เรื่องแค่นี้เอง” หยุดเถอะนะการเปรียบเทียบ เพราะคำว่า ‘แค่นี้’ ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

2208
การเปรียบเทียบ

บางครั้ง เมื่อคนเรามีปัญหาบางอย่างที่ยากเกินกว่าจะรับมือคนเดียวไหว การเล่ามันออกมาเพื่อระบายสิ่งที่อัดอั้นภายในจิตใจให้ใครสักคนฟังก็เป็นหนึ่งในทางออกที่ดี แต่ในบางที สิ่งที่ได้รับกลับมากลับไม่ใช่คำปรึกษาที่ต้องการ แต่เป็นถ้อยคำเปรียบเทียบ… ที่ยิ่งทำให้รู้สึกแย่ไปกว่าเดิม

“เรื่องแค่นี้เอง”

“คนอื่นเขาเจอมาหนักกว่านี้อีก”

Advertisements

“นี่มีเรื่องให้คิดมากกว่าตั้งเยอะ”

ทำไมคนเราถึงชอบเปรียบเทียบ?

เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ที่จะสร้างแรงขับเคลื่อนในการใช้ชีวิตด้วยการประเมินค่าความสามารถของตนเอง โดยเทียบกับมาตรฐานในสังคมหรือสิ่งอื่นรอบตัว หากไม่มีสิ่งเปรียบเทียบว่าสิ่งไหนคือดี สิ่งไหนคือไม่ดี เราก็จะไม่มีทางรู้เลยว่าสิ่งที่มีอยู่นั้น เรียกได้ว่า ดีหรือไม่ดีกันแน่ 

Leon Festinger นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน จึงได้เสนอเรื่องการเปรียบเทียบทางสังคม (Social Comparison) ไว้ว่ามี 2 แบบ คือ Upward Comparison การเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่มีความสามารถมากกว่า เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาตัวเอง (Self-enhancement) และ Downward Comparison การเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่มีความสามารถน้อยกว่า เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ตนเอง (Self-esteem)

ทำไมไม่ควรใช้ Downward Comparison กับทั้งตนเองรวมถึงกับผู้อื่น?

แม้ว่า Downward Comparison เมื่อใช้กับตัวเองอาจช่วยเพิ่ม Self-esteem ได้ก็จริง แต่เมื่อมองในอีกมุมหนึ่ง Downward Comparison ก็ไม่ต่างอะไรจากการกดคนอื่นลงเพื่อยกตัวเองให้สูงขึ้น และยิ่งหากเป็นการเปรียบเทียบที่ไม่ได้มาจากตัวเอง แต่เป็นการเปรียบเทียบที่มาจากคำพูดของคนอื่น เป็นเหมือนคำพูดจากมุมมองของคนที่สูงกว่าลงมา ทำให้เกิดความรู้สึกที่เหมือนถูกกดขี่ โดยลดคุณค่าความคิดและความรู้สึกผู้ฟังลง และยิ่งเป็นการทำให้รู้สึกแย่ขึ้นไปมากกว่าเดิม

การถูกเปรียบเทียบไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดก็ตาม ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกดีเท่าไหร่นัก แม้บางทีอาจเป็นคำพูดที่ออกมาด้วยความหวังดี ตั้งใจให้อีกฝ่ายสบายใจ ไม่ต้องกังวลกับสิ่งนั้นๆ มากนัก แต่การเปรียบเทียบนั้น ถ้ามัวแต่เป็นการเปรียบเทียบกับคนที่แย่กว่า ก็ย่อมส่งผลเสียให้ไม่คิดที่จะพัฒนาหรือแก้ปัญหาอะไรให้ดีขึ้น ทำให้ไม่ทราบถึงต้นตอของปัญหา ปัญหาก็ไม่ถูกคลี่คลายอย่างตรงจุด เพราะคิดอยู่แต่ว่าสิ่งที่เป็นอยู่อย่างน้อยก็ถือว่าดีแล้ว และการถูกเปรียบเทียบแบบนี้ก็เหมือนเป็นการถูกเพิกเฉยความรู้สึก ว่าความรู้สึกที่เป็นอยู่นั้นไม่จริง ไม่มีความหมาย ไม่มีคุณค่าพอ เป็นแค่เรื่องเล็กน้อยสำหรับคนอื่น ทั้งๆ ที่สำหรับตัวเราเองนั้นหนักหนาเกินกว่าจะรับมือได้ไหวแล้ว

คนเราล้วนต้องการการยอมรับ

ในวันแย่ๆ คนเราอาจไม่ได้ต้องการรับรู้แล้วว่าคนอื่นจะดีกว่าหรือแย่กว่าแค่ไหน เพียงแค่อยากได้รับการยอมรับว่าอารมณ์และความรู้สึกตนเองมีคุณค่าและมีอยู่จริง เป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อตัวเองจริงๆ และต้องการผู้ฟังที่ดีสักคนคอยรับฟังอยู่ข้างๆ ก็เพียงเท่านั้นเอง

เพราะเราไม่ควรเอาทัศนคติตัวเองไปตัดสินปัญหาของคนอื่น แต่ละคนมีภูมิต้านทานต่อสิ่งต่างๆ ต่างกัน จากประสบการณ์และปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นความคิดของแต่ละคนจึงเปรียบเทียบกันไม่ได้ เราไม่มีทางรู้เลยว่าคนคนหนึ่งเคยผ่านอะไรมาบ้าง เรื่องแค่นี้ของเราอาจเป็นเรื่อง ‘ตั้ง’ เท่านี้ของคนอื่น

ดังนั้น หลังจากนี้ก็ลองมาเปลี่ยนคำพูดในการทักทายกันใหม่ จาก ‘การเปรียบเทียบ’ เป็น ‘การใส่ใจ’ ค่อยๆ ถามคนข้างๆ คุณดูว่า “วันนี้เป็นยังไงบ้าง” “ไหวไหม” และเพียงแค่รับฟัง เป็นผู้ฟังที่ดีก็เพียงพอ แล้วก็อย่าลืมนำคำถามเหล่านี้กลับมาถามตัวเองดูด้วยเหมือนกันว่า ตัวคุณเองนั้นรู้สึกอย่างไรอยู่บ้าง

ถ้ารู้สึกแย่ ก็ไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น และไม่ให้คนอื่นเข้ามาเปรียบเทียบกับตัวเราได้ด้วยเช่นกัน เพราะไม่ว่าคนอื่นจะมีอะไรมากหรือน้อยกว่าเราแค่ไหนก็ไม่สำคัญเท่า ตัวคุณคิดและรู้สึกอย่างไรกับตัวเองในตอนนี้ ความรู้สึกคุณตรงนี้ต่างหากเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุด

ว่าแต่ว่าคุณ 

Advertisements

“วันนี้เป็นยังไงบ้าง” 

“ไหวไหม” 

เจอเรื่องหนักๆ มาเยอะเลย

ความรู้สึกของคุณมีความหมายนะ ระบายมันออกมาได้เลย


อ้างอิง:

https://bit.ly/3h4wloj

https://bit.ly/3y7Snfg

#missiontothemoon 

#missiontothemoonpodcast

#selfimprovement

#behavior

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements