ผู้นำก็ต้องปรับตัว! ถอดบทเรียน “การลาออกครั้งใหญ่” (The Great Resignation) เป็นหัวหน้าอย่างไรไม่ให้ลูกน้องลาออก?

572
1920-The Great Resignation

ปัญหาที่หลายคนต้องพบเจอหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือเทคโนโลยีต่างๆ ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเรา ไปจนถึงสไตล์การทำงาน รูปแบบงาน และสายงานที่ทำอยู่ ทำให้หลายๆ คนกลับมานั่งแล้วไตร่ตรองว่า พวกเขามีความสุขกับงานที่ทำอยู่ในตอนนี้ไหม ถ้าไม่ แล้วมันคุ้มค่าที่จะทนอยู่ในงานนี้ต่อไปไหม หรือเกิดความรู้สึกอยากทำงานกับบริษัทที่ไม่กำหนดเวลาเข้างาน รู้สึกหมดไฟทำงาน หรือไม่ชอบการปฏิบัติตนของหัวหน้า ฯลฯ

จากเหตุผลดังกล่าว จึงเกิดการลาออกของพนักงานเป็นจำนวนมากในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสนี้ จนเกิดกระแส “The Great Resignation” ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ชาวสหรัฐฯ พากันลาออกจากงานมากกว่า 4 ล้านคนในเดือนเมษายนปี 2021 และมีแนวโน้มที่คนจะทยอยลาออกเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้นและเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว หลายบริษัทจึงต้องคอยจับตามองกระแสนี้ไว้และรีบเตรียมตัวรับมือ หากไม่อยากสูญเสียพนักงานในฐานะทรัพยากรอันมีค่าไป

ผลการสำรวจจาก Joblist ในปี 2021 ได้เผยเหตุผลยอดนิยมที่ทำให้พนักงานตัดสินใจลาออกในปีนี้ 19% มาจากพฤติกรรมของหัวหน้างาน/นายจ้างที่ปฏิบัติต่อพวกเขาในช่วงการระบาด 17% เป็นเพราะได้รับค่าจ้างน้อยหรือขาดสวัสดิการ และ 13% มาจากการขาด Work-Life Balance

ดังนั้น การจะรักษาพนักงานให้อยู่กับบริษัทไว้ นอกจากบริษัทจะต้องสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดูยืดหยุ่น อย่างนโยบาย Work From Home หรือการทำงานแบบ Hybrid ที่ให้พนักงานจัดสรรเวลาได้เองแล้ว ยังต้องปรับด้านแนวคิดและการปฏิบัติของหัวหน้างาน/นายจ้างให้เข้าใจพนักงานมากขึ้นอีกด้วย

การปรับตัวจึงไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในพนักงานที่ต้องการเปลี่ยนสายงานเท่านั้น แต่รวมไปถึงนายจ้างและหัวหน้างาน ที่ต้องพัฒนาทักษะให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปได้ มาเรียนรู้ 4 สิ่งที่ผู้นำต้องปรับตัวรับปี 2022 กันเถอะ

1. สร้างวัฒนธรรมการทำงานที่เน้นความเป็นอยู่ที่ดี

เมื่อเข้าสู่ปี 2022 สิ่งที่หัวหน้างานต้องใส่ใจไม่แพ้ผลงานคือ การสร้างวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพของพนักงานทั้งกายและใจ เพราะยิ่งงานหนักมากขึ้น พนักงานก็ยิ่งใฝ่หาความสมดุลระหว่างงานและชีวิต (Work-Life Balance) และความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) ในชีวิตมากขึ้นตามไปด้วย

หัวหน้างานจึงควรสร้างสภาพแวดล้อม ที่ส่งเสริมให้พนักงานสามารถทำงานและพักผ่อนไปพร้อมกันได้ อาจลองเสนอให้บริษัทมีมุมคลายเครียดสำหรับพนักงานมากขึ้น และสร้างบริการ Employee Assistance Programme (EAP) ที่ให้คำปรึกษาทั้งด้านสุขภาพจิต การเงินและสังคมแก่พนักงาน เพื่อให้พนักงานไม่รู้สึกเครียดมากเกินไปหากเจอปัญหาระหว่างทำงาน

นอกจากนี้คือ หัวหน้ายังต้องเลือกช่วงเวลาที่จะสื่อสารให้เหมาะสม หากตอนนี้เลยเวลาเข้างานแล้ว ก็ควรเคารพช่วงเวลาส่วนตัวของพนักงาน แล้วปรับเป็นรูปแบบเป็นการส่งข้อความหรืออีเมลแทนเพื่อไม่ให้พนักงานรู้สึกเร่งรีบ กดดัน และเปิดโอกาสให้พนักงานพูดคุยถึงปริมาณงาน ประสิทธิภาพการทำงาน และสุขภาพของตัวเองเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อการติดตามว่าแต่ละคนยัง “ไหว” อยู่หรือไม่ การใส่ใจต่อเรื่องเหล่านี้จะช่วยลดอัตราการลาออกของพนักงานได้

2. ให้คุณค่ากับการเติบโตของพนักงาน

หนึ่งในเหตุผลที่พนักงานพากันลาออก คือ พวกเขามองว่าตนเองไม่ก้าวหน้าในการงาน งานดูน่าเบื่อ หรือตนเองไม่มีคุณค่าในตำแหน่งนี้ การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ การสนับสนุนให้พนักงานได้ Reskill เรียนรู้ทักษะใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสายงานเก่า หรือ Upskill เสริมทักษะที่ตนมีให้มากขึ้น

หัวหน้าอาจช่วยแนะแนวทางต่างๆ ให้พนักงาน เช่น ออกแบบโปรแกรมที่เน้นให้พนักงานเรียนรู้เทคโนโลยี ซอฟต์แวร์ใหม่ พัฒนาความรู้และทักษะเฉพาะทางในสายงานนั้นๆ สอนเทคนิคการจัดการและความเป็นผู้นำที่ดีให้ รวมถึงเพิ่มรูปแบบงานและความรับผิดชอบใหม่ๆ ให้พนักงานเกิด Passion ในการทำงานต่อไป

Advertisements
Advertisements

3. กำจัดความไม่เท่าเทียมในที่ทำงานออกไป

ข้อมูลจากรายงาน “Employee Burnout: Causes and Cures” (2020) เผยว่า 76% ของพนักงานบอกว่า ตนรู้สึกหมดไฟ (Burnout) บ้างเป็นบางครั้ง และ 28% บอกว่า พวกเขารู้สึกหมดไฟ “อยู่เป็นประจำ” หรือ “ตลอดเวลา” ขณะทำงาน ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้พวกเขารู้สึกหมดไฟ คือ “การปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมในที่ทำงาน”

หลายครั้งที่หัวหน้างานมองข้ามเรื่องนี้ไป เพียงเพราะสิ่งนี้ไม่ได้กระทบกับตน จริงๆ แล้วความรับผิดชอบของหัวหน้างานไม่ใช่ดูแค่ความคืบหน้าของงาน แต่รวมไปถึงการทำให้สถานที่ทำงานเกิดความเท่าเทียมและยุติธรรมต่อพนักงานทุกคนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่แน่นอนว่า นี่ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายดายนัก

หัวหน้างานอาจเริ่มตั้งแต่ตรวจสอบการให้เงินเดือน ลองประเมินคุณลักษณะของพนักงานในด้านต่างๆ เช่น เพศ ตำแหน่งหน้าที่ และช่องว่างระหว่างตำแหน่งพนักงานระดับสูงกับระดับธรรมดา หากพบว่า เงินเดือนที่พนักงานได้รับช่างน้อยนิดสวนทางกับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นและเวลาส่วนตัวที่น้อยลงเรื่อยๆ หัวหน้างานควรแจ้งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือนำเรื่องเข้าที่ประชุมเพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงไตร่ตรองใหม่อีกครั้ง

นอกจากนี้ความไม่เท่าเทียมด้านอื่นๆ ก็ควรได้รับการแก้ไขเช่นกัน อย่างการปฏิบัติต่อพนักงานเพศ LGBTQ+ ดังนั้น หัวหน้าควรจัดการฝึกอบรมด้านอคติทางเพศ หรือให้พนักงานกล้าออกมาพูดถึงความไม่เท่าเทียมที่พวกเขาต้องเจอ และมีมาตรการลงโทษสำหรับพนักงานที่ปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมงานอย่างไม่เท่าเทียม นี่อาจช่วยให้สถานที่ทำงานเป็นที่เปิดกว้าง ปลอดภัยและเต็มไปด้วยความหลากหลายในที่ทำงานมากขึ้น

4. เปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ

เวลาประชุมงาน หัวหน้างานบางคนมักเลือกที่จะ “สั่ง” งานมากกว่าจะขอความเห็นจากลูกทีม หรือมักขัดขวางแนวคิดที่ตนไม่เห็นด้วยในทันที หากเป็นเช่นนี้ การทำงานร่วมกันในทีมอาจติดขัดและไม่ลื่นไหล เพราะพนักงานไม่ได้แสดงความคิดเห็นที่แท้จริงของตนและรู้สึกโดนบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา

หัวหน้าจะต้องปรับมายด์เซตให้เปิดกว้าง รับฟังทุกความคิดเห็นของพนักงาน ไม่ว่าความคิดนั้นจะสมเหตุสมผลหรือไม่ เพราะสิ่งสำคัญคือการสร้างความกล้าให้พนักงานได้ลองเสนอไอเดีย ซึ่งบางความคิดอาจเป็นจุดเริ่มต้นของไอเดียที่ใช้งานได้จริงก็เป็นได้

ในยุคหลังโควิด-19 นี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ แนวคิดการทำงานแบบเก่าที่เรามีจึงไม่สามารถนำมาใช้ได้เสมอไป ในฐานะผู้นำ จึงต้องเตรียมพร้อมรับสิ่งใหม่ๆ หมั่นอัปเดตข้อมูล และเทรนด์โลกให้กับพนักงานอยู่เสมอ เพื่อให้เราไม่ตกยุค


สุดท้ายนี้ การเปลี่ยนแปลงหลายๆ เรื่องในนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นในทันทีทันใด เสียงจากหัวหน้าเพียงคนเดียวอาจไม่เพียงพอ อาจลองเสนอให้บอร์ดบริหารระดับสูงนำมาไตร่ตรองเพื่อพัฒนาบริษัท เพราะนอกจากบริษัทจะรักษาพนักงานที่รู้ใจและมีความสามารถไว้ได้แล้ว บรรยากาศในการทำงานก็ช่วยส่งเสริมให้พนักงานมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น

ดังนั้น ลองมาสร้างการเปลี่ยนแปลงที่จะช่วยเปลี่ยนให้วันทำงานของพนักงานไม่กลายเป็นวันแสนน่าเบื่อ หรือเซ็งกับเพื่อนร่วมงานจนอยากลาออกทุกวันกันเถอะ แล้วเราจะรู้ว่า เราเองก็สามารถเป็น The Best หัวหน้าได้มากกว่าที่คิดนะ


เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
เมื่อการ Reskill ไม่ง่ายอย่างที่คิด! เข้าใจ 5 ความท้าทายขององค์กร ถ้าอยากพัฒนาพนักงานให้สำเร็จ


อ้างอิง:
https://cnb.cx/3Fqso69
https://bit.ly/3K0sFAa
https://bit.ly/3Fq4Jmt
https://bit.ly/3qo0LGI
https://bit.ly/3K7H5hR

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#softskill

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่