เปิดบาดแผลทางธุรกิจ กับงาน The Vaccine Day จาก K SME CARE รุ่น 25

3308
ภาพบรรยากาศในงาน the vaccine day

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสไปร่วมงานสัมมนาดีๆ ที่จัดขึ้นโดยกลุ่มผู้ประกอบการที่มาอบรมกับโครงการ K SME CARE ธนาคารกสิกรไทย ภายใต้คอนเซ็ป “เปิดบ้านแคร์แชร์ให้น้องโต” เป็นงานสัมมนาที่ชื่อว่า The Vaccine Day ที่เหล่านักธุรกิจจาก K SME CARE มาร่วมกันเปิดใจเล่าถึง “บทเรียนจากบาดแผลและความผิดพลาดทางธุรกิจ” เพื่อแชร์เป็นประสบการณ์และสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้ประกอบการ SME ท่านอื่นๆ ได้เรียนรู้และจะได้ไม่ก้าวเดินไปในทางที่ผิดพลาด เฉกเช่นเดียวกับเขาเหล่านั้น บนเวทีมีหลายคนมากๆ ที่มาร่วมแชร์เรื่องราวที่น่าสนใจ ฉะนั้นผมจึงขอหยิบบางส่วนจากงานมาเขียนให้ได้อ่านกันนะครับ

เปิดบาดแผลธุรกิจร้าน Penguin Eat Shabu จากคุณต่อ-ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี (สมาชิก K SME CARE รุ่น 25)

คุณต่อเล่าบนเวทีว่าได้เริ่มต้นทำธุรกิจร้านอาหารทั้งๆ ที่เป็นธุรกิจ Red Ocean โดยมีวิธีคิดว่า การหา Blue Ocean ให้เจอนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้ามันเกิดเวิร์คขึ้นมาเจ้าใหญ่ และคนอื่นๆ ก็จะกระโดดเข้ามาอยู่ดี ในที่สุด Blue Ocean ที่เราเจอก็จะกลายเป็น Red Ocean ถ้าอย่างนั้นก็เข้าไปใน Red Ocean แล้วค่อยหา Blue Ocean ในนั้นน่าจะดีกว่า

หลังจากที่คุณต่อกระโดดเข้าสู่ธุรกิจชาบูบุฟเฟ่ต์ได้ไม่นาน ร้านของคุณต่อก็เริ่มโด่งดังและเป็นที่รู้จักบนโลกออนไลน์ ด้วยวิธีคิดที่ละเอียดและไม่เหมือนใคร บวกกับความสามารถทางด้านการตลาดออนไลน์ ทำให้ร้าน Penguin Eat Shabu นั้นประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว

Advertisements

โดยมีหลักสำคัญ 4 ข้อ ที่คุณต่อบอกว่าคนทำธุรกิจร้านอาหารต้องให้ความสำคัญมากๆ

  1. ดูเรื่อง Capital Investment ให้ดี
  2. พยายามแปลงทุกอย่างให้เป็นตัวเลข และต้องสามารถวัดค่าได้
  3. พยายามเก็บข้อมูล Customer Behavior ให้ได้มากที่สุด เพราะสิ่งนี้จะมีประโยชน์ในการพัฒนาร้านต่อไป
  4. ระบบเป็นสิ่งที่สำคัญมาก (จริงๆ) 

คุณต่อทิ้งท้ายเรื่องของหลักการทำธุรกิจร้านอาหารไว้ก่อนที่จะไปเล่าถึงส่วนของบาดแผลไว้ได้อย่างคมกริบว่า “หลักของการทำธุรกิจร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ที่ดี คือ ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าเขาชนะร้าน แต่ในขณะที่เรื่องของการบริหารจัดการจะทำให้ร้านชนะลูกค้า โดยที่ลูกค้านั้นไม่รู้ตัว”

the vaccine day p2
คุณต่อ-ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี (K SME CARE รุ่น 25)

ดูแต่ “Internal Factor” โดยที่ไม่หันไปมอง “External Factor”

ด้วยความที่สาขาแรกประสบความสำเร็จอย่างมาก คุณต่อบอกว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่อีโก้เริ่มมา เลยนำเงินเก็บส่วนตัวและที่ได้จากกำไรของธุรกิจ มาทุ่มลงทุนกับสาขาใหม่ หลังจากมัดจำที่ดินและเริ่มสร้างอาคารไปสักพัก สิ่งที่คุณต่อคิดไม่ถึงก็เกิดขึ้น คือมี กทม. มาปักป้ายตัดถนน ผ่านที่ที่คุณต่อกำลังสร้างร้านอยู่

แม้ในที่สุดแล้วคุณต่อจะสามารถกอบกู้ธุรกิจจากวิกฤติกลับมาได้ แต่วิกฤติครั้งนั้นก็สร้างความสาหัสให้กับคุณต่อไม่น้อย เพราะการทำถนนกินระยะเวลานานหลายปี ทำให้เงินสำรองที่ต้องเอาไว้จ่ายค่าเช่าที่เริ่มไม่เหลือ ทำให้ต้องวิ่งหาแหล่งเงินกู้เพื่อมาพยุงธุรกิจให้เดินต่อไป

และนี่ก็ไม่ใช่ครั้งเดียวที่เจอปัญหาในเรื่องของที่เช่า เพราะหลังจากนั้นคุณต่อก็มีบาดแผลมากมายเกี่ยวกับเรื่องที่เช่าตั้งแต่โดนผู้ให้เช่าอาคารหลอก โดนเชิญให้ออกจากสถานที่เช่า (แม้จะมีสัญญา) ทำให้ต้องสูญเสียเงินไปเป็นจำนวนมาก คุณต่อบอกว่าสาเหตุที่เป็นแบบนี้ก็เพราะตัวเขาเองนั้น “มักเช็คแต่ “Internal Factor” (ปัจจัยภายใน) ในการลงทุน แต่สิ่งที่ไม่ค่อยเช็คคือ “External Factor” (ปัจจัยภายนอก)”

คนทำธุรกิจที่เป็น “โรคคัน”

คุณต่อกลับมาพูดถึงโรคคัน (เป็นธีมของงานที่เปรียบเทียบให้เห็นว่า บาดแผลหรือปัญหาธุรกิจเปรียบเมือนโรคร้าย) โดยเล่าว่าตัวเองนั้นเป็นคนที่เห็นอะไรก็อยากทำอยากหยิบจับไปหมด ดูเหมือนเป็นคนที่คันตลอดเวลา แต่คุณต่อบอกว่าปัญหาจริงๆ ของตัวเองนั้นไม่ได้อยู่ที่ “การคัน” แต่อยู่ที่การไม่รู้จักพอสักที เมื่อไหร่ที่เราหาคำว่า “พอดี” ให้เจอ ชีวิตเราจะมีความสุขขึ้นเยอะ ทุกวันนี้คุณต่อมีความสุขมากที่ในทุกวันได้แชร์ได้แบ่งปันเรื่องราวต่างๆ เพื่อเป็นประสบการณ์ให้กับคนที่ทำธุรกิจคนอื่นๆ

ในวงการของธุรกิจร้านอาหาร ไม่ค่อยมีคนที่จะมาแบ่งปันหรือแชร์ในส่วนนี้เท่าไหร่ คุณต่อจึงพยายามไปบรรยายทุกที่ ที่ถูกเชิญไปพยายามผลักดันคอมมูนิตี้ของคนทำธุรกิจร้านอาหารให้เกิด และจะพยายามสร้างสิ่งนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพราะคุณต่อรู้สึกว่าการแข่งขันนะ “ถ้าเกิดคุณโชคดีคุณก็เป็นผู้ชนะ แต่ถ้าหากคุณโชคไม่ดีคุณคือผู้แพ้ แต่ถ้ามันเป็นความร่วมมือกัน มันมีแต่ผู้ชนะไม่มีผู้แพ้”

คุณต่อปิดท้ายว่า จริงๆ แล้วดูเหมือนว่าผมจะเป็นโรคคันนะ เพราะอยากทำอะไรเยอะแยะไปหมด แต่ความจริงแล้วกลับไม่ใช่เลย แต่คุณต่อเป็นโรคชอบเกาต่างหาก ฉะนั้นจากนี้จะไม่ทำให้ตัวเองคันล่ะ แต่จะขอไปเกาให้คนอื่นแทน…


อีกท่านคือคุณเอ็ม ณัฐพงษ์ แถลงกิจ (สมาชิก K SME CARE รุ่น16) Co founder Beer Collection, Genius School และ Green Asset โรคที่ธุรกิจของคุณเอ็มเผชิญมาก็คือ “โรคมะเร็ง” คุณเอ็มบอกว่าโรคมะเร็งนั้นคือเนื้อร้ายที่จะค่อยๆ กัดกินธุรกิจของเราไปเรื่อยๆ ค่อยๆสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจเราไปทีละเล็ก ทีละน้อย จนถึงจุดๆ หนึ่งที่ความเสียหายเริ่มชัดเจนเราถึงจะรู้ตัว และบางครั้งกว่าเราจะรู้ตัวก็อาจจะสายไปเสียแล้ว

the vaccine day p3
คุณเอ็ม ณัฐพงษ์ แถลงกิจ (K SME CARE รุ่น16)

โดยคุณเอ็มได้ยก 3 กรณีตัวอย่างของเนื้อร้ายที่พบได้บ่อยๆ ในธุรกิจ ได้แก่

เนื้อร้ายก้อนที่ 1 : ไม่แยกบัญชีบริษัทออกจากบัญชีส่วนตัว

จากสถิติที่คุณเอ็มเก็บมาพบว่า กว่า 50% ของธุรกิจ SME ทั้งหมดที่มียอดขายตั้งแต่หลักแสนไปจนถึงประมาณ 10 ล้านบาทในไทย เจ้าของธุรกิจมักจะไม่แยกบัญชีบริษัทกับบัญชีส่วนตัวออกจากกัน หลายครั้งไม่ได้ตั้งเงินเดือนให้ตัวเอง ดึงเงินจากบริษัทออกมาใช้เป็นเงินส่วนตัว ทำให้เมื่อทำธุรกิจไปสักระยะก็อาจจะรู้สึกว่าทำไมธุรกิจไม่ดีเลย เงินไม่เหลือเลย แต่หลายครั้งความจริงก็คือ “ที่มันไม่เหลือเพราะวินัยของคุณไม่ดี ไม่ใช่วินัยของบริษัทไม่ดี ทั้งๆ ที่ จริงๆ แล้วบริษัทมีกำไรด้วยซ้ำ”

เนื้อร้ายก้อนที่ 2 : ความเกรงใจ ลำดับชั้นอาวุโส และการกลัวที่จะพูด

หนึ่งในจุดอ่อนขององค์กรไทยหลายๆที่คือ ลำดับชั้นความอาวุโสและความเกรงใจ มันมีมากกว่าความจริงที่ที่คนในองค์กรจะกล้าพูด ยิ่งถ้าคนในองค์กร  พนักงาน ลูกน้อง หรือแม้แต่กระทั่งลูกๆ ของคุณเองที่กำลังอยากจะพูดอะไร แล้วเลือกที่ไม่พูดเพราะความเกรงใจ เลือกที่จะพูดแต่เพียงว่า “เห็นด้วยครับ ดีครับ เอาเลยครับ เยี่ยมครับ ได้ครับ ได้ค่ะ” อันนี้คือสัญญาณของก้อนเนื้อร้ายที่กำลังค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมา เพราะในที่สุดบริษัทนี้ก็จะเต็มไปด้วยคนที่ไม่พูดความจริง เลือกที่จะพูดเพียงเพื่อเอาใจใครบางคนเท่านั้น

เนื้อร้ายก้อนที่ 3 : พยายามทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ไม่สร้างระบบ ไม่ให้โอกาสทีมงานได้ทดลอง-เรียนรู้

คุณเอ็มบอกว่าอีกจุดหนึ่งที่สำคัญมากๆ คือมะเร็งความสำเร็จของตัวเองครับ เพราะหลังจากที่คุณเอ็มได้มีโอกาสมาทำร้าน Beer Collection ร่วมกับเพื่อนนักธุรกิจ K SME CARE รุ่น 16ด้วยกัน คุณเอ็มก็คิดเสมอว่าเราเนี่ยเก่ง ร้านนี้ขาดเราไปไม่ได้หรอก เราต้องนั่งคุมอยู่ที่ร้าน ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว เราเองก็อาจจะไม่ได้มีเวลามานั่งคุมตลอด และมันก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ด้วย เพราะคนทำธุรกิจก็มีหลายสิ่งที่ต้องทำ

คุณเอ็มบอกว่าช่วงที่ชีวิตได้ Take Off จริงๆ คือการที่เราเดินไปบอกผู้จัดการร้านว่า “แล้วแต่พี่เลยครับ พี่ตัดสินใจได้เลย” ทั้งๆ ที่รู้ว่าเขากำลังจะสร้างความผิดพลาดอยู่ แต่ว่าถ้าเราไม่นั่งอยู่เฉยๆ บ้าง เขาจะไม่มีวันทำในสิ่งที่เราอาจจะเซอร์ไพรส์ หรือเราไม่ชอบ(แต่ว่าผลลัพธ์มันออกมาดี) เลยก็ได้

คุณเอ็มแนะนำให้คนทำธุรกิจลองหยุดเซ็นเช็คด้วยตัวเอง และตั้งงบประมาณให้ทีมใช้ตามนั้นดูบ้าง “ถ้าผิดพลาดก็คือผิดพลาด แต่ถ้าไม่ผิดพลาดก็คือการเติบโต” ฉะนั้นร้าน Beer Collection คุณเอ็มไม่ได้เซ็นเช็คเองมาประมาณ 4 ปีแล้ว ทำให้ทุกวันนี้มีเวลาไปทำอย่างอื่น ไปศึกษาเรื่องอื่นๆ ต่อได้มากมาย

Advertisements

คุณเอ็มเล่าถึงประสบการณ์ในการมาเรียนที่ K SME CARE ให้เราฟังว่า

ได้เรียนรู้ประสบการณ์ในแง่ต่างๆ มากมาย จากเพื่อนร่วมรุ่นกว่า 200 ชีวิต ที่เข้ามาเรียนใน K SME CARE  รุ่น 16 แล้วคุณเอ็มก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานของรุ่นในตอนนั้น ทำให้ได้เรียนรู้วิธีการคิด การทำงานของแต่ละคน ระหว่างที่เรียน และได้ทำงานร่วมกันในคอร์สอบรม  ได้ทั้งประสบการณ์ และเพื่อนดีๆ จนสุดท้ายก็เกิดเป็นธุรกิจร้าน Beer Collection

คุณเอ็มพูดทิ้งท้ายก่อนจบว่า จริงๆ แล้วคนทำธุรกิจทุกคนควรที่จะหาเวลาไปเรียนรู้เรื่องต่างๆ ที่ตัวเองขาด และในโลกนี้ก็มีคอร์สมากมาย ที่จะช่วยตอบโจทย์ในเรื่องที่เราไม่รู้ได้ แต่สำหรับคุณเอ็มนั้น K SME CARE เป็นคอร์สที่ตอบโจทย์ทั้งเรื่องมิตรภาพ และ การทำธุรกิจ และให้ในหลายเรื่องที่คอร์สอื่นๆ ให้ไม่ได้


the vaccine day p4

สุดท้ายหลังจบงานที่ดีๆ แบบนี้ผมเองก็ได้มีโอกาสพูดคุยเล็กน้อยเกี่ยวกับผู้จัดงาน รวมไปถึงคนที่มาร่วมงานสัมมนาในวันนั้น ว่ารู้สึกอย่างไรบ้างที่ได้มาเรียนที่ K SME CARE

เริ่มจากท่านแรกคือ คุณ บีม-รุสนันท์ ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม K SME CARE รุ่น 25

คุณบีมเองเป็นพิธีกรและผู้คิดธีมของงานสัมมนา K SME CARE The Vaccine Day ในวันนี้ด้วย เมื่อถามถึงที่มาของ งานนี้ และ ความรู้สึกที่มีต่อ K SME CARE คุณบีมเล่าให้ฟังว่า

The Vaccine Day เป็นหนึ่งในกิจกรรมสายบุญ ของโครงการ K SME CARE รุ่น 25 โดยมีรูปแบบของการแบ่งปันองค์ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้กับ SME อื่นๆ   คุณบีมมองว่าในปัจจุบัน ไม่ว่าจะไปฟังงานสัมมนาที่ไหน ก็จะเห็นแต่ ใครๆ ก็พูดถึงแต่เรื่องของ Success Story ทำไมเราไม่ทำแบบ Fail Zone บ้าง โดยการจับประเด็นจากประสบการณ์ความเจ็บ ความล้มเหลวของธุรกิจ ที่นักธุรกิจแต่ละคนต้องพบเจอมา ซึ่งเปรียบเสมือนว่าธุรกิจของแต่ละคนนั้นกำลังป่วยเป็นโรคต่างๆ นี่จึงเป็นที่มาของไอเดียธีมงาน The Vaccine Day สำหรับ K SME CARE รุ่น 25

อีกท่านคือ คุณ ไช้-สมชาติ ลีลาไกรศร K SME CARE รุ่น 14 อดีตผู้บริหารธนาคารกสิกรไทย นักเขียนและที่ปรึกษาด้านการตลาด

ด้วยความที่คุณไช้เองเคยเป็นอดีตผู้บริหารของ ธนาคารกสิกรไทยและเป็นผู้ปลุกปั้นโครง การ K SME CARE ด้วย เลยมีมุมที่น่าสนใจหลายส่วนเกี่ยวกับคอร์สอบรมโครงการ K SME CARE

คุณไช้เล่าให้ฟังว่า งานสัมมนานั้นจะไปหาที่ไหนก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นงานแบบครึ่งวันหรือหนึ่งวัน แล้วก็จบกันไป ให้ไปตกผลึกความรู้กันเอง แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ต้องการจริงๆ คือคนที่ช่วยคิด หรือคอมมูนิตี้ที่แลกเปลี่ยนความรู้ในกลุ่มธุรกิจ SME ด้วยกัน

ฉะนั้นถ้าหากมันมีสถานที่ ที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางความคิด แลกเปลี่ยนวิธีการต่างๆ ระหว่างคนทำ ธุรกิจด้วยกันได้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์มากๆ กับคนทำธุรกิจ และ K SME CARE ก็สามารถตอบโจทย์ในจุดนี้ได้

คุณไช้ทิ้งท้ายกับ 3 เหตุผลหลักที่คนทำธุรกิจจะได้รับกับการมาเรียนที่ K SME CARE ไว้อย่างน่าสนใจว่า

1. เรียนรู้จากปากของคนที่ทำธุรกิจจริงๆ

การได้ออกมาพบปะกับผู้คน เราไม่ได้เรียนรู้จากทฎษฎีเพียงอย่างเดียว เราเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของเพื่อนร่วมรุ่นด้วย เปรียบเสมือนกับเป็นทางลัดในการเรียนรู้ จากปากของคนที่ทำธุรกิจจริงๆ

2. มิตรภาพ และเครือข่ายทางธุรกิจ

ปกติถ้าไปตามงานที่เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละอุตสาหกรรม เราก็อาจจะได้เพื่อนที่เป็นเฉพาะกลุ่มในวงเดียวกัน แต่ใน K SME CARE จะช่วยให้คนทำธุรกิจได้รู้จักคนที่หลากหลายมากขึ้น อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่แตกต่างกัน เพราะเรื่องบางอย่างเราอาจจะไม่เคยรู้มาก่อนเลยก็ได้ เพราะมันไม่ได้อยู่ในวงการของเรา แต่เมื่อเราได้รู้เราก็สามารถเอามาปรับใช้กับธุรกิจของเราได้ เรื่องนี้จะเป็นประโยชน์มากๆ สำหรับคนทำธุรกิจ SME

3.เรียนรู้การบริหารชีวิต และธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น

อันนี้เป็นประโยชน์ทางอ้อม เพราะว่าหลังจากที่เราออกมาปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ได้องค์ความรู้ได้เคล็ดลับจากวิทยากรแล้วนั้น เราจะเริ่มเข้าใจชีวิตมากขึ้น บางทีมันอาจจะไม่เกี่ยวกับธุรกิจเลยก็ได้ แต่สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถขัดเกลาวิธีคิดในการบริหารธุรกิจ และบริหารชีวิตให้ประสบความสำเร็จได้มากยิ่งขึ้น


ตลอดครึ่งวันที่ผมได้ร่วมฟังงานสัมมนาของ The Vaccine Day ต้องบอกว่าเวลานั้นผ่านไปอย่างรวดเร็ว เพราะเรื่องราวบนเวทีในวันนั้นไม่สามารถหาฟังได้จากที่ไหนจริงๆ เรื่องราวความของสำเร็จ เราอาจจะได้อ่านได้ฟังกันมาบ้างจากแหล่งอื่น แต่เรื่องราวของบาดแผลทางธุรกิจ ที่แต่ละท่านมาแชร์กันแบบไม่มีหมกเม็ด เป็นสิ่งที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน ทำให้เราได้เรียนรู้ทั้งเรื่องของบทเรียนความผิดพลาดทางธุรกิจ และได้บทเรียนของการใช้ชีวิต อีกทั้งรายได้ทั้งหมดของงานนี้ยังถูกนำเพื่อช่วยเหลือสังคมผ่านกิจกรรมต่างๆ ของทาง K SME CARE อีกด้วย เรียกว่า ได้ทั้งความรู้ ได้ทั้งบุญจริงๆ ครับ

งาน The Vaccine Day นั้น เป็นหนึ่งในกิจกรรม “พี่แคร์แชร์ให้น้องโต” จากทาง K SME CARE สำหรับท่านใดที่สนใจอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ในการเรียนรู้จากประสบการณ์ของนักธุรกิจตัวจริง สามารถคลิกเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติ่มได้ที่ http://bit.ly/2OvaKJj เลยครับ

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่