NEWSแบนแล้วช่วยจริงไหม? สำรวจผลกระทบเมื่อแบรนด์ต่างๆ หันมาคว่ำบาตรรัสเซีย

แบนแล้วช่วยจริงไหม? สำรวจผลกระทบเมื่อแบรนด์ต่างๆ หันมาคว่ำบาตรรัสเซีย

สงครามรัสเซีย-ยูเครนได้ดำเนินมาเกินกว่า 3 สัปดาห์แล้ว แม้ความรุนแรงบนสนามรบจริงที่ประกอบไปด้วยมิสไซล์ รถถัง และปืนจะน่าเป็นห่วงมากๆ แต่สงคราม ‘อีกสนาม’ นั้นก็น่ากังวลไม่แพ้กัน

แน่นอนว่าเราหมายถึง ‘สงครามด้านเศรษฐกิจ’ ที่ประกอบไปด้วยความสัมพันธ์และข้อตกลงระหว่างประเทศ องค์กรนานาชาติ บริษัทต่างๆ และธนาคารนั่นเอง

ทุกระดับและทุกภาคส่วนหันมาต่อต้านสงคราม ตั้งแต่บริษัทไปจนถึงระดับบุคคล ปัจจุบันมีมากกว่า 300 แบรนด์ที่ประกาศหยุดทำการในประเทศรัสเซีย ยกตัวอย่างเช่น Visa และ Master Card ไปจนถึงบริษัทด้านความบันเทิงและอาหารอย่าง Disney, Warner Bros, Coca-Cola และ Starbucks ตัวแทนจากประเทศรัสเซียทั้งในวงการกีฬาและวงการศิลปะ ถูกถอดจากการเข้าร่วมการแข่งขัน ขณะเดียวกัน ร้านค้าและซูเปอร์มาเก็ตในหลายๆ ประเทศก็ออกมาแสดงจุดยืน โดยการเลิกซื้อ-ขายเหล้าวอดก้าจากรัสเซีย

แต่คำถามที่ตามมาจากการคว่ำบาตรตั้งแต่เรื่องใหญ่ไปจนถึงเรื่องเล็กเช่นนี้ คือ การต่อต้านเหล่านี้ส่งผลอะไรกับประเทศรัสเซียบ้าง? และผลกระทบนั้นมากพอที่จะทำให้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินหยุดสงครามไหม? หรือจะมีแต่สร้างความลำบากให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบอยู่แล้วเสียมากกว่า?

ปัญหาเศรษฐกิจที่รัสเซียต้องเผชิญเมื่อถูกคว่ำบาตร

ย้อนไปราวๆ หนึ่งศตวรรษก่อน การคว่ำบาตร (Sanction) ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกในสถานะ ‘อาวุธทางเศรษฐกิจ’ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกนอกจากการทำสงครามสู้รบกันโดยตรง จุดประสงค์ของการคว่ำบาตรนั้นคือการสร้างความลำบากทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศนั้นนั้น จนกว่าจะทำตามข้อตกลง หรือ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ในสงครามรัสเซีย-ยูเครน มีหน่วยงานมากมายออกมาคว่ำบาตรรัสเซีย รวมถึงบริษัทต่างๆ ด้วย โรงเรียนด้านการจัดการของเยลได้ติดตามจำนวนบริษัทที่พักการทำธุรกิจในรัสเซีย และพบว่า ณ วันที่ 9 มีนาคม 2565 มีมากกว่า 300 บริษัทแล้ว ตั้งแต่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon, Apple, Hyundai, Volkswagen, Visa, และ Mastercard เป็นต้น แม้บางบริษัทจะไม่ได้ส่งผลอะไรกับชาวรัสเซียมาก (อย่างเช่น บริษัทเรือสำราญ Norwegian Cruise Lines) แต่ต้องยอมรับว่าการหยุดให้บริการของบางบริษัท (เช่น Visa และ Mastercard) ส่งผลกระทบต่อรัสเซียเป็นอย่างมาก

Advertisements

สถานการณ์ทางการเงินและเศรษฐกิจในรัสเซียสั่นคลอนหนักกว่าเดิม เมื่อ SWIFT เครือข่ายการเงินระดับโลก ได้ตัดรัสเซียออกจากระบบ ส่งผลให้ธนาคารสัญชาติรัสเซียหลายๆ ธนาคารไม่สามารถซื้อขายในปริมาณมากได้ ทำให้ผู้คนหลีกเลี่ยงการฝากเงินไว้กับธนาคารเหล่านี้ นอกจากนั้นกระทรวงการคลังสหรัฐและธนาคารกลางยุโรปยังมีการประกาศอีกว่า จะแช่แข็งทุนสำรองของรัสเซีย ส่งผลให้สินทรัพย์ที่ธนาคารกลางของรัสเซียถือไว้ไม่สามารถแลกเปลี่ยนมาเป็นเงินรูเบิลเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจได้

การคาดการณ์ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรยังเป็นเรื่องยาก เพราะไม่เคยมีประเทศใดบนโลกที่เจอการคว่ำบาตรทางการเงินจากทั่วโลกขนาดนี้มาก่อน แต่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีภาพผลกระทบที่ประชาชนชาวรัสเซียต้องเจอให้เห็นแล้วบ้าง เช่น ภาพประชาชนชาวรัสเซียที่ต้องต่อแถวยาว ทั้งในรถไฟฟ้าใต้ดิน ธนาคาร และสถานที่อื่นๆ เพราะไม่สามารถทำธุรกรรมได้อย่างสะดวกเช่นเคย ภาพนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถใช้บัตรเครดิตและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศตัวเองได้ ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม ตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนได้เปิดเผยรายชื่อธนาคารรัสเซียหลายเจ้าที่หุ้นดิ่งลงเกินกว่า 50% ในส่วนของค่าเงินรูเบิลก็ร่วงลงกว่า 30% ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าสูงขึ้นตาม

หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป อัตราการว่างงานในรัสเซียจะเพิ่มสูงขึ้น จนกว่าธนาคารกลางจะยื่นมือเข้ามาช่วยและพิมพ์ธนบัตรเพื่ออัดฉีดเงินเข้าไปในระบบ แต่แน่นอนว่าการกระทำเช่นนี้ จะเกิดผลเสี่ยงสูงอย่างปัญหาเงินเฟ้อตามมา

ในช่วงเวลาปกติ ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเหล่านี้ใช้เวลา ‘หลายเดือน’ ในการทยอยเกิด แต่ปัจจุบัน รัสเซียกำลังเผชิญผลกระทบทุกๆ อย่างที่กล่าวมาภายในเวลา ‘ไม่กี่สัปดาห์’ ตั้งแต่ประกาศเข้าภาวะสงคราม

รู้จักอีกหนึ่ง ‘การคว่ำบาตร’ ที่รัสเซียต้องเผชิญ

นอกจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่กล่าวไป รัสเซียยังถูกกีดกันในแง่ของวัฒนธรรม (Cultural Boycott) จากองค์กร ธุรกิจและผู้บริโภคอีกด้วย

อย่างในแวดวงกีฬา ทีมฟุตบอลจากรัสเซียถูกห้ามลงแข่งจากทัวร์นาเมนต์ต่างๆ อย่าง ฟุตบอลโลก 2022 ตามมาด้วยคณะกรรมการโอลิมปิกสากล พาราลิมปิกและองค์กรกีฬาอื่นๆ งานกีฬาที่จะจัดขึ้นในรัสเซียก็ถูกระงับเช่นกัน การแข่งขันรอบชิงแชมเปียนลีกส์ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ณ เมืองเซนส์ปีเตอร์เบิร์กถูกย้ายไปจัดที่กรุงปารีสแทน และการแข่งฟอร์มูลาวัน กรังด์ปรีซ์ที่จะจัดขึ้น ณ เมืองโซชี ก็ถูกยกเลิก

ส่วนในด้านความบันเทิง นอกจากค่ายดัง Disney, Warner Bros., และ Sony จะงดฉายภาพยนตร์ใหม่ๆ ในรัสเซียแล้ว ภาพยนตร์จากผู้กำกับชาวรัสเซียหรือที่ถูกสนับสนุนโดยรัฐบาลรัสเซีย ยังถูกถอดออกจากการงานประกาศรางวัลต่างๆ อีกด้วย อีกสองประเด็นที่เป็นที่พูดถึงกันมาก คือ อันนา เนเตรบโก (Anna Netrebko) นักร้องโอเปร่าแห่งยุคซึ่งเป็นชาวรัสเซียถูก The Met งดการแสดงเป็นเวลา 2 ปี และ วาเลรี เกอร์กีฟ (Valery Gergiev) วาทยกรชื่อดัง ถูกถอดจากการเป็นหัวหน้าวาทยกรแห่งคณะออร์เคสตรา มิวนิคฟิลฮาร์โมนิก (The Munich Philharmonic) หลังจากออกมาปฏิเสธการออกมาต่อต้านประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน

บทความ Why the Cultural Boycott of Russia Matters จากสำนักข่าว The Atlantic มองว่า แม้การคว่ำบาตรทางวัฒนธรรมเหล่านี้จะไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจของรัสเซียก็จริง แต่มันส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวรัสเซียแน่นอน และที่สำคัญ อาจส่งผลต่อวลาดิเมียร์ ปูติน ด้วย

กีฬา การแข่งขัน และการเอาชนะ สิ่งเหล่านี้สำคัญต่อภาพลักษณ์ที่ แสดงออกถึงความภาคภูมิใจใน ‘ชาตินิยม’ และ ‘ความเป็นชาย’ ของวลาดิเมียร์ ปูติน อย่างมาก ที่ผ่านมาเราจะเห็นความพยายามในการสร้างภาพจำเหล่านี้ ผ่านการเล่นกีฬาหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นไอซ์ฮอกกี้ มวยปล้ำ ยูโด หรือขี่ม้า ดังนั้นการถอดรัสเซียจากการเข้าร่วมการแข่งขัน ก็ไม่ต่างจากการ ‘ปฏิเสธโฆษณาชวนเชื่อ’ ที่รัสเซียได้สร้างมาเลย

Advertisements

จริงอยู่ที่การห้ามเข้าร่วมโอลิมปิก ฟุตบอลโลก หรือการแข่งขันร้องเพลงอย่างยูโรวิชัน อาจไม่ได้ทำให้แผนยึดยูเครนของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน สั่นคลอน แต่หลายคนเชื่อว่าการคว่ำบาตรทางวัฒนธรรมนั้นสำคัญไม่น้อย เพราะมันจะทำให้ประชาชนชาวรัสเซียธรรมดาๆ ไม่สามารถเสพสิ่งบันเทิงได้เช่นเดิม และแรงกดดันนี้เองจะทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านการกระทำของประธานาธิบดีเสียที

ความเห็นอีกด้านต่อการคว่ำบาตรทางวัฒนธรรม

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วยกับการคว่ำบาตรที่รัสเซียต้องเผชิญ คิริลล์ โซโคลอฟ (Kirill Sokolov) ผู้กำกับชาวรัสเซียคือหนึ่งในนั้น เขารู้ซึ้งถึงผลกระทบของสงครามดี เพราะครอบครัวของเขาอาศัยอยู่ที่กรุงเคียฟ ประเทศยูเครน และแม้เขาจะออกมาต่อต้านการกระทำของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แต่ภาพยนตร์เรื่อง “No Looking Back” ผลงานของเขา ยังถูกถอดออกจากเทศกาลภาพยนตร์ที่กลาสโกว์อยู่ดี

“The Execution” ภาพยนตร์คุณภาพอีกเรื่องจากรัสเซียก็ถูกถอดเช่นกัน แม้จะมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ประเทศรัสเซียเองก็ตาม เทศกาลภาพยนตร์น้อยใหญ่ต่างพากันแสดงออกการต่อต้านสงครามโดยการ ‘แบน’ ภาพยนตร์จากรัสเซีย โดยเฉพาะภาพยนตร์ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล

“เกือบ 99 เปอร์เซ็นต์ของภาพยนตร์รัสเซียได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลทั้งนั้น” คิริลล์ โซลอฟ กล่าว ที่น่าสนใจคือภาพยนตร์จำนวนไม่น้อยมีเนื้อหาเสียดสีชีวิตภายใต้การนำของวลาดิเมียร์ ปูติน แต่ไม่ว่าเนื้อหาจะเป็นอย่างไร การสร้างภาพยนตร์สักเรื่องในประเทศรัสเซียเป็นเรื่องยากอย่างมาก หากไม่มีเงินสนับสนุนจากรัฐบาล

โซลอฟมองว่า การถอดภาพยนตร์รัสเซียออกเช่นนี้ ก็ไม่ต่างจากการ ‘ปิดปาก’ ชาวรัสเซียเลย

“เราตัดสินคนจากสัญชาติบนพาสปอร์ตไม่ได้” เซอร์เกย์ ลอซนิทซา (Sergei Loznitsa) ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังชาวยูเครน ได้ออกมาแสดงความเห็นต่อต้านการแบนภาพยนตร์รัสเซีย เซอร์เกย์ ลอซนิทซาเองได้ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งมานานตั้งแต่สงครามดอนบัส ภาพยนตร์เรื่อง Donbass ของเขาที่เล่าถึงสงครามในดอนบัสระหว่างรัสเซียกับยูเครน ได้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์คานส์ ในปี 2018 “เมื่อได้ยินเรื่องการแบนหนังรัสเซีย ผมคิดถึงเพื่อนชาวรัสเซียของผมทั้งหลาย พวกเขาเป็นคนดีและน่ายกย่อง”

“และพวกเขาก็เป็น ‘เหยื่อ’ ของสงครามเหมือนกับพวกเรา”

การที่หลายๆ หน่วยงานออกมาคว่ำบาตรประเทศรัสเซียยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ว่า เหมาะสมหรือไม่ หรือ การลงโทษเท่าไหนถึงจะเรียกว่าพอดี แต่ในขณะนี้ กระแสการแบนในหลายๆ ประเทศกลายเป็นเรื่องรุนแรงจนพัฒนากลายเป็น ‘การเหยียดชาวรัสเซีย’ (Russophobia) จากแค่หยุดขายและหยุดซื้อวอดก้าจากรัสเซีย กลายเป็นการทำร้ายร่างกายและทำลายสถานที่ต่างๆ เช่น ร้านอาหารรัสเซีย และ โบสถ์รัสเซีย

เจน ดันแคน นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยโยฮันเนสเบิร์ก ผู้ศึกษาเรื่องการบอยคอตทางวัฒนธรรมในสถานการณ์การเมือง มองว่าการคว่ำบาตรนั้นจะเป็นเครื่องมือที่ ‘ประสบความสำเร็จอย่างมาก’ หากเรามีกฎเกณฑ์ชัดเจนว่า เรากำลังใช้มันลงโทษใคร

แต่เรื่องยากคือ ‘ใคร’ จะเป็น ‘คนตัดสิน’ ว่าใครคนที่สมควรถูกลงโทษ

อ้างอิง:
https://nyti.ms/3wipC27
https://nyti.ms/3Joj4CN
https://nyti.ms/3MKLFUC
https://bit.ly/3i8jm4k
https://bit.ly/3tTKjhH

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#society

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Tanyaporn Thasak
Tanyaporn Thasak
ผู้โดยสารคนหนึ่งบนยาน Mission To The Moon ที่หลงใหลในวรรณกรรม ภาพยนตร์ บทกวี การอ่าน การเขียน และการนอน

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า