SOCIETY“ลาว” เสี่ยงตามรอยศรีลังกาหรือไม่? และ “ไทย” อยู่จุดไหนของโดมิโนทางเศรษฐกิจชุดนี้

“ลาว” เสี่ยงตามรอยศรีลังกาหรือไม่? และ “ไทย” อยู่จุดไหนของโดมิโนทางเศรษฐกิจชุดนี้

สภาวะเศรษฐกิจ “ศรีลังกา” นับว่ากำลังเข้าสู่ “การล่มสลาย” อย่างแท้จริง ตั้งแต่มีการประกาศว่าเป็นประเทศล้มละลาย จากปัญหาขาดแคลนเงินตราต่างประเทศรุนแรง จน “ไม่สามารถนำเข้าสินค้าจำเป็น” อย่างเช่น น้ำมันเชื้อเพลิง อาหาร และยารักษาโรค ทิ้งให้ประชาชนต้องเผชิญความยากลำบากในการชีวิตประจำวัน ในหลายเดือนที่ผ่านมา ที่ได้จุดชนวนการประท้วงอย่างรุนแรงจากภาคประชาชน เป็นเหตุให้ประธานาธิบดีของพวกเขาต้องลาออกและหลบหนีออกนอกประเทศ

แต่ความน่ากลัวที่แท้จริงของการล่มสลายทางเศรษฐกิจที่ประเทศศรีลังกานั้น คือ “ผลกระทบ”
โดยเหล่านักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์หลายคนก็ออกมาแสดงความกังวลว่า จะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยกับ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เหมือนที่ประเทศไทยเคยเจอในปี 2540 หรือไม่ และเหตุการณ์จะกลายเป็น “โดมิโนทางเศรษฐกิจ” ที่สร้างผลกระทบให้กับประเทศในต่างๆ เป็นทอดๆ มากขนาดไหน และยังทำให้เกิดคำถามว่า ประเทศใดกำลังจะล้มละลายเป็นคิวต่อไปกันแน่

ซึ่งหนึ่งในประเทศที่ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดในตอนนี้ คือ “สปป.ลาว” ที่หลายฝ่ายมีการวิเคราะห์ว่า จะประเทศต่อไปที่อาจเดินตามรอยศรีลังกาเข้าสู่การล่มสลาย และกลายเป็นประเทศล้มละลาย ซึ่งเมื่อหันไปดูสถานการณ์ต่างๆ ภายใน สปป.ลาวในตอนนี้ ก็เหมือนกับว่ากำลังเผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจภายในประเทศอยู่ไม่น้อยเลยเหมือนกัน

น้ำมันแพง เงินเฟ้อ และค่าเงินอ่อนตัว หนังภาคต่อจากศรีลังกา ที่ลาวต้องเผชิญ

ณ ปัจจุบัน สปป.ลาว กำลังเผชิญ วิกฤตพลังงาน น้ำมันในประเทศนั้นกำลังขาดแคลนอย่างหนัก ซึ่งหลายๆ คนน่าจะเคยได้เห็นภาพของประชาชนลาวที่กำลังเข้าคิวต่อแถวยาวอยู่ในปั๊มน้ำมันอยู่หลายชั่วโมง เพราะว่าไม่รู้จะไปเติมน้ำมันจากที่ไหน ซึ่งจากการรายงานของสำนักข่าวใน สปป.ลาว อย่าง Laotian Times ก็ระบุว่า สปป.ลาว มีความต้องการใช้น้ำมันอยู่ที่ประมาณ 120 ล้านลิตรต่อเดือน แต่รัฐบาลลาวกลับมีกำลังที่จะนำเข้าน้ำมันได้เพียงเดือนละ 20 ล้านลิตรเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ทำให้ราคาน้ำมันในสปป.ลาวนั้นพุ่งสูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนเฉลี่ยอยู่ที่ 72.90 บาทต่อลิตรตามการรายงานของเว็บไซต์ eppo.go.th

ราคน้ำมันที่ขึ้นสูงได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งในภาคเศรษฐกิจ ภาคเกษตร และชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไปอย่างมาก ทางฝั่งของเกษตรกรขาดแคลนเชื้อเพลิงหลักในการทำนา ทางฝั่งของค่าขนส่งและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคก็สูงตามขึ้นไปด้วย

ในฝั่งของการใช้ชีวิต ประชาชนคนไหนที่วันไหนไม่มีน้ำมัน ก็ไม่สามารถที่จะเดินทางได้เลย คนท้องแก่ต้องคลอดลูกที่บ้านเพราะไม่มีน้ำมันพอที่จะขับรถไปหาหมอ เด็กนักเรียนก็เดินทางไปสอบปลายภาคไม่ได้ เพราะว่าที่บ้านไม่มีน้ำมันพอที่จะไปส่งที่โรงเรียน ซึ่งนี่เป็นเพียงแค่ส่วนเดียวเท่านั้นของปัญหาในชีวิตประจำวันที่ประชาชนของ สปป. ลาว ต้องเผชิญ

ไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้ ปัญหา เงินเฟ้อ เองก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ สปป.ลาว เองยังไม่มีทางแก้มากนัก โดยจากการรายงานของศูนย์สถิติแห่งชาติ กระทรวงแผนการและการลงทุน สปป.ลาว มีรายงานดัชนีราคาผู้บริโภคและอัตราเงินเฟ้อของ สปป.ลาว ประจำเดือนมิถุนายนปี 2022 โดยอัตราเงินเฟ้อของสปป.ลาวเพิ่มสูงขึ้นถึง 23.6% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว

บวกกับค่าเงินกีบ ที่อ่อนลงไปอย่างมาก โดยเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมของปี 2021 อัตราการแลกเปลี่ยนเงินอยู่ที่ 9,302 กีบ ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่พอมาดูล่าสุดในวันที่ 19 กรกฎาคมปี 2022 อัตราการแลกเปลี่ยนเงินกีบนั้นอ่อนลงมาต่อเนื่องจนอยู่ที่ 15,071 กีบ ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ แล้ว เรียกได้ว่าอ่อนลงมาเกือบครึ่งหนึ่งจากปีที่แล้ว และมีแนวโน้มที่จะแย่ลงอีกเรื่อยๆ เนื่องจากทางธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED ได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์เองก็แข็งค่าขึ้นไปอีก ณ ปัจจุบัน

แต่สิ่งที่ทำให้เหล่านักเศรษฐกิจกังวลที่สุดก็คือ “หนี้” เพราะตอนนี้ สปป.ลาว กำลังแบกรับ ภาระหนี้ อยู่สูงมาก โดยมีหนี้สาธารณะอยู่มากกว่า 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมากกว่า 470,000 ล้านบาท โดยมีจีนเป็นเจ้าหนี้กว่า 40% ของหนี้ทั้งหมด ซึ่งทำให้ Moody’s หนึ่งในสามสำนักจัดเครดิตที่ใหญ่ที่สุดของโลก ทำการลดระดับความน่าเชื่อถือของสปป.ลาว ลงอยู่ที่ Caa3 (CCC-) ซึ่งมีความหมายว่ามีความเสี่ยงในการผิดชำระหนี้ เพราะทุนสำรองของประเทศมีไม่พอจะจ่ายหนี้ที่ใกล้จะครบกำหนดชำระแล้ว

แต่ภายใต้วิกฤตทั้งหมดนี้ สปป.ลาวยังมีสิ่งหนึ่งที่เหนือกว่าศรีลังกาก็คือ ไม่ได้ขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ เพราะว่าสินค้าส่งออกหลักของพวกเขาคือ “พลังงาน” ที่ทำให้ยังมีเงินตราไหลเข้าประเทศอย่างต่อเนื่องไปอีกหลายปี เพราะฉะนั้น อย่างแย่ที่สุดในอนาคตอันใกล้นี้ สปป. ลาวคงยังไม่ได้ขาดแคลนพลังงานขนาดที่ทั้งประเทศจะต้องปิดไฟ ไม่มีไฟฟ้าใช้ และถึงขั้นล้มละลายแบบศรีลังกา

เพียงแต่ด้วยสถานการณ์ต่างๆ รอบโลกทั้ง การระบาดของโควิด-19 สงครามยูเครน-รัสเซีย หรือการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจาก FED นั้นทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสปป.ลาวนั้นลดลงต่ำกว่ามาตรฐานที่เคยทำไว้เป็นอย่างมาก ขึ้นอยู่กับว่าต่อไปนี้ รัฐบาลลาวจะสามารถเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนกลับมาได้มากแค่ไหนเท่านั้นเอง

Advertisements

ผลกระทบถึงไทย แล้วเราอยู่ในจุดไหน ของโดมิโนชุดนี้

ส่วนผลกระทบของประเทศไทยต่อสถานการณ์ใน สปป. ลาว ณ ตอนนี้ก็แน่นอนว่าจะมีแรงงานชาวลาวหลั่งไหลเข้ามาหารายได้ในประเทศไทยเป็นจำนวนมากอย่างแน่นอน ซึ่งสิ่งนี้ก็จะตามมาด้วยปัญหาการลักลอบข้ามชายแดน และการค้าขายสินค้าเถื่อนในบริเวณพื้นที่ชายแดนที่เพิ่มมากขึ้น

สำหรับไทย ณ ตอนนี้ ถึงแม้เราจะยังคงเผชิญกับสถานการณ์เงินเฟ้อ ของแพงขึ้น น้ำมันแพงขึ้น แต่ว่าประเทศไทยยังคงห่างไกลจากสิ่งที่สปป.ลาวกำลังเผชิญอยู่ ด้วยสถานการณ์ของโควิด-19 ที่ผ่อนคลายลง มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาในประเทศมากยิ่งขึ้น ทำให้เศรษฐกิจของไทยเริ่มฟื้นตัว โดย Moody’s ยังคงระดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ที่ Baa1 (BBB+) ที่มีความหมายว่ายังมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) อยู่นั่นเอง

แต่ถึงแม้ไทยเราจะยังมีความเป็นไปได้ต่ำที่จะเดินตามรอยวิกฤตที่ศรีลังกาหรือสปป.ลาว แต่ไม่ได้แปลว่าตอนนี้ประเทศไทยจะสามารถนิ่งนอนใจในสถานการณ์ที่ตัวเองเป็นอยู่ ค่าครองชีพของไทยนั้นยังมีความเหลื่อมล้ำกับรายได้ขั้นต่ำของประเทศเป็นอย่างมาก
.
ยังมีคนที่พบกับความลำบากมากขึ้นทุกวัน โรคระบาดโควิด-19 ยังไม่หายไปโดยสมบูรณ์ ค่าเงินไทยตอนนี้อ่อนลงมากที่สุดในรอบหลายปี ประชาชนทำงานหนักขึ้นแต่ “มูลค่า” ของเงินบาทที่เป็นค่าตอบแทนกลับน้อยลง

คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าสถานการณ์ของโลกตอนนี้นั้นมีความผันผวนสูง และเอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ แต่ทุกประเทศเองก็กำลังหาวิธีการที่จะเอาตัวรอดในรูปแบบตัวเองในช่วงเวลาที่ลำบากแบบนี้ เพราะฉะนั้นแล้ว ประเทศไทยของเราเองก็จะยังนิ่งนอนใจไม่ได้ และต้องพยายามหาทางออก เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกๆ คนต่อไปให้ได้ดีที่สุดเช่นกัน

อ้างอิง
https://bloom.bg/3aRKSDl
https://bbc.in/3uZip5s
https://bit.ly/3PFARYu
https://bit.ly/3ofPQg8
https://bit.ly/3B0yuvh
https://bit.ly/3IRY9Z5
https://bit.ly/3PGBDo7
https://bit.ly/3RQon2b
.
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#society
#laos

Advertisements
Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า