self developmentรู้จัก Separation Anxiety อาการของคนคิดมาก เมื่อต้องห่างกับแฟน

รู้จัก Separation Anxiety อาการของคนคิดมาก เมื่อต้องห่างกับแฟน

“ติดแฟน ไม่อยากห่างกันเลย”
“ต้องห่างกับแฟน ทำใจไม่ได้เลย”
“ไม่เคยห่างกับแฟน พอห่างกันแล้วรู้สึกแปลกๆ”

ใครเคยมีอาการหรือความรู้สึกแบบนี้อยู่ในใจกันบ้าง? ถ้าหากเคยคุณอาจมีแนวโน้มเป็น Separation Anxiety หรืออาการของความวิตกกังวลเมื่อต้องแยกจาก

แน่นอนว่าการต้องห่างไกลจากคนรักจะทำให้เรารู้สึกเศร้าและหงุดหงิด เพราะต้องรอเวลาเพื่อที่จะได้พบเจอหน้ากันอีกครั้ง แต่สำหรับบางคนแล้วระยะทางสามารถทำให้รู้สึกวิตกกังวลได้เป็นอย่างมาก เช่น กลัวว่าเมื่อแยกจากกันแล้วจะเกิดอะไรไม่ดีขึ้นกับคนที่รัก กลัวถูกทิ้งไว้กลางทาง หรือกลัวโดนนอกใจ

แต่หากการอยู่ห่างจากคนรักทำให้วิตกกังวลหรือกลัวมากไป ก็อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตได้ เพราะเราจะโฟกัสกับสิ่งอื่นๆ ในชีวิตได้น้อยลงและใช้เวลาทั้งหมดไปกับการคิดและกังวลซ้ำๆ ซึ่งไม่ได้ส่งผลดีอะไรต่อตัวเราเลย

ในบทความนี้เราจะพาไปทำความเข้าใจสาเหตุ อาการ และวิธีการรับมือกับ Separation Anxiety เพื่อให้เราหันกลับมาใช้ชีวิตด้วยตัวคนเดียวได้ โดยไม่ต้องกังวลถึงคนอื่น

รู้จักกับความวิตกกังวลเมื่อต้องห่างกับคนรัก

ตอนเด็กๆ ใครเคยไปโรงเรียนแล้วร้องไห้ตามพ่อแม่กลับบ้าน หรือเคยร้องไห้ตามพ่อแม่เมื่อเห็นเขากำลังจะออกจากบ้านบ้าง?

เราเรียกสิ่งนี้ว่า Separation Anxiety เป็นอาการที่พบได้บ่อยในวัยเด็ก แต่ก็เกิดขึ้นในวัยผู้ใหญ่ได้เหมือนกัน

สำหรับคนที่กำลังรู้สึกว่าการอยู่ห่างจากคนรักเป็นเรื่องยาก หรือแค่คิดถึงสถานการณ์นั้นก็รู้สึกใจหายแล้ว เชื่อว่าเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้วอาจกำลังสงสัยว่า “หรือเรากำลังเป็น Separation Anxiety?”

ดังนั้นเรามาดูกันดีกว่าว่าอะไรเป็นสัญญาณของ Separation Anxiety

[ ] กลัวการอยู่คนเดียว การถูกทอดทิ้ง หรือกลัวว่าความสัมพันธ์จะจบลง
[ ] กังวลเมื่อคนรักจะออกจากบ้าน
[ ] กลัวว่าจะมีอันตรายอะไรเกิดขึ้นกับแฟนมากเกินไป
[ ] มีปัญหาการนอนหลับเพราะกังวลเกี่ยวกับแฟนมากเกินไป

นอกจากนี้ David Klemanski นักจิตวิทยาจาก Yale Medicine ยังได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่าคนที่เป็น Separation Anxiety อาจมีอาการต่อไปนี้อีกด้วย

[ ] อาการทางร่างกาย: Separation Anxiety อาจทำบางคนให้มีอาการทางกาย เช่น หัวใจเต้นเร็ว รวมถึงรู้สึกเสียวแปลบที่แขนขา
[ ] อาการทางพฤติกรรมและการรับรู้: Separation Anxiety จะทำให้อารมณ์เปลี่ยนแปลง เช่น อาการวิตกกังวลหรืออาการซึมเศร้าแย่ลง บางครั้งก็อาจทำให้การตัดสินใจ การกิน และการนอนแย่ลงด้วย
[ ] ปัญหาในการทำงาน: บางคนอาจหลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน รู้สึกใช้ชีวิตที่ทำงานยากลำบาก หรือบางครั้งอาจถึงขั้นหันไปใช้สารเสพติดเพื่อรักษาอาการเลยทีเดียว

ที่มาของความกลัวการแยกจาก

เมื่อเราเข้าใจแล้วว่าอาการของ Separation Anxiety เป็นอย่างไร ทีนี้เรามาดูต้นตอที่ทำให้เกิดอาการนี้กันดีกว่า แต่ต้องบอกก่อนว่าจริงๆ แล้วมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิด Separation Anxiety ในความสัมพันธ์ เช่น

1. ปัญหาความผูกพันในวัยเด็ก

ช่วงวัยเด็กเป็นช่วงที่เราจะได้เรียนรู้ความผูกพันกับพ่อแม่ หากเราได้รับความรักและการดูแลอย่างเหมาะสม เช่น พ่อแม่ทำให้รู้สึกอุ่นใจและไม่ปล่อยให้รู้สึกโดดเดี่ยว เราก็มีแนวโน้มที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ให้เป็นไปในรูปแบบ “Secure Attachment” หรือ “ความผูกพันแบบมั่นคง” ซึ่งความสัมพันธ์แบบนี้จะหล่อหลอมให้เรารู้สึกปลอดภัย มั่นคง และไม่กลัวการอยู่คนเดียว

ในทางกลับกัน หากตอนเด็กเราถูกละเลยหรือถูกทอดทิ้งบ่อยๆ ก็จะทำให้เราเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยหรือเกิดความไม่ไว้วางใจในตัวพ่อแม่หรือผู้ปกครองคนอื่นๆ ของเรา ก็จะทำให้นำไปสู่ “Anxious Attachment” หรือ “ความผูกพันแบบกังวล” พอโตขึ้นและมีความรักความสัมพันธ์เป็นของตัวเอง ก็อาจจะกลายเป็นคนขี้กังวลในความสัมพันธ์ได้ เช่น

[ ] กลัวถูกแฟนทิ้ง
[ ] อยู่คนเดียวไม่ค่อยได้
[ ] ต้องการความมั่นใจจากคนรักว่าเขารักเราจริงๆ

2. เจอกับความเครียดหรือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต

บางครั้งคนที่กลัวการห่างกับคนรัก อาจเป็นคนคนนั้นเพิ่งผ่านพ้นการสูญเสียครั้งสำคัญในชีวิต หรืออาจเพิ่งรอดชีวิตจากภัยพิบัติและเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจมา ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้อาจกระตุ้นให้กลัวความไม่แน่นอนของชีวิต หลายคนจึงกังวลว่าหากอยู่ห่างจากคนรักแล้วจะเกิดเหตุการณ์อันตรายขึ้นเหมือนอย่างที่เคยผ่านมา

3. ปัจจัยด้านความสัมพันธ์

การถูกปฏิเสธหรือโดนทิ้งในอดีตก็มีส่วนทำให้เกิด Separation Anxiety ได้เช่นกัน รวมถึงหากใครอยู่ในสังคมวัฒนธรรมที่มองว่าการพึ่งพาตัวเองเป็นเรื่องแปลก ก็อาจทำให้รู้สึกกังวลเมื่อต้องทำสิ่งต่างๆ โดยไม่มีคนรักอยู่เคียงข้าง

หรือบางทีหากใครที่เคยอยู่ใกล้ชิดกับคนรักมากๆ เพราะสถานการณ์ในชีวิตเอื้ออำนวยให้ใช้ชีวิตด้วยกันเป็นส่วนใหญ่ หากวันใดวันหนึ่งคนรักของเราใช้เวลาอยู่นอกบ้านนานๆ เราก็อาจเกิดความวิตกกังวลได้เช่นกัน

4. การผูกติดคุณค่าของตัวเองไว้กับคนรัก

การมีความสัมพันธ์แบบพึ่งพากันและกันเป็นเรื่องปกติของคนทั่วไป แต่การผูกติดตัวเองไว้กับอีกฝ่ายหนึ่งมากเกินไป อาจก่อให้เกิดผลเสียตามมาได้หลายอย่าง ตั้งแต่ความโศกเศร้าทางอารมณ์ การมองเห็นคุณค่าตัวเองน้อยลง ไปจนถึงอาการวิตกกังวลเมื่อต้องแยกห่างจากอีกฝ่าย

เพราะในความสัมพันธ์แบบยึดติดตัวเองไว้กับอีกฝ่าย จะทำให้เราให้ความสำคัญกับความต้องการของคนรักเป็นอันดับแรก เรียกได้ว่าห่วงคนอื่นมากกว่าตัวเอง จนในท้ายที่สุดแล้วอาจสูญเสียตัวตนของตัวเองไป เมื่อถึงเวลาที่ต้องห่างกันจึงมีแนวโน้มที่จะอยู่ด้วยตัวคนเดียวยากขึ้น และอาจส่งผลให้สุขภาพจิตแย่ลงเรื่อยๆ

นอกจากนี้ การยึดติดตัวเองไว้กับอีกฝ่ายมากไปยังส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ได้อีกด้วย เพราะการที่เรายึดติดกับแฟนมากไป จะทำให้เรายิ่งอ่อนแอและความสัมพันธ์ก็จะยิ่งอ่อนแอตามลงไปอีก เพราะยิ่งเรากลัว เราก็จะยิ่งตามติดอีกฝ่าย จนก่อให้เกิดความอึดอัดในความสัมพันธ์ขึ้นได้นั่นเอง

Advertisements
Advertisements

กังวลจนเหนื่อยใจ ทำอย่างไรให้พอดี?

เข้าใจว่าสำหรับบางคนแล้วการอยู่ห่างจากคนรักไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราสามารถหาวิธีรับมือเพื่อลดอาการวิตกกังวลลงได้ มาดูกันว่าจะมีวิธีใดบ้างที่ช่วยให้เรากังวลน้อยลง และอยู่กับตัวเองได้มากขึ้น

1. ลดการนึกถึงคนอื่น แล้วหันมาใช้ชีวิตของตัวเอง

หลายคนเมื่อห่างกับแฟนแล้วมีความกังวลมากๆ ทำให้ต้องโทรหา และส่งข้อความหาแฟนบ่อยจนเกินไป แต่ถ้าเราใช้เวลาทั้งหมดไปกับการกังวลถึงสิ่งเหล่านี้ เราก็จะมีพลังใจไว้รักและดูแลตัวเองน้อยลง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสมาธิและกิจวัตรประจำวันในชีวิตของเราด้วย

เราจึงอยากแนะนำให้คนที่กำลังมีอาการเช่นนี้ ลองสร้างพื้นที่ให้กับตัวเองและกำหนดให้ชัดเจนไปเลยว่าช่วงเวลาไหนที่ควรส่งข้อความหาแฟน โดยอาจจะกำหนดเวลาส่งข้อความเป็นช่วงพักตอนเช้า และโทรหาช่วงพักเที่ยง หรืออาจจะวางโทรศัพท์ไว้ไกลๆ แล้วหันมาใช้ชีวิตของตัวเองดูบ้าง

หากยังมีความกังวลผุดขึ้นมาในหัวอยู่ เพียงแค่รับรู้และปล่อยมันไป เพราะการไม่สนใจความคิดเหล่านั้นจะช่วยให้อาการกังวลของเราดีขึ้นเรื่อยๆ

2. สร้างกิจวัตรใหม่ๆ ให้คุ้นชินกับการใช้ชีวิตด้วยตัวเอง

ในบางครั้ง Separation Anxiety นั้นเกิดจากการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิต เช่น คนใกล้ชิดเสียชีวิต หรือการถูกทิ้งในอดีต เมื่อผ่านพ้นเหตุการณ์เหล่านั้นมาแล้ว ก็เป็นไปได้ว่าเราอาจจะกลัวสูญเสียความใกล้ชิดระหว่างเรากับแฟนไปอีกครั้ง

ทางออกที่สามารถช่วยให้ดีขึ้นจากอาการนี้ได้คือ ต้องพยายามทุ่มเทเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพให้มากขึ้น หลายคนอาจเกิดคำถามตามมาว่า แล้วจะทำได้อย่างไร?

จริงๆ อยากให้ทุกคนเริ่มเปลี่ยนความคิดก่อนว่า การห่างจากคนรักเป็นเรื่องที่ดีต่อสุขภาพจิตของตัวเราเอง เพราะเรามีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น และได้ใช้ชีวิตของตัวเองมากขึ้นด้วย แต่แน่นอนว่าเราก็ต้องมีเวลาให้กันและกันด้วย

หากใครอยากลองใช้ชีวิตด้วยตัวเอง แต่ก็อยากมีเวลาร่วมกันด้วยบ้าง ให้ลองจัดสรรเวลาในการใช้ชีวิตด้วยกันดังนี้

[ ] ทานข้าวด้วยกันวันละมื้อ
[ ] ใช้เวลาร่วมกันหนึ่งวันต่อสัปดาห์
[ ] หาเวลาไปเดินเล่นด้วยกันตอนเย็นๆ

3. พูดความกังวลของตัวเองออกมาให้อีกฝ่ายรับรู้

“การพูดคุย” เป็นสิ่งสำคัญในความสัมพันธ์ เมื่อเกิดการทะเลาะกัน หรือมีอะไรไม่สบายใจก็ควรเปิดอกพูดกันตรงๆ เพราะนอกจากจะทำให้เข้าใจกันมากขึ้นแล้ว ยังช่วยลดความทุกข์ในใจลงได้อีกด้วย หากใครหลีกเลี่ยงการพูดถึงความทุกข์ของตัวเอง ต้องระวังไว้ให้ดี เพราะความรู้สึกเหล่านี้สามารถทวีความรุนแรงขึ้นได้

บางคนอาจจะมีความคิดว่า ถ้าพูดออกไปแล้วแฟนอาจจะไม่เข้าใจความรู้สึก แต่อย่างน้อยเขาก็ยังสามารถรับฟัง ยืนยันความรู้สึก และช่วยเป็นที่พึ่งทางใจได้ด้วย

ดังนั้น การพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา จึงอาจช่วยให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ดีขึ้นได้ หากใครกำลังรู้สึกไม่สบายใจหรือกังวลเรื่องอะไรอยู่ เพียงแค่อธิบายออกไปว่าตอนนี้กำลังรู้สึกอะไรและพยายามหาทางแก้ไขร่วมกัน

4. โฟกัสที่ความต้องการของตัวเอง

อีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้เรารับมือกับ Separation Anxiety ได้คือ “การหันมาดูแลความต้องการทางกายและทางอารมณ์ของตัวเอง”

แต่ต้องบอกก่อนอีกว่าว่าการทำเช่นนี้จะไม่ทำให้ความกังวลหายไป แต่จะทำให้เราจัดการกับ Separation Anxiety ได้ดีมากยิ่งขึ้น

หากใครที่กำลังติดอยู่ในวังวนของความกังวล ให้ลองคิดดูว่าเราทำสิ่งเหล่านี้เพียงพอหรือยัง

[ ] การนอนหลับอย่างมีคุณภาพ
[ ] การออกกำลังกาย
[ ] การทานอาหารครบทุกมื้อ
[ ] การพักผ่อนและงานอดิเรก
[ ] การใช้เวลากับเพื่อนและคนที่รักคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่แฟน

ถ้าลองคิดๆ ดูแล้วรู้สึกว่ายังดูแลตัวเองไม่เพียงพอ ให้ลองทำตามวิธีเหล่านี้ดู เพื่อสนับสนุนสุขภาวะของตัวเอง

[ ] ลองทำสมาธิและฝึกสติ
[ ] จดบันทึกความกลัวหรือความกังวลลงสมุด
[ ] พยายามทำใจให้สบาย
[ ] ออกไปเดินเล่นเมื่อรู้สึกหนักใจ

5. ค่อยๆ ทำความเคยชินกับการห่างกัน

การรับมือกับความวิตกกังวลในการห่างกันอีกอย่างหนึ่งก็คือ ค่อยๆ ทำความเคยชินกับการห่างกันทีละนิดๆ โดยอาจจะลองหาทางแยกกันเป็นเวลา 2-3 วัน หรือมากกว่านั้นก็ได้ แล้วเราจะค่อยๆ รู้สึกปลอดภัยขึ้นเมื่อเห็นคนที่รักกลับบ้านอย่างปลอดภัย เพราะเราเห็นกับตาตัวเองในหลายๆ ครั้งแล้วว่าเขาจะกลับมาหาเราอย่างแน่นอน

จะเห็นได้ว่า Separation Anxiety เป็นอาการที่ไม่ได้เกิดขึ้นและจบไปแค่ในช่วงวัยเด็กเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ฉันท์คู่รักเมื่อโตขึ้นแล้วด้วย ซึ่งต้นตอที่ทำให้เกิดอาการเช่นนี้ก็แตกต่างกันไปในแต่ละคน ตั้งแต่ปัญหาในวัยเด็ก การเจอกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ไปจนถึงปัจจัยด้านความสัมพันธ์อื่นๆ

แม้การรับมือกับความวิตกกังวลจะฟังดูเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าเรารับรู้ ยอมรับ รวมถึงทำความเข้าใจสาเหตุและวิธีการรับมือในรูปแบบต่างๆ เชื่อว่าจะช่วยให้เราต่อสู้กับ Separation Anxiety ได้ดีขึ้นอย่างแน่นอน

แปลและเรียบเรียง
– Coping With Separation Anxiety in Relationships : Sanjana Gupta, Verywell Mind – https://bit.ly/3BYuKKG
– Separation Anxiety in Relationships : Psych Central – https://bit.ly/3GaUWnL
– When Separation from Your Partner Feels Unbearable, Here’s How to Cope : Healthline – https://bit.ly/3jrTHYk

#selfdevelopment
#psychology
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า