self developmentปีใหม่ทีไรเศร้าทุกที? เมื่อสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้เกิด Year-End Blues

ปีใหม่ทีไรเศร้าทุกที? เมื่อสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้เกิด Year-End Blues

ทำไมถึงช่วงวันหยุดยาวปีใหม่ทีไร คนอื่นดูมีความสุข แต่เรากลับรู้สึกเศร้าทุกที?

ถ้าใครมีอาการเช่นนี้ เป็นไปได้ว่าสาเหตุส่วนหนึ่งอาจมาจากการเสพโซเชียลมีเดียมากจนเกินไป เพราะท่ามกลางวันหยุดยาวและคนมากมายที่กำลังมีความสุขในฤดูกาลนี้ แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะมีประสบการณ์ที่ดี

บางคนอาจจะเจอกับความสูญเสีย บางคนอาจจะมีปัญหาความขัดแย้งกับคนในครอบครัว หรือบางคนอาจจะกำลังมีปัญหาทางการเงิน ผู้คนเหล่านี้ต้องอยู่กับความตึงเครียดและความท้าทายหลายอย่าง เมื่อเปิดโซเชียลขึ้นมาแล้วเห็นว่า คนมากมายกำลังมีช่วงเวลาแห่งความสุขในเทศกาลปีใหม่ แต่พอหันกลับมาดูตัวเองแล้วรู้สึกว่าชีวิตไม่เป็นเหมือนคนอื่น ก็อาจนำไปสู่อาการ Year-End Blues หรืออาการเศร้าๆ ในช่วงวันสิ้นปีได้

วันนี้ Mission To The Moon จะพาไปทำความเข้าใจว่า เพราะเหตุใดการเล่นโซเชียลมีเดียจึงจะนำไปสู่อาการ Year-End Blues พร้อมเคล็ดลับในการลด ละ เลิกเล่นโซเชียลมีเดีย เพื่อให้ใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันอย่างมีความสุขมากยิ่งขึ้น

การเล่นโซเชียลมีเดียมากไป ทำให้จิตใจเราเหนื่อยล้า

จากบทความ Don’t Let Social Media Give You the Year-End Blues ของ Psychology Today พบว่ามีการศึกษาที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งที่บ่งชี้ว่า ผู้ที่มีอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวลมักจะเป็นผู้ใช้โซเชียลมีเดียสูง และยังชี้อีกว่ายิ่งเล่นโซเชียลมากเท่าไหร่ อาการก็ยิ่งแย่ลงเท่านั้น

เพราะอะไรการเล่นโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาว ถึงส่งผลร้ายต่อตัวเรา?

1. การเปรียบเทียบทางสังคม

คนเราเวลาจะโพสต์อะไรลงบนโลกโซเชียลส่วนใหญ่ก็มักจะเลือกโพสต์แต่สิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตเท่านั้น ซึ่งในช่วงสิ้นปีนี้หลายคนจะต้องโพสต์ชีวิตของตัวเองเยอะเป็นพิเศษอย่างแน่นอน หน้าฟีดของพวกเราอาจจะเต็มไปด้วยรูปครอบครัวสุขสันต์ การเดินทางไปเที่ยวทั้งต่างจังหวัดและต่างประเทศ หรือบางคนอาจจะได้เงินก้อนใหญ่จากครอบครัว

เมื่อเราเลื่อนดูโซเชียลและเห็นภาพเหล่านี้ซ้ำๆ แล้วนำมาเปรียบเทียบกับชีวิตที่กำลังแย่อยู่ของตัวเอง ก็อาจจะทำให้เรารู้สึกแย่ได้ เพราะเราเห็นแต่ด้านดีของคนอื่น ทั้งที่จริงๆ แล้วคนเหล่านั้นอาจจะมีปัญหาชีวิตเบื้องหลังอยู่

หากเราเป็นคนที่รู้สึกหดหู่กับปัญหาชีวิตของตัวเองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การเล่นโซเชียลอาจจะยิ่งเป็นการเติมเชื้อเพลิงนี้ และทำให้เรารู้สึกแย่กับตัวเองมากยิ่งขึ้นได้

2. ความกลัวที่จะพลาดโอกาส

แม้ว่าการเปรียบเทียบกับคนอื่นจะรู้สึกแย่แล้ว แต่อาจจะไม่ได้แย่ไปกว่าการที่เห็นภาพคนใกล้ตัวอย่างครอบครัวและเพื่อนสนิทอยู่ด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตา แต่ไม่ได้มีเราอยู่ตรงนั้นด้วย ไม่ว่าใครก็ตามหากเปิดโซเชียลมีเดียมาเจอเหตุการณ์แบบนี้ จะต้องรู้สึกทุกข์ใจในวันปีใหม่อย่างแน่นอน เพราะรู้สึกว่าตัวเองพลาดโอกาสในการอยู่กับคนที่ตัวเองรักไป

3. ความโกรธเคือง

เราจะเห็นกันอยู่เสมอว่า โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ ซึ่งในบางครั้งก่อให้เกิดความขัดแย้งได้เช่นกัน เพราะทุกคนไม่ได้มีความเชื่อแบบเดียวกัน นั่นหมายความว่าถ้าในวันปีใหม่เราเข้าไปท่องโลกโซเชียลมีเดียแล้วเจอกับคอนเทนต์หรือคอมเมนต์ที่ไม่ถูกจริตกับความเชื่อของตัวเอง อาจกระตุ้นให้เกิดความโกรธ ซึ่งสามารถนำไปสู่อาการซึมเศร้าและอาการวิตกกังวลได้

4. ความไม่มั่นใจ

หลายคนใช้โซเชียลมีเดียเพื่อยืนยันการมีตัวตนของตัวเอง แต่เมื่อถูกปฏิเสธทางสังคม เช่น การไม่ได้รับเชิญไปงานปีใหม่ หรือการไม่ได้อยู่ในรูปและโพสต์ของคนอื่น อาจก่อให้เกิดการเปรียบเทียบในเชิงลบได้ สิ่งนี้จะเป็นการลดความมั่นใจในตัวเองลง

ในทางกลับกัน การลดเล่นโซเชียลมีเดียจะให้ประโยชน์กับเราในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการมีความสุขและใช้เวลากับปัจจุบันได้มากขึ้น เนื่องจากการเล่นโซเชียลมีเดียทำให้เราเสียสมาธิจากการใช้เวลาในปัจจุบัน เช่น สมมติว่าเรากำลังทานอาหารเย็นกับครอบครัว หากเราเป็นคนติดโซเชียล เราก็จะมัวแต่จ้องโทรศัพท์ จนลืมใช้เวลากับคนตรงหน้าไป

อีกทั้งหากไม่มีสิ่งรบกวนอย่างโซเชียลมีเดีย เราก็จะมีเวลาไปทำอย่างอื่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการอ่านและเขียนหนังสือ หรือการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ที่จะทำให้เป็นคนที่เก่งขึ้นรับปี 2023 ทั้งในด้านชีวิตทำงานและชีวิตส่วนตัว

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยจาก University of Glasgow ชี้ว่า โซเชียลมีเดียมีความเชื่อมโยงกับความวิตกกังวล ซึมเศร้า ความนับถือในตนเองต่ำ และนอนไม่หลับอีกด้วย เพราะแสงสีฟ้าจากหน้าจอโทรศัพท์กระทบกับการทำงานของสมอง ทำให้นอนหลับยากกว่าเดิม

ถึงเวลาพักกายและใจจากโลกโซเชียลอย่างจริงจัง

แน่นอนว่าการลดใช้โซเชียลมีเดียไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเราต่างก็กลัวที่จะพลาดข่าวสารบางอย่างไป ถึงแม้ว่าเราอาจจะไม่ใช่คนติดโซเชียลขนาดนั้น แต่ก็มีแนวโน้มที่เราจะมีอาการลงแดงได้เหมือนกันถ้าจำกัดการเล่น เพราะฉะนั้น ขั้นตอนแรกในการจำกัดการเล่นโซเชียลคือ เราจะต้องตระหนักให้ได้ว่าเราจะพลาดข่าวสารบางอย่างไปอย่างแน่นอน

แต่สิ่งสำคัญที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้คือ เราจะรู้ได้ว่าชีวิตที่ไม่มีโซเชียลมีเดียไม่ได้โดดเดี่ยวอย่างที่คิด เราอาจจะสร้างความสัมพันธ์ที่สนิทสนมกับคนอื่นยิ่งขึ้นผ่านช่องทางการสื่อสารอื่นๆ ได้ เช่น ข้อความและการโทรหากัน

สิ่งที่เราควรทำต่อมาคือ การปิดแจ้งเตือนแบบพุช เพราะการแจ้งเตือนจะทำให้เราเสียสมาธิและทำให้เราหันกลับไปใช้โซเชียลมีเดียได้ การปิดแจ้งเตือนจึงจะเป็นวิธีที่ช่วยให้เราอยู่ห่างจากโซเชียลเป็นระยะเวลานานขึ้น

หลังจากนั้นให้ลบแอปฯ โซเชียลออกจากมือถือ ไม่ว่าจะเป็น Instagram, Facebook, LINE และ Twitter รวมถึงออกจากระบบบนคอมพิวเตอร์ไว้ด้วย เพราะการมีโซเชียลติดมือถือไว้จะทำให้กดคลิกเข้าไปได้ง่าย วิธีนี้จึงเรียกได้ว่าเป็นวิธีขจัดสิ่งล่อตาล่อใจแบบง่ายๆ แต่ก็ช่วยให้อยู่ห่างจากโซเชียลได้มากขึ้นเช่นกัน

Advertisements
Advertisements

ถ้าไม่เล่นโซเชียล แล้วควรทำอะไรแทน?

อีกขั้นตอนที่ต้องทำหากอยากอยู่ห่างจากโลกโซเชียลคือ ให้เริ่มมองหาสิ่งอื่นๆ ทำ เพื่อหันเหความสนใจของตัวเอง จะได้ไม่ต้องจมอยู่กับความกังวลที่ต้องห่างจากโซเชียลมีเดีย ดังนี้

1. เข้าหาคนรอบข้างให้มากขึ้น

บางคนเมื่อต้องจำกัดการเล่นโซเชียลมีเดียแล้วอาจจะรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว นี่จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ติดต่อกับคนที่เรารัก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ครอบครัว คนรัก หรือคนที่ไม่ได้พูดคุยกันนานแต่อยากเจอหน้า ให้ออกมาพบปะสังสรรค์กัน เพื่อสร้างความรู้สึกเชื่อมโยงกับผู้อื่น

2. ขยับร่างกายให้มากขึ้น

หากใครที่รู้สึกว่าไม่ได้อยากเจอคนอื่นขนาดนั้น ก็มีอีกกิจกรรมหนึ่งที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง นั่นคือ “การออกกำลังกาย” เพราะมีงานวิจัยจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นว่า หากออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมทางกายมากขึ้น จะช่วยลดอาการซึมเศร้าและอารมณ์ด้านลบได้

แต่หลายคนกลับรู้สึกว่า เมื่อตัวเองเศร้าแล้วไม่อยากออกกำลังกาย ทางแก้ที่สามารถทำได้คือ การเขียนลิสต์ออกมาว่าอยากทำกิจกรรมอะไรบ้าง ทั้งในบ้านและนอกบ้าน แล้วให้เลือกกิจกรรมที่รู้สึกว่าทำได้มากที่สุด

3. เสพสื่ออย่างอื่นที่ทำให้อารมณ์ดีขึ้น

ถ้าสื่อสังคมออนไลน์ทำให้เราเครียด แล้วมีสื่ออะไรอย่างอื่นอีกบ้างที่จะทำให้เราอารมณ์ดีขึ้นได้?

คำตอบของคำถามนี้ขึ้นอยู่กับว่าโดยส่วนตัวแล้วเราชอบอะไร บางคนที่ชอบอ่านหนังสือก็สามารถหันไปเสพสื่ออย่างหนังสือ เพื่อเติมเต็มความรู้และตามหาแรงบันดาลใจ หรือบางคนอาจจะไม่ได้ชอบอ่านแต่ชอบดู ก็สามารถหันไปดูหนังหรือรายการทีวีที่ทำให้หัวเราะและรู้สึกดีขึ้นได้

4. ปรับปรุงพื้นที่ภายในบ้าน

สำหรับใครที่มีเวลาว่างในช่วงสิ้นปี เราสามารถใช้ช่วงเวลานี้ในการจัดบ้านให้มีพื้นที่มากขึ้น เพราะบ้านโล่งๆ จะทำให้แสงสว่างเข้าถึงได้มากขึ้น ซึ่งแสงสว่างนี้จะช่วยให้เรารู้สึกแย่น้อยลงได้นั่นเอง

หลังจากนั้นให้ลองดูว่ามีอะไรบ้างที่ไม่จำเป็นต้องใช้แล้ว อาจจะเป็นของใช้ในบ้าน เสื้อผ้า หรือแม้แต่เครื่องสำอาง ให้นำสิ่งเหล่านั้นไปบริจาค ถือเป็นการสร้างความสุขให้ตัวเอง ไปพร้อมๆ กับแบ่งปันความสุขให้กับคนอื่นไปในตัว

5. หากิจกรรมสร้างสรรค์อย่างอื่นทำ

หากใครที่มีงานอดิเรกหรือความชื่นชอบอย่างอื่นเป็นพิเศษ เช่น งานศิลปะ งานฝีมือ การทำอาหาร งานอาสาสมัคร หรือกิจกรรมอื่นๆ ก็สามารถใช้เวลาช่วงวันหยุดยาวไปกับกิจกรรมเหล่านี้ได้เช่นเดียวกัน

หรืออาจจะลองคิดทบทวนในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาว่า มีสิ่งใดบ้างที่รู้สึกอยากขอบคุณ ให้ลองใช้เวลาในการคิดกับสิ่งนี้เยอะๆ แล้วหาโอกาสไปขอบคุณคนที่ทำให้ผ่านช่วงเวลาที่ทั้งดีและไม่ดีในปีนี้

โดยรวมแล้ว เราต่างก็รู้กันดีว่าโซเชียลมีเดียเป็นสิ่งที่เข้ามาสร้างความสะดวกในการทำความรู้จักกับคนอื่น แต่ก็เป็นสิ่งที่สามารถทำร้ายเราได้เช่นเดียวกันหากไม่ระวังให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่กำลังมีปัญหาชีวิตอยู่อาจทำให้รู้สึกแย่ลงได้หากนำสิ่งที่เห็นจากคนอื่นเพียงด้านเดียวมาตัดสิน ดังนั้นสิ่งที่เราสามารถทำได้คือการลด ละ เลิก การใช้โซเชียลมีเดียไปสักพัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปีใหม่ เพราะผู้คนจะโพสต์เรื่องราวชีวิตของตัวเองเป็นพิเศษ

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หากใครก็ตามที่กำลังรู้สึกเหนื่อยล้ากับการเล่นโซเชียลมีเดีย ให้จำไว้ว่า “การหยุดพักจากโซเชียลมีเดีย” จะเป็นวิธีที่เข้ามาช่วยให้เราหยุดพักจิตใจ ผ่อนคลายอารมณ์ และใช้เวลากับปัจจุบันได้อย่างมีความสุขยิ่งขึ้น

แปลและเรียบเรียง
– Don’t Let Social Media Give You the Year-End Blues : Bonnie Zucker, Psychology Today – https://bit.ly/3BvGjso
– Using Social Media for Reassurance and Validation : Bonnie Zucker, Psychology – https://bit.ly/3UNyKEt
– How to Quit Social Media for a Happier and More Focused Life : John Hall, Lifehack – https://bit.ly/3hnkh4c
– How to take a break from social media and why it’s so important, according to mental health experts : Juliana Ukiomogbe, Business Insider – https://bit.ly/3UNySnr

#selfdevelopment
#psychology
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า