ทำอย่างไรเมื่อ “เพื่อนร่วมงานลาออก” หมดจนเหลือเราคนเดียว

5183
เพื่อนร่วมงานลาออก

เคยสงสัยบ้างไหมว่าพนักงานที่ทำงานบริษัทเดิมมา 10-20 ปีรู้สึกอย่างไร ยังรู้สึกตื่นเต้นกับการไปทำงานอยู่ไหม และกังวลหรือเปล่าที่ต้องรายล้อมไปด้วยคนหน้าใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

ความสงสัยเหล่านี้แอบแวบเข้ามาในหัวเราเป็นประจำทุกครั้งที่เจอพนักงานระดับสูง ซึ่งอยู่กับบริษัทมานาน แต่ช่วงนี้หลายคนไม่ต้องทำงานเป็นสิบๆ ปี ก็ได้สัมผัสความรู้สึกนั้นแล้ว

เพราะในช่วงที่ผ่านมา เพื่อนร่วมงานทยอยลาออกไปทีละคนๆ จนรู้ตัวอีกทีก็เหลือเราคนเดียวที่ยังทำงานอยู่!

Advertisements

จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้อย่างไร เมื่อจู่ๆ เราก็กลายเป็น ‘พนักงานเก่า’ รายล้อมไปด้วยน้องใหม่ทั้งๆ ที่ตัวเราเองยังทำงานได้แค่ไม่กี่ปี 

Nihar Cchaya โค้ชผู้บริหารที่มีประสบการณ์ทำงานร่วมกับผู้นำของบริษัทใหญ่ๆ อย่าง American Airlines, Coca-cola, GE, และ Dell ได้เขียนบอกเล่าประสบการณ์ และวิธีรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเมื่อเราต้องกลายเป็นพนักงานรุ่นเก๋าไว้ดังนี้

1) ให้เวลาตัวเอง

การเปลี่ยนแปลงที่เร็วจนไม่ทันได้ตั้งตัว แอบทำให้เรารู้สึกอยากลาออกตามเพื่อนเสียให้รู้แล้วรู้รอด แต่ใจเย็นก่อน! ความรู้สึกนี้อาจเกิดขึ้นเพราะความวิตกกังวลทางสังคมอย่าง ‘FOMO’ (Fear of Missing Out) อยู่ก็เป็นได้

‘เพื่อนที่ลาออกไปคงได้ทำตำแหน่งในฝัน คงมีอนาคตที่สดใสกว่า แถมไม่ต้องเจอปัญหาเดิมๆ แบบที่เราเจออยู่…’ เราจินตนาการความเป็นไปได้อันหอมหวานเหล่านี้ขึ้นมา และเกิดอาการไม่พอใจกับงานตรงหน้า ทั้งๆ ที่จริงแล้วเราไม่รู้เลยว่าความจริงที่เพื่อนต้องเจอเป็นเช่นไร 

สิ่งที่เราควรทำเมื่อสังคมและสภาพแวดล้อมในการทำงานเปลี่ยนไป คือ ให้เวลาตัวเอง

ระหว่างนี้เราอาจตั้งคำถามและย้อนมองดูว่า สิ่งใดบ้างที่ ‘สำคัญ’ กับชีวิตการทำงานของเรา ทั้งในตอนนี้และในอนาคต ‘เป้าหมายด้านอาชีพ’ ของเราคืออะไร และงานที่ทำอยู่นั้นสอดคล้องกับเป้าหมายของเราในอนาคตหรือไม่

เราอาจยังต้องสำรวจด้วยว่าทักษะและความสามารถของเราในตอนนี้มีอะไรบ้าง ยังมีทักษะไหนบ้างที่เรายังต้องพัฒนาและงานที่ทำอยู่สามารถช่วยพัฒนาทักษะนี้ได้หรือเปล่า บางทีเราอาจพบว่า เรากับบริษัทยังมีเป้าหมายเดียวกันและให้ความสำคัญในสิ่งเดียวกันอยู่

ไม่แน่ การมีเวลาได้นั่งไตร่ตรองอาจทำให้ไฟในการทำงานของคุณลุกโชนขึ้นมาอีกครั้งก็ได้

2) วางแผน “Re-onboard” สำหรับตัวเอง

พนักงานใหม่ที่เข้ามามักจะได้ผ่านขั้นตอนที่เรียกว่า “Onboarding” ซึ่งก็คือโปรแกรมอบรมและพัฒนาพนักงานใหม่ให้เข้าใจวัฒนธรรมขององค์กร ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม การทำงาน และเพื่อนร่วมงานได้

การเรียนรู้นี้ได้จุดประกายความเป็นไปได้ต่างๆ ให้แก่พนักงานใหม่ ไม่แปลกที่พวกเขาจะรู้สึก ‘ไฟแรง’ เต็มไปด้วยไอเดียใหม่ๆ ไร้ขีดจำกัด และตื่นเต้นในการตื่นมาทำงานทุกๆ เช้า

พนักงานเดิมอย่างเราที่อยู่มาสักพักเรียกได้ว่าเป็นขั้วตรงข้าม เรารู้สึกเหนื่อยหน่ายกับการทำงานเพราะความเคยชิน และเราสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ น้อยลงเพราะประสบการณ์สอนมาว่าบางอย่างเป็นไปไม่ได้ 

Advertisements

จะดีกว่าไหมถ้าเราจุดไฟตัวเองขึ้นมาใหม่ด้วยการจัดโปรแกรม “Re-onboarding” ให้ตัวเอง

การทำความรู้จักกับบริษัท ขั้นตอนการทำงาน และเป้าหมายอีกครั้ง อาจทำให้เรามองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ กระตุ้นเราให้กระตือรือร้นพอๆ  กับคนรอบข้าง และจุดไฟในการทำงานของเราขึ้นมาใหม่

3) เป็นทั้งครูและนักเรียน

ในฐานะพนักงานเก่าที่มีประสบการณ์ เราต้องสอนงานบางอย่างให้พนักงานที่เข้ามาใหม่ แม้จะฟังดูน่าเบื่อบ้าง แต่เราก็ได้ประโยชน์จากหน้าที่นี้หลายอย่าง เช่น การทำความรู้จักกับคนใหม่ๆ และการได้ทวนขั้นตอนการทำงานให้ละเอียดอีกครั้ง ระหว่างนี้เราอาจค้นพบโดยบังเอิญว่าขั้นตอนบางอย่างเป็นปัญหา ต้องการการแก้ไข หรือบางขั้นตอนมีวิธีการทำงานที่ดีกว่านี้

แต่นั่นหมายความว่าเราต้องรับหน้าที่เป็น “ครู” สอนงานและถ่ายทอดงานเพียงอย่างเดียวเท่านั้นหรือ ไม่ใช่เช่นนั้นเสมอไป เราสามารถเป็น “นักเรียน” และใช้โอกาสนี้เรียนรู้แง่มุมใหม่ๆ จากพนักงานใหม่ เพื่อนำมาปรับใช้ บางทีคนหน้าใหม่เหล่านี้อาจมีไอเดียเด็ดๆ ที่เรามองไม่เห็นเพราะถูกแนวคิดแบบ ‘ก็ทำแบบนี้มาตั้งนานแล้ว’ บังตาอยู่

Nihar Cchaya ผู้เขียนเล่าว่าเขาเคยให้คำปรึกษาหัวหน้าคนหนึ่งที่ทำงานในบริษัทเดิมมา 25 ปี หัวหน้าคนนี้วางแผน “Re-onboarding” ภายใน 90 วันขึ้นมา โดยโฟกัสไปที่ปัจจัยสู่ความสำเร็จ (Key Success Factor) อย่างวัตถุประสงค์ แผนการ การปฏิบัติงาน และการพัฒนาบุคลากร จากนั้นเขาก็ลิสต์รายชื่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) คนสำคัญ ทั้งที่ตำแหน่งสูงกว่าเขา เท่ากับเขา และต่ำกว่าเขา ก่อนจะนัดพบพูดคุยกับบุคคลเหล่านั้นเพื่อทำความเข้าใจเป้าหมายและการทำงานของแต่ละฝ่ายว่าตรงกันอยู่ไหม

เพียงแค่เดือนเดียว เพื่อนร่วมงานต่างรู้สึกประทับใจกับแผน Re-onboarding ของเขาและเป็นฝ่ายถามข้อเสนอแนะจากเขาบ้าง ส่วนตัวเขาเองก็รู้สึกมีแรงใจในการทำงานมากขึ้น มองโลกในแง่ดี และยืดหยุ่นมากขึ้น 

mm2021

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนตระหนักดีว่าการอยู่บริษัทเดิมนานๆ มี ‘ข้อเสีย’ เช่นกัน อย่างปัญหาความกดดันด้านค่าจ้าง (Salary Compression) ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเมื่อบริษัทให้เงินเดือนเริ่มต้นพนักงานใหม่ๆ สูงกว่า เพื่อดึงดูดให้คนที่มีความสามารถเข้ามาทำงานในบริษัท และต่อให้เราทำงานมานานแค่ไหน เงินเดือนอาจไม่สามารถแตะขึ้นไปสูงถึงฐานของคนที่เข้ามาใหม่เลยด้วยซ้ำ

หากทำตามวิธีต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วยังรู้สึกคับอกคับใจและหมดแรงบันดาลใจ อาจต้องพิจารณาเรื่องการย้ายงาน อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าบริษัทปัจจุบันก็เป็นหนึ่งใน ‘ตัวเลือก’ ของเรา ก่อนตัดสินใจ ลองเปรียบเทียบดูก่อนว่าที่ไหนจะช่วยให้เราเติบโตได้ดีกว่า และสอดคล้องกับอนาคตของเรามากกว่า  อย่ารีบเผาสะพานความสัมพันธ์กับบริษัทเดิม เพราะวันหนึ่งเราอาจมีโอกาสได้กลับมาทำงานที่เดิมอีกก็เป็นได้

ในสังคมที่มีการแข่งขันสูงเช่นปัจจุบัน การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการมาของคนหน้าใหม่และการจากไปของเพื่อนร่วมงานที่เราคุ้นเคย สิ่งนี้อาจส่งผลกระทบต่อเราทั้งในด้านการทำงานและด้านสังคม หวังว่าวิธีการรับมือนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านที่กำลังเผชิญกับการสถานการณ์นี้อยู่

เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ
อยากให้ผลงานออกมาดีกว่าเดิมไหม? ลองเพิ่ม ‘คนหน้าใหม่’ เข้าทีมดูสิ!
ปรับตัวได้ดี จึงไปได้ไกล! รู้จักกับ “Situational Adaptability”

อ้างอิง
https://bit.ly/3Eo9VHZ

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#softskill
#teammanagement

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements