BUSINESSบทเรียนการตัดสินใจว่าด้วยชีวิต การทำงาน และลานสกี

บทเรียนการตัดสินใจว่าด้วยชีวิต การทำงาน และลานสกี

ต้องออกตัวก่อนว่าผมเป็นคนไม่ชอบเล่นสกีครับ เพราะรู้สึกว่าไม่ค่อยเหมาะกับตัวเองเท่าไร แต่เนื่องจากต้องพาลูกมาเล่นสกีเลยคิดว่าไหนๆ มาแล้วก็เล่นไปด้วยเลยแล้วกัน ตอนนี้ลูกผมเล่นสกีเก่งกว่าผมเยอะแล้ว แต่ด้วยความที่เขายังเด็กมาก จึงต้องไปเฝ้าอยู่ดี

ช่วงปลายปี 2022 ผมพาลูกไปที่ฮอกไกโดมาครับ โดยทริปนี้มีหลายวันและมากันหลายคนมาก
ทริปนี้จะเน้นเล่นสกีเป็นหลัก

เมืองที่สองที่เราเล่นชื่อฟุราโนะครับ ที่นี่ทุกอย่างดีหมดเลยครับ เว้นแต่ว่าการแบ่งโซนตามระดับความยากง่ายอย่างโซนสีเขียวซึ่งถือว่าง่ายสุด และสีฟ้าซึ่งถือว่าง่ายรองลงมามีความงุนงงพอสมควร โดยผมได้ปรึกษาเพื่อนที่มาด้วยกันที่เขาเล่นเก่งมากแล้ว เขาก็บอกว่า “เออ… การแบ่งที่นี่งงจริง”

คือสีฟ้าบางอันควรเป็นสีเขียว สีเขียวบางอันควรเป็นสีฟ้า หรือสีฟ้าบางอันน่าจะเป็นสีแดงด้วยซ้ำ

แต่ก็อย่างว่าครับ เรื่องจำพวกนี้ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ชัดเจนมาก

แถวที่เราขึ้นไปเล่นก็เป็นโซนสีฟ้า-สีเขียวที่อยู่สูงหน่อย

เพื่อนๆ ผมก็ชวนนั่งกระเช้าไปขึ้นยอดเขา ซึ่งตอนนั้นไม่มีเวลาคิดเยอะเพราะกระเช้ากำลังจะปิดตอน 15.10 น. แล้วตอนที่เราอยู่ตรงทางขึ้นของกระเช้าก็ประมาณ 15.05 น. แล้ว ผมก็เลยตัดสินใจขึ้นไปกับเพื่อนด้วยซึ่งตอนนี้ลูกๆ ไม่ได้มาด้วย มีแต่พวกพ่อๆ ขึ้นมากัน เส้นทางที่ขึ้นมาต้องบอกว่าระดับความยากเกินความสามารถของผมไปเยอะเหมือนกัน

ขนาดเพื่อนผมที่ว่าเล่นกันเก่งๆ แล้วยังว่ายากเลยครับ

ต้องบอกว่าเพื่อนๆ ผมเนี่ย เล่นสกีกันค่อนข้างเก่งแล้ว และผมก็คิดว่าการมีเพื่อนเก่งๆ น่าจะไม่เป็นไร เพราะถ้ามันยากจริงๆ จะได้มีคนช่วยเหลือ

ซึ่งในความจริงแล้ว เพื่อนที่เล่นเก่งก็ยังอยู่ในระดับที่ดูแลตัวเองได้ แต่ยังมาช่วยเรามากไม่ได้ถ้าทางมันโหดจริงนะครับ เพราะเพื่อนเราไม่ใช่ผู้สอนสกี

การขึ้นมาบนภูเขาครั้งนี้ได้สอนอะไรผมเยอะมากจริงๆ ครับ

พอจากกระเช้ามาแล้วชะโงกหน้าไป ผมถึงกับขนลุกแล้วคิดในใจว่า “ทำไมเราถึงตัดสินใจขึ้นมานะ” ซึ่งมันเป็นความรู้สึกที่ชัดเจน รุนแรง และเข้มข้นมาก จะว่าไปมันเหมือนกับตอนที่ต้องตัดสินใจอะไรยากๆ ในการทำงานเลยครับ เป็นความรู้สึกเดียวกันเป๊ะ

ความรู้สึกแบบนี้เป็นความรู้สึกที่คล้ายๆ กับที่พี่โจ้​ ธนา เคยพูดไว้ว่า “แผนที่ใช่ ใจต้องสั่น” มันเป็นความรู้สึกว่า “กลัว” แต่คิดว่าน่าจะ “เอาอยู่”

การสร้างความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ผมคิดว่าเราต้องรับรู้และเข้าใจความรู้สึก “ใจสั่น” นี้ให้ได้ และถ้าคิดว่ามันใช่ก็ลุยเลยครับ

แต่ถ้าทำแล้วไม่เวิร์กล่ะ?

เราก็ต้องมีแผนสำรองไว้เสมอ และต้องรู้ด้วยว่าเมื่อไรจะต้องใช้มัน

ตอนสกีลงมามันมีเนินที่ชันมากจริงๆ ผมไม่ได้วัดด้วยสายตา แต่เพราะว่ามีจังหวะหนึ่งที่ผมบังคับทิศทางไม่ได้อย่างที่ตั้งใจและเกือบจะชนเพื่อนผมเข้าเต็มๆ นั่นเป็นสัญญาณว่าเราเอา “ไม่อยู่” แล้ว

แผนสำรองของผมก็คือ ถอดสกี แล้วเอาก้นไถๆ ลงมาครับ พอผ่านจุดที่ชันมากๆ ซึ่งจริงๆ มันก็แค่เนินนั้นเนินเดียว ผมก็ใส่สกีแล้วเล่นต่อ

การทำงานก็เป็นแบบนี้เลยครับ เราทำเต็มที่ตามแผนที่เราวางมาแต่ก็ต้องมีแผนสำรองด้วยว่าจะเอายังไง แล้วอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้เราใช้แผนสำรอง อันนี้ควรคิดไว้ก่อนเลย ซึ่งก็เหมือนกับตอนนั้นที่ผมคิดแล้วว่าถ้าผมบังคับทิศทางไม่ได้ ก็แปลว่าต้องเปลี่ยนสิ่งที่ทำอยู่แล้ว

อีกเรื่องที่ได้เรียนรู้มาจากคลาสที่ครูสอนวันแรกที่ไปถึง (เสียดายที่ตอนขึ้นมาเล่นอันยากๆ ไม่ได้เอาครูมาด้วย) คือ “บางสิ่งบางอย่างที่ต้องทำจะฝืนความรู้สึกหน่อย”

สำหรับมือใหม่เช่นผม ทางที่ชันและเนินที่ขรุขระจะสร้างความหวาดเสียวให้เราได้มากเป็นพิเศษ และแน่นอนเรามักทำอะไรผิดจากสิ่งที่ควรจะทำ ซึ่งมันก็เกิดขึ้นเพราะความกลัวนี่แหละครับ

เช่น เรื่องการถ่ายน้ำหนัก ปกติถ้าเป็นมือใหม่แล้วสกีเริ่มเร็ว เราจะเอียงตัวมาด้านตรงข้ามกับทางลงเขา และจะเอนตัวมาข้างหลังด้วย อย่างเช่นถ้าตอนนี้เลี้ยวขวาอยู่เราจะเอียงตัวมาทางซ้าย เพราะสมองเราคิดว่าเขาทางซ้ายใกล้กว่า ถ้าล้มน่าจะดีกว่าล้มไปทางขวาซึ่งเป็นทางลงแน่ แต่จริงๆ แล้วทั้งการเอนมาทางขึ้นเขาและเอนหลังอย่างที่กล่าวมา สุดท้ายแล้วเราก็จะล้ม เพราะจริงๆ เราต้องถ่ายน้ำหนักไปทางลงเขา และโน้มตัวไปข้างหน้าถึงจะควบคุมสกีได้

อันนี้ครูที่สอนสกีผมบอกเลยว่าเรื่องนี้ “จะฝืนความรู้สึก” แต่สำหรับมือใหม่เวลาสกีเร็วต้องเตือนตัวเองให้ถ่ายน้ำหนักไปทางลงเขาด้านหน้า หรือตรงข้ามกับทางที่เรารู้สึกว่าควรทำ

“ตรงกันข้ามกับที่เรารู้สึกว่าควรทำ” คือกุญแจสำคัญของเรื่องนี้ครับ เพราะว่าหลายครั้งในการทำงานเราจะกลัวหลายอย่างไปหมดจนลืมไปว่าจริงๆ แล้ววิสัยทัศน์ของเราคืออะไร อะไรคือสิ่งที่เป็นคุณค่าขององค์กรเรา และอะไรที่มันไม่ใช่มากๆ ก็จะไม่สามารถอยู่ในองค์กรของเราได้ เป็นต้น

สุดท้ายคือสกีเนี่ยถ้าคุณขึ้นไปบนเขาแล้ว ยังไงคุณก็ต้องลงมา จะมาท่าไหนยังไงก็ต้องลงมา ดังนั้นทำไมไม่ลองใส่ความเป็นเด็กเข้าไปในการเล่นบ้าง

เด็กๆ ส่วนใหญ่เล่นสกีเป็นเร็วมาก และหลายคนเล่นไม่กี่ครั้งก็เก่งกว่าผู้ใหญ่โดยเฉลี่ยแล้ว อาจจะเป็นเพราะน้ำหนักน้อยด้วยส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งคือเขาสนุกและไม่กลัวครับ เมื่อล้มก็หัวเราะแล้วลุกขึ้นมาใหม่

การทำงานบางทีเราก็ต้องเอาจิตวิญญาณเช่นนี้ทำเหมือนกันครับ คือสนุกกับการทำงาน และที่สำคัญคือล้มก็ล้มไม่เป็นไร หัวเราะกับมันแล้วลุกขึ้นใหม่ได้

หลังจากลงมาจากภูเขาได้ ก็รู้สึกเลยว่าตัวเองได้อัปเลเวลไปอีกขั้นจริงๆ

แต่คราวหน้าถ้าจะไปแบบนี้ ขอเอาครูไปด้วยนะ!

#selfdevelopment
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements
Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า