SOCIETYพ่อแม่อย่ารังแกฉัน! 10 เรื่องที่ต้องระวังถ้าไม่อยากเป็น Toxic Parent

พ่อแม่อย่ารังแกฉัน! 10 เรื่องที่ต้องระวังถ้าไม่อยากเป็น Toxic Parent

“เมยเมย แกทำแบบนี้กับแม่ของแกได้ยังไง”

‘หมิง’ คุณแม่สุดเนี้ยบกล่าวด้วยความโกรธเกรี้ยว ก่อนที่เธอจะกลายร่างเป็นแพนด้าแดงตัวยักษ์ พร้อมถล่มเมืองโตรอนโตให้ราบเป็นหน้ากลอง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพียงเพราะ ‘เมยเมย’ ลูกสาวสุดที่รักและสมบูรณ์แบบของเธอ ไม่ได้สมบูรณ์แบบเหมือนที่จินตนาการไว้!

เรื่องราวของแม่-ลูกที่ถูกถ่ายทอดในแอนิเมชันเรื่อง “Turning Red” ซึ่งเป็นดั่งภาพสะท้อนชีวิตจริงของใครหลายๆ คน ทำให้ผู้ชมที่เป็นผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อย ต้องหันมามองครอบครัวตัวเองและตั้งคำถามว่า.. นี่เรากำลังทำร้ายลูกอ้อมๆ อยู่หรือเปล่า?

แม้ว่าหมิงจะไม่เคยมีเจตนาร้ายกับลูก เช่นเดียวกับพ่อแม่หลายๆ คนในชีวิตจริง แต่สุดท้ายทั้งหมดที่ทำไปก็ทำร้ายลูกทางอ้อมอยู่ดี
ถ้าหลายๆ เรื่องที่พ่อแม่คิดว่าทำดีแล้วกลับส่งผลร้าย แล้วต่อจากนี้จะทำอย่างไร ไม่ให้เผลอเลี้ยงลูกแบบพ่อแม่รังแกฉัน? วันนี้ Mission To The Moon มี 10 เรื่องที่ต้องระวัง หากไม่อยากเป็น Toxic Parent มาแบ่งปัน มาเรียนรู้กันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง

1) ปกป้องลูกจากความเจ็บปวดมากเกินไป

พ่อแม่ยุคใหม่หลายๆ คนไม่อยากให้ลูกต้องเผชิญกับความเจ็บปวดเพียงเพื่อฝึกให้ลูก “เข้มแข็ง” และ “อดทน” พวกเขามองว่ามีวิธีอื่นในการสอนที่ดีกว่านั้น อย่างไรก็ตาม การไม่ให้เด็กเผชิญอารมณ์และความรู้สึกยากๆ เลยก็ไม่ใช่เรื่องดีนัก

ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเล็กๆ อย่างการโกหกว่าสัตว์เลี้ยงที่ตายไปแล้วแค่ “หนีเที่ยว” หรือ การตื๊อให้โค้ชเลือกให้ลูกเป็นตัวจริงในทีมฟุตบอล ความหวังดีเหล่านี้อาจจะทำให้ลูกไม่มีประสบการณ์ในการรับมือกับอารมณ์ลบ และกลายเป็นผู้ใหญ่ที่เปราะบาง เจอเรื่องยากลำบากนิดหน่อยก็ไปต่อไม่ได้

2) บอกปัดว่าความรู้สึกของลูกเป็นเรื่องเล็กๆ

คำพูดอย่าง “แค่นี้เองไม่เห็นต้องร้องเลย” หรือ “ร้องไห้ทำไม เรื่องนิดเดียว” อาจสื่อว่าการแสดงออกทางอารมณ์เป็นเรื่องผิด และอาจทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะซ่อนความรู้สึกเหล่านี้ในเวลาต่อมา จนพวกเขาเติบโตขึ้นมาเป็นคนเก็บกด และมีสุขภาพจิตที่แย่เพราะระบายไม่เป็น

Advertisements

3) ชื่นชมแต่ความสำเร็จ

การชื่นชมเป็นเรื่องน่ายินดี แต่การชื่นชมเฉพาะ “ความสำเร็จ” นั้น อาจทำให้ลูกกลายเป็นคนที่มุ่งแต่จะเอาชนะให้ได้ โดยไม่สนว่าจะใช้วิธีการใดๆ ทางที่ดีพ่อแม่ควรจะชมลูกใน “ความพยายาม” ด้วย แม้พวกเขาจะทำไม่สำเร็จในบางครั้ง
ให้พวกเขาเรียนรู้ตั้งแต่เด็กๆ ว่าความล้มเหลวไม่ใช่จุดจบและชัยชนะก็ไม่ใช่ทุกอย่างเสมอไป

4) เอาความฝันของเราไปฝากไว้ที่ลูก

เคยเห็นไหม? พ่อแม่ที่อยากเป็นหมอแต่เป็นไม่ได้ จึงเคี่ยวเข็ญให้ลูกได้เป็นแทน นอกจากจะทำลูกไม่มีความสุขและรู้สึกกดดันแล้ว การกระทำเช่นนี้ยังทำให้ลูกเติบโตมาด้วย “ความไม่รู้จักตัวเอง” เช่นไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร ชอบอะไร หรือมีความฝันแบบไหน เพราะที่ผ่านมาใช้ชีวิตตามความฝันของคนอื่นตลอด

5) มาตรฐานสูงเกินไป

การตั้งมาตรฐานให้ลูกพยายามเอื้อมให้ถึง ในแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องดี เพราะพวกเขาจะได้ตระหนักถึงศักยภาพที่แท้จริงของตัวเอง และได้เรียนรู้ว่าหากพยายาม พวกเขาก็มีโอกาสจะได้สิ่งที่ต้องการ อย่างไรก็ตาม หากมาตรฐานของเราสูงเกินไป อาจทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเอง “ไม่ดีพอ” และจมอยู่กับความรู้สึกนี้ไปตลอดชีวิต

6) ใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือในการปกครอง

ไม่ว่าจะเป็นการกวาดตามองแรงๆ หรือดุเสียงดัง การใช้ความกลัวในการเลี้ยงลูกนั้นไม่เคยส่งผลดีเลย โดยเฉพาะการใช้แต่อารมณ์ ไม่ใช้เหตุผล พวกเขาอาจโตมาเป็นคนที่ไม่กล้า ไม่มีความมั่นใจ หรือใช้ความกลัวเป็นตัวตัดสินก็ได้

เช่น เมื่อพบว่ามีการทุจริตในบริษัทโดยพนักงานอาวุโส แทนที่จะเผชิญหน้าและบอกความจริงให้ผู้อื่นรู้ พวกเขากลับเงียบ เลือกที่จะไม่บอกเพราะกลัวที่จะต้องเผชิญหน้ากับผู้ใหญ่

Advertisements

7) แข่งกันเป็นคนโปรดของลูก

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องระวังเป็นพิเศษสำหรับพ่อแม่ที่หย่าร้าง แต่ยังช่วยกันเลี้ยงลูกอยู่ เพราะอาจเผลอตามใจลูกมากเกินไปเพียงเพราะอยากรู้สึก “สำคัญ” หรืออยากให้ลูก “รักมากกว่า” อีกฝ่าย

8) ใช้ความรู้สึกผิดเป็นเครื่องมือ

พ่อแม่หลายคนใช้การทำให้ลูกรู้สึกผิด (เช่น การบอกว่าเราทำงานหนักและเหน็ดเหนื่อยแค่ไหนเพื่อเลี้ยงลูกให้เติบโตมา) เพื่อให้ลูกทำสิ่งที่ตัวเองต้องการ วิธีนี้นอกจากจะทำให้ลูกรู้สึกไม่ดีแล้ว พวกเขาอาจจดจำและนำการทำให้ผู้อื่นรู้สึกผิดไปใช้ต่อในอนาคตได้

9) มอบความรับผิดชอบเกินอายุ

พ่อแม่ที่ไม่ค่อยมีความรับผิดชอบมักจะให้ลูกๆ รับผิดชอบเรื่องสำคัญตั้งแต่ยังเล็ก การที่พ่อแม่ซึ่งควรเป็นที่พึ่ง กลับกลายมาพึ่งลูกเสียเองเช่นนี้ สร้างความกดดันและกังวลให้แก่ลูก ซึ่งความรู้สึกนี้อาจติดตัวไปจนโต

10) ไม่ว่างใส่ใจลูกอย่างจริงจัง

พ่อแม่ที่ยุ่งหรือต้องเผชิญปัญหามากมายของตัวเอง มักจะไม่มีเวลาใส่ใจและตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ให้ลูก และอาจใช้เงินแก้ปัญหา เพราะคิดว่าแค่ให้ของขวัญก็พอ ตัวเราไม่ต้องไปอยู่ตรงนั้นก็ได้ แต่จริงๆ ไม่ใช่เช่นนั้น

เพราะความเหินห่างทางอารมณ์นี้ส่งผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กอย่างมาก มีแนวโน้มว่ามันจะทำให้พวกเขาเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ในอนาคต

แม้ 10 ข้อนี้จะไม่ใช่การกระทำร้ายแรงอย่างการทอดทิ้งหรือการทำร้ายลูก แต่เราก็เห็นแล้วว่าบางเรื่องก็สามารถเป็นแผลใจให้เด็กตั้งแต่เล็กไปจนโต ดังนั้นเราจึงต้องระวังมากๆ ในการรักษาความพอดี ไม่ทำบางเรื่องน้อยเกินไปและมากเกินไปอย่างใน 10 ข้อที่กล่าวมา
เชื่อเถอะว่าการใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ ตั้งแต่วันนี้มันคุ้มค่า ถ้าจะได้เห็นเด็กน้อยในวันนั้น เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต


รับฟังในรูปแบบพอดแคสต์ได้ที่: https://bit.ly/3e6lSJM

อ้างอิง
– 10 toxic things parents do that make their children less functional in adulthood : Amy Morin, Insider – https://bit.ly/3KvNfsK

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
– ‘สุขสันต์’ วันหยุดจริงหรือ? ทำไมเราถึงไม่มีความสุขเวลากลับบ้าน : https://bit.ly/3pXHqLe
– บาดแผลที่ไม่มีวันหาย จากความรุนแรงในครอบครัวและทัศนคติแบบเดิมๆ (Family and domestic violence) https://bit.ly/3BsqGAU

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#society

 

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า