‘วัคซีนโควิด-19 ในเด็ก’ ไขข้อข้องใจเด็กเสี่ยงน้อยกว่าจริงไหม และมีที่ไหนฉีดให้เด็กแล้วบ้าง?

553
วัคซีนโควิด-19

ข่าวเด็กทารกวัยแรกเกิดต้องแอดมิตพร้อมแม่ที่อาการสาหัส หรือเด็กๆ อนุบาลที่ต่อแถวเข้ารับการรักษาจากการได้รับเชื้อโควิด-19 กันทั่วทั้งศูนย์เด็กเล็ก และมีอีกมากมายที่ติดเชื้อจากการแพร่ระบาดในครอบครัว คงสร้างความสะเทือนใจให้ทุกคนไม่น้อย เด็กตัวเล็กๆ ที่ยังดูแลตัวเองไม่ได้ กลับต้องติดเชื้อ และเจ็บป่วยจากไวรัสตัวร้าย ยังไม่นับข่าวเด็กวัยรุ่นที่ติดเชื้อจากการอยู่อาศัยในบ้านเดียวกันกับครอบครัว ที่ยังรอการช่วยเหลืออีกหลายเคส จนอาจทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เหตุใดจึงยังไม่มีวัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็ก

จากข้อมูลการรายงานผ่าน Interactive Data Visualizations ของ UNICEF ระบุว่า เด็กที่อายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 12.2 ล้านคน จาก 101 ประเทศ ติดเชื้อโควิด-19 หรือคิดเป็น 13% ของจำนวนเคสผู้ติดเชื้อ ในจำนวนดังกล่าวนี้มีเด็กที่เสียชีวิตราวๆ 8,700 คน หรือ 0.3%

ด้านข้อมูลพื้นฐานขององค์การอนามัยโลกหรือ WHO ระบุไว้ชัดเจนว่า ขณะนี้วัคซีนโรคโควิดนั้นปลอดภัยสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ส่วนเด็กและวัยรุ่นที่อายุยังไม่ถึงนั้นมีแนวโน้มว่าจะมีอาการไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ ถ้าหากไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง ในประเทศที่มีวัคซีนจำกัด WHO จึงแนะนำให้จัดลำดับความสำคัญก่อน แต่ถ้าหากอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ทาง WHO ก็แนะนำให้ใช้วัคซีน Pfizer/BioNTech สำหรับเด็กอายุ 12-15 ปี ส่วนวัคซีนสำหรับเด็กๆ ทั่วไปยังอยู่ระหว่างการวิจัยและศึกษาผลกระทบต่อไป (อัปเดตข้อมูลล่าสุด 14 ก.ค. 2021)

Advertisements

“เพราะวัคซีนมีจำนวนจำกัด เราจำเป็นต้องใช้มันเพื่อปกป้องผู้ที่อ่อนแอที่สุด”

Dr.Soumya Swaminathan, WHO’s Chief Scientist

แต่ด้วยการแพร่ระบาดที่รุนแรง บางประเทศที่หาวัคซีนได้อย่างเพียงพอก็มีการฉีดให้กับเด็กบ้างแล้ว อย่างสหรัฐอเมริกา ที่ฉีดวัคซีนให้กับเด็กอายุ 15-16 ปีกว่า 600,000 คน (ข้อมูลจาก BBC 23 พ.ค. 2021) โดยมีคำแนะนำให้ฉีดในเด็กอายุมากกว่า 12 ปีทุกคน และอาจลดอายุการฉีดลงถึง 4 ปีในช่วงปลายปีนี้

ในขณะที่สหราชอาณาจักรก็ได้มีการแนะนำให้ฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 12-15 ปี ที่มีความเสี่ยงสูง คืออยู่ในกลุ่มมีผู้มีความพิการทางระบบประสาท ผู้มีอาการดาวน์ซินโดรม ผู้มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างรุนแรง รวมถึงเด็กที่เป็นโรคมะเร็ง และผู้มีปัญหาด้านการเรียนรู้อย่างรุนแรง นอกจากนี้ยังมีการแนะนำให้เด็กอายุ 12-17 ปีที่อาศัยอยู่ร่วมกับคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอได้รับการฉีดวัคซีนด้วย (ข้อมูลจาก BBC 20 ก.ค. 2021) โดยทั้งสองประเทศฉีดวัคซีน Pfizer/BioNTech ให้กับเด็กๆ กลุ่มดังกล่าว ส่วนประเทศอื่นๆ ในยุโรปทั้งฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และอิตาลีก็เริ่มฉีดวัคซีนในเด็กแล้ว นอกจากนี้ที่ฮ่องกงยังเริ่มฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปด้วย 

ในด้านของประเทศไทยเอง ในขณะนี้ที่มีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ทำให้พบการติดเชื้อในเด็กมากขึ้น แม้โดยรวมจะมีอาการไม่รุนแรง แต่ก็สร้างความกังวลให้กับผู้ปกครองอย่างมาก แต่ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่วัคซีนยังไม่เพียงพอต่อประชากร ทำให้มีการจัดลำดับการฉีดวัคซีนแก่กลุ่มเสี่ยงและผู้ใหญ่ก่อน เด็กๆ จึงยังไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนนี้ โดยจากข้อมูลของกรุงเทพธุรกิจที่ได้สัมภาษณ์ ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ระบุว่า

“ในประเทศไทย ในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ได้มีการหารือกัน ถ้ามีวัคซีนไฟเซอร์จะแนะนำให้ฉีดอายุ 12 ปีขึ้นไป เหมือนฝั่งอเมริกาและอิสราเอลหรือไม่ ก็ต้องชั่งน้ำหนักเช่นกัน แต่ตอนนี้สถานการณ์ประเทศไทยต้องเร่งฉีดเข็ม 1 และเข็ม 2 ให้กับประชาชนทั่วไป ผู้ใหญ่ ผู้เสี่ยง คือ ผู้สูงอายุ ผู้มี 7 กลุ่มโรคเรื้อรังและหญิงตั้งครรภ์ก่อน กว่าจะฉีดกลุ่มเหล่านี้แล้วเสร็จคงหลายเดือน ก็จะทำให้ได้ข้อมูลมากขึ้นว่าความปลอดภัยของวัคซีนไฟเซอร์ที่จะมาฉีดในเด็กวัยรุ่นฝั่งเอเชียเป็นอย่างไร”

ในตอนนี้ทั่วโลกกำลังศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนและผลข้างเคียงวัคซีนโควิด-19 สำหรับใช้ในเด็ก นอกจาก Pfizer/BioNTech แล้ว Moderna ก็มีแนวโน้มที่จะอนุญาตใช้ในเด็กได้ ขณะเดียวกัน บางประเทศเริ่มมีการแนะนำให้ใช้วัคซีน Sinovac ในเด็กอายุ 12-17 ปีแล้ว อย่างเช่นประเทศอินโดนีเซีย ส่วนอาการข้างเคียงที่พบในการฉีดวัคซีนในเด็กที่เป็นข้อกังวลคือ อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งพบในการฉีดเข็มที่ 2 จากวัคซีนไฟเซอร์ โดยพบประมาณ 1 ใน 50,000 – 100,000 ราย ในจำนวนที่พบนี้มีทั้งอาการไม่รุนแรงและรุนแรงมาก ทำให้หลายๆ ประเทศยังลังเลที่จะฉีดวัคซีนในเด็ก และรอผลการศึกษาที่ชัดเจนกว่านี้

โดยสรุปแล้ว เด็กๆ นั้นมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเช่นเดียวกับคนทุกช่วงอายุ แต่อาจไม่ได้มีอาการรุนแรงเท่ากับผู้ใหญ่ และด้วยข้อจำกัดของจำนวนวัคซีน ทำให้เด็กๆ ยังไม่ได้รับวัคซีน รวมถึงผลข้างเคียงที่ยังน่ากังวลด้วย เราคงต้องคิดตามการวิจัยกันอย่างใกล้ชิด เพื่อรอความหวังในการปกป้องลูกหลานของเราให้ปลอดภัยต่อไป



ข้อมูลอ้างอิง:

Advertisements

https://bit.ly/3iOlM8p

https://bit.ly/373DpM0

https://bit.ly/3zEciDn

https://bbc.in/2V8WkSS

https://bbc.in/3i3nBPw

https://bit.ly/3BTVElp

https://bit.ly/3eZjHW8

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#society

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements