มีใครเคยรู้สึกแบบนี้บ้าง?
สงบเมื่อได้มองท้องฟ้า
รู้สึกสบายใจเพียงแค่ได้ยินเสียงฝน
หรือรู้สึกปลอดภัยเวลาอยู่ใต้ผ้าห่มบ้างไหม
เมื่อเราเสพข่าวสารจากโลกโซเชียลในปัจจุบัน หลายคนอาจเคยเห็นคำว่า ‘Trigger’ หรือ Trigger Warning กันมาบ้าง ซึ่งก็คือการเขียนคำเตือนว่าเรื่องราวเหล่านั้นอาจมีภาพ เสียง หรือเนื้อหาที่สามารถ ‘กระตุ้น’ ให้เราเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย
มนุษย์ล้วนตอบสนองกับสิ่งเร้ารอบตัวอยู่ตลอดเวลา การต้องเผชิญกับ Trigger ในชีวิตอาจทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจอยู่บ่อยครั้ง แต่มีใครรู้ไหมว่า จริงๆ แล้วยังมีตัวกระตุ้นที่ทำให้เรารู้สึก ‘ปลอดภัย’ อยู่ด้วย
ชวนมาทำความรู้จัก “Glimmer” ตัวกระตุ้นขั้วตรงข้ามที่จะช่วยให้จิตใจของเราสงบและปลอดภัย พร้อมเรียนรู้ 3 วิธีตามหาและเข้าใจ Glimmer ของตัวเอง
Glimmer ตัวกระตุ้นที่ทำให้เรารู้สึก “สงบ”
แนวคิดเรื่อง Glimmer มาจากทฤษฎีที่ชื่อว่า “Polyvagal” คิดค้นโดย ดร.สตีเฟน พอร์กส์ นักประสาทวิทยาด้านพฤติกรรม ซึ่งเป็นทฤษฎีที่อธิบายเกี่ยวกับการตอบสนองของระบบประสาทระดับจิตสำนึกเมื่อตัวเราตกอยู่ในอันตราย
เขาได้สังเกตพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิต และแบ่งการตอบสนองออกนี้เป็น 3 ระดับ
[ ] Freeze เกิดอาการช็อก หมดสติ หรือจิตใจถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง
[ ] Fight or Flight เกิดความกลัว และตัดสินใจว่าจะต่อสู้หรือหนีออกห่าง
[ ] Social Engagement เกิดความรู้สึกปลอดภัย สงบ ผ่อนคลาย
Glimmer ก็คือตัวกระตุ้นที่ทำให้จิตสำนึกตอบสนองในระดับ ‘Social Engagement’ นั่นเอง เมื่อความรู้สึกปลอดภัยเกิดขึ้นแล้ว จะไปกระตุ้นระบบประสาทเวกัสส่วนหน้าซึ่งควบคุมการทำงานของหัวใจและระบบทางเดินหายใจ ทำให้เราเกิดความรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย ไปจนถึงรู้สึกว่าตัวเองสามารถ ‘เชื่อมต่อ’ กับโลกภายนอกได้
“แสงอาทิตย์ เสียงฝนตก ลมพัดเบาๆ” สิ่งเล็กๆ รอบตัวที่กระตุ้น Glimmer
แม้จะดูเป็นความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่ แต่จริงๆ แล้ว Glimmer สามารถพบได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นความอบอุ่นจากแสงอาทิตย์ เสียงฝนตก หรือกลิ่นเมล็ดกาแฟ สิ่งเหล่านี้ล้วนกระตุ้นให้จิตใจของเราเกิดความรู้สึกปลอดภัยได้
อย่างเช่นในคืนที่เงียบสงัด บางครั้งเราอาจนอนไม่หลับเพราะเรื่องราวในวันนั้นยังคงวนเวียนอยู่ในหัว แต่เมื่อเราได้ยินเสียงฝนตก หรือร่างกายรู้สึกถึงลมที่พัดเข้ามาทางหน้าต่าง แล้วสามารถผล็อยหลับไปได้อย่างไม่รู้ตัว ก็แปลว่าเสียงฝนและสายลมก็คือ Glimmer ประจำตัวของเรานั่นเอง
นอกจาก Glimmer จะช่วยฟื้นฟูระบบประสาทและการตอบสนองด้านอารมณ์ภายในแล้ว ยังช่วยพัฒนาการแสดงออกภายนอกของเราให้ดีขึ้นได้ด้วย เช่น ยิ้มง่ายมากขึ้น พูดด้วยน้ำเสียงที่อ่อนนุ่มลง ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้จะส่งเสริมทักษะการมีส่วนร่วมทางสังคมต่อไปได้
ตามหา Glimmer เพื่อพบเจอความสงบในจิตใจ
ไม่ใช่แค่การรับรู้ถึง Trigger เพื่อหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นที่อันตรายเท่านั้น แต่เราควรตามหา Glimmer ของตัวเองด้วย เพื่อเรียนรู้ที่จะสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นภายในจิตใจในช่วงเวลาที่เราต้องการอย่างแท้จริง
3 ขั้นตอน ตามหา Glimmer ภายในจิตใจของตัวเอง
1) “หลับตาลง” ดำดิ่งไปในจินตนาการ
ลองหลับตาลงทั้งสองข้าง แล้วจินตนาการถึงคน สิ่งของ ช่วงเวลา หรือสถานที่ที่เราชอบ โดยสิ่งเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องมีอยู่จริงก็ได้ วาดภาพในหัวออกมาให้ชัดเจนและใช้เวลาอยู่กับมันสักพัก เพราะบางครั้งคุณอาจอยากพักผ่อนกับเพื่อนในจินตนาการบ้าง
2) ย้อน “ความทรงจำ” ในวัยเด็ก
หากโลกของการเป็นผู้ใหญ่รบกวนจิตใจเกินไป ให้ย้อนเวลากลับไปตอนที่เรายังเป็นเด็ก ว่ามีอะไรที่ช่วยให้ตัวเองรู้สึกสงบได้บ้าง เช่น เพลงบรรเลงกล่อมนอน กลิ่นผ้าห่มผืนโปรด หรือแม้แต่ตุ๊กตาเน่า ลองกลับไปเล่นมันอีกครั้ง หรือนำวิธีเหล่านั้นมาปรับใช้กับตัวเองในตอนนี้ดูก็ได้
3) นึกถึงภาพของ “คนที่เรารัก”
สุดท้าย ให้นึกถึงภาพใบหน้าของคนที่เรารัก หรือคนที่อยู่ด้วยแล้วเราสามารถเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ จะช่วยให้เราคลายกังวลต่อสิ่งเร้าที่กำลังเผชิญอยู่ได้ แต่ถ้าภาพยังช่วยได้ไม่มากพอ ลองโทรหาหรือใช้เวลาอยู่กับพวกเขาให้มากขึ้น เพื่อค้นหาเซฟโซนที่แท้จริงของตัวเอง
ให้ความสงบโอบอุ้มจิตใจให้เป็นสุข
การได้พบ Glimmer ประจำตัวทำให้เราเข้าใจความสงบในตัวเองมากขึ้น และหากทำความเข้าใจในตัวกระตุ้นนั้นอย่างลึกซึ้งแล้ว เราก็จะสามารถฟื้นฟูสภาวะทางอารมณ์และจิตใจภายในให้เข้มแข็งขึ้นได้ในระยะยาว
อ้างอิง
– What Is a Glimmer? : Theodora Blanchfield, verywellmind : https://bit.ly/3WVuzbu
– Emotional Triggers and Glimmers: What Are They? : Lori Marchak, trusted journeys : https://bit.ly/3WTZEfL
– Fight-Flight-Freeze and Withdrawal : Odelya Gertel Kraybill Ph.D., Psychology Today : https://bit.ly/3k0wzAH
#selfdevelopment
#psychology
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast