SOCIETY“สูญสิ้นความเป็นมนุษย์” เบื้องหลังอันดำมืดของอาชีพ Content Moderator

“สูญสิ้นความเป็นมนุษย์” เบื้องหลังอันดำมืดของอาชีพ Content Moderator

คำเตือน : เนื้อหาในบทความพูดถึงความรุนแรง การทำร้ายร่างกาย และการฆ่าตัวตาย

ในวันแรกของการทำงานเขาต้องดูวิดีโอของชายคนหนึ่งซึ่งกำลังฆ่าตัวตายต่อหน้าลูกวัย 3 ขวบ

“เด็กน้อยคนนั้นกำลังเล่นของเล่นอยู่บนพื้นโดยไม่รู้เรื่องด้วยซ้ำว่าเกิดอะไรขึ้น” เขากล่าว “ผมรู้สึกแย่มากๆ ผม.. คุณนึกออกไหม ผมถึงกับอาเจียนออกมา เพราะไม่เข้าใจเลยว่าทำไมมนุษย์เราถึงทำเรื่องแบบนี้”

เทรวิน บราวนี ชายชาวเคนยาบอกเล่าประสบการณ์การเป็น Online Content Moderator หรือ “ผู้คัดกรองวิดีโอ” ให้แก่แพลตฟอร์มดังอย่าง Facebook ที่ทำให้เขารู้สึกช็อกตั้งแต่วันแรกกับการต้องเห็นคนฆ่าตัวตาย และในวันทำงานวันอื่นๆ ก็ไม่ต่างกันนัก เขาเผยว่าตลอดการทำงานในฐานะคนคัดกรองวิดีโอเขาได้เจอกับด้านที่มืดที่สุดของมนุษยชาติ ทั้งความรุนแรงในเด็ก การทารุณกรรม ไปจนถึงการระเบิดพลีชีพ

เขาเชื่อว่าประสบการณ์ที่ได้เผชิญในการทำงานทำให้ความรู้สึกของเขาตายด้าน และทำให้เขาสูญเสียส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์ไป เขาเห็นความตายบ่อยเสียจนความตายดูเป็นเรื่องปกติ

เทรวินเป็นเพียงหนึ่งในผู้คนจำนวนมากที่ทำหน้าที่คัดกรองเนื้อหา เพื่อกรองเนื้อหาที่มีความรุนแรงและผิดกับนโยบายของแพลตฟอร์มออกไป เขาเป็นหนึ่งในเบื้องหลังที่ต้องทนดูสิ่งที่คนจำนวนมากไม่อยากเห็น เพื่อป้องกันไม่ให้คนจำนวนมากได้รับผลกระทบ

และเขาก็เป็นเพียงอีกหนึ่งคนในปี 2023 ที่ฟ้องร้องเพื่อความยุติธรรมจากโซเชียลมีเดีย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีผู้คนจำนวนมากที่กำลังเผชิญชะตากรรมเดียวกับเขา

ไม่ใช่แค่ Facebook แต่บริษัทอื่นๆ อย่าง Google หรือ TikTok ก็มีงานประเภทนี้เช่นกัน แม้ชื่อของอาชีพคัดกรองเนื้อหาออนไลน์จะต่างกันไป (เช่น Content Moderator, Video Moderator หรือ Content Reviewer เป็นต้น) แต่หัวใจหลักของการทำงานนั้นเหมือนกัน ซึ่งก็คือการคัดกรองเนื้อหาที่ถูกอัปโหลดลงบนแพลตฟอร์มว่าสอดคล้องกับนโยบายหรือไม่ งานนี้ถือเป็นงานสำคัญเพราะในโลกออนไลน์ที่คนสามารถใช้งานได้อย่างอิสระ อาจมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม รุนแรง หรืออันตรายถูกเผยแพร่ออกมาได้ นอกจากนั้นแล้วพวกเขายังทำงานร่วมกับ AI เพื่อสอนให้ปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้เรียนรู้ที่จะคัดกรองเนื้อหาเองในอนาคต

โดยส่วนใหญ่งานประเภทนี้จะได้รับค่าตอบแทนสูง เพราะหน้าที่ที่ต้องทำนั้นหนักหนาและอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างมาก หลายๆ บริษัทมีการให้พนักงานเซ็นรับทราบล่วงหน้าก่อนเริ่มงาน ว่าเนื้อหาที่พวกเขาจะได้เห็นนั้นอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต หรือก่อให้เกิดภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (PTSD: Post-Traumatic Stress Disorder)

อย่างไรก็ตาม พนักงานเบื้องหลังหน้าจอหลายคนต่างออกมาเตือนว่า แม้ผลตอบแทนจะสูง แต่เป็นงานที่ไม่คุ้มที่จะแลกเลย และแม้จะได้อ่านคำชี้แจ้งสำคัญก่อนว่างานอาจมีเนื้อหารุนแรง แต่มันก็ไม่ได้ช่วยให้พวกเขาเตรียมใจได้เลยถ้าเทียบกับสิ่งที่ได้เห็นจริงๆ

ในวิดีโอ The Horror of  Being a Facebook Moderator จากสำนักข่าว VICE ได้มีการสัมภาษณ์อดีตพนักงานคัดกรองเนื้อหาของ Facebook แบบไม่เผยนาม เขาเล่าว่าตลอดการทำงานวันละ 8 ชั่วโมง เขาได้เห็นวิดีโอแล้ววิดีโอเล่าที่แสดงให้เห็นศพ การฆาตกรรม การเฉลิมฉลองหลังจากสังหารเหยื่อ ไปจนถึงการเผาสุนัขทั้งเป็น

ในอดีตพนักงานคนนี้ไม่เชื่อในเรื่อง PTSD ด้วยซ้ำ แต่หลังจากได้ทำงานนี้ เขาพบว่าสภาพจิตใจของเขาได้รับผลกระทบอย่างมาก ภาพที่เห็นหลอกหลอนแม้กระทั่งตอนหลับตานอน เขาต้องเข้ารับการบำบัดและพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ ส่วนเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ก็เช่นกัน เขาพบว่าเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากเริ่มงาน เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งของเขาก็เริ่มทำร้ายตัวเอง

ในหนังสือเรื่อง Behind The Screen โดย Sarah T. Roberts ที่เขียนเกี่ยวกับชีวิตของเหล่าผู้คัดกรองเนื้อหา ตั้งแต่ใน Silicon Valley ไปจนถึงพนักงานในประเทศเม็กซิโกและฟิลิปปินส์ ผู้เขียนเล่าว่า พนักงานจำนวนหนึ่งจะบอกว่าตัวเองรับมือได้ แต่พอคุยไปคุยมาพวกเขาจะเริ่มเผยเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้วตนได้รับผลกระทบ เช่น การดื่มหนักขึ้น การปิดกั้นตัวเองจากสังคม การสูญเสียอารมณ์ทางเพศไปชั่วขณะ ไปจนถึงการไม่จับมือทักทายกับใครนานถึง 3 ปี

ชอว์น สเปียเกิล อดีตผู้คัดกรองวิดีโอให้สัมภาษณ์ว่า เขากลายเป็นคนที่หงุดหงิดใส่คนรอบตัว นอนไม่หลับและฝันร้ายเพราะเห็นแต่ภาพเหล่านั้นซ้ำไปซ้ำมาในหัว และเมื่อเขาเข้ารับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ เขาได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะ PTSD

ซ้ำร้าย พวกเขาเหล่านี้ไม่สามารถแม้แต่จะระบายสิ่งที่เห็นให้ใครฟังได้ เพราะสัญญารักษาความลับ (NDA: Non-Disclosure Agreement) ที่ต้องเซ็นก่อนเริ่มงาน

แม้จะไม่ได้เผชิญกับเหตุการณ์อันตรายโดยตรง แต่การได้เป็นพยานต่อความรุนแรงผ่านหน้าจอสามารถส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของคนได้ นักจิตวิทยาเรียกอาการนี้ว่า “Secondary Trauma” หรือความเครียดจากการรู้สึกร่วมกับเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจ

พนักงานเหล่านี้ควรได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรในด้านการดูแลสุขภาพจิตอย่างยิ่ง และหลายๆ องค์กรก็ออกมาพูดเรื่องสวัสดิการที่มีให้ ยกตัวอย่างเช่น Sama หน่วยงานภายนอกที่ Facebook ได้ใช้บริการจัดจ้างหาพนักงานสัญญาจ้างในเคนยา ได้เปิดเผยกับ BBC ว่า สำหรับงานคัดกรองวิดีโอ พนักงานได้รับค่าตอบแทนอย่างงาม งานนี้เป็น 1 ใน 12 งานที่รายได้ดีที่สุดในประเทศเคนยา โดยทางองค์กรได้จัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตคอยให้คำปรึกษาในออฟฟิศ อีกทั้งยังมีบริการฮอตไลน์ปรึกษาปัญหาได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือพนักงานจะปรึกษาจิตแพทย์/นักจิตวิทยาคนอื่นๆ นอกจากที่จัดหาให้ ทางองค์กรก็สนับสนุน โดยสวัสดิการนี้ครอบคลุมไปจนถึง 12 เดือนหลังจากลาออกอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม อดีตพนักงานหลายคนออกมาแสดงความเห็นแย้งในเรื่องนี้

อิซาเบลลา พลังเก็ตต์ อดีตพนักงานสัญญาจ้างของ Facebook เปิดเผยกับสำนักข่าว BBC ว่า “ทุกวันเป็นเหมือนฝันร้าย” และความช่วยเหลือจากองค์กรนั้นไม่เพียงพอ พวกเขาไม่ได้จ้างผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต (เช่น นักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์) จริงๆ แต่เป็นเพียงโค้ชด้านสุขภาพ (Wellness Coach) เท่านั้น ซึ่งอดีตพนักงานคนอื่นๆ ทั้งที่เผยนามและไม่เผยนามต่างก็ให้ความเห็นตรงกันในเรื่องนี้

ในการทำงานแต่ละวัน พนักงานมีเวลาพักทานอาหารเที่ยง 30 นาที พักเบรกสั้น 15 นาทีอีก 2 ครั้งในตอนเช้าและบ่าย และมีเวลาสำหรับพักผ่อนจิตใจ (Wellness Time) อีก 9 นาที

“พวกเขาบอกว่าเรามีคนคอยให้คำปรึกษานะ แต่ในแต่ละวันมีเวลาพักเบรกเพื่อพักผ่อนจิตใจเพียง 9 นาทีเท่านั้น นั่นหมายความว่าเราควรเข้าไปคุยกับผู้ให้คำปรึกษาเรื่อง 500 วิดีโอที่เราดูวันนี้ ภายในช่วงเวลา 9 นาที แล้วต้องรู้สึกโอเคขึ้นมาอย่างนั้นหรือ” เมลินดา จอห์นสัน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Verge

ในกรณีของเทรวิน บราวนี จากประเทศเคนยา เขาและเพื่อนร่วมงานต่างต้องการสวัสดิการด้านสุขภาพจิตที่ดีกว่านี้ จึงออกมาเรียกร้องและพยายามจะสร้างสหภาพแรงงาน แต่พวกเขาเล่าว่าเหตุการณ์นี้ทำให้พวกเขาจำนวน 260 คนถูกเลย์ออฟ ความไม่ยุติธรรมนี้เป็นสาเหตุให้เขายื่นฟ้อง Facebook นั่นเอง

“ผมเสียสละด้านที่เป็นมนุษย์เพื่อแลกกับงานนี้ … แต่แล้วก็ถูกไล่ออกแบบนี้” เทรวิน กล่าว

กว่า AI จะสามารถเข้ามาแทนที่งานนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบคงต้องใช้ระยะเวลาอีกสักพัก แต่ระหว่างนี้ ทางออกที่ดีที่สุดอาจเป็นการให้ค่าตอบแทนพร้อมสวัสดิการอันเหมาะสมให้แก่พวกเขา และแสดงความรับรู้ถึงความกล้าหาญในการทำงานที่ต้องแลกกับสิ่งสำคัญอย่าง “สุขภาพจิต” เช่นนี้

อ้างอิง
– Facebook work filtering posts ‘cost me my humanity’ – BBC News : https://bit.ly/41XZJ3T
– Content moderators pay a psychological toll to keep social media clean. We should be helping them | BBC Science Focus Magazine : https://bit.ly/41ICgnK
– Facebook moderator: ‘Every day was a nightmare’ – BBC News : https://bit.ly/43ZuXK5
– The Horrors of Being a Facebook Moderator – VICE : https://bit.ly/3Lc4lgf
– Inside the traumatic life of a Facebook moderator – The Verge : https://bit.ly/3L3JzPM
– The Underworld of Online Content Moderation | The New Yorker : https://bit.ly/3L18weI

#society
#trend
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements
Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า