“Cobra Effect” คิดแบบเส้นตรงเกินไป แต่ลืมมองภาพใหญ่ ที่มาของปัญหา ‘ยิ่งแก้ ยิ่งแย่’

1342
Cobra Effect

สมัยที่อินเดียยังอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ เกิดการระบาดของงูเห่าจำนวนมากในกรุงเดลี จนทำให้รัฐบาลอังกฤษเกิดความกังวลถึงความปลอดภัย เลยผุดไอเดียขึ้นว่า “สำหรับงูเห่าทุกตัวที่จับตายมาได้ จะมีเงินตอบแทน”

ตอนแรกก็เป็นกลยุทธ์ที่ดีเลยทีเดียว จำนวนงูเห่าในกรุงเดลีลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด และเหล่านักล่าก็ได้เงินตอบแทนจากความเสี่ยงที่ไปล่างูมาส่งให้ทางการ

แต่ในเวลาต่อมา ทางรัฐบาลกลับพบว่า ทั้งๆ ที่เดินตามถนนในเมืองไม่พบงูเห่าแล้ว จำนวนงูเห่าที่นักล่านำมาส่งเพื่อรับค่าตอบแทนกลับไม่ลดเลยแม้แต่น้อย มันเกิดอะไรขึ้น?

Advertisements

กลายเป็นว่า หลายคนแอบเพาะพันธุ์งูเห่าในเคหสถานของตัวเอง เพื่อนำไปฆ่าแล้วแลกค่าตอบแทนจากรัฐ พอรัฐบาลรู้เรื่องนี้ จึงยกเลิกนโยบายค่าตอบแทนดังกล่าว แต่พอนักเพาะพันธุ์งูเห่าเห็นว่าสัตว์เหล่านี้ไม่มีราคาแล้ว ก็ได้ปล่อยงูเห่าทั้งหมดออกสู่ธรรมชาติ กลายเป็นว่าจำนวนงูเห่าหลังจากนโยบายแก้ปัญหาออกมา มีมากกว่าก่อนที่พยายามจะแก้ปัญหานี้เสียอีก

จึงเป็นที่มาของ ‘Cobra Effect’ หรือผลกระทบจาก ‘งูเห่า’ นั่นเอง

‘Cobra Effect’ พูดถึงการที่เราคิดแก้ปัญหาแบบเป็นเส้นตรงจนเกินไป ทำให้เราลืมนึกถึงผลที่อาจตามมาจากการแก้ปัญหาเช่นนั้น โดยเวลามีปัญหาเกิดขึ้น สมองของเราชอบคิดตรงไปที่อะไรสามารถแก้ปัญหานั้นได้ และพอเราได้ทางแก้ให้ปัญหาแล้ว เราเลือกที่จะตรงไปที่ทางแก้นั้นก่อนเลย จนลืมถอยหลังกลับมามองภาพใหญ่

ถ้าเปรียบ A เป็นปัญหา และ B เป็นทางแก้ปัญหานั้น มันไม่แปลกที่เราจะลากเส้นตรงจาก A ไป B เลย แต่เรากำลังลืมว่าในโลกความเป็นจริงนั้น เป็นไปไม่ได้ที่จะมีแค่ A กับ B แต่มีหลายปัจจัยที่สามารถกระทบเส้นตรงนั้น และแน่นอนว่าในโลกนี้ไม่ได้มีแค่เส้นตรงเส้นเดียวเท่านั้น

โดยนักจิตวิทยาได้แนะนำว่า ถ้าเราต้องการเลี่ยงพฤติกรรมนี้ อย่างแรกที่เราควรทำคือการเลิกคิดว่า “ถ้าแก้ปัญหานี้ได้ ทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติ” เพราะการคิดเช่นนี้ทำให้เราคิดบวกเกินความเป็นจริง และให้คิดถึงผลกระทบของวิธีที่เราจะใช้แก้ปัญหานั้นอีกขั้นหนึ่ง

นอกจากนี้ เราควรประเมินมุมมองของตัวเองอีกด้วย เพราะตัวเราเองอาจมีความลำเอียง (Bias) ในการตัดสินใจ วิธีแก้ง่ายๆ คือการดูว่ามีหลักฐานอะไรที่ทำให้เราเห็นได้ว่าจะทำให้แก้ปัญหานี้ได้จริง มีอะไรที่เราสามารถคิดไปเองได้บ้าง หรือไม่ก็ให้คนอื่นมาช่วยแสดงความคิดเห็นด้วยก็ดี

ในอดีตมีการผลิตและขายรถยนต์ชื่อ Tata Nano ในประเทศอินเดีย โดยโฆษณาว่าเป็น ‘รถยนต์ที่ถูกที่สุดในโลก’ เพื่อแสดงให้เห็นถึงราคาที่เอื้อมถึงได้ และง่ายที่จะเข้าไปเป็นเจ้าของรถคันนี้

แต่ทว่า บริษัท Tata ลืมคำนึงถึงวัฒนธรรมของชาวอินเดียที่เห็นรถเป็นการแสดงออกถึงฐานะทางการเงินของตน และการโฆษณาว่าเป็นรถที่ราคาถูก ทำให้ผู้คนมองว่าเป็นรถที่ไม่ควรคู่แก่การนำมาแสดงออกในสังคม

รถ Tata Nano กลายเป็นแค่รถราคาถูกอีกหนึ่งคันในตลาดรถยนต์อินเดีย และทำยอดขายไว้ไม่ได้ดีเท่าที่ตั้งเป้าหมายไว้

Advertisements

การที่บริษัท Tata เล็งเห็นว่ารถยนต์เป็นสิ่งของราคาแพงในอินเดีย (ปัญหา) เลยคิดที่จะแก้โดยการผลิตรถราคาที่ถูกที่สุด (ทางแก้) แต่ลืมคำนึงถึงภาพใหญ่ ลืมคำนึงถึงวัฒนธรรมการใช้รถของคนในประเทศ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สามารถเห็นได้ในโลกธุรกิจ

พอเราเจอกับปัญหาในอนาคต ให้ลองถอยออกมาสักก้าว แล้วมองภาพใหญ่เสียก่อน เพื่อลดความเสี่ยง และกันผลกระทบที่สามารถตามมา


แปลและเรียบเรียงจาก:

https://bit.ly/3AmHw2X

https://bit.ly/3h9EtUd

#missiontothemoon 

#missiontothemoonpodcast

#selfimprovement #behavior


ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements