รู้จัก “Cancel Culture” วัฒนธรรมการ “แบน” ในโลกโซเชียล

1711

หากใครได้ติดตามข่าวที่เป็นกระแสดังมากอยู่ช่วงหนึ่ง กับข่าวของ J.K. Rowling หรือที่เรารู้จักกันดีในฐานะผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Harry Potter” ซึ่งถูกแฟนคลับหลายคนประกาศว่าจะเลิกอ่านหนังสือที่เธอเขียนและ “Cancel” งานต่างๆ ของเธอ หลังจาก J.K. ได้พูดถึงความคิดเกี่ยวกับการเหยียดคนข้ามเพศ (Transphobic)

หรือ Shane Gillis นักแสดงตลกชาวอเมริกันผู้ที่ถูก “Cancel” งาน Saturday Night Live ในปี 2019 หลังจากที่เขาถูกเล่นมุกตลกเกี่ยวกับการเหยียดคนรักร่วมเพศ (Homophobic)  

มาจนถึงกรณีของ “ลูกหนัง” ที่เปิดตัวเป็นศิลปินเกาหลีวง H1-KEY ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จนเกิดกระแส #แบนลูกหนัง เมื่อผู้คนในโซเชียลมองว่า เราไม่ควรสนับสนุนคนที่ครอบครัวมีส่วนในม็อบกปปส. ซึ่งนำมาสู่การทำรัฐประหาร กระแสในโลกออนไลน์จึงพยายาม “Cancel” ลูกหนังดังที่ปรากฏเป็นกระแสเมื่อไม่นานมานี้

Advertisements

การ Cancel ที่ว่านี้ คือการเลิกติดตาม เลิกให้ความสนใจ เพื่อให้ผู้ที่ถูกแบนได้เกิดความตระหนักถึงการรับผิดชอบต่อทัศนคติของตนเองในด้านสังคมหรือการเมือง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมในโลกออนไลน์ที่กำลังส่งผลเหมือนคลื่นใต้น้ำ แม้บางครั้งจะไม่สาดซัดตูมใหญ่ แต่ก็สร้างแรงกระเพื่อมเป็นวงกว้างพอสมควร ลองมารู้จักกับวัฒนธรรมดังกล่าวนี้ให้มากขึ้นกัน

Cancel Culture คืออะไร?

Cancel Culture หรือ Call-out Culture คือการที่คนจำนวนมากเลิกสนับสนุนบุคคลหรือแบรนด์หนึ่งๆ ผ่านทางออนไลน์ หรือที่เรารู้จักในคำว่ากันว่า “แบน” หรือคว่ำบาตรผู้ที่มีชื่อเสียง เนื่องจากพวกเขาหรือครอบครัวมีการกระทำที่ไม่เหมาะสมในสายตาคนบางส่วน ทั้งในเชิงพฤติกรรม คำพูด ทัศนคติ รวมไปถึงการโพสต์ หรือการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย 

Cancel Culture ต่างจาก Boycott ไหม?

หลายๆ เว็บไซต์ได้ให้ข้อมูลว่า ทั้งสองคำนี้มีความหมายเดียวกัน แต่ผู้เขียนใน Medium จากบทความเรื่อง “Is Cancel Culture The New Boycott?” ได้ให้ความเห็นไว้ว่า สองคำนี้แตกต่างตรงที่ “Boycott” คือ การแบนที่มีการวางแผนว่าเมื่อไหร่ถึงจะหยุดการแบนนี้ ต่างจาก Cancel Culture ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดไป

จุดกำเนิดของ Cancel Culture

ที่มาของวัฒนธรรมนี้อาจปรากฏมาตั้งแต่ในสมัยโบราณ แต่ Aja Romano นักข่าวจากสำนักข่าว Vox ได้บันทึกคำว่า “Cancel” ที่ปรากฏบนหน้าสื่อครั้งแรกบนภาพยนตร์เรื่อง “New Jack City” ในปี 1991 และคำดังกล่าวได้ปรากฏบนโลกโซเชียลมีเดียครั้งแรกในปี 2014 

เมื่อแอกเคานต์โปรโมตโชว์ “The Colbert Report” ได้โพสต์มุกตลกที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทชาวเอเชีย ทำให้ Suey Park ลูกครึ่งเกาหลีอเมริกันซึ่งเป็นนักรณรงค์บนโลกโซเชียลออกมาตอบโต้การกระทำนี้ด้วยการสร้างแฮชแท็ก #CancelColbert ซึ่งเรียกร้องให้ Stephen Colbert เจ้าของแอกเคานต์ยกเลิกโชว์นี้

แต่สุดท้าย กระแส Cancel ถูกตีกลับเพราะหลัง Colbert ออกมาบอกว่า เขาไม่เคยต้องการให้เกิดปัญหานี้ขึ้น สังคมจึงมองว่า Park พูดจาโผงผางและเรียกร้องมากเกินไป  ในขณะที่โชว์ยังสามารถแสดงต่อไปได้ แต่ Park กลับถูกวิจารณ์การกระทำนี้รวมถึงถูกคุกคามจากคนในโลกโซเชียลมีเดียอย่างรุนแรงแทน

แต่ในปัจจุบัน กระแส Cancel Culture ก็ไม่ได้ถูกตีกลับ และมักได้รับการสนับสนุน รวมถึงสร้างเครือข่ายการแบนที่แข็งแกร่งมากขึ้น ทำให้ผู้ที่ถูกแบนต้องออกมาขอโทษหรือชดใช้ค่าเสียหาย เพื่อชดเชยสิ่งที่เคยเกิดขึ้น

Cancel Culture ส่งผลอย่างไรในปัจจุบัน

ผลกระทบของ Cancel Culture เป็นอะไรที่ละเอียดอ่อนและมีความจำเพาะ จึงขอยกกรณีตัวอย่างจากสองเหตุการณ์ต่อเนื่องอย่าง #TaylorSwiftIsCancelled และ  #KanyeWestIsOverParty ในปี 2016 

สำหรับกรณีดังกล่าวนั้นเกิดจาก MV เพลง Famous ของ Kanye ที่มีหุ่นที่หน้าตาคล้าย Taylor และมีเนื้อเพลงที่พูดถึงเธอในเชิงไม่ดี ทำให้ Taylor ตัดสินใจประกาศการกระทำดังกล่าวบนเวที Grammy 2016 ซึ่งต่อมา Kanye ได้ปล่อยคลิปเสียงที่ผ่านการตัดต่อบางท่อนว่า จริงๆ แล้วเธอโอเคกับเนื้อเพลงดังกล่าว จนสังคมเข้าใจว่าเธอโกหกสาธารณชนและพากัน Cancel เธอ

สำหรับมุมมองจาก Taylor ที่ถูกสังคมแบนจนเธอต้องเลี่ยงการเข้าโซเชียลมีเดียเป็นเวลานาน เธอมองว่า การถูก Cancel ไม่ได้ต่างอะไรจากการถูกสั่งให้ “ฆ่าตัวตาย” เลยทีเดียว แม้ภายหลังคนในสังคมจะพบว่า Kanye หลอกลวงทุกคนผ่านคลิปเสียงที่เขาได้ปล่อยออกมา แต่ Taylor คงมีบาดแผลในใจที่ยากจะลบให้หายไป

ส่วนผลกระทบจาก Cancel Culture ที่มีต่อพวกเราในฐานะผู้ร่วมแบน ทำให้เราตระหนักถึงอิทธิพลของโซเชียลมีเดีย เพราะยิ่งคนเข้าถึงโซเชียลมีเดียได้มากเท่าไหร่ กระแส Cancel Culture ก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น 

Advertisements

นอกจากนี้ บางคนอาจยังไม่ทันไตร่ตรองถึงความหนักแน่นของหลักฐาน พวกเขาอาจเชื่อหรือคล้อยตามได้อย่างง่ายดาย หากเราเป็นผู้ที่ถูก Cancel นี่คงไม่ต่างอะไรกับการเป็นแพะรับบาปในสิ่งที่เราไม่ได้ก่อ

มุมมองที่หลากหลายต่อ Cancel Culture

ผลลัพธ์ที่หลากหลายและรุนแรงที่เกิดจาก Cancel Culture นำไปสู่การโต้แย้งจากหลายๆ ฝ่าย ว่าสรุปแล้วสิ่งนี้ดีหรือไม่ดีกันแน่ 

ในด้านหนึ่ง AJ Willingham นักข่าวจาก CNN ได้ชี้ว่า ถึงแม้เราจะเรียกงาน Conservative Political Action Conference (CPAC) ในปี 2021 ว่าเป็นงาน “America Uncanceled” ซึ่งสนับสนุนให้ชาวอเมริกันยกเลิกวัฒนธรรมการบอกเลิกนี้ แต่เราก็ยังคงพบเห็น Cancel Culture ได้ในสังคม อย่างเช่นการที่สำนักข่าว Fox ไล่นักเขียนคนหนึ่งออกหลังพบว่า เขาเคยคอมเมนต์เนื้อหาเชิงเหยียดสีผิว เหยียดเพศและเหยียดคนรักร่วมเพศเมื่อปีที่แล้ว

เขามองว่า Cancel Culture คือ การที่เรา “ตื่นรู้” จากการกระทำที่สุดโต่งและเป็นอันตรายต่อผู้อื่น อย่างน้อยให้ผู้กระทำเกิดความละอายในสิ่งที่พวกได้ทำ และเขามองว่า นี่คือ “ความรับผิดชอบที่ผู้กระทำต้องรับไว้”

ส่วนมุมมองที่ไม่เห็นด้วยกับ Cancel Culture ก็มีเช่นกัน อย่างในงาน Republican National Convention เมื่อปี 2020 โดย Donald Trump ได้กล่าวว่า Cancel Culture เป็นการทำให้ชาวอเมริกันในปัจจุบันต้องอยู่อย่างหวาดกลัวจากการถูกขับไล่ ทำให้อับอาย ถูกควบคุมจากสังคม นอกจากนี้ยังเป็นการลบประวัติศาสตร์ และคุกคามการแสดงออกทางวาทกรรมอย่างอิสระด้วย

แม้แต่ Barack Obama อดีตประธานาธิบดี ก็ยังสนับสนุนแนวคิดต่อต้าน Cancel Culture ว่า นี่ไม่ใช่การเคลื่อนไหวทางสังคม เพราะไม่ต่างอะไรจากการขว้างหินใส่ผู้กระทำ การแบนนี้ไม่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมได้

สุดท้ายแล้ว Cancel Culture ยังคงขึ้นอยู่กับมุมมองจากหลายๆ ฝ่าย บ้างมองว่า Cancel คือการสร้างความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ บ้างยังคงมองว่า ผู้ที่ถูก Cancel ไม่ต่างอะไรจากการเป็นสนามอารมณ์เพื่อความสะใจของผู้ที่เห็นต่างจากเขา

แล้วคุณล่ะ คิดเห็นอย่างไรกับ Cancel Culture บ้าง?

เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
Fast Fashion ใส่ได้หรือไม่ควร? ข้อคิดจากกระแส #แบนSHEIN

อ้างอิง
https://bit.ly/3rsDILH
https://bit.ly/3GD4QMj
https://nyti.ms/3dMQtsA
https://nyti.ms/3IMnvae
https://bit.ly/3lrQO86
https://bit.ly/3GynViA

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#society

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่