ฝึกสมองให้สร้างสรรค์กว่าใคร! สรุปบทเรียนจากหนังสือ “Creative Acts For Curious People”

1089
1920-Creative Acts For Curious People

ในยุคที่เต็มไปด้วยความผันผวนทั้งในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม มีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย ตั้งแต่ความขาดแคลน โลกร้อน ความขัดแย้งทางการเมือง ไปจนถึงโรคระบาด แม้เทคโนโลยีใหม่ๆ จะถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาเรื่อยๆ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะยังช้ากว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของปัญหาอยู่ดี

เมื่อมีความต้องการในการแก้ไขปัญหา ทักษะอย่าง “ความคิดสร้างสรรค์” จึงก้าวเข้ามามีความสำคัญกว่าที่เคย

มาเรียนรู้ความสำคัญของความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบในหนังสือ “Creative Acts For Curious People” หนังสือที่ได้พูดถึงความเข้าใจในการแก้ปัญหา ทั้งเรื่องที่เราเจอในชีวิตประจำวันและปัญหาใหญ่ระดับโลก พร้อมวิธีการลับสมองให้สร้างสรรค์ ด้วยหลากหลายวิธีที่ใช้สอนจริง “d.school” แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและมีหลักสูตรสอน Design Thinking ที่ดีที่สุดในโลก

เรามาดูกันดีกว่าบทเรียนจากหนังสือเล่มนี้จะมีอะไรบ้าง


บทเรียนที่ 1 คิดให้เหมือนนักออกแบบ

ในทุกๆ ปี นักศึกษานับพันในหลักสูตร d.school ของสแตนฟอร์ดจะได้รับการอบรมจากผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ตั้งแต่การแพทย์ การศึกษา ไปจนถึงองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร พวกเขาฝึกฝนนักศึกษาเหล่านี้ไปพร้อมๆ กับเฟ้นหาเครื่องมือที่ดีที่สุดสำหรับการเรียนรู้ และการเขียนคิดให้เหมือน “นักออกแบบ”

เพราะปัจจุบัน Design Thinking หรือกระบวนการคิดเชิงออกแบบมีบทบาทสำคัญยิ่งกว่าเคย และสแตนฟอร์ดก็ตระหนักถึงเรื่องนี้ดี เป้าหมายของหลักสูตรนี้จึงเป็นการสอนให้นักศึกษาคิดค้นนวัตกรรมหรือวิธีการใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาอันซับซ้อน ผ่านการฝึกฝน 4 ทักษะสำคัญด้วยกัน

ซึ่งก็คือการสังเกต การคิด การรับรู้ถึงความรู้สึก และการลงมือทำ

เราอาจเคยได้ยินอยู่แล้วว่าทักษะที่จำเป็นต่อการมีความคิดสร้างสรรค์คือความ​​ ‘ช่างคิด’ และ ‘ช่างสังเกต’ ทั้งสองทักษะแรกถูกเน้นจนคนส่วนใหญ่ลืมเรื่องความรู้สึกและการลงมือทำไปเลย แต่ d.school มองว่าเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากในการพัฒนา 4 ด้านนี้ไปพร้อมๆ กัน

หากเราเข้ายิมเพื่อออกกำลังกายทุกวันแต่ออกแค่แขนและขาด้านเดียว ผ่านไปหลายสัปดาห์ร่างกายด้านนั้นอาจแข็งแรงขึ้นก็จริง แต่อีกข้างไม่ได้พัฒนานั้นก็จะอ่อนแอ ไร้เรี่ยวแรงเช่นเดิม นี่คือเหตุผลว่าทำไม d.school แห่งสแตนฟอร์ดมองว่า หากจะคิดให้เหมือนนักออกแบบ ก็ต้องพัฒนาทั้ง 4 ทักษะนี้ไปพร้อมๆ กัน


บทเรียนที่ 2 มองให้กว้างกว่าปัญหาที่มี

หากเราไม่ยืดหยุ่นและโฟกัสอยู่กับโจทย์เดิมๆ มากเกินไป เราอาจพลาดโอกาสในการมองเห็นปัญหาที่ใหญ่กว่าได้

ในปี 2012 นักศึกษาปริญญาโท 4 คนจาก d.school ได้รับมอบหมายให้แก้ปัญหาคนไข้รอคิวนาน ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในประเทศอินเดีย พวกเขา 4 คนบินข้ามทวีปและเดินทางไปยังโรงพยาบาลดังกล่าว แต่ด้วยปัญหาความผิดพลาดด้านการสื่อสาร ทำให้ไม่มีใครมารอต้อนรับที่โรงพยาบาลเลย เท่ากับว่าพวกเขาต้องนั่งแกร่วรออยู่ที่โรงพยาบาลถึง 2 ชั่วโมง

แต่ขณะที่นั่งรออยู่นั้น พวกเขาสังเกตว่า ทางเดินในโรงพยาบาลต่างเต็มไปด้วยผู้คนจำนวนมากยืนรออยู่เหมือนกัน ทั้ง 4 คนเลยใช้โอกาสนี้สัมภาษณ์ และพบว่าคนที่ยืนรอจนแน่นโถงทางเดินนั้นคือ “ญาติคนไข้” เมื่อสอบถามเพิ่มเติม พวกเขาพบอีกว่าสิ่งที่ญาติคนไข้กังวลมากที่สุดคือ การดูแลผู้ป่วยหลังจากออกจากโรงพยาบาล

จะเห็นได้ว่าปัญหาที่พบนี้ไม่ได้ใกล้เคียงกับโจทย์ที่วางไว้แต่แรกมากนัก แต่ d.school ไม่ได้สอนให้แก้ปัญหาอย่างเดียว แต่ยังสอนให้ค้นหาปัญหาที่มองไม่เห็นตั้งแต่แรกด้วย ทีมนักศึกษาดังกล่าวจึงเปลี่ยนโฟกัสไปแก้ปัญหาเรื่องกวนใจของญาติคนไข้แทน โดยไอเดียของพวกเขาคือ การนำวิดีโอเรื่องวิธีการดูแลผู้ป่วยไปฉายให้ทั่วโรงพยาบาล โปรเจ็กต์นี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก และพัฒนากลายไปเป็นองค์การทางการแพทย์ชื่อ “Noora Health” ที่ได้ฝึกสอนวิธีการดูแลผู้ป่วยอย่างถูกต้องให้แก่ญาติๆ

จริงอยู่ การโฟกัสที่ปัญหาเดิมอาจช่วยโรงพยาบาลให้มีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น ตามโจทย์ที่ตั้งไว้ แต่การเปิดใจมองปัญหาใหม่ๆ ก็อาจนำไปสู่สิ่งที่ดีได้ เช่น องค์กร Noora Health ที่ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ได้สอนญาติผู้ป่วยไปแล้วกว่า 1 ล้านคน


บทเรียนที่ 3 ฝึกความช่างสังเกตด้วยวิธี “นั่งอยู่กับที่”

หากเรานั่งอยู่บนรถไฟความเร็วสูงและมองออกไปนอกหน้าต่าง ก็คงไม่เห็นอะไรนอกจากภาพเลือนลาง หากรถไฟวิ่งช้าลงเรื่อยๆ เราจะเห็นรายละเอียดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ ใบหญ้า ท้องฟ้า และผู้คนที่ยืนรออยู่ในสถานี

เช่นเดียวกัน ทุกวันนี้ชีวิตวิ่งผ่านเราไปอย่างรวดเร็วจนเรามองข้ามหลายอย่างไป
แต่การจะสังเกตโลกรอบตัวเราให้ละเอียดและถี่ถ้วนเพื่อแก้ปัญหาด้วยการออกแบบนั้น เราจำต้องใช้ชีวิตที่ช้าลงกว่าเดิมบ้าง

แต่จะทำแบบนั้นได้อย่างไร

ผู้เขียนได้แนะนำวิธีฝึกความอดทนและการสังเกตที่เรียกว่า “การล่ามตัวเองไว้กับที่” โดยเริ่มจากการเตรียมสมุด ปากกา และหาสถานที่ใดที่หนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟ สวนสาธารณะ ห้าง หรือพิพิธภัณฑ์ เมื่อได้สถานที่นั่งได้แล้ว ให้ปิดแจ้งเตือนโทรศัพท์ จากนั้นก็ใช้เวลา 3 ชั่วโมงต่อมาในการนั่งเขียนทุกอย่างที่เราสังเกตเห็น

คาดหวังไว้เลย 20-30 นาทีแรกนั้นเราจะรู้สึกตื่นเต้นและเต็มไปด้วยไอเดีย แต่หลังจากนั้นเราจะรู้สึกเบื่อ ไม่รู้จะเขียนอะไร และอยากหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเล่นมากๆ แต่ขอให้อดทนและโฟกัสกับสิ่งที่เราเขียนเข้าไว้

ไม่นานเราจะผ่านความเบื่อนี้ไปได้ แล้วเราจะได้ยิน ได้มองเห็น และได้สัมผัสโลกมากกว่าที่เคย


บทเรียนที่ 4 ฝึกแกะกล่องข้อมูล

เมื่อเราได้รวบรวมข้อมูลแล้ว ลองวิเคราะห์สิ่งที่ได้มาดีกว่าว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง เริ่มจากการเลือกข้อมูลเด่นๆ จากชุดข้อมูลที่เรามี จากนั้นก็ถามคำถามดังนี้ต่อข้อมูลเหล่านั้น
เพราะอะไรประเด็น/ข้อสังเกตนี้ถึงน่าสนใจ
ประเด็นนี้บอกอะไรเราเกี่ยวกับความสนใจหรือความต้องการของคนอื่นไหม
ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นๆ ที่เรารวบรวมมาอย่างไรบ้าง


บทเรียนที่ 5 ทำความเข้าใจบริบทให้มากขึ้น

การจะแก้ปัญหาอะไรบางอย่างด้วยมุมมองใหม่ๆ บางครั้งแค่เข้าใจปัญหาอาจไม่พอ เราต้องเข้าใจบริบทของปัญหานั้นๆ ด้วย ผู้เขียนจึงแนะนำให้เราเขียนบริบท 6 ชั้นของประเด็นที่เราศึกษา
ชั้นที่ 1 ความนัย : เรื่องที่เราศึกษาส่งผลกระทบ หรือมีความสำคัญอะไรกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมบ้าง
ชั้นที่ 2 ระบบ: มีระบบอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่เราศึกษา
ชั้นที่ 3 ประสบการณ​์ : เคยมีความพยายามในการพัฒนาประสบการณ์ของมนุษย์ (Human Experience) ในประเด็นที่เราศึกษาไหม
ชั้นที่ 4 สินค้า : มีผลิตภัณฑ์ได้บ้างที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่เราศึกษา หรือถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานั้น
ชั้นที่ 5 เทคโนโลยี : มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้บ้างหรือยัง ขาดอะไรอีกบ้าง
ชั้นที่ 6 ข้อมูล : ในประเด็นที่เราศึกษามีข้อมูลประเภทไหนบ้างให้เราศึกษา


บทเรียนที่ 6 เรียนรู้ความรู้สึกแห่งความสำเร็จและสร้างมันขึ้นมาเอง!

แม้เราจะรู้สึกดีทุกครั้งที่ได้ใช้ไอเดียหรือความคิดสร้างสรรค์แก้ปัญหาจนสำเร็จ แต่ความสุขนี้ไม่ได้อยู่กับเราเสมอไป เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ ในชีวิต การสร้างสรรค์ก็มีทั้ง ‘ขึ้น’ และ ‘ลง’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คำถามก็คือเราจะใช้ประโยชน์จาก ‘ความรู้สึก’ ได้อย่างไร

เพราะความรู้สึกเป็นส่วนผสมสำคัญของความสร้างสรรค์ เราจะคิดค้นไอเดียอะไรที่เข้าถึงคนอื่นไม่ได้เลย หากเราไม่เข้าใจความรู้สึกที่เราและผู้อื่นรู้สึกเสียก่อน นักศึกษา d.school แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดจึงมักถามกันทุกครั้งว่า “รู้สึกอย่างไรบ้าง” เมื่องานจบ เพื่อให้ต่างฝ่ายต่างได้ย้อนมองและวิเคราะห์ความรู้สึกของตัวเอง

บางครั้งระหว่างทางในการทำงาน เราอาจรู้สึกท้อแท้และเครียดมากๆ ที่คิดหนทางแก้ไม่ได้ แต่ด้วยความมุ่งมั่น เราก็ฝ่าฟันอุปสรรคและนำไปสู่การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ (Breakthrough) ในท้ายที่สุด

ผู้เขียนกล่าวว่าการสังเกตความรู้สึกและสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดมัน ทำให้เราสามารถนำไปปรับใช้ได้ในการทำงานครั้งต่อไป ตัวอย่างเช่น หากเราสังเกตว่า ทุกครั้งที่เราค้นพบทางแก้ เรามักจะอยู่ในสภาพแวดล้อมผ่อนคลาย อยู่ในอารมณ์ที่ดี ไม่เครียดมากเกินไป เราก็สามารถปรับแต่งสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เป็นเช่นนั้นได้

การออกแบบนั้นเกี่ยวข้องกับทั้งการแก้ปัญหาและความคิดสร้างสรรค์ หากเราอยากพัฒนาสมองให้สร้างสรรค์กว่าใคร สามารถฝึกฝนได้จาก 4 ทักษะสำคัญ ได้แก่การสังเกต การคิด การรับรู้ถึงความรู้สึก และการลงมือทำ โดยทักษะเหล่านี้ยังช่วยให้เราเป็นคนช่างสงสัยและเปิดรับอะไรใหม่ๆ อีกด้วย

ต่อจากนี้ทางออกของทั้งปัญหาในชีวิตเราเองและโลกรอบๆ ตัวเราก็อาจไม่ใช่เรื่องยากเกินเอื้อมอีกต่อไป


อ้างอิง:
หนังสือ Creative Acts For Curious People โดย Sarah Stein Greenberg

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#book
#softskill

Advertisements
Advertisements