*สามารถเปิดฟังโดยปิดหน้าจอมือถือได้
เคยจินตนาการถึงชีวิตสมบูรณ์แบบที่เราใฝ่ฝันบ้างไหม?
เราคงจัดการงานได้ดี เลิกงานตรงเวลาทุกๆ วัน และได้รู้ว่า ‘Work-Life Balance’ มีอยู่จริง ไม่ได้เป็นแค่นิทานหลอกผู้ใหญ่วัยทำงาน เราคงหุ่นดีและสุขภาพดีเพราะมีเวลาออกกำลังกาย บ้านของเราคงสะอาดสะอ้าน เป็นระเบียบ และตัวเราเองก็คงมีเวลาว่างมากพอ เพื่อพัฒนาตนเอง เพื่อทำในสิ่งที่เรารัก…
แน่นอนว่าเราอยากมีชีวิตที่เป็นรูปเป็นร่างเช่นนี้ แต่ติดอยู่เรื่องเดียวคือ เราจะเอา ‘เวลา’ และ ‘แรง’ มาจากไหน?
แค่ทำงานทั้งวันก็หมดแรงแล้ว อย่าว่าแต่จะไปทำตามความฝันเลย เวลาดูแลตัวเองยังไม่มี –– หากคุณคือคนนึงที่รู้สึกว่าตัวเองทำงานเหนื่อยทั้งวันแต่ไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันกลับมา และรู้สึกยุ่งอยู่ตลอดเวลา ในขณะเดียวกันก็รู้สึกหมดแรงตลอดเวลาเช่นกัน บางที 6 บทเรียนจากหนังสือ At Your Best อาจช่วยคุณได้!
หนังสือเรื่อง “At Your Best” โดย แครีย์ นีฮอฟ นักพูดและนักเขียนชื่อดัง ได้บอกเคล็ดลับที่ทำได้จริงเกี่ยวกับการบริหารเวลา พลังงาน และการจัดลำดับความสำคัญให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะช่วยให้เราพัฒนาสู่ตัวเราในเวอร์ชันที่ดีที่สุดได้ แถมช่วยป้องกันอาการเบิร์นเอาท์ได้ดีด้วย
6 บทเรียนจากหนังสือ “At Your Best”
1) รู้จักกุญแจสำคัญ 3 ดอกสู่ความสำเร็จ
แครีย์ นีฮอฟบอกว่าการบริหารเวลาที่ดีนั้นสำคัญก็จริง แต่บริหารเวลาอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะ3 กุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จนั้นประกอบไปด้วย “สมาธิ พลังงาน และการจัดลำดับความสำคัญ”
กุญแจดอกที่ 1 คือ ช่วงเวลาที่เรามี “สมาธิ” หลายๆ ครั้งที่เรารู้สึกว่ามีงานเยอะไปหมด แต่มีเวลานิดเดียว อาจเป็นเพราะเราใช้เวลาที่สมองทำงานได้ดีไปกับงานไม่สำคัญ หรือมัวแต่ว่อกแว่กไปกับเสียงแจ้งเตือนและงานจุกจิกเล็กๆ น้อยๆ น่าเศร้าที่เวลา 24 ชั่วโมงของเรานั้นไม่ได้เหมือนกันทั้งหมด! เพราะมีแค่ ‘บางชั่วโมง’ ที่เราโฟกัสได้ดี ถ้าหากเราใช้ให้ถูกจะมีประโยชน์ต่อเรามาก
กุญแจดอกที่ 2 คือ พลังงาน อย่าลืมว่าแรงก็สำคัญพอๆ กับเวลา ถ้าหากมีเวลาแต่ไม่มีแรงก็เท่านั้น
กุญแจดอกที่ 3 การจัดลำดับความสำคัญ หากทำได้เราจะใช้เวลาและแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราจะได้ไม่เผลอไปทำงานง่ายๆ ก่อนจนเหลือเวลาทำงานยากๆ นิดเดียว อย่างไรก็ตาม คนทำงานหลายๆ คนเข้าใจและจัดลำดับความสำคัญเป็นอยู่แล้ว แต่ปัญหามักจะเกิดเมื่อ ‘คนอื่น’ เข้ามาจัดความสำคัญให้เราต่างหาก
ตอนนี้เรารู้กันแล้วว่า 3 กุญแจสำคัญมีอะไรบ้าง ในข้อต่อๆ ไปเราจะมาทำความเข้าใจกันว่า จะใช้กุญแจแต่ละดอกให้มีประสิทธิภาพสูงสุดได้อย่างไร
2) ตามหาช่วงเวลาที่เรา ‘มีสมาธิ’ กันเถอะ
พลังงานของเราขึ้นลงราวกับระดับน้ำทะเลที่เปลี่ยนตามแรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ บางคนอาจทำงานได้ดีในช่วงบ่าย แต่บางคนก็แทบจะลืมตาไม่ไหวหลังพักเที่ยง ดังนั้นการเข้าใจว่า ‘ช่วงเวลาไหน’ เรามีสมาธิมากที่สุดและน้อยที่สุด จึงสำคัญ
[ ] ช่วงเวลาสีเขียว คือ ช่วงเวลาที่เรามีสมาธิมากที่สุด มีพลังงานเยอะ อารมณ์ดีที่สุด สมองปลอดโปร่ง และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด โดยคนส่วนมากจะมีช่วงเวลาสีเขียวเพียง 3-5 ชั่วโมงต่อวัน
[ ] ช่วงเวลาสีเหลือง คือ ช่วงเวลาที่เราเฉยๆ ไม่ได้รู้สึกแย่แต่ก็ไม่ได้รู้สึกดีที่สุด ในช่วงนี้เรามักจะทำงานได้อยู่ แต่ก็ไม่ได้ดีเลิศ
[ ] ช่วงเวลาสีแดง คือ ช่วงที่เราไม่มีพลังงานและไม่มีสมาธิ เรามักจะรู้สึกว่าไม่อยากทำอะไรแล้ว แต่ถ้าหากต้องทำก็รู้สึกฝืนมากๆ (และมักจะออกมาไม่ดีด้วย)
แครีย์ นีฮอฟบอกว่าขั้นตอนต่อไปคือตามหาว่าช่วงเวลาไหนของเราเป็นสีอะไร แน่นอนว่าคนเราไม่ได้เหมือนกันทุกวัน มันอาจไม่เป๊ะมากแต่ก็ช่วยให้เราเห็นภาพได้ และอย่าลืมว่า ช่วงเวลาสีเขียวของบางคนอาจไม่ติดกันก็ได้นะ บางคนอาจเป็นช่วง 09:00-11:00 และ 21:00-24:00
ที่สำคัญอย่ายืดช่วงเวลาสีเขียวของตัวเองจนทำงานหนักเกิน! แค่วันละ 3-5 ชั่วโมงก็เพียงพอแล้ว
3) จับคู่งานกับช่วงเวลา
[ ] ช่วงเวลาสีเขียว เหมาะกับงานที่ ‘สำคัญ’ มากที่สุดในแต่ละวัน หรืองานที่สร้างความเปลี่ยนแปลงมากที่สุดนั่นเอง โดยในช่วงนี้เราควรจะอยู่เงียบๆ คนเดียวโดยไม่มีใครรบกวน ไม่ตอบอีเมล และปิดแจ้งเตือน ถึงจะใช้เวลานี้ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด นอกจากจะเหมาะกับงานสำคัญแล้ว ช่วงเวลานี้ยังเหมาะกับการเรียนรู้ ฝึกฝน และพัฒนาทักษะที่เราอยากมีอีกด้วย
[ ] ช่วงเวลาสีเหลือง เหมาะกับงานที่สำคัญปานกลางและไม่ต้องใช้พลังงานเยอะมาก ยกตัวอย่างเช่น การประชุม การหาข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับโปรเจกต์ เป็นต้น
[ ] ช่วงเวลาสีแดง เหมาะกับงานที่ไม่ค่อยสำคัญ หรือ งานกิจวัตร (Routine) เช่น การตอบอีเมล การตอบแช็ตงาน หรือการบริหารจัดการอะไรเล็กๆ น้อยๆ
4) รักษาลำดับความสำคัญ: ลดสิ่งรบกวน
ในการทำงานในยุคเทคโนโลยีเช่นนี้ ‘สิ่งรบกวน’ เป็นตัวร้ายที่คอยแย่งเวลาทำงานอย่างมาก การศึกษาหนึ่งพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วคนทั่วไปหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเช็กถึง 2,617 ครั้งต่อวัน ไม่แปลกเลยถ้าเราโฟกัสไม่ได้และเผลอไปทำเรื่องไม่สำคัญ
ดังนั้นปิดแจ้งเตือนในเวลาทำงานบ้างก็ช่วยได้มาก วิธีอื่นๆ นอกเหนือจากนี้คือ การนำโทรศัพท์ไปไว้จุดอื่น (เช่นทำงานในห้องทำงาน แต่วางโทรศัพท์ไว้ในห้องนอน) หรือเปิดแอปฯ ช่วยโฟกัสซึ่งเราจะไม่สามารถเข้าแอปฯ อื่นได้
5) รักษาลำดับความสำคัญ: หัดปฏิเสธให้เป็น!
เคยไหม? เปิดดูตารางปฏิทินแล้วพบว่าวันนี้ไม่มีประชุมเลย ไชโย! เราร้องดีใจอยู่ในใจ ในที่สุดก็มีวันได้สะสางงานจริงๆ จังๆ ไม่ต้องคุยกับใครเสียที แต่ไม่ทันไร ก็มีเพื่อนร่วมงานมาเคาะห้องก๊อกๆ ขอปรึกษา 5 นาที (ซึ่งจริงๆ นานถึง 20 นาที) และอยู่ดีๆ ก็ถูกลากเข้าประชุมที่เราไม่ได้มีส่วนสำคัญเลย
รู้ตัวอีกที ช่วงเวลาสีเขียวของเราก็หมดลงโดยที่ไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
สิ่งที่เราต้องทำคือ เรียนรู้การ ‘ปฏิเสธ’ คนให้เป็น หากเราตรวจสอบแล้วว่าเรื่องที่เข้ามา ‘ไม่ได้เร่งด่วนที่สุด’ สำหรับเขา และ ‘ไม่ได้สำคัญที่สุด’ สำหรับเรา การปฏิเสธไปก่อนจึงไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร เราสามารถพูดคุยกันในภายหลังหรือในช่วงเวลาสีแดงของเราก็ได้
การจัดลำดับความสำคัญจะไม่มีความหมายเลยถ้าเรารับมือกับทุกอย่างที่ขวางหน้า ทั้งๆ ที่ปฏิเสธก็ได้
6) ยอมรับว่าบางเรื่องอยู่เหนือการควบคุม
แม้เราจะมีภาพฝันว่าฉันในเวอร์ชันที่ดีกว่าเป็นอย่างไร แต่อย่าลืมว่าชีวิตจริงไม่ได้สมบูรณ์แบบ บางครั้งเราก็เจอกับอุปสรรคมากมายในงานและปัญหาด้านอื่นๆ อย่างเรื่องครอบครัว การเงิน และความสัมพันธ์ จนสุดท้ายทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่เราคิด
แต่ชีวิตก็เป็นเช่นนี้อยู่แล้ว เราไม่สามารถตื่นมาทำงานด้วยสภาพเต็ม 100% ได้ทุกวัน และบางวัน ‘ช่วงเวลาสีเขียว’ ของเราอาจมีไม่ถึง 3 ชั่วโมงเลยก็เป็นได้! อย่างไรก็ตาม หากเรามัวแต่โทษตัวเองหรือคนอื่นก็อาจไม่ได้อะไรเลย แถมเสียสุขภาพจิตอีก
บางวันอาจเต็มที่ได้แค่ 70% ก็ไม่เป็นไร โฟกัสในสิ่งที่ ‘เราทำได้’ และทำเท่าที่สามารถทำได้ก็พอ วันไหนครบ 100% ค่อยพยายามใหม่ให้เต็มที่นะ
สาเหตุที่ชีวิตของใครหลายๆ คนยังไม่เป็นเหมือนฝัน ไม่ใช่เพราะเราไร้ความสามารถหรือขี้เกียจ แต่เป็นเพราะชีวิตมีปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขชีวิตที่ควบคุมไม่ได้ สิ่งยั่วยุที่ชวนให้เราว่อกแว่ก และพลังงานอันน้อยนิดในแต่ละวัน
เส้นทางสู่ตัวเราในเวอร์ชันที่ดีกว่าอาจสั้น-ยาวแตกต่างกันออกไป แต่ความเข้าใจการใช้ ‘เวลา’ และ ‘แรง’ อย่างคุ้มค่า จากหนังสือ At Your Best จะเป็นดั่งเชื้อเพลิงที่ช่วยให้เราเดินทางได้เหนื่อยน้อยลงแน่นอน
อ้างอิง:
หนังสือ At Your Best โดย Carey Nieuwhof
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#bookreview
#softskills