“แค่คำพูดมันทำร้ายเราไม่ได้หรอก”
หลายๆ คนอาจจะเติบโตขึ้นมาอย่างคุ้นเคยกับคำประโยคดังกล่าวที่มีความหมายว่า เรานั้นไม่ควรไปให้คุณค่าหรือไปใส่ใจกับคำพูดว่าร้ายจากผู้อื่น เนื่องจากว่าคำพูดนั้นไม่สามารถทำร้ายเราให้เกิดอาการบาดเจ็บหรือสร้างบาดแผลบนร่างกายของเราได้จริงๆ
แต่อันที่จริงแล้ว ถึงแม้ว่าคำพูดคำจาที่ทำร้ายจิตใจของคนฟังนั้นมันจะได้ไม่สร้างบาดแผลทางกายภาพที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ “การทำร้ายทางวาจา (Verbal Abuse)” เหล่านั้นมันก็สามารถเข้าไปเสียดแทงจนเกิดเป็นบาดแผลภายในจิตใจ ที่บางทีนั้นก็อาจจะสร้างความเจ็บปวดได้มากกว่าบาดแผลบนร่างกายจริงๆ เสียอีก
แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สังคมปัจจุบันจะเริ่มมีการตระหนักรู้เรื่องการ Bully หรือ Hate Speech มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ก็ต้องยอมรับว่าเสียงส่วนใหญ่ของสังคมเองก็ยังคงให้ความสำคัญกับปัญหาด้านทำร้ายร่างกายมากกว่าปัญหาการทำร้ายจิตใจ อาจจะเป็นเพราะคำสอนที่บอกว่า “คำพูดมันทำร้ายเราไม่ได้” นั้นยังคงวนเวียนอยู่ในสังคมไม่จางหาย แต่หารู้ไม่ว่าได้มีการผลการวิจัยใหม่ที่พิสูจน์ว่าคำพูดนั้นสามารถทำร้ายเราได้จริงๆ แถมยังสร้างความเจ็บปวดได้ในระดับเดียวกับ “การตบหน้า” เลยทีเดียว
พูดแรงขนาดนี้ ตบหน้ากันเลยดีกว่า
โดยผลการวิจัยนี้ได้ถูกตีพิมพ์ลงบน Frontiers in Communication โดยทีมศึกษาวิจัยจาก Utrecht University และ Leiden University ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยพวกเขาต้องการตรวจสอบว่า “อารมณ์” และ “ภาษา” นั้นมีความเกี่ยวเนื่องหรือสัมพันธ์กันอย่างไร โดยพวกเขาได้ทำการศึกษาผู้หญิง 79 ด้วยวิธีการตรวจคลื่นไฟฟ้าในสมอง (EEG) ว่าสมองของคนเรานั้นมีการตอบสนองต่อคำพูดสามประเภทอย่าง คำดูหมิ่น (Insults) คำชม (Compliments) และข้อเท็จจริงที่เป็นกลาง (Neutral Facts) แตกต่างกันอย่างไรบ้าง
ในการทดลองครั้งนี้ นักวิจัยให้ผู้เข้าร่วมทั้ง 79 คนอ่านคำดูถูก (เช่น “ลินดาเป็นคนที่แย่มาก”) คำชม (“ลินดาเป็นคนที่น่าประทับใจ”) และข้อเท็จจริงที่เป็นกลาง (“ลินดาเป็นชาวดัตช์”) โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ซึ่งส่วนแรกต้องอ่านข้อความเหล่านี้ที่มีชื่อของตัวเองอยู่คล้ายกับว่าข้อความนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพวกเขาตรงๆ
สำหรับส่วนที่ 2 พวกเขาต้องอ่านข้อความที่มีชื่อของคนอื่นอยู่ เพียงแต่พวกเขาได้รับบริบทเพิ่มเติมว่าข้อความเหล่านี้เป็นข้อความจากผู้ชาย 3 คนที่ถูกสมมติขึ้นมา เท่ากับว่าพวกเขากำลังอ่านข้อความที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลที่ 3 สองคนในจินตนาการ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพวกเขาแต่อย่างใด
โดยกลุ่มนักวิจัยตั้งข้อสังเกตและสรุปการวิจัยนี้เอาไว้ว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่อาศัยความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal Relationship) เพื่อความอยู่รอดและเจริญเติบโต ซึ่งผลลัพธ์ของการวิจัยนั้นก็แสดงให้เห็นว่า เมื่อใดก็ตามที่คนเรานั้น “ได้ยิน” หรือ “อ่าน” ความคิดเห็นเชิงลบที่มีความเกี่ยวข้องกับตัวเอง คำพูดเชิงลบเหล่านั้นจะสามารถสร้างความเสียหายทางอารมณ์ให้กับสมองได้โดยที่ไม่จำเป็นที่จะต้องมีมนุษย์คนอื่นๆ อยู่รอบข้างเลย แถมยังเป็นความเสียหายที่อยู่ในระดับเดียวกับการ “ตบหน้าเล็กๆ ” อีกด้วย
หากนิ่งสงบ ก็อาจไม่สยบคำพูดได้อีกต่อไปและวิธีการรับมือกับคำพูดที่ทำร้ายจิตใจ
การตระหนักถึงคำพูดของเรานั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเมื่อมันเกี่ยวเนื่องกับการทำร้ายจิตใจของผู้อื่น แต่ในโลกแห่งความจริงนั้น ตัวเราก็ไม่สามารถไปควบคุมพฤติกรรมและคำพูดของผู้อื่นได้ แต่ถ้าหากเรารู้ตัวว่าเรากำลังถูกทำร้ายทางคำพูดอยู่นั้น เราก็ไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายอดทนกล้ำกลืนต่อคำพูดนั้นอีกต่อไป โดยทาง Araine Resnick แห่ง Verywellmind ก็ได้แนะนำวิธีรับมือมาให้ดังนี้
1. Call Out Abusive Behavior (ประณามคำพูดเหล่านั้น)
ขั้นตอนแรกและสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องทำเมื่อมีใครมาใช้คำพูดทำร้ายจิตใจเรา เราก็ควรที่จะประณามสิ่งที่คนคนนั้นพูดออกมาดังๆ ด้วยการเดินไปบอกคนคนนั้นโดยตรงเลยว่าสิ่งที่เขาพูดออกมานั้นกำลังทำร้ายเราอยู่ ไม่ว่ามันจะถูกกล่าวออกมาด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่ถ้าบุคคลที่ใช้คำพูดทำร้ายเราอยู่นั้น อยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจเหนือตัวเราเอง ก็อาจไม่ปลอดภัยที่จะประณามคำพูดของพวกเขาโดยตรง แต่อาจจะใช้วิธีการไปแจ้งกับฝ่าย HR แทน
เราต้องมีความชัดเจนว่าคำพูดที่ถูกกล่าวออกมานั้น มันทำให้เรารู้สึกอย่างไร และทำไมคำพูดดังกล่าวถึงไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้อีกต่อไป
2. Walk Away (ออกจากวงสนทนานั้นโดยเร็ว)
วิธีการเดินหนีออกไปนั้นอาจจะถูกนำมาใช้ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวไม่ยอมหยุดคำพูดของเขา แม้ว่าเราจะได้ทำการตักเตือนเขาแล้วก็ตาม แน่นอนว่าเมื่อเราโดนทำร้ายจิตใจ เราก็ย่อมอยากที่จะตอบโต้กลับไปเช่นกัน แต่การทำอย่างนั้นมีแต่จะเป็นการเพิ่มข้ออ้างให้คนเหล่านั้นหาเรื่องมาพูดจาว่าร้ายเราได้อีก แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ทนฟังคำพูดเหล่านั้นเช่นกัน ดังนั้นบางทีการเดินออกมาอาจเป็นวิธีการตอบโต้ที่จำเป็นและได้ผลที่สุดก็เป็นได้
3. End the Relationship If Possible (ยุติความสัมพันธ์นั้นถ้าเป็นไปได้)
ถ้าหากวิธีการตักเตือนและเดินหนีไปยังไม่ได้ผลอีก ทางออกที่เหลือของเราก็คงเป็นการตัดความสัมพันธ์กับคนคนนั้นทิ้งไปเสีย โดยมันอาจจะยากหน่อย ในกรณีที่บุคคลนั้นเป็นคนที่มีความสำคัญในชีวิตของเรา อาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน หรือทำงานที่เดียวกัน เช่น เจ้านาย, เพื่อนที่ทำงาน, และพ่อแม่ ก็พยายามมีปฏิสัมพันธ์กับคนเหล่านั้นเท่าที่จำเป็นเท่านั้น แต่ถ้าคนที่ชอบพูดจารุนแรงและทำร้ายจิตใจเราเป็นเพื่อน คนรู้จัก หรือใครก็ตามที่ไม่ได้สำคัญกับชีวิตเรา ก็ให้แสดงความชัดเจนไปเลยว่าเราคงไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์นี้ต่อไปได้ หากพวกเขายังมีการแสดงคำพูดเหล่านี้ออกมาอยู่
วิธีทั้งสามวิธีนี้อาจจะดูเหมือนวิธีการตอบโต้ที่รุนแรงขึ้นถ้าเทียบกับการอยู่อดทนอยู่เฉยๆ แต่ถ้าหากเราเลือกที่จะอดทนและอยู่เงียบต่อไป คนที่ใช้คำพูดเหล่านี้ก็อาจจะไม่มีวันรู้เลยว่าพวกเขากำลังทำร้ายผู้อื่นทางคำพูดอยู่และทำมันต่อไปเรื่อยๆ
ไม่ควรมีสังคมไหนที่มีพื้นที่ให้กับความรุนแรงทุกรูปแบบ ดังนั้น เมื่อมีความตระหนักรู้และความเข้าใจแล้วว่าความรุนแรงทางคำพูดนั้นก็สามารถสร้างความเจ็บปวดได้ไม่แพ้ความรุนแรงทางกายภาพเลย ดังนั้นหากเรารู้สึกว่าเราถูกทำร้ายจิตใจจากใครก็ตาม เราก็ไม่ควรหยุดหรือนิ่งเฉยต่อการกระทำในลักษณะนี้อีกต่อไป ไม่ว่าอีกฝ่ายจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
ที่มา:
– Verbal insults hit our brains like a ‘mini slap in the face’ : Chris Melore, Studyfinds – https://bit.ly/3T9r52x
– Why Verbal Insults Feel Like ‘Mini’ Slaps, According to a Study : Devrupa Rakshit, The Swaddle – https://bit.ly/3foogN3
– How to Deal With Verbal Abuse : Araine Resnick, Verywellmind – https://bit.ly/3UhhY0j
#selfdevelopment
#psychology
#verbalabuse
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast