SOFT SKILLไม่ไหวก็บอกไม่ไหว! เพราะการบริหารเวลาที่ดีที่สุดอาจเริ่มต้นแค่คำว่า “ไม่”

ไม่ไหวก็บอกไม่ไหว! เพราะการบริหารเวลาที่ดีที่สุดอาจเริ่มต้นแค่คำว่า “ไม่”

“ทักษะการบริหารเวลา” นับว่าเป็นหนึ่งใน Soft Skill สำคัญกับคนทำงานมากที่สุดทักษะหนึ่งเลยก็ว่าได้ เพราะการบริหารเวลาที่ดีจะช่วยให้เราทำงานได้ทันเวลา การบริหารเวลาที่ดีจะช่วยให้เรามีเวลาว่างมากขึ้น และการบริหารเวลาจะช่วยให้เรามีสิ่งที่เหล่าคนทำงานถวิลหาที่สุด นั่นก็คือ “Work Life Balance”

แต่ความเป็นจริงกลับไม่ง่ายแบบนั้น “การบริหารเวลา” ดูเหมือนจะเป็นทักษะที่พูดง่ายแต่ทำได้ยาก เพราะเราไม่สามารถควบคุมปัจจัยภายนอกอีกมากมายได้แบบ 100% ไม่ว่าจะเป็นงานเร่ง งานด่วน หรืองานร้อนก็ตาม

และในการแก้ปัญหาเหล่านี้ ผู้คนมากมายต่างก็คิดค้นเทคนิควิธีการบริหารรูปแบบต่างๆ เพื่อจัดระเบียบให้กับการทำงานของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น Pomodo Technique, Pareto Principle, Time Blocking และอีกมากมาย จนอาจจะมองข้ามไปว่ามีหนึ่งวิธีที่เรียบง่าย และได้ผลดีมากที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ “การปฏิเสธ” หรือ การบอกว่า “ไม่”

ทำไมเราถึงสบายใจที่จะตอบ “ใช่” มากกว่า “ไม่”

Jacqueline Whitmore นักเขียน และผู้ก่อตั้ง The Protocol School of Palm Beach เคยเขียนบทความลงใน Enterprenuer.com ว่า ลึกๆ ในใจเราทุกคนต่างก็อยากเป็นที่ชื่นชอบ เราจึงกังวล และลำบากใจเวลาที่เราอยากจะปฏิเสธคำขอร้องของคนอื่น และการพูดคำว่า “ไม่” ออกไป จะทำให้คนอื่นจะมองเราในภาพลักษณ์ที่ไม่ดี

ซึ่งก็จริงอยู่ เพราะในโลกของการทำงานนั้น หลายคนคงนิยามตัวเองว่าเป็น “Yes Man” ใครจะขอให้ช่วยงานอะไรก็ได้หมด ถึงแม้ว่าตัวเองจะงานรัดตัวแค่ไหนก็ตาม การจะเอ่ยคำว่า “ไม่” ออกไปแต่ละที มันเป็นเรื่องที่ยากเย็นเสียเหลือเกิน เพราะมันทำให้เราดูเหมือนเป็นคนใจแคบ ไม่ชอบช่วยเหลือคนอื่น เพราะฉะนั้นเวลามีใครเดินมาขอความช่วยเหลืออะไรนิดหน่อย หลายคนก็จะเผลอตอบ “ใช่” หรือ “ได้” ออกไปก่อน จนทำลายตารางงานที่เราตั้งใจจะทำเอาไว้แบบไม่มีชิ้นดี และสุดท้ายก็ต้องมาเหนื่อยหลังขดหลังแข็งเอาภายหลัง

ในทางกลับกัน การเป็น “No Man” บ้างในบางครั้ง และกล้าที่จะพูดคำว่า “ไม่” ที่ทำให้ดูเหมือนจะทำให้เรากลายเป็นคนใจร้าย ไร้น้ำใจต่อคนรอบข้างออกไปบ้างนั้น มีความสำคัญต่อการบริหารเวลาของเรา ทำให้เราสามารถบริหารเวลาได้ดี เพราะเราเป็นผู้ควบคุมงานของตัวเอง รวมถึงยังเป็นสัญญาณของความมั่นใจในตนเอง และความกล้าแสดงออกของในที่ทำงานอีกด้วย

Kristin Muhlner ซีอีโอของ Affect Therapeutics เคยบอกเอาไว้ว่า การเรียนรู้ที่จะทำการปฏิเสธคนอื่นให้เป็น เป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญในการบริหารจัดการเวลาที่มีประสิทธิภาพ เพราะมันจะทำให้เราไม่ทุ่มเทตัวเองมากเกินไป ทั้งในด้านอาชีพและชีวิตส่วนตัวของพวกเราทุกคน
นอกจากนี้ การตอบรับทุกคำขอว่า ใช่ หรือ ได้ มากจนเกินไปนั้น มีแนวโน้มสูงที่จะทำให้เรากลายเป็น People Pleaser ที่ยอมเสียสละตัวเอง เพื่อความสุขของผู้อื่น เพียงเพื่อไม่อยากให้คนอื่นมองเราว่าเป็นคนไม่ดี หรือเพื่อคำชมไม่กี่คำเท่านั้น

เรียนรู้ที่จะปฏิเสธให้เป็นด้วยศิลปะของการพูดคำว่า “ไม่”

แต่ถึงแม้จะมีอีกกี่ร้อยพันเหตุผล การพูด “ไม่” สำหรับใครหลายๆ คนก็เป็นเรื่องยากอยู่ดี เพราะเมื่อถึงเวลาจริงๆ แล้วความรู้สึกกดดันต่างๆ ที่เข้ามามันรวดเร็ว และรุนแรงเกินกว่าจะตั้งรับได้ทัน สายตาที่จ้องเข้ามา คำพูดย้ำๆ ที่กดดัน รวมถึงบรรยากาศแห่งความน่าอึดอัดมันล้วนแต่ทำให้เราอยากจะรีบตอบตกลงว่า “ได้ครับ/ค่ะ” ไปให้มันจบๆ เพื่อจบบรรยากาศที่น่ากระอักกระอ่วนนี้ไปเสียที

แต่ถ้าหากคำว่า “ไม่” มันยากเกินไป อาจจะลองวิธีปฏิเสธเหล่านี้ เพื่อเป็นการตอบปฏิเสธแบบเบี่ยงเบนผู้ที่เข้ามาร้องขอความช่วยเหลือจากเราแบบกลายๆ แถมยังไม่ทำให้เราดูเป็นคนแล้งน้ำใจอีกด้วย

Advertisements

1. ซื้อเวลาก่อนปฏิเสธ

ก็จริงอยู่บ้างที่เมื่อคนเรารีบตอบปฏิเสธทันที เวลามีคนเดินเข้ามาขออะไรสักอย่าง คนคนนั้นจะถูกมองว่าเป็นคนแล้งน้ำใจ เพราะฉะนั้นเมื่อมีเพื่อร่วมงาน หรือใครก็ตามที่เดินมาขอความช่วยเหลือจากเรา แทนที่จะตอบปฏิเสธพวกเขาไปเลยในทันที ให้ตอบว่า “เดี๋ยวขอลองดูตารางงานก่อนนะ” หรือ “ขอเช็กเวลาว่างก่อนนะ เดี๋ยวมาบอก” แทน จากนั้นค่อยปฏิเสธเขาไปในภายหลัง ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เราพูดคำว่า “ไม่” ได้ง่ายขึ้นอย่างไม่น่าเกลียด เพราะว่ามันทำให้เราดูเป็นคนที่ไตร่ตรองต่อคำขอของเขาอย่างจริงจัง แถมถ้าเราเกิดมีเวลาว่างจริงๆ ขึ้นมาเราก็จะสามารถตอบรับช่วยเหลือของเขาได้อีกด้วย

Advertisements

2. เสนอทางออกหรือทางเลือกอื่นแทนการช่วยเหลือ

แน่นอนว่าการพูดคำว่า “ไม่” ออกไปแบบโต้งๆ ย่อมทำให้คนที่มาขอความช่วยเหลือจากเราผิดหวังเล็กน้อย แต่ว่าเราสามารถช่วยให้เขาไม่เสียเวลาฟรีที่อุตส่าห์มาหาเราได้ด้วยการช่วยเสนอทางออกอื่นให้เขาแทนได้ ลองแนะนำคนอื่นดูว่าคนนี้อาจจะช่วยได้เร็วกว่า หรือคนนั้นอาจจะช่วยได้ดีกว่านะ แทนการตอบปฏิเสธแบบเฉยๆ แห้งๆ ย่อมทำให้ผู้ฟังรู้สึกดีกว่าอย่างแน่นอน

3. Not right now

สำหรับใครที่ไม่ชอบความยืดเยื้อกันไปมาอาจจะพบว่าคำตอบนี้ค่อนข้างมีประโยชน์ เพราะคำว่า “ตอนนี้ยังไม่ว่าง” หรือ “ไว้คราวหน้าได้ไหม” เป็นการบอกปฏิเสธทันทีแบบตรงๆ แต่ไม่ขวานผ่าซากจนเกินไป เป็นการบอกทุกคนว่า เรากำลังจริงจัง และตั้งใจอยู่กับงานตรงหน้าของเราอยู่ ณ ขณะนี้ แถมยังเป็นการส่งสารทางอ้อมอีกด้วยว่า เมื่อเขาได้รับความช่วยเหลือจากเรา พวกเขาจะได้รับความทุ่มเทจากเราแบบ 100% อีกด้วย

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการปฏิเสธ นั้นก็คือการ “ฟัง” เพราะก่อนที่เราจะรีบตอบอะไรออกไป ลองฟังก่อนว่าคนที่เข้ามากำลังขอความช่วยเหลือแบบไหนจากเรา ถ้าไม่เข้าใจตรงไหนให้ถามให้เคลียร์ ต้องการเวลา คำแนะนำ หรือแค่ความคิดเห็นเล็กๆ จากเราเพียงเท่านั้น เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าเราควรตอบรับคำขอนั้นจริงๆ หรือไม่ อย่าลืมว่าความสัมพันธ์กับเพื่อนที่ทำงานก็มีความสำคัญ ถ้าเรารีบตอบปฏิเสธไปทั้งๆ ที่มันเป็นความช่วยเหลือง่ายๆ ที่ไม่ได้กินแรงเรามากแล้วล่ะก็ เราอาจจะกำลังกลายเป็นคนใจร้ายจริงๆ ไปอย่างช้าๆ ก็ได้

ในท้ายที่สุดแล้ว สำหรับการบริหารจัดการตารางเวลาของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน หรือเรื่องส่วนตัว การตอบปฏิเสธ หรือการตอบว่า “ไม่” นั้น คือเรื่องของการจัดเรียงลำดับความสำคัญ อะไรมาก่อน อะไรมาหลัง เป็นการจัดแจงว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในเวลานั้น และอย่าเสียเวลาอันมีค่าของเราไปทำอย่างอื่น

แต่อย่าลืมว่า สิ่งสำคัญที่สุดในบางทีนั้นอาจจะไม่ใช่ตัวเราเสมอไปก็ได้ และการช่วยเหลือคนอื่นนั้นเป็นเรื่องที่ดีเสมอ ตราบใดก็ตามที่การช่วยเหลือนั้นจะไม่ย้อนกลับมาทำร้ายเรา

อ้างอิง:

https://bit.ly/3Oh7oDo
https://bit.ly/3Oh7s66
https://bit.ly/3RHDgnt
https://bit.ly/3aJkITa
https://bit.ly/3yOebyz

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#timemanagement

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า