SOCIETYสรุป 10 เรื่องที่ต้องรู้จาก “วิกฤตการณ์อาหารโลก" ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

สรุป 10 เรื่องที่ต้องรู้จาก “วิกฤตการณ์อาหารโลก” ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

‘น้ำมันแพง!’
‘เงินเฟ้อสูงสุดในรอบหลายปี!’

ตั้งแต่สงครามรัสเซีย-ยูเครนได้ปะทุขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประเด็นเหล่านี้เป็นที่พูดถึงกันอย่างมาก และเราต่างก็เห็นผลกระทบกันชัดเจน ตั้งแต่ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ไปจนถึงการต่อคิวเติมน้ำมันรถกันยาวเหยียด เมื่อได้ยินประกาศว่าราคาน้ำมันจะพุ่งสูงในวันถัดไป

แต่อีกประเด็นที่จะเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก คือ “วิกฤตการณ์อาหารโลก”

แม้วิกฤตการณ์อาหารโลก (Global Food Crisis) จะเป็นปัญหาที่ผู้เชี่ยวชาญจากหลายประเทศต่างกังวลเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะประเทศที่เห็นผลกระทบชัดเจน แต่ประชากรในประเทศที่ถูกยกว่าเป็น ‘อู่ข้าวอู่น้ำ’ อย่างประเทศไทยนั้น อาจจะยังไม่ค่อยตื่นตัวในเรื่องนี้มากนัก

วันนี้ Mission To The Moon จึงได้สรุปประเด็นสำคัญจากเรื่อง “The Rising Risk of a Global Food Crisis” ในพอดแคสต์ของ McKinsey & Company มาไว้ให้ เพื่อจะได้เข้าใจสถานการณ์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
(หมายเหตุ: เนื้อหาในพอดแคสต์ที่นำมาสรุป ถูกอัดเสียง ณ วันที่ 4 เมษายน 2565)

1. ซ้ำเติมจากวิกฤตเดิมที่เจอ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้เจอกับสถานการณ์ ‘โรคระบาดโควิด-19’ ที่ได้ทดสอบประสิทธิภาพของระบบอาหาร (Food System) ระดับนานาชาติ แม้จะเกิดผลกระทบบ้าง แต่ก็ไม่ได้หนักเท่าที่กำลังเจอในภาวะสงครามปัจจุบัน

ทำไมจึงรุนแรงกว่า? แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะโลกยังไม่ฟื้นตัวดีจากวิกฤตโรคระบาด ตั้งแต่ปลายปี 2020 โลกต้องเผชิญกับราคาสินค้าการเกษตรและปุ๋ยแพง แต่อีกสาเหตุหลักๆ เป็นเพราะสงครามเกิดขึ้นกับประเทศแหล่งทรัพยากร (โดยเฉพาะข้าวสาลีและปุ๋ย) และบริเวณทะเลดำ ซึ่งเป็นทะเลสำคัญที่ใช้ในการขนส่งสินค้า

2. อาหารจะหายไปหลายล้านตัน

มี 6 ประเทศในยุโรปที่เป็นตะกร้าขนมปัง (Breadbasket หรือ อู่ข้าวอู่น้ำ) ซึ่ง 6 ประเทศนี้รวมกันจะส่งออกสินค้าการเกษตรให้ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ราวๆ 60-70% อย่างไรก็ตาม หากคิดแค่ประเทศรัสเซียและยูเครน จะเห็นว่าทั้งสองประเทศรวมกัน ส่งออกข้าวสาลีกว่า 30% และน้ำมันดอกทานตะวันกว่า 65%

มีการคาดการณ์ผลกระทบไว้ว่า ผลิตผลกว่า 19-34 ล้านตันจะหายไปในปีนี้ และตัวเลขจะเพิ่มขึ้นถึง 43 ล้านตันในปี 2023 ตัวเลขเหล่านี้หมายความว่า จะส่งผลกระทบต่อปริมาณแคลอรีที่บริโภคของคนกว่า 150 ล้านคน

Advertisements

3. บางประเทศกระทบหนักกว่าประเทศอื่น

ประเทศอย่าง ‘อียิปต์’ และ ‘ตุรกี’ พึ่งพาการนำเข้าอาหารจากรัสเซียและยูเครนอย่างมาก โดยเฉพาะอียิปต์ที่พึ่งพาการนำเข้าผลผลิตกว่า 60% เท่านั้นยังไม่พอ สินค้าการเกษตรที่นำเข้านี้ไม่ได้เพื่อการบริโภคอย่างเดียว อียิปต์ยังนำไปแปรรูปและส่งออกให้แก่ประเทศอื่นๆ ในแอฟริกาตะวันออกอีกด้วย

นั่นหมายความว่าอียิปต์จะสูญทั้งรายได้และอาหารเลย

4. ผลกระทบต่อการเพาะปลูกในประเทศสงคราม

กระบวนการเพาะปลูกนั้นมีช่วงเวลาจำกัดในการเตรียมตัว ยกตัวอย่าง ข้าวบาร์เลย์ ดอกทานตะวัน และข้าวโพด ซึ่งกำลังเริ่มฤดูกาลเพาะปลูกในตอนต้นเดือนเมษายน ส่วนพืชสำคัญอย่างข้าวสาลีนั้น กำลังจะเริ่มฤดูกาลในช่วงเดือนกรกฎา อย่างไรก็ตาม เกษตรกรจำนวนมากในพื้นที่ภาวะสงครามไม่สามารถทำการเกษตรได้ ณ ขณะนี้

5. ผลกระทบต่อการเพาะปลูกทั่วโลก

องค์ประกอบสำคัญของการทำการเกษตรในยุคนี้คือ ‘ปุ๋ย’ เราจะเห็นได้ว่าประชากรโลกนั้นมากขึ้นทุกๆ ปี แต่เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตที่เพียงพอสำหรับเราทุกคนได้ ก็เพราะประโยชน์จากปุ๋ยนั่นเอง

โพแทช (Potash) และ ไนโตรเจน (Nitrogen) คือ 2 ใน 3 วัตถุดิบสำคัญในการทำปุ๋ย และมีการผลิตหลักๆ ในประเทศรัสเซีย เบลารุส และแคนาดา

หลายประเทศพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยจากประเทศรัสเซียและเบลารุส โดยเฉพาะประเทศแถบลาตินอเมริกา อย่าง บราซิล หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไปและบราซิลไม่มีปุ๋ยมากพอในฤดูกาลเพาะปลูกเดือนกรกฎาคม – สิงหาคมนี้ จะส่งผลให้อาหารราคาแพงขึ้นและพาเราเข้าสู่วิกฤตการณ์อาหารอีกขึ้น

Advertisements

6. สะเทือนระบบโลจิสติกส์ (Logistics Disruption)

สินค้าส่งออกจากยูเครนและรัสเซียมีมากถึง 105 ล้านตัน โดยปกติจะขนส่งทางเรือผ่าน ‘ทะเลดำ’ เป็นช่องทางหลัก อย่างไรก็ตาม มีเมืองท่าหลายเมืองถูกทำลายและไม่สามารถใช้งานได้ แม้จะมีการขนส่งทางบก อย่างรถไฟและรถบรรทุก มาแทนที่ชั่วคราว แต่สินค้าจำนวนมากขนาดนี้ก็เป็นเรื่องท้าทายไม่ใช่น้อย ทำให้สิ่งที่ตามมาคือปัญหาด้านระบบการขนส่ง

7. ซ้ำเติมปัญหาราคาข้าวสาลีที่มีมาก่อนสงคราม

ตั้งแต่ปี 2020-2021 ราคาข้าวสาลีเพิ่มขึ้นอยู่แล้วถึง 18% เพราะภัยธรรมชาติรอบๆ โลก เช่น ปัญหาภัยแล้งในประเทศแคนาดา และ ปัญหาอากาศแปรปรวนในฝรั่งเศส ที่มีฝนตกมากกว่าปกติในหน้าร้อน ส่งผลให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อยกว่าปีก่อนๆ

8. ราคาอาหารที่สูงและการก่อความไม่สงบ

80% ของข้าวสาลีถูกนำไปทำเป็นแป้ง ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของอาหารโลกตะวันตก (เช่น ขนมปังที่ประกอบไปด้วยแป้งถึง 60%) ดังนั้นคาดการณ์ได้เลยว่าราคาอาหารจะสูงขึ้นแน่นอน และที่น่าเป็นห่วงคือ ความไม่พอใจของประชาชนอาจจะนำไปสู่การลุกฮือได้ เช่นเดียวกับเหตุการณ์อาหรับสปริง (Arab Spring) ในช่วงปี 2010-2013 ที่เกิดขึ้นเพราะราคาข้าวสาลีสูงขึ้น

9. เปรียบเทียบกับวิกฤตการณ์อาหารโลกครั้งก่อน

โลกเคยต้องเผชิญวิกฤตอาหารมาแล้วในช่วงปี 2007-2008 หากมองสถานการณ์ปัจจุบันจากมุมของภาวะเงินเฟ้อ เราจะเห็นรูปแบบที่คล้ายๆ กันกับในอดีต อย่างไรก็ตาม ในปี 2008 เราได้เผชิญเพียงการขาดแคลนสินค้า (Commodity Shock) แต่ครั้งนี้เราเผชิญทั้งการขาดแคลนสินค้า และ การขาดแคลนปัจจัยการผลิต (Input Shock) อย่างกรณีการขาดแคลนโพแทชสำหรับปุ๋ยที่กล่าวไปข้างต้น

ผู้เชี่ยวชาญกังวลว่าหากสงครามดำเนินต่อไปท่ามกลางเศรษฐกิจเช่นนี้ จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานอย่างมาก

10. บทเรียนจากสงครามต่ออุตสาหกรรมอาหารและเกษตร

ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เป็นเรื่องสำคัญอยู่แล้วเพราะโลกกำลังเผชิญกับภาวะโลกร้อน แต่สงครามครั้งนี้ยิ่งตอกย้ำให้เราเห็นถึงความสำคัญ เราอาจจะได้เห็นนักลงทุนหันมาลงทุนด้านเทคโนโลยีการเกษตร (Agrotechnology) และเทคโนโลยีอาหาร (Food Tech) เช่น การใช้ผลผลิตให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Biosolution) และ การทำฟาร์มแนวตั้ง (Vertical Farming) เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน เกษตรกรอาจจะหันมาใช้ปุ๋ยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดขยะมูลฝอยให้น้อยลง ส่วนผู้บริโภคอาจจะหันมาบริโภคโปรตีนทางเลือกแทน

สงครามส่งผลกระทบต่อโลกหลายด้าน ซึ่ง ‘วิกฤตการณ์อาหาร’ ก็เป็นหนึ่งในนั้น หากสงครามยังดำเนินต่อไป ในอีกไม่นานทุกๆ ประเทศจะเห็นผลกระทบชัดเจนมากขึ้นแน่นอน สิ่งที่รัฐบาลจากแต่ละประเทศพอจะทำได้ตอนนี้ คือ หันมาใช้พื้นที่รกร้างเพื่อทำการเกษตร โดยเฉพาะในทวีปยุโรปที่มีพื้นที่ปล่อยว่างถึง 10-15% ส่วน แม้จะไม่มากแต่ก็อาจเพิ่มผลผลิตไว้ยามฉุกเฉินได้

และสำคัญ คือ แต่ละชาติต้องร่วมกันแก้ปัญหาโดยเลี่ยง ‘การกีดกันทางการค้า’ (Trade Restrictions) ให้ได้มากที่สุด จริงอยู่ที่ทุกชาติได้รับผลกระทบ แต่เราต้องตระหนักอยู่เสมอว่า บางพื้นที่นั้นได้รับผลกระทบหนักกว่าใครเพื่อน และความช่วยเหลือจากเราอาจเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุด ณ ตอนนี้

อ้างอิง:
รายงาน The Rising Risk of a Global Food Crisis จาก Mckinsey & Company


#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#society

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Tanyaporn Thasak
Tanyaporn Thasak
ผู้โดยสารคนหนึ่งบนยาน Mission To The Moon ที่หลงใหลในวรรณกรรม ภาพยนตร์ บทกวี การอ่าน การเขียน และการนอน

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า