#ผ้าอนามัยไม่มีภาษี ฟรี (ภาษี) ผ้าอนามัยมีที่ประเทศไหนบ้าง?

755
Society-sanitary-napkin-tax

ถ้าวันหนึ่ง คุณมีเงินทั้งเนื้อทั้งตัวเหลืออยู่แค่ 50 บาท แต่ว่าวันนั้นทั้งวันคุณยังไม่ได้กินข้าวแม้แต่คำเดียว คุณจะเลือกนำเงิน 50 บาทสุดท้ายนี้ไปทำอะไร?

แน่นอนว่านี่ก็คงจะไม่ใช่การตัดสินใจที่ยากอะไร เพราะทุกคนคงเลือกที่จะนำเงินส่วนนี้ไปซื้อข้าวกินกันก่อนเป็นอันดับแรกอย่างแน่นอน

แต่จะเป็นอย่างไร ถ้าวันนั้นคุณบังเอิญเป็น ‘ผู้หญิง’ ที่ ‘เป็นประจำเดือน’ อย่างกะทันหัน ทั้งๆ ที่ปกติมันควรมาอาทิตย์หน้าแท้ๆ แต่ไม่รู้ทำไมเดือนนี้ดันมาเร็วกว่าปกติ พอก้มลงมองเงินในกระเป๋าสตางค์ที่เหลืออยู่แค่ 50 บาท แล้วนั้น…

Advertisements

แม้ว่าคุณจะรู้สึกหิวมากขนาดไหน แต่ก็ไม่มีทางเลือกอะไรให้คุณได้เลย นอกจากกำเงินส่วนนี้ไปซื้อผ้าอนามัยที่ราคาก็เกือบ 50 บาทแล้ว เพราะคุณไม่สามารถอดทนไม่ใส่ผ้าอนามัย เหมือนยอมอดทนไม่กินข้าวสักวันหนึ่งได้

ผ้าอนามัยเป็น ‘สิ่งจำเป็น’ สำหรับผู้หญิง แต่ค่าใช้จ่ายส่วนนี้กลับถูกผลักภาระให้ประชาชนต้องเป็นคนจ่ายเองในราคาแพง ทั้งที่ความจริงแล้ว สิ่งนี้ควรเป็น ‘สวัสดิการขั้นพื้นฐาน’ ที่เราควรได้รับจากทางภาครัฐหรือเปล่า?

เพราะเฉลี่ยแล้วผู้หญิงเป็นประจำเดือนครั้งละประมาณ 5-7 วัน เมื่อมีประจำเดือนก็จำเป็นต้องใช้ผ้าอนามัย และตามคำแนะนำเพื่อสุขภาวะที่ดี ก็ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 4-6 ชั่วโมง ทำให้ใน 1 วันอาจต้องใช้ผ้าอนามัยมากสุดถึง 6 แผ่นต่อวัน เท่ากับว่าใน 1 เดือนผู้หญิงต้องใช้ผ้าอนามัย 32-40 แผ่นต่อเดือน และด้วยราคาผ้าอนามัยราคาห่อละประมาณ 30-70 บาท ตกเดือนละกว่า 200-300 บาท ที่ผู้หญิง ‘จำเป็น’ ต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายทั่วไป ทั้งที่เป็น ‘สิ่งจำเป็น’ อย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่กลับไร้การสนับสนุนใดๆ จากภาครัฐ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีประกาศจากราชกิจจานุเบกษาให้ผ้าอนามัยแบบสอดเป็นเครื่องสำอาง ถึงแม้จะมีเหตุผลที่ว่าต้องการกำกับดูแลให้ผลิตภัณฑ์ได้มาตรฐานความปลอดภัย เพื่อให้สามารถควบคุมการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ได้ จึงจำเป็นต้องแยกให้ผ้าอนามัยแบบสอดจัดอยู่ในสินค้าประเภทเครื่องสำอาง และยังไม่ได้นับว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงมีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เท่าเดิมตามปกติ เหมือนกับผ้าอนามัยแบบอื่นๆ ทั่วไป แต่คำถามคือ “ทำไม ‘สินค้าจำเป็น’ เช่นนี้ ยังคงถูกผลักภาระให้เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องเป็นคนแบกรับ” ในขณะที่หลายประเทศต่างร่วมกันผลักดันในการยกเลิกหรือลดภาษีผ้าอนามัย จนถึงขั้นมีผ้าอนามัยแจกฟรีในบางประเทศแล้วด้วยซ้ำ

หากคุณเป็นคนที่มีกำลังซื้อมากพอ หรือคุณไม่เคยมีประจำเดือน คุณคงไม่คิดว่านี่เป็นปัญหาเดือดร้อนอะไรนัก

แต่สำหรับคนที่มีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่แค่ 300 บาทต่อวัน จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มจากรายจ่ายทั่วไปในแต่ละเดือนเป็นเงินจำนวนเท่ากับค่าแรง 1 วันที่เธอหามาได้ หรือนักเรียนนักศึกษาที่บางคนจำเป็นต้องอดข้าวไปเรียน เพียงเพราะวันนั้นเธอเป็นประจำเดือน ประจำเดือนจึงกลายเป็นภาระที่ผู้หญิงจำเป็นต้องแบกรับเพิ่มขึ้น แต่แล้วทำไมค่าใช้จ่ายในสิ่งจำเป็นเช่นนี้ถึงยังไม่ได้รับการสนับสนุน?

งั้นเรามาลองดูตัวอย่างจากประเทศอื่นกันก่อนดีกว่า ในหลายประเทศทั่วโลกได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับสุขอนามัยของผู้หญิง รวมทั้งได้รับความร่วมมือจากทางภาครัฐในการเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนค่าใช้จ่ายในส่วนของผ้าอนามัย จนในปัจจุบันมีหลายประเทศที่มีนโยบายไม่เก็บภาษีผ้าอนามัยแล้ว ได้แก่ 

สหรัฐอเมริกา ยกเลิกเก็บภาษีผ้าอนามัยแล้ว 20 รัฐจาก 50 รัฐ ได้แก่ Alaska, California, Connecticut, Delaware, Florida, Illinois, Maryland, Massachusetts, Minnesota, Montana, Nevada, New Hampshire, New Jersey, New York, Ohio, Oregon, Pennsylvania, Rhode Island, Utah, Washington และอีก 1 เขตปกครองพิเศษ คือ Washington D.C.

ออสเตรเลีย ได้ยกเลิกภาษีผ้าอนามัยแบบสอด หลังมีการถกเถียงตั้งแต่รัฐบาลเริ่มเก็บภาษีสินค้าและบริการในผ้าอนามัยเมื่อปี 2000 ผ่านการเรียกร้องกว่า 18 ปี จนในปี 2018 รัฐมนตรีเห็นชอบให้ยกเลิกภาษีผ้าอนามัยในที่สุด

อินเดีย ก่อนหน้านี้ในประเทศอินเดียเคยมีการเรียกเก็บภาษีผ้าอนามัยสูงถึง 12% จนมีการสำรวจพบว่า ผู้หญิงราว 4 ใน 5 ของประเทศไม่สามารถเข้าถึงผ้าอนามัยได้ ทำให้มีการประท้วงเรียกร้องให้ยกเลิกการเก็บภาษีผ้าอนามัยกันเป็นเวลาหลายเดือน ในที่สุดรัฐบาลก็ยอมประกาศยกเลิกเก็บภาษีในผลิตภัณฑ์สุขอนามัยทุกชนิดในปี 2018 

Advertisements

และยังมีประเทศอื่นๆ ได้แก่ แคนาดา ไอร์แลนด์ มาเลเซีย จาไมกา เลบานอน นิการากัว ไนจีเรีย แทนซาเนีย ที่ยกเลิกการเก็บภาษีผ้าอนามัยไปเรียบร้อยแล้ว

ประเทศที่รัฐบาลสนับสนุนแจกผ้าอนามัยฟรี

ประเทศเคนยาเป็นประเทศแรกที่เริ่มเดินหน้าสนับสนุนให้ยกเลิกภาษีผ้าอนามัยตั้งแต่ปี 2004 จนปี 2011 รัฐบาลได้ยกเลิกการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัย อีกทั้งยังมีงบประมาณสนับสนุนแจกผ้าอนามัยฟรีให้กับโรงเรียนและชุมชนยากไร้อีกด้วย

และล่าสุดที่เริ่มมีนโยบายแจกผ้าอนามัยฟรีในปีนี้นี่เองก็คือ ไต้หวัน ได้เกิดเป็นโครงการนำร่องแจกผ้าอนามัยฟรีในโรงเรียนมัธยมศึกษากว่า 10 แห่ง และได้รับผลตอบรับจากนักเรียนในเชิงบวกกลับมาอย่างล้นหลาม

และประเทศที่เป็นที่พูดถึงที่สุดในช่วงก่อนหน้านี้ อย่างประเทศสกอตแลนด์ ซึ่งนับว่าเป็นประเทศแรกของโลกที่เริ่มประกาศใช้กฎหมายอนุมัติแจกจ่ายผ้าอนามัยฟรีให้กับประชาชนทุกคน โดยผู้มีประจำเดือนสามารถขอผ้าอนามัยทั้งแบบแผ่นและแบบสอดได้ฟรีตามสถานที่สาธารณะ เช่น ศูนย์ชุมชน หรือร้านขายยา และมีจัดเตรียมให้ตามโรงเรียนและในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นนโยบายจากภาครัฐที่สะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจ และการให้ความสำคัญของประชาชนในประเทศเพื่อลดความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริง

“เพราะเวลาที่คุณเข้าห้องน้ำ คุณก็คงหวังว่าจะต้องมีทิชชูในนั้น ผ้าอนามัยก็ด้วยเช่นกัน”

Monica Lennon, สมาชิกวุฒิสภาของสกอตแลนด์ ผู้สนับสนุนข้อกฎหมายการแจกผ้าอนามัยฟรี

เพียงแค่ว่าคุณไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ ไม่ได้แปลว่าปัญหานี้ไม่มีอยู่จริง

ประชากรเพศหญิงในประเทศไทยกว่า 33 ล้านคน หรือนับเป็น 51% ของประเทศ คือผู้ที่กำลังแบกรับภาระที่ถูกรัฐผลักความรับผิดชอบมาให้ตกอยู่ที่ประชาชนในทุกเดือน และมีผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยเลยที่แค่ค่าใช้จ่ายภายในแต่ละเดือนกำลังเป็นภาระหนักอึ้งที่ต้องแบกรับ บวกกับค่าใช้จ่ายที่ถูกเพิ่มเติมมาในช่วงเป็นประจำเดือน

ถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่ควรให้ #ผ้าอนามัยไม่มีภาษี เสียที?


อ้างอิง:
https://bit.ly/2V4a7tR
https://bit.ly/3y1kZr8
https://bbc.in/36Xm33a
https://bbc.in/3hWZ8eB
https://bit.ly/3BBQieq
https://bit.ly/3iybxVC
https://bit.ly/3hYZJNa

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#society

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements