☑️ หายใจเข้าเป็นงาน หายใจออกเป็นงาน
☑️ พร้อมตอบแช็ตตลอดเวลา
☑️ ทำงานแบบไม่มีวันหยุด
☑️ เลิกงานแล้วก็ยังทำงานต่อ ไม่ยอมกลับบ้านช่อง
เชื่อว่าในชีวิตการทำงานของใครหลายๆ คนคงเคยเจอหัวหน้าที่ตรงกับทุกข้อที่กล่าวมา พวกเขาเป็นหัวหน้าที่ทุ่มเทและถวายชีวิตให้แก่งาน ขยันเสียจนเราที่กลับบ้านตรงเวลาแอบรู้สึกเกรงใจ แม้จะสงสัยว่าพวกเขาไม่เหนื่อยหรือ แต่ในบางครั้งเราก็รู้สึกว่าถ้าเราเป็นหัวหน้า ก็อยากขยันทำงานแบบนั้นบ้าง…
แต่เดี๋ยวก่อน! ก่อนจะเอาเป็นแบบอย่าง เราแน่ใจแล้วหรือว่าเป็นหัวหน้าที่ทำงานหนักแบบนั้น หมายความว่าเราจะเป็นหัวหน้าที่ดีจริงหรือ? หรือเป็นเพียงแค่ความเข้าใจผิดๆ เสียมากกว่า?
เพราะงานวิจัยล่าสุดพบว่า “หัวหน้าที่มี Work-Life Balance” แท้จริงแล้วเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเป็นไหนๆ
วารสาร The Journal of Applied Psychology ในฉบับวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาดังกล่าวที่ว่าด้วย Work-Life Balance คือกุญแจแห่งความสำเร็จในการเป็นผู้นำ นำโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฟลอริดา มหาวิทยาลัยรัฐฟลอริดา และมหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา
การศึกษาพบว่า พนักงานระดับผู้จัดการที่ตัดขาดเรื่องงานหลังหมดเวลาทำงาน (เช่น ปิดแจ้งเตือน ไม่ตอบอีเมล และไม่คิดเรื่องงาน) จะรู้สึกสดชื่นในวันถัดมา ทำให้พวกเขามีประสิทธิภาพในฐานะผู้นำ และคอยให้ความช่วยเหลือลูกน้องได้ดีกว่าหัวหน้าที่ทำงานเกินเวลาหรือเอาแต่คิดเรื่องงาน
“ใจความอันเรียบง่ายที่เราได้จากการศึกษานี้ก็คือ ถ้าหากคุณอยากเป็นหัวหน้าที่มีประสิทธิภาพ จงทิ้งเรื่องงานไว้ที่ทำงาน” โคลเดียนา ลานาจ ศาสตราจารย์ผู้นำการศึกษานี้กล่าว เธอแนะนำว่ายิ่งเป็นหัวหน้ามือใหม่ยิ่งต้องพักผ่อน เพราะหัวหน้านั้นนอกจากจะต้องรับผิดชอบงานของตัวเองแล้ว ยังต้องคอยตอบสนองความต้องการของลูกน้องอีก ดังนั้นพวกเขาต้องการเวลาเพื่อพักฟื้นจากตำแหน่งที่ต้องใช้พลังงานมากเช่นนี้
การศึกษานี้ได้สำรวจพนักงานระดับผู้จัดการและลูกน้องของเขาในธุรกิจต่างๆ ภายในสหรัฐอเมริกา ในปี 2019 และ 2022 โดยวัดจากความสามารถในการปล่อยว่างเรื่องงานของหัวหน้า พลังงานและความรู้สึกถึงการเป็นผู้นำในวันถัดไป และการให้คะแนนเรื่องประสิทธิภาพในการนำทีมจากลูกน้อง
“เราพบว่าเมื่อหัวหน้าสามารถตัดขาดและไม่คิดเรื่องงานได้ในช่วงเวลากลางคืน เช้าวันต่อมาพวกเขาจะเปี่ยมล้นไปด้วยพลังงาน และรู้สึกถึงความเป็นผู้นำได้มากกว่า และในวันเดียวกันนี้ ลูกน้องของพวกเขามักจะให้ความเห็นว่า หัวหน้าช่วยกระตุ้นให้พวกเขาทำงานและคอยชี้แนะได้ดีกว่า” โคลเดียนา ลานาจ บอก เธอยังเสริมอีกว่า หากเราพบว่าหัวหน้าเลิกคิดเรื่องงานไม่ได้ในตอนกลางคืน ผลลัพธ์ก็จะออกมาตรงกันข้าม เช่นเดียวกับความเห็นจากลูกน้องในทีม
อีกหนึ่งประเด็นน่าสนใจที่ได้จากการศึกษานี้คือ “หัวหน้ามือใหม่มักทำงานหนัก” เป็นเรื่องปกติที่หัวหน้าที่เชี่ยวชาญแล้วจะสามารถตัดเรื่องงานไปได้ง่ายๆ แต่สำหรับคนที่เพิ่งเคยเป็นหัวหน้า การปล่อยวางจะไม่ง่ายนัก พวกเขามีแนวโน้มว่าจะใช้เวลาจำนวนมากไปกับการทำงานและการคิดเรื่องงาน
แล้วต้องทำอย่างไรถึงจะมีเวลาพักผ่อนอย่างแท้จริงได้?
บทความเรื่อง Three Ways Leaders Can Maintain A Work-Life Balance While Growing Careers จากเว็บไซต์ Forbes ได้ให้คำแนะนำไว้ดังนี้
1) โฟกัสที่ผลลัพธ์ ไม่ใช่ชั่วโมงงาน
การใช้เวลานับร้อยชั่วโมงไปกับการลงมือทำไม่ได้การันตีว่างานจะออกมาประสิทธิภาพแต่อย่างใด จริงอยู่ที่ว่าการทุ่มเทเป็นเรื่องดี แต่เราต้องรู้ด้วยว่าแรงที่เราลงไปนั้นสอดคล้องกับเป้าหมายอย่างไร การโฟกัสที่ผลลัพธ์จะช่วยให้เราบริหารเวลาได้ดียิ่งขึ้น เราจะรู้ว่าควรทำอะไรก่อน-หลัง ทำในเวลาไหน และทำมากแค่ไหน
2) ถ้าพื้นฐานดีอย่างอื่นก็ดีตาม
Maslow’s Hierarchy of Needs ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเรื่องพื้นฐานนั้นสำคัญแค่ไหนในการประสบความสำเร็จ หากความต้องการทางกาย (Physciological Needs) ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานสุดๆ เช่น ความหิวหรือความต้องการการพักผ่อน ไม่ถูกตอบสนอง เราก็จะไม่สามารถไปถึงระดับอื่นได้ กล่าวคือ การจะมีความคิดสร้างสรรค์หรือเรี่ยวแรงในการทำงานนั้นจะเป็นไปไม่ได้เลย
ดังนั้นเราต้องแบ่งเวลามาดูแลเรื่องพื้นฐานของตัวเองด้วย อย่างการพักผ่อน นอนหลับให้เต็มอิ่ม และทานอาหารให้ครบมื้อ
3) เป็น “คนคอยซัพพอร์ต” ให้ตัวเราเอง
ในการจะทำงานให้สำเร็จ คนคนหนึ่งมีสิ่งที่ต้องการมากมาย เช่น ข้อมูลที่เพียงพอ เครื่องมือที่ใช้งานได้ ค่าตอบแทนที่เหมาะสม ไปจนถึงเวลาพักผ่อน ในฐานะหัวหน้า เราอาจต้องเป็นคนคอยจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกให้ลูกน้อง เพื่อให้พวกเขาทำงานได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม ซัพพอร์ตคนอื่นแล้ว ก็อย่าลืมหันมาซัพพอร์ตตัวเองด้วย มีอะไรขาดเหลือหรือเปล่า หรือต้องการความช่วยเหลือด้านใดไหม ถามไถ่และอำนวยความสะดวกให้ตัวเอง เพราะนอกจากจะมีหน้าที่พาทีมไปสู่เป้าหมายแล้ว เราก็ต้องการทรัพยากรที่เหมาะสมในการพัฒนาตนเองเช่นกัน
หากหัวหน้าหรือคนรอบตัวของเราทำงานหนัก ลองบอกเล่าถึงข้อดีของการพักผ่อนแล้วชวนพวกเขาให้ปล่อยวางเรื่องงานดู หรือหากเราเป็นหัวหน้าที่ทำงานหนักเสียเอง บางทีนี่อาจถึงเวลาทบทวนความสัมพันธ์ของเรากับงานดูใหม่ และหาเวลามาดูแลตัวเองบ้างนะ 🙂
อ้างอิง
Improving your work-life balance can make you a more effective leader at work – ScienceDaily : https://bit.ly/44J2qc0
Three Ways Leaders Can Maintain A Work-Life Balance While Growing Careers – Forbes : https://bit.ly/3NRobAd
#worklife
#softskill
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast