SOCIETYบาดแผลที่ไม่มีวันหาย จากความรุนแรงในครอบครัวและทัศนคติแบบเดิมๆ (Family and domestic violence)

บาดแผลที่ไม่มีวันหาย จากความรุนแรงในครอบครัวและทัศนคติแบบเดิมๆ (Family and domestic violence)

“ความรุนแรงในครอบครัว” (Family and domestic violence) เป็นอีกประเด็นที่ได้รับการพูดถึงอยู่บ่อยครั้งในสังคมไทย ไม่ว่าจะได้ยินตามข่าว หรือการบอกเล่าผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ แต่ก็ดูเหมือนว่าปัญหานี้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังเสียที และดูเหมือนจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก ซึ่งเพียงระยะเวลาไม่นานนับตั้งแต่เริ่มต้นปี 2565 มานี้ มีข่าวความรุนแรงในครอบครัวถูกนำเสนออย่างต่อเนื่อง โดยที่ ‘เหยื่อ’ ล้วนเป็นเด็กและผู้หญิงทั้งสิ้น

อย่างกรณี ‘น้องสายฟ้า’ เด็กชายวัย 6 ขวบ ที่ถูกพบเสียชีวิตปริศนาในรถยนต์ และเมื่อสืบไปสืบมาพบว่าเด็กชายคนดังกล่าวโดนแม่แท้ๆ ทำร้ายร่างกายและบันดาลโทสะอยู่เรื่อยมา จนครั้งล่าสุดถึงขั้นเสียชีวิต หรือในกรณีล่าสุดที่ ‘สิตา’ ไอดอลจากวง CGM48 ได้ออกมาเปิดเผยว่าเธอถูกคนในครอบครัวทำร้ายร่างกายมากว่า 10 ปี ทำให้แฮชแท็ก #SitaCGM48 มีการพูดถึงอย่างมากในโลกออนไลน์

นอกจากนี้ เชื่อว่ายังมีเหยื่ออีกมากมายที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ และยังคงทนทุกข์ทรมานทั้งกายและใจกับครอบครัวที่ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยของพวกเขา โดยศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ได้เปิดเผยสถิติความรุนแรงในครอบครัวในปี 2559-2563 ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นคิดเป็น 1,400 ราย/ปี และส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับเด็กและสตรี จากผลการสำรวจในปี 2562-2563 พบว่า กว่า 87% เป็นความรุนแรงทางร่างกาย 9% เป็นความรุนแรงทางเพศ และ 4% เป็นความรุนแรงทางจิตใจ

ความรุนแรงในครอบครัวกับสิ่งที่ ‘เหยื่อ’ ต้องเผชิญ

ความรุนแรงไม่ว่าจะด้วยเหตุอะไรก็ตาม เป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกกระทำ และเป็นเรื่อง ‘ผิด’ ทุกกรณีอย่างไม่มีข้อแม้ใดๆ อีกทั้ง ยังสร้างรอยร้าว จิตใจที่แหลกสลาย และบาดแผลทั้งกายและใจทิ้งไว้ให้ ‘เหยื่อ’ หรือ ‘ผู้ถูกกระทำ’ ต้องทนทุกข์ทรมานอย่างไม่สามารถลบเลือนได้

ซึ่งความรุนแรงในครอบครัวมีหลากหลายรูปแบบด้วยกัน ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงทางวาจา การเหยียดหยาม การทำร้ายจิตใจ การข่มขู่ ความรุนแรงทางเพศ ที่คำพูดและพฤติกรรมส่อไปทางเพศโดยที่เหยื่อไม่ยินยอม ตลอดจนความรุนแรงทางด้านร่างกาย ตบ ตี ใช้อาวุธ สร้างบาดแผลให้เหยื่อและอาจร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต

แล้วต้นตอที่แท้จริงของปัญหาและพฤติกรรมเหล่านี้เกิดจากอะไร?

ทัศนคติบิดเบี้ยว สู่ฝันร้าย บาดแผล และรอยร้าวที่ฝังอยู่ตลอดไป

ปัจจัยหลักๆ ที่นำไปสู่ปัญหาความรุนแรงคือ ‘ทัศนคติ’ และ ‘ความเชื่อ’ แบบเดิมๆ ที่บิดเบี้ยวและถูกฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยมาโดยตลอด และไม่เคยได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องแต่อย่างใด ซึ่งเป็นอาวุธที่ร้ายแรงพอๆ กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือยาเสพติดเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น

[ ] สังคมปิตาธิปไตย (Patriarchy) หรือระบบที่เอื้อกับเพศชายให้มีอำนาจเหนือกว่าผู้อื่นแทบทุกมิติของชีวิต
[ ] ความเชื่อแบบเดิมๆ ที่ถูกฝังรากลึกไว้ในสังคม เช่น ผู้ชายต้องเข้มแข็ง เป็นผู้นำ และห้ามอ่อนแอ ผู้หญิงต้องอ่อนน้อม เป็นผู้ตาม อดทนเพื่อครอบครัว และมีหน้าที่ทำงานบ้าน
[ ] การอ้างถึงความกตัญญูต่อเด็ก ต้องเชื่อฟัง ห้ามเถียง หรือขัดคำสั่งใดๆ
[ ] คนในครอบครัวหรือญาติที่รู้เห็นเหตุการณ์มักไม่ห้าม เพราะมองว่าเป็นการสั่งสอน เลี้ยงดู และแสดงความรักในรูปแบบหนึ่ง
[ ] บุคคลภายนอกที่อยู่ในเหตุการณ์ความรุนแรงมักจะไม่สนใจและรีบเข้าไปช่วยเหลือ เพราะมองว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว ไม่ควรเข้าไปยุ่ง
[ ] เมื่อโดนกระทำครั้งแรก เหยื่อมักให้อภัยและคิดว่าคงไม่มีครั้งต่อไปอีก ไม่ก็เลือกที่จะอดทนไว้เพื่อรักษาครอบครัวหรือความสัมพันธ์กับคนรัก

Advertisements
Advertisements

แล้วเราจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วย ‘หยุด’ ความรุนแรงในครอบครัวได้อย่างไร?

1. ลบทัศนคติแบบเดิมๆ

ไม่ว่าจะเพศไหนหรือวัยใดก็ตามล้วนมีคุณค่าความเป็นมนุษย์ด้วยกันทั้งนั้น ผู้ชายจะอ่อนแอหรือร้องไห้บ้างก็ไม่เป็นไร ไม่จำเป็นต้องเข้มแข็งและแบกความเป็นผู้นำไว้ตลอดเวลา ผู้หญิงก็มีสิทธิ์เป็นผู้นำได้ ไม่จำเป็นต้องคอยเป็นผู้ตามหรือทำงานบ้านเพียงเท่านั้น และในความเป็นจริงแล้ว เราทุกคนไม่ได้ขอให้ได้เกิดมา การอ้างถึงความกตัญญูหรือบุญคุณต่างๆ เพื่อลบล้างพฤติกรรมไม่ดีและความรุนแรงที่ทำกับเหยื่อเป็นสิ่งที่ไม่ควรอย่างยิ่ง

2. เป็นหูเป็นตา

ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแต่เป็นเรื่อง ‘ผิดกฎหมาย’ หากเราพบเห็นเหตุการณ์ควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที เพื่อเข้าช่วยเหลือเหยื่อได้ทันกาล อีกทั้ง เราสามารถช่วยกันเป็นหูเป็นตาได้ ด้วยการสังเกตพฤติกรรมคนรอบข้างที่อาจมีแนวโน้มหรือกำลังส่งสัญญาณว่าพวกเขากำลังเผชิญกับความรุนแรงในครอบครัวอยู่ แต่อาจไม่สามารถบอกได้โดยตรงเพราะถูกข่มขู่ เช่น บาดแผลหรือรอยช้ำ พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ซึมเศร้า พูดน้อยลง เหม่อลอย หรือหายตัวไปหลายวันติดต่อไม่ได้ เป็นต้น

3. รับฟังเหยื่อและหาทางช่วยเหลือ

หากเราได้รับความไว้วางใจจากเหยื่อ เราควรรับฟังและเข้าใจในความทุกข์ทรมานที่เหยื่อต้องแบกรับ ไม่ควรพูดตำหนิหรืออ้างถึงทัศนคติแบบเดิมๆ ที่ถูกส่งต่อกันมา อีกทั้ง ไม่ควรเก็บเรื่องนี้ไว้คนเดียว ควรแจ้งตำรวจหรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเร็วที่สุด เพื่อให้เหยื่อได้รับการช่วยเหลือก่อนที่สถานการณ์จะเลวร้ายไปกว่าเดิม เพราะเราอาจเป็นที่พึ่งทางเดียวที่เหลืออยู่ของเหยื่อ

4. มีครั้งแรกย่อมมีครั้งต่อไปเสมอ

จากข้อมูลของหลายหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือเหยื่อจากความรุนแรงในครอบครัวพบว่า ส่วนใหญ่เหยื่อมักจะมาขอความช่วยเหลือเมื่อสถานการณ์เข้าขั้นเลวร้ายมากๆ แล้ว ซึ่งมีหลากหลายเหตุผลที่เหยื่อเลือกที่จะอดทนไว้ ไม่ว่าจะเป็น ต้องการรักษาครอบครัวเอาไว้ ต้องการกตัญญูต่อผู้ปกครอง หรือต้องการรักษาความสัมพันธ์กับคนรัก ทำให้เลือกที่จะเก็บเงียบไว้และไม่ขอความช่วยเหลือ หรือบางครั้งเลือกที่จะให้อภัยเมื่อได้รับคำขอโทษและคำมั่นสัญญา และเชื่อมั่นว่าจะไม่มีครั้งต่อไปอีก ซึ่งร้อยทั้งร้อยแล้วมีครั้งแรกย่อมมีครั้งต่อไปเสมอ

5. อย่าส่งต่อฝันร้ายให้คนอื่น

หากใครเคยเป็นหนึ่งในเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว เชื่อว่าจะต้องเข้าใจความบอบช้ำทั้งกายและใจที่เหยื่อต้องเผชิญอย่างแน่นอน ดังนั้น เราไม่ควรส่งต่อฝันร้าย เรื่องแย่ๆ และความเจ็บปวดเหล่านี้ให้คนอื่นอีก เพราะปัญหาเหล่านี้ควรจบลงและหายไปจากสังคมได้แล้ว ซึ่งเราสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการหยุดความเลวร้ายนี้ได้ เราควรจะเป็นคนในแบบที่เราชอบ มากกว่าเป็นคนในแบบที่เราไม่ชอบ


ทุกคนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการ ‘หยุด’ ความรุนแรงในครอบครัว และพร้อมช่วย ‘เหยื่อ’ ให้พ้นจากฝันร้ายและความทุกข์ทรมานที่ต้องพบเจอทั้งกายและใจได้ ถึงแม้จะไม่ใช่ครอบครัวเดียวกันหรือเป็นคนรู้จักกันก็ตาม แต่ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และไม่ใช่แค่เรื่องภายใน ซึ่งในฐานะเพื่อนมนุษย์ เราสามารถช่วยเหลือพวกเขาเหล่านี้ได้เสมอ ด้วยการเป็นหูเป็นตา คอยช่วยเหลือ และแสดงความเข้าใจจากใจจริง เพราะครอบครัวอาจไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยของทุกคน

หากพบสัญญาณความรุนแรงในครอบครัว ควรรีบแจ้งตำรวจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือโทรแจ้งสายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 (ตลอด 24 ชั่วโมง)


อ้างอิง:
https://bit.ly/3AXyvyi
https://bit.ly/3osTvb3
https://bit.ly/3LepIgb
https://bit.ly/34Ak3zW
https://bit.ly/3si6Wfd
https://bit.ly/3HGStj6
https://bit.ly/32YfOOf


#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#society

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า