self developmentใช้ชีวิตให้สนุกและมีความสุข แบบ “ตัวนาก” ผ่านหลักการ P.L.A.Y Method

ใช้ชีวิตให้สนุกและมีความสุข แบบ “ตัวนาก” ผ่านหลักการ P.L.A.Y Method

เมื่อพูดถึง “ตัวนาก” เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงรูปน้องนาก 2 ตัว ลอยตัวอยู่บนผิวน้ำ
นอนเกี่ยวมือกัน เป็นภาพที่น่าเอ็นดูและทำให้หลายคนใจฟูไปตามๆ กัน แต่ถ้าพูดตามตรงกันแล้ว น้อยคนที่จะรู้ว่าจริงๆ แล้วนากเป็นสัตว์ที่มีลักษณะอุปนิสัยอย่างไร ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการที่เดิมทีมนุษย์อย่างเราๆ มักจะเอาหนังและขนของนากไปทำเป็นเสื้อขนสัตว์ ทำให้หลายชนิดจึงเกือบสูญพันธุ์และหาได้ยาก

โดยจริงๆ แล้ว “นาก” นั้นเป็นสัตว์ร่าเริง ขี้เล่นและชอบเล่นสนุก มีความคล่องแคล่วว่องไว อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ชอบใช้เวลากับเพื่อนและมีความสุขกับทุกกิจกรรมอยู่เสมอ และยังฉลาดมาก สามารถเอาตัวรอดจากการถูกล่าจากสัตว์อื่นได้อยู่บ่อยๆ

ทำให้ในบทความนี้เราจะพาไปรู้จักแนวคิดที่น่าสนใจจากหนังสือที่ชื่อ “The Little Book of Otter Philosophy” เขียนโดย Jennifer McCartney ที่ได้สังเกตพฤติกรรมของตัวนาก จนกลั่นกรองออกมาเป็นบทเรียนการเริ่มต้นหาความสุขแบบชื่นชมยินดีในการใช้ชีวิตและการทำงาน หรือที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Joyful โดยผู้เขียนได้รวมวิธีการสร้าง Joyful ไว้ทั้งหมด 4 ขั้นตอน ที่เรียกสั้นๆ ว่า “PLAY Method”

PLAY Method ใช้ชีวิตให้มีความสุขและสนุกแบบนาก

1.) P – Plunge in (กระโจนรับโอกาสหรือประสบการณ์ใหม่)

นากเป็นสัตว์ที่ขึ้นชื่อเรื่องความขี้เล่นและซุกซน มีพฤติกรรมชอบเล่นสนุก เช่น ชอบลื่นไถลเหมือนเล่นสไลด์ตามทางลาดชันริมตลิ่งโดยที่ไม่กลัวเจ็บตัวเหมือนสัตว์บางชนิด แถมยังไม่ได้เป็นสัตว์รักความสะอาดตลอดเวลา

ข้อคิดนี้ทำให้สะท้อนมายังการใช้ชีวิตของเราได้เช่นกัน บางครั้งให้เราลองกระโจนเข้าหาโอกาสหรือประสบการณ์ใหม่ๆ บ้าง โดยอย่าเพิ่งคิดกังวลหรือระมัดระวังตัวจนเกินไป สิ่งที่ผู้เขียนยกตัวอย่างคือ ลองไม่เอาร่มที่มักพกติดตัวไป แล้วลองเดินตากฝนที่ตกพรำๆ รับบรรยากาศโดยไม่มีร่มบังบ้าง

แม้ตัวอย่างนี้อาจจะไม่เหมาะกับไทย แต่ใจความสำคัญคือ ให้เราลองโอบรับประสบการณ์ใหม่ที่ไม่ได้เตรียมพร้อมมาบ้างและดื่มด่ำไปกับช่วงเวลานั้นๆ ลองกินร้านอาหารท้องถิ่นแบบที่ไม่ได้วางแผนไว้ หรือลองออกไปกินข้าวกับคนต่างทีมในออฟฟิศ ที่เราไม่ค่อยได้คุยด้วยบ่อยๆ ความแปลกใหม่อาจทำให้เราประหลาดใจ อาจจะเป็นเรื่องที่ดีหรือกลายเป็นประสบการณ์ให้เราได้เรียนรู้และเข้าใจในมุมที่ต่างออกไปจากสายตาเดิมๆ ของเราทีละนิด

2.) L – Laugh about it (มองด้านที่ดีในเรื่องร้ายและหัวเราะให้กับมันบ้าง)

นากไม่ใช่สัตว์ที่ฉีกยิ้มหรือหัวเราะตลอดเวลา แต่ลักษณะสำคัญที่คนจดจำได้คือมันดูมีความสุขและสนุกกับการเล่นสิ่งรอบตัวอยู่เสมอ เมื่อสะท้อนกลับมาเป็นบทเรียน การที่เรามองเห็นด้านที่สนุกหรือทำให้เรามีความสุขในเรื่องต่างๆ ก็เป็นอีกความสามารถหนึ่งที่จะช่วยให้เราผ่านช่วงวิกฤตในชีวิตไปได้

ความสามารถที่ว่านี้อาจฟังดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่การรักษาแบบ Laughing Therapy เป็นวิธีที่แพทย์ใช้กันมาอย่างยาวนานโดยไม่ต้องพึ่งยาอะไร ซึ่งเริ่มตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 14 ศัลยแพทย์ชาวฝรั่งเศสเชื่อว่า การที่เพื่อนและญาติมาเยี่ยมคนไข้และเล่าเรื่องตลกให้ฟัง จะช่วยให้ฟื้นตัวหลังผ่าตัดอย่างรวดเร็ว การรักษาแบบหัวเราะบำบัดถูกใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นเมื่อโรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกาได้นำตัวตลกเข้ามาสร้างเสียงหัวเราะให้กับเด็กในช่วงที่โรคโปลิโอแพร่ระบาดอย่างหนัก

ในเชิงวิทยาศาสตร์ การหัวเราะจะกระตุ้นให้เกิดข้อดีเป็นอย่างมาก เพราะร่างกายจะลดฮอร์โมนคอร์ติซอลที่ก่อให้เกิดความเครียดและช่วยเสริมภูมิคุ้มกันต่อร่างกาย แต่การไม่หัวเราะเลยก็จะส่งผลต่อการเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและเกิดภาวะทางอารมณ์เชิงลบ ทำให้กลายเป็นคนที่สนุกยากหรือมีความสุขยาก

Advertisements
Advertisements

3.) A – Ask why (สร้างต่อมความขี้สงสัยกับโลกและสิ่งรอบตัว เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่)

การที่เราเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ เป็นการกระตุ้นให้เกิดลักษณะของความอยากรู้อยากเห็น โดยในหนังสือเล่มนี้ได้ให้ความหมายของ “ความอยากรู้อยากเห็น” (Curiosity) ไว้ว่า เป็นช่วงที่เราเกิดความผูกพัน (Engage) กับโลกและเกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ ซึ่งจะทำให้เรายังคงความเป็นเด็กไว้ได้อยู่ตลอด

เพราะถ้าสังเกตพฤติกรรมของเด็ก พวกเขาจะช่างสงสัยและถามเมื่อเจอสิ่งที่แปลกใหม่อยู่เสมอ เช่นเดียวกันกับนาก สัตว์ชนิดนี้จะมีท่าทีสนใจต่อสิ่งรอบอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นปลาที่ว่ายผ่าน หินที่ดูแปลกไป แถมยังมีนิสัยเป็นมิตร อยากรู้จักกับสิ่งมีชีวิตข้ามสายพันธุ์อย่างมนุษย์ด้วยเช่นกัน

พอกลับมามองที่ชีวิตของเรากันบ้าง บทเรียนนี้สอนให้เราลองตั้งคำถามกับสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวหรืออยู่ในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น เช่น สิ่งเหล่านี้ทำงานได้อย่างไร เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ ถ้าลองปรับฟังก์ชันบางอย่างจะทำให้เกิดผลลัพธ์การทำงานต่างออกไปหรือไม่ เราสามารถฝึกทักษะเหล่านี้ได้ทุกวันกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เราพบเจอ

แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ตั้งคำถามอย่างเดียว เราต้องพยายามค้นหาคำตอบจากคำถามที่ตัวเองคิดด้วยเช่นกัน บางคำตอบอาจจะเสิร์ชเจอได้เลย บางคำตอบอาจมาจากการถามคนอื่น หรืออาจจะต้องเดาจากข้อมูลที่เรามี ไม่ว่าจะได้คำตอบที่ถูกหรือผิด จะมีคนเฉลยหรือไม่ แต่เราก็ได้ฝึกคิดเรื่องใหม่ๆ ทุกวัน ซึ่งมีงานวิจัยมากมายที่บอกว่า การฝึกตั้งคำถามและหาคำตอบจะช่วยพัฒนาสุขภาพสมองและส่งผลต่ออารมณ์ของเราด้วยเช่นกัน

4.Y – YOLO (ชีวิตมันสั้น เน้นทำสิ่งที่คุ้มค่าและมีความสุขกับมัน)

คำว่า YOLO ย่อมาจากประโยคเต็มที่ว่า You Only Live Once ที่สื่อถึงว่า ชีวิตของเราช่างสั้น อยากทำอะไรก็จงลงมือทำเลย เพราะปกติแล้วชีวิตของเราหลายคนนั้นยังมีอะไรที่อยากทำแต่ไม่ได้ทำอยู่มากมาย ซึ่งมักจะเกิดมาจากความกลัวของเราซะส่วนใหญ่

ลองกลับมามองที่ชีวิตของตัวนากกันบ้าง ก็จะพบว่า นากเป็นสัตว์ที่ฉลาดมาก สามารถระวังตัวเองไปพร้อมๆ กับการผจญภัยได้ ถ้าลองเสิร์ชคำว่า Otters Hold Hands ก็จะเจอรูปนากเกี่ยวแขนกับเพื่อนแล้วเอนนอนบนผิวน้ำไปด้วยกัน เนื่องจากนากเป็นสัตว์ที่ชอบนอนบนน้ำทั้งกลางวันและกลางคืน และบางครั้งกระแสน้ำอาจจะพัดออกไป แต่ด้วยความระมัดระวังตัว นากจะไม่ค่อยอยู่ลำพัง และจะมีเพื่อนอย่างน้อย 1 ตัวที่พร้อมไปด้วยกัน

ก็ให้ข้อคิดเล็กๆ อีกอย่างได้เหมือนกันว่า บางทีเราก็ควรมีเพื่อนที่พร้อมผจญภัยไปกับเราเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความมั่นใจกล้าเสี่ยงแบบรอบคอบมากขึ้น เพราะต่อให้เราจะเจอเหตุการณ์แย่ๆ แต่การมีเพื่อนอยู่ด้วยก็อาจจะผ่านเรื่องนั้นง่ายขึ้นและกลายเป็นสิ่งที่จะหัวเราะในภายหลังเมื่อมองย้อนกลับไป

ในส่วนสุดท้ายของหนังสือยังพูดถึงอีกว่า ลักษณะนิสัยของนากได้ย้ำเตือนเราให้มีประสบการณ์ที่ทำให้รู้สึก “มีชีวิตชีวา” การเฝ้ามองดูตัวนากเล่นผาดโผน หมุนรอบตัวอย่างสนุกสนาน ว่ายและดำน้ำอย่างสบายใจ ก็สอนเรื่องง่ายๆ ที่เรามองข้ามไปในแต่ละวัน

บางครั้งเราก็ต้องก้าวผ่านความกลัวหรือความกังวลของตัวเอง หรือมีช่วงเวลาที่ต้องแบ่งให้ชัดเจนเลยว่าเราจะหยุดโฟกัสเรื่องงานหรือปัญหาในตอนนั้น ให้สมองได้หยุดพักและปล่อยตัวเองให้ได้กลับมามีความสุขและมีชีวิตที่สนุกอีกครั้ง อาจจะทำตามแนวทาง PLAY Method จากอุปนิสัยของตัวนากนี้

The creation of something new is not accomplished by the intellect but by the play instinct. – Carl Jung

อ้างอิง
– The Little Book of Otter Philosophy : Jennifer McCartney
– รายงานการศึกษา นากในกลุ่มน้ำอิงตอนล่าง : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต – https://bit.ly/3FzWNkq
– A Guide to Laughter Therapy by Sunshine Behavioral Health : Melissa Knight, Sunshine Behavioral Health – https://bit.ly/3YwXT9h

#selfdevelopment
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า