*สามารถเปิดฟังโดยปิดหน้าจอมือถือได้
เมื่อ 3 ปีก่อน ชายคนหนึ่งชื่อ โมเรโน ซูกาโร กำลังนั่งทำงานอยู่ในคอกกั้นสีเทาๆ ในออฟฟิศของตัวเอง รอบข้างของเขามีเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ที่เมื่อหันไปมองก็จะพบว่า สีหน้าของพวกเขาเต็มไปด้วยความเบื่อหน่าย ความเหนื่อย และความทุกข์ใจไม่แพ้กัน
เขาเริ่มย้อนคิดว่า ที่ผ่านมาเขาก็ใช้ชีวิตอย่างที่สังคมคาดหวังแล้วนี่นา.. ตั้งแต่ตั้งใจเรียน สอบเข้ามหาลัยดีๆ หางานที่มั่นคงทำ ไม่ใช้สารเสพติด ไปจนถึงไม่ทำตัวเบียดเบียนเพื่อนรอบบ้าน แต่ทำไมเขาถึงยังรู้สึกไม่มีความสุขกับชีวิตเลย
ตัดภาพไปที่ 3 ปีต่อมา โมเรโน ซูกาโร ตื่นเช้าด้วยเสียงนกร้อง จากนั้นก็ไปเดินเล่นริมชายหาดเพื่อดูพระอาทิตย์ขึ้น งานที่เขาทำอยู่ตอนนี้ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกเบื่ออีกต่อไป แต่กลับเป็นความรู้สึกตื่นเต้น อยากตื่นมาทำในทุกๆ วันโดยไม่ต้องมีใครมาบังคับ
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเมื่อเข้าตัดสินใจ ‘เลิกทำตาม’ สิ่งที่สังคมคาดหวังและหันมาใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง ด้วยกฎเกณฑ์ที่เขาสร้างเอง
อย่างกฎเหล็ก 7 ข้อนี้ ที่ทำไม่ง่าย แต่ถ้าทำได้ ชีวิตจะดีขึ้นหลายเท่าตัว!
เลิกแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
เคยหยุดคิดไหมว่า บางครั้งสิ่งที่เราทำอยู่ก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ได้ผลชั่วคราว หรือ “Band-aid Solution” ซึ่งก็คือการที่เรารักษาแผลแค่ภายนอกโดยเมินเฉยต่อแผลลึกๆ ภายในซึ่งเป็นต้นเหตุของทั้งหมด เช่น
– น้ำหนักขึ้นเยอะมาก แต่เราแก้ด้วยการออกกำลังเพียง 1-2 สัปดาห์
– เราไม่มีความสุขกับงานที่ทำมากๆ แต่ดันแก้ด้วยการออกไปดื่มแก้เครียด
– เลิกกับคนคุยอีกแล้ว! แต่แก้ปัญหาด้วยการปัดทินเดอร์หาคนทดแทนใหม่ๆ
จริงอยู่ที่การแก้ปัญหาแบบนี้ช่วยให้เราโล่งใจไปชั่วขณะหนึ่ง แต่หากต้นเหตุของปัญหาไม่ได้ถูกพูดถึง ไม่นานเราก็จะเจอเหตุการณ์เดิมๆ อีกครั้ง
…เรารู้ดีว่าถ้าอยากรูปร่างดี ต้องออกกำลังกายเป็นประจำและทานอาหารที่ดี ไม่ใช่ออกแป๊บๆ แค่ช่วงที่อ้วน
…เรารู้ดีว่าปัญหาเรื่องงานเกิดขึ้นเพราะเราไม่ได้ชอบงานที่ทำ แต่ก็ไม่กล้าพอที่จะวิ่งตามงานในฝัน
…และเรารู้ดีว่าลึกๆ แล้วที่เปลี่ยนแฟนบ่อย อาจเป็นเพราะเรามีปมในใจที่ยังรักษาไม่หาย
เพราะรู้ดีว่าการแก้ปัญหาที่ ‘ต้นเหตุ’ นั้นเจ็บปวดและอาจใช้ความตั้งใจเยอะกว่ามาก เราจึงเลือกวิธีแก้ที่ง่ายกว่าอย่างการแก้ที่ ‘ปลายเหตุ’ นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ถ้าเราอยากให้ชีวิตดีขึ้นไปอีกระดับ แบบไม่ต้องเจอปัญหาเหล่านี้ซ้ำๆ เราต้องเลิกปิดปลาสเตอร์รักษาแผลแค่ภายนอก และหันมาแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุที่อยู่ลึกลงไป
ฝึกขอบคุณเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิต
เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้น โลกของเราจึงเต็มไปด้วย ‘ชีวิตของคนอื่น’ ยิ่งกว่าที่เคย ตั้งแต่ตื่นนอน เราหยิบโทรศัพท์มาเพื่อเช็กโซเชียลมีเดีย ดูความเคลื่อนไหวของคนรู้จัก (และคนที่เราไม่รู้จักด้วยซ้ำ) เป็นเรื่องง่ายที่จะเกิดข้อเปรียบเทียบและความไม่พึงพอใจต่อ ‘ชีวิตของตัวเอง’ ตามมา
หากเราหยุดและสังเกตให้ดี เราจะพบว่าแต่ละวันนั้นประกอบไปด้วยความสุขเล็กๆ มากมาย จะดีกว่าไหมถ้าเราแบ่งเวลามาขอบคุณสิ่งเหล่านี้บ้าง
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ อย่างการขอบคุณที่ตัวเองยังมีลมหายใจในทุกๆ วัน ขอบคุณแซลมอนดองซีอิ๊วที่ทำให้วันของเราดีขึ้น หรือขอบคุณตัวเองที่ออกกำลังกาย ดูแลตัวเองเป็นอย่างดี
ลองเขียนหรือเอ่ยคำขอบคุณสิ่งเหล่านี้ดู เพียงวันละ 1-3 ข้อ แรกๆ เราอาจจะยังไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง แต่งานวิจัยพบว่าการรู้สึกขอบคุณ (หรือมี Gratitude) ต่อเรื่องราวในชีวิต ช่วยให้เรามีความสุขมากขึ้น มองโลกแง่ดีมากขึ้น และสุขภาพดีขึ้น
ตัดสินใจอย่างเฉียบขาด
ทุกวันนี้ชีวิตของเราเต็มไปด้วย ‘ตัวเลือก’ มากมายอย่างไม่เคยมีมาก่อน
ในการตอบคำถามว่า ‘จะกินอะไรดี’ เราไม่ต้องเลือกระหว่างร้าน A หรือ B ที่อยู่ใกล้บ้านอีกต่อไป แต่เรามีตัวเลือกมากมายเป็นร้อยๆ ร้านจากแอปฯ เดลิเวอรี
หรือจากในอดีตที่มีแค่ ‘จะดูทีวีช่องไหน’ ตอนนี้เรามีหนังและซีรีส์นับร้อยให้เลือกบน Netflix
การมีตัวเลือกเป็นเรื่องที่ดี แต่ตัวเลือกที่มากเกินไปนั้นทำให้เราใช้เวลาในการตัดสินใจนานขึ้น อีกทั้งเราอาจจะเผลอจับปลาหลายมือ ตอบตกลงไปเสียทุกอย่างด้วยความเสียดาย จนท้ายที่สุดผลลัพธ์ก็ออกมาไม่น่าพอใจ เพราะเรามี ‘แรง’ และ ‘เวลา’ น้อยเกินไปที่จะทำทุกๆ เรื่องให้ดี
ดังนั้นทักษะในการตัดสินใจอย่างเฉียบขาดจึงสำคัญมาก เพราะหนึ่งในเวลาที่เสียไปแล้วไม่ได้อะไรขึ้นมา คือเวลาที่เรามัวแต่กังวลและไม่ตัดสินใจเลือกเสียที
ฉลองกับทุกความสำเร็จ
ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายระยะยาว ก็อย่าลืมฉลองก้าวเล็กๆ ของเรา พร้อมทั้งขอบคุณตัวเองและคนอื่นๆ ด้วย แน่นอนว่าเราไม่จำเป็นต้องเปิดแชมเปญฉลองทุกครั้งไป อาจจะเป็นการเปิดเพลงที่ชอบ ไปนวด กินชาแก้วโปรด หรือทำอะไรก็ได้ที่เรารู้สึกดี
ความรู้สึกดีๆ ที่ได้รับนี้เองจะทำให้เกิดการเสริมแรง (Positive Reeinforcement) ช่วยให้เรามีแรงทำสิ่งนั้นต่อไป
เยียวยาตัวเองจากบาดแผลในอดีต
ในชีวิตนี้ เราแต่ละคนล้วนเจอเหตุการณ์แย่ๆ มากมาย เช่นการโดนนอกใจ โดนเพื่อนหักหลัง ทำงานไม่สำเร็จตามที่หวัง หรือคนใกล้ตัวป่วยหนัก เป็นต้น เรียกได้ว่าแม้เราจะสู้ชีวิตแค่ไหน ชีวิตก็สู้กลับยิ่งกว่านั้น
ความผิดหวังและความเสียใจบางครั้งก็สร้างกลไกป้องกันตนเอง (Defense Mechanism) ให้กับเรา …เราไม่กล้าเชื่อใจใคร เพราะถูกหักหลังในอดีต …เราไม่ลองทำงานที่ท้าทายอีก เพราะกลัวล้มเหลว
อย่างไรก็ตาม กำแพงเหล่านี้อาจจะสูงเกินไปจนเราพลาดอะไรดีๆ หลายอย่างในชีวิต อย่างความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับคนรอบตัว หรือ โอกาสในการทำงาน
จริงอยู่ที่ในอดีตเราอาจเคยเจ็บและเป็นผู้เคราะห์ร้าย แต่ในการจะมีชีวิตต่ออย่างมีอิสระที่แท้จริง เราต้องเยียวยาตัวเองจากบาดแผลในอดีตเสียก่อน
“เราย้อนเวลากลับไปแก้ไขจุดเริ่มต้นไม่ได้ แต่เราเริ่มใหม่จากจุดที่เรายืนอยู่และเปลี่ยนแปลงตอนจบได้” – ซี.เอส. ลูอิส
อะไรทำแล้วดีพรุ่งนี้ให้ทำอีก
เคยได้ยินเรื่อง ‘ชายผู้ทำสงครามกับภูเขา’ บ้างไหม?
ทัศรัฐ มานจี ชายชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านอันห่างไกล ทางตอนเหนือของแคว้นมคธ กับภรรยาหนึ่งคน อยู่มาวันหนึ่งภรรยาของเขาเกิดอุบัติเหตุจนบาดเจ็บสาหัส แต่เขาไม่สามารถพาเธอไปถึงโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ทัน เพราะมันอยู่อีกเมืองและต้องเดินทางอ้อมภูเขาเป็นระยะทางกว่า 70 กิโลเมตร
เขาไม่อยากให้ความสูญเสียเช่นนี้เกิดขึ้นกับใครอีก จึงตัดสินใจเจาะถนนผ่านภูเขา ด้วยอุปกรณ์ที่เขาสามารถซื้อได้ ณ ตอนนั้น ซึ่งก็คือ ค้อนกับสิ่ว
ภาพมนุษย์ตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่ต่อกรกับภูเขาทั้งลูกด้วยอุปกรณ์เล็กๆ ในมือ ทำให้หลายคนไม่เชื่อว่าจะสำเร็จ ‘เป็นไปไม่ได้หรอก’ หรือ ‘บ้าไปแล้ว’ หลายคนคิดเช่นนี้
แต่เมื่อผ่านไป 22 ปี ทัศรัฐ มานจี ก็ทลายภูเขา สร้างถนนยาว 110 เมตร ยาวเกือบ 9 เมตรจนสำเร็จ
บทเรียนที่เราได้ คือ ความสำเร็จนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่เกิดจากการกระทำเล็กๆ ในทุกๆ วันรวมกันต่างหาก
เลิกทำตามความคาดหวังของผู้อื่น
ในอดีตที่มนุษย์เรายังอาศัยกันอยู่เป็นเผ่า ‘ความแปลกแยก’ อาจทำให้คนในเผ่าหันมามองเรา ชี้นิ้วด้วยความตกใจ และลงโทษเราที่ออกนอกลู่นอกทาง แต่ตอนนี้ไม่ได้เป็นเช่นนั้นแล้ว เราเป็นตัวของตัวเองได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกทำโทษสถานหนัก (แม้เราจะยังกังวลและถามตัวเองบ่อยๆ ว่า ‘คนอื่นมองเราทำไมนะ เพราะเราแปลกหรือเปล่า’ )
ดังนั้นไม่ต้องเปลี่ยนตัวเองเพียงเพราะกลัวสายตาคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน งาน ไลฟ์สไตล์ การแต่งตัว หรือความสัมพันธ์ เลือกสิ่งที่เป็นตัวเองและทำให้เรามีความสุขดีกว่านะ
สังคมเต็มไปด้วย ‘Unspoken Rules’ หรือ เรื่องที่เราควรจะรู้และทำตาม มากมาย แต่หลายครั้งมันก็เป็นเพียงค่านิยมเก่าๆ หรือความคาดหวังของคนอื่นที่เราถูกปลูกฝังมา ถ้าบางอย่างไม่ได้ทำให้เรามีความสุข ก็เลิกทำตามและหันมาใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง
แล้วคุณผู้อ่านล่ะ มีกฎในการใช้ชีวิตมาแบ่งปันบ้างไหม?
อ้างอิง:
https://bit.ly/3MdR0Tj
https://bit.ly/3xEVtL2
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#softskills