ในช่วงวันหยุดยาวเช่นนี้ หลายคนอาจได้กลับไปพักผ่อนร่วมกับครอบครัวและญาติ แน่นอนว่าคนที่ไม่ได้มีบ้านเป็น ‘เซฟโซน’ หรือพื้นที่ปลอดภัย ก็คงจะไม่มีความสุขอย่างเห็นได้ชัด และเราก็พอจะเข้าใจได้ว่าทำไม
แต่ที่น่าสนใจคือคนที่เติบโตมาใน ‘ครอบครัวอบอุ่น’ ที่เต็มไปด้วยความเข้าใจ กับ คนที่เติบโตมาใน ‘ครอบครัวกลางๆ’ (ซึ่ง ณ ทีนี้หมายถึงครอบครัวที่มีความรัก แต่อาจไม่ได้เข้าใจและสนับสนุนกันนัก 100% และแม้ในอดีตจะเคยมีปัญหาเล็กน้อยถึงขั้นรุนแรงกันบ้าง แต่ก็ผ่านมาได้) สองประเภทนี้มักถูกคาดหวังว่าจะมีความสุขในวันหยุดแน่ๆ
แม้แต่ตัวเราเองก็คาดหวังแบบนั้น
จนกระทั่งถึงวินาทีที่เท้าเราสัมผัสพื้นกระเบื้องเย็นๆ อันคุ้นเคย และได้เห็นห้องนอนในวัยเด็กที่เราเติบโตมา ความรู้สึกหน่วงๆ ก็ผุดขึ้นในใจอย่างอธิบายไม่ถูก
หรือบางทีเราก็เผลอพูดจาด้วยความหงุดหงิดใส่คนในครอบครัว จนเรารู้สึกแปลกใจเหมือนกันเพราะฟังดูแล้วมันไม่ใช่ตัวเราเลย
หรือจะเป็นความรู้สึกสับสน แอบดีใจแต่ก็รู้สึกแย่ ในคืนสุดท้ายก่อนจะได้ร่ำลาครอบครัวและกลับไปยังห้องพักใกล้ที่ทำงานของตัวเอง
ทำไมวันหยุดยาวที่เราคิดว่าจะมีแต่ความสุขถึงเต็มไปด้วยอารมณ์หลากหลายเช่นนี้?!
เพราะรู้สึกถึงความจำโดยปริยาย (Implicit Memory)
เราไม่ได้จะบอกว่าการกลับบ้านไปเจอครอบครัวและเครือญาติส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต หรือ ไม่ทำให้เรามีความสุข เพราะแน่นอนว่าการได้เจอคนที่เรารักนั้นทำให้เรารู้สึกดี แต่ในบางครั้ง การกลับไปอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมๆ กับผู้คนเดิมๆ อาจจะทำให้ ‘ความจำโดยปริยาย’ กระตุ้นความรู้สึกในอดีตขึ้นมาอีกครั้ง
ความจำโดยปริยายคืออะไร?
ความจำโดยปริยาย คือ ความจำในระดับจิตใต้สำนึก ที่พร้อมจะกลับมาในหัวเราได้ตลอดเวลาโดยอัตโนมัติ “เมื่อเราถูกกระตุ้นและความจำโดยปริยายผุดขึ้นมาในหัว เราจะรู้สึกถึงทุกๆ การรับรู้ อารมณ์ และการตอบสนอง ราวกับอยู่ในเหตุการณ์นั้นอีกครั้ง โดยที่เราไม่รู้สึกตัวว่าสิ่งนี้เป็นความทรงจำจากอดีต” ดอกเตอร์แดนเนียล ซีเกล นักเขียนและผู้อำนวยการร่วมแห่งศูนย์วิจัย Mindful Awareness แห่งมหาวิทยาลัย UCLA กล่าวถึง คุณสมบัติสำคัญของความจำโดยปริยาย
พูดง่ายๆ ก็คือ ความจำโดยปริยายคือความทรงจำที่ฝังลึกอยู่ในสมองเรา และสามารถกลับมาทำให้เรารู้สึกได้อีกครั้ง โดยที่เราไม่ได้ตระหนักรู้ ยกตัวอย่างเช่น ‘การปั่นจักรยาน’ ที่แม้จะผ่านมาหลายปี เราก็จำได้ว่าปั่นอย่างไร โดยไม่ต้องย้อนคิดไปถึงตอนที่พ่อ-แม่สอนครั้งแรก
ในทางตรงกันข้าม ความทรงจำที่พ่อแม่สอนว่าปั่นอย่างไร หรือ การปั่นจักรยานครั้งแรกของเรา เป็นความจำชัดแจ้ง (Explicit Memory) ซึ่งเราสามารถเรียกคืนได้เมื่อย้อนคิดดีๆ นั่นเอง ต่างกับความจำโดยปริยาย (Implicit Memory) ที่พาความรู้สึก ความคิด หรือตัวตนเดิมๆ ที่เราเคยเป็นกลับมาโดยอัตโนมัติและโดยที่เราไม่รู้ตัว
หากเราเคยถูกไม้กวาดตี จู่ๆ เราอาจจะรู้สึกแย่ขึ้นมาอีกครั้งเมื่อเห็นไม้กวาดที่บ้าน (โดยไม่ต้องย้อนนึกถึงเหตุการณ์ตอนโดนตีด้วยซ้ำ) หรือถ้าหากว่า เราเคยเถียงกับพ่อแม่เรื่องใดสักเรื่องในตอนเด็ก แม้ตอนนี้จะโตแล้ว แต่ถ้าพ่อแม่พูดถึงเรื่องนั้นอีก โทนเสียงและคำพูดของเราอาจเหมือนที่เราเคยใช้เถียงตอนเป็นวัยรุ่น โดยไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังเป็นเช่นนั้นอยู่
แม้พ่อแม่จะพยายามดีที่สุดในการเลี้ยงดูเราให้เติบโตมา แต่โชคร้ายที่ธรรมชาติของมนุษย์มักจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แย่ๆ มากกว่า เราอาจจะเคยโดนตีเพียงครั้งเดียว แต่เราก็จำมันได้ฝังใจ ในขณะเดียวกันเราอาจจะจำตอนที่พ่อแม่ปลอบโยนเราเป็นสิบๆ ครั้งไม่ได้ด้วยซ้ำ มนุษย์เราก็ไม่ต่างจากสัตว์ที่ถูกออกแบบมาให้จำสิ่งที่ ‘กลัว’ เลย
เพราะพ่อแม่ไม่ใช่คนที่รู้ทุกอย่างอีกต่อไป
อีกสาเหตุที่ทำให้วันหยุดของเราไม่สุขสันต์เหมือนที่คิด ก็คือช่องว่างระหว่างวัยและช่องว่างทางความรู้ ในอดีตที่เรายังเป็นเด็กและเทคโนโลยียังไม่เข้าถึงได้ง่ายเช่นทุกวันนี้ พ่อแม่เปรียบเสมือน ‘ฮีโร่’ ของเรา พวกเขารู้ทุกอย่างและตอบได้ทุกคำถามที่เราสงสัย ตั้งแต่เรื่องอาหารการกินไปจนถึงความคิดเห็นทางการเมือง เราเชื่อเหลือเกินว่าสิ่งที่พ่อแม่พูดคือสิ่งที่ถูกต้องที่สุด
แต่ด้วยอายุที่มากขึ้นและความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายๆ ด้วยเทคโนโลยี เราพบว่าที่เราเคยเชื่อตามพ่อแม่นั้นไม่ได้ถูกเสียทีเดียว บางเรื่องพวกเขาไม่ได้เข้าใจเลยด้วยซ้ำ หลายคนเลยอาจจะทะเลาะกับที่บ้านบ่อยๆ ด้วยเรื่องความเห็นที่ต่างกันนี่เอง
เพราะคิดถึงตัวเราในวัยเด็ก
เตียงที่เคยนอนและหนังสือที่เคยอ่านยังอยู่เหมือนเดิม บรรยากาศเหล่านี้ชวนให้เราคิดถึงตัวเราเองที่ยังมีความสุขกับสิ่งเล็กๆ ตัวเราเองที่คิดว่าโตมาจะประสบความสำเร็จและมีเงินมากมาย ตัวเราเองที่เชื่อว่า ‘ฉันทำได้’ และจะไม่ทำให้ใครผิดหวัง
อย่างไรก็ตาม เมื่อโตขึ้นมา เราพบว่าทุกอย่างไม่ได้ง่ายเหมือนที่เคยฝัน เราผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า อาชีพที่ทำอยู่ไม่ใช่สิ่งที่วาดฝันไว้ เราไม่ได้ประสบความสำเร็จและมีเงินมากมายอย่างที่คิด แม้แต่เรื่องเรียบง่ายที่เคยสร้างรอยยิ้มให้เรา กลับไม่ได้ทำให้มีความสุขเช่นเคย
แม้การเห็นสิ่งของจากวัยเด็กจะทำให้เรารู้สึกเศร้าและรู้สึกอยากขอโทษตัวเอง แต่อย่าจมกับความทุกข์นานนัก เพราะถ้าหากคุยกับตัวเองในวัยเด็กได้ เด็กคนนั้นจะตอบเรากลับด้วยรอยยิ้มและคำว่า ‘ไม่เป็นไร’ แน่นอน
เพราะรู้สึกผิดที่ทิ้งครอบครัวไว้ด้านหลัง
เมื่อวันสุดท้ายของวันหยุดมาถึงและเราต้องเดินทางกลับ อาจรู้สึกโหวงๆ ในใจอยู่บ่อยๆ เมื่อจินตนาการถึงบ้านหลังใหญ่ที่จะเหลือเพียงพ่อแม่อยู่กันสองคน เรารู้สึกผิดที่ตัวเราเองรู้สึกดีใจกับการได้กลับไปอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ (แต่ก็เป็นเซฟโซน) ของเราเอง แน่นอนว่าเราจะคิดถึงพ่อแม่มากๆ ในช่วงแรก แต่หลังๆ เราก็อาจจะโทรหาน้อยลงด้วยความเคยชิน
ความรู้สึกผิดที่ไม่ได้อยู่ดูแลท่วมท้นขึ้นมาในอก เรารู้สึกว่าเราช่าง ‘เห็นแก่ตัว’ เหลือเกินที่ออกไปใช้ชีวิตคนเดียว
อย่างไรก็ตาม การที่เรารู้สึกเป็นตัวเองในที่อื่นมากกว่าตอนอยู่บ้านไม่ใช่เรื่องผิดเลย และการที่เราต้องจากลา ออกไปเผชิญโลกด้วยตนเองนั้นเป็นเรื่องปกติเช่นกัน เราคงจะไม่เติบโตในอัตราที่คิดไว้หากอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมๆ ที่เติบโตมา ไม่ใช่เรื่องเห็นแก่ตัวเลยที่เรารู้สึกอยากจะหาประสบการณ์ใหม่ๆ เจอความท้าทาย และหาความสุขในแบบของเราเอง
จำไว้เสมอว่าพ่อแม่ก็มีโอกาสใช้ชีวิตเช่นเดียวกันนี้ ตอนที่พวกเขายังเป็นหนุ่มสาว ก่อนที่เราจะเกิดมาบนโลก และตอนนี้ก็เป็นเพียงตาของเราเท่านั้นเอง
มีหลากหลายเหตุผลที่หลายๆ คนรู้สึกแย่เมื่อต้องกลับบ้านในวันหยุด อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรให้ความรู้สึกหดหู่เช่นนี้มาพรากความสุขทั้งหมดไป ทำความเข้าใจอารมณ์ของตนเอง ยอมรับว่าความรู้สึกเหล่านั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ และพยายามใช้เวลาอันมีค่านี้อย่างมีความสุขกับคนที่เรารักนะ
อ้างอิง:
https://bit.ly/3uED9Qk
เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
บาดแผลที่ไม่มีวันหาย จากความรุนแรงในครอบครัวและทัศนคติแบบเดิมๆ
ต้องทำอย่างไรเมื่อความต้องการของตัวเอง สวนทางกับความคาดหวังของครอบครัว กับภาพยนตร์ ‘Where We Belong’
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#society