self developmentจะเลิกวีนกี่โมง? วิธีปรับอารมณ์ เปลี่ยนนิสัย ให้เป็นมิตรต่อคนรอบข้าง

จะเลิกวีนกี่โมง? วิธีปรับอารมณ์ เปลี่ยนนิสัย ให้เป็นมิตรต่อคนรอบข้าง

โดยปกติแล้วชีวิตในแต่ละวันของเราต้องพบเจอกับผู้คนมากมาย หากเป็นนักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่แล้วก็จะพบเจอเพื่อนฝูงและครูบาอาจารย์ ส่วนคนที่โตขึ้นมาหน่อยอย่างวัยทำงานก็จะต้องพบเจอทั้งเพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง หัวหน้า หรือแม้กระทั่งลูกค้า

ซึ่งแน่นอนว่าผู้คนต่างๆ ในชีวิตที่เราเจอนั้น เราจะปฏิบัติตัวกับแต่ละคนแตกต่างกันออกไป อย่างเช่นคนที่อยู่ระดับเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงาน เราก็จะมีความเป็นกันเองหน่อย หรืออย่างคนที่มีสถานะสูงกว่าอย่างอาจารย์ หัวหน้า หรือลูกค้า เราก็จะมีความนอบน้อม

อย่างไรก็ดี จะมีอีกความสัมพันธ์หนึ่งที่เราอาจปฏิบัติตัวด้วยแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง ก็คือคนที่สนิทมากๆ อย่างพ่อแม่ ครอบครัว หรือคนรัก บางคนอาจจะปฏิบัติอย่างแตกต่างไปในเชิงบวก เช่น พูดจาอ่อนหวานด้วยเป็นพิเศษ พยายามรักษาน้ำใจกันสุดฤทธิ์ แต่ในขณะเดียวกันบางคนก็อาจปฏิบัติอย่างแตกต่างในทางที่เรียกได้ว่า ‘เลวร้าย’ ไปเลยก็ได้เช่นกัน เช่น ชอบพูดจาไม่ดีใส่ ชอบใส่อารมณ์ และไม่รักษาน้ำใจกัน ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้มักเกิดขึ้นกับเฉพาะคนใกล้ตัว

คำถามคือ ทำไมเราถึงใจเย็นและใจดีกับคนนอก แต่กลับใจร้อนและใจร้ายกับคนใกล้ตัวกัน?

หากเรามองในโลกของความเป็นจริงแล้ว ก็ต้องบอกว่ามันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะใช้ชีวิตโดยไม่ทำร้ายคนที่เรารัก บางครั้งเราก็ทำให้ใครบางคนเจ็บปวดใจโดยที่อาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้ ซึ่งมีงานวิจัยหนึ่งที่มีชื่อว่า “Everyday Aggression Takes Many Forms” ชี้ว่าคนเรานั้นมีแนวโน้มที่จะก้าวร้าวกับคนใกล้ตัวและคนที่เรารักมากที่สุด เช่น การตะโกนใส่หน้า การเผชิญหน้าโต้งๆ และการนินทาแรงๆ โดยเหตุผลเบื้องหลังนั้นก็มีหลายประการด้วยกัน

เหตุผลประการหนึ่งก็อาจเป็นเพราะเรา “ไม่เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางคนอาจมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นต่ำ ไม่สามารถทำความเข้าใจมุมมองของผู้อื่นได้ จนสุดท้ายก็เผลอพูดจาหรือแสดงการกระทำร้ายๆ ใส่คนใกล้ตัวไป อย่างไรก็ดี หลายคนทำโดยไม่ได้ตั้งใจ ทำไปเพราะขาดความเข้าใจผู้อื่นจริงๆ ซึ่งความเห็นอกเห็นใจนั้นเป็นทักษะที่สามารถฝึกฝนและพัฒนาได้ เพียงแค่ต้องมีใจที่อยากจะเปลี่ยนแปลง

มีตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี คือเรื่องราวของชายหนุ่มที่มีชื่อว่าดิมิทรี มัวร์ โดยลูกชายคนนี้ได้ออกมาเล่าว่าคุณแม่ของเขานั้นเป็นคุณแม่ลูกหก ที่ต้องทำทุกอย่างเองหลังจากที่สามีเสียชีวิตไป คุณแม่ของเขานั้นต้องสละเวลาทำงานเพื่อไปดูการแข่งขันฟุตบอลของเขาในทุกๆ ครั้ง รวมถึงทำแบบเดียวกันนี้กับลูกคนอื่นๆ ด้วย เรียกได้ว่าคุณแม่คนนี้รักลูกอย่างไม่มีเงื่อนไขและอยากเห็นลูกทุกคนมีความสุข แม้ว่าจะต้องแลกมาด้วยเวลาว่างของตัวเอง

แต่แล้ว ดิมิทรี มัวร์ กลับแสดงท่าทีและปฏิบัติตัวแบบไม่ค่อยเคารพแม่เท่าไรในตอนที่ยังเป็นวัยรุ่น เวลาคุณแม่ของเขาถามอะไร เขาก็จะตอบกลับด้วยความหุนหันพลันแล่นและใส่อารมณ์ ซึ่งจนถึงทุกวันนี้สิ่งที่เขาทำก็ยังคงตามมาหลอกหลอนเขาจนถึงทุกวันนี้

เพราะเมื่อมองย้อนกลับไปเขาพบว่าแม่ของเขาคอยสนับสนุนเขามาตลอด ไม่ว่าจะถูกหรือผิดก็ตาม แม่ของเขาต้องสูญเสียอะไรหลายๆ อย่างเพียงเพราะคำว่า “ลูก” เช่น สูญเสียเวลาส่วนตัว สูญเสียความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ซึ่ง ดิมิทรี มัวร์ ก็เพิ่งคิดขึ้นได้ว่าแม่ของเขาไม่สมควรได้รับการกระทำแย่ๆ และอารมณ์ร้ายๆ จากตัวเองเลย แต่เขากลับพึ่งมารู้ตัวในวันนี้

เชื่อว่าเรื่องราวเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับชายที่มีชื่อว่า ดิมิทรี มัวร์ เท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับใครหลายๆ คน เพราะเรามักจะทำเช่นนี้กับผู้คนที่เราอยู่ด้วยแล้วรู้สึกว่าปลอดภัย เช่น พ่อแม่ เพื่อนสนิท หรือคนรัก หลายคนอาจจะคิดว่าเราจะหยาบคายแค่กับคนที่ทำร้ายเรา แต่เรื่องนี้แสดงให้เห็นแล้วว่าไม่ใช่

บางครั้งเรามองข้ามคนใกล้ตัวไปว่าแท้จริงแล้วเขาทำเพื่อเรามากแค่ไหน เราแสดงพฤติกรรมทุกอย่างของตัวเองออกไป เพราะเราคิดว่าเขาคือคนที่รักเรา เขาจะไม่จากเราไปไหนไม่ว่าเราจะแสดงพฤติกรรมแย่ๆ แค่ไหนก็ตาม พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือเราสบายใจกับคนเหล่านี้มากจนเกินไป จนกล้าที่จะแสดงด้านมืดของตัวเองออกมานั่นเอง

บางคนโกรธคนข้างนอกก็เอามาลงกับคนในบ้าน ซึ่งเราไม่ทำแบบนั้นกับคนนอกบ้านเพราะเรารู้ว่าหากเราทำเช่นนี้กับคนภายนอกแน่นอนว่าก็คงจะไม่มีใครรับได้เป็นแน่ คนในบ้านและคนใกล้ชิดจึงกลายเป็นที่รองรับอารมณ์ไปโดยปริยาย

พฤติกรรมก้าวร้าวเช่นนี้ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นเมื่อครั้งเราเป็นวัยรุ่น เรามักจะใช้ความโกรธเข้ามาเพื่อสร้างขอบเขตกับพ่อแม่ เพราะต้องการความเป็นอิสระ พอถึงจุดหนึ่งเราก็จะเริ่มรู้สึกตัวและรู้สึกผิด และวันที่เรารู้สึกตัวมักจะเป็นวันที่สายเกินไปแล้ว ก็คือวันที่ความตายเข้ามาพรากเราจากคนที่เรารัก เราอาจคิดว่าพ่อแม่จะอยู่กับเราไปตลอด แต่ในความเป็นจริงไม่มีใครอยู่กับตัวเราไปได้ตลอดเว้นแต่ตัวเราเอง สุดท้ายเราก็จะจมอยู่กับความเสียใจที่เมินและปฏิบัติตัวไม่ดีต่อคนที่เรารัก

สำหรับคนที่อยากลดนิสัยทำร้ายจิตใจคนใกล้ตัว เพื่อไม่ให้ความสัมพันธ์แย่ลงจนถึงจุดแตกหักและไม่สามารถซ่อมแซมได้ ก็สามารถเริ่มต้นปรับเปลี่ยนตัวเองได้ วิธีที่ง่ายที่สุดคือให้ลองคิดดูว่าถ้าวันหนึ่งคนที่เรารักคนนั้นจากไปแล้วจะเป็นอย่างไร

วิธีนี้จะช่วยให้เราใจเย็นลงได้ เผลอๆ อาจจะมีความรู้สึกขอบคุณขึ้นมาในใจด้วยก็เป็นได้ ให้ลองเขียนลิสต์ออกมาว่าสิ่งที่คุณรักในตัวเขาคนนั้นมีอะไรบ้าง ลองนึกดูว่าที่ผ่านมาเขาทำอะไรดีๆ เพื่อเราบ้าง เขียนสิ่งเหล่านั้นออกมาให้หมด แล้วในท้ายที่สุดความหงุดหงิดของเราก็จะค่อยๆ เพลาลง จนเหลือเพียงแค่ความรู้สึกขอบคุณในใจ

นอกจากนี้ หากเราพาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์ที่เกิดการปะทะอารมณ์กันแล้ว ก็ต้องบอกว่าการระเบิดอารมณ์ส่วนใหญ่มาจากการสื่อสารที่ไม่ดี เช่น อีกฝ่ายอาจจะพูดจาไม่ค่อยเข้าหูจนทำให้เราระเบิดอารมณ์ออกมา เมื่อเหตุการณ์ดำเนินไปสู่จุดนี้ เราต้องกล้าที่จะหันหน้าเข้าหากันเพื่อพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา ว่าทำไมเราถึงปฏิบัติตัวกับเขาแบบนี้ ตามมาด้วยคำขอโทษและแสดงให้เห็นว่าเรารักเขา หลังจากนั้นก็หาทางออกร่วมกันว่าพวกเราควรทำอย่างไรต่อไปจึงจะไม่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นอีก

หากลองพยายามทำสิ่งเหล่านี้แล้วยังรู้สึกว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงและรู้สึกว่าทุกอย่างมันเกินจะรับไหว ให้ลองหยุดพักจากคนที่เรารัก ไม่ได้หมายความว่าให้ตีห่างออกไปเลย แต่ให้ลองออกไปท่องโลกกว้างและลองไปสัมผัสการใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนที่หลากหลาย เพราะจะทำให้เราได้รับมุมมองใหม่ๆ กลับมา ซึ่งบางทีมันอาจทำให้เราเข้าใจคนที่เรารักมากยิ่งขึ้น

Advertisements
Advertisements

สำหรับใครที่เบรกอารมณ์ของตัวเองเอาไว้ไม่ค่อยได้ อีกสิ่งหนึ่งที่ควรทำก็คือการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) หรือก็คือความสามารถในการจัดการอารมณ์ของตัวเองและเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น โดย EQ นั้นเกี่ยวข้องกับหลายทักษะด้วยกัน เช่น

[ ] การตระหนักรู้ในตนเอง (Self-Awareness) คือการเข้าใจจุดแข็ง ข้อจำกัด อารมณ์ ความเชื่อ และแรงจูงใจของตัวเอง
[ ] การควบคุมตัวเอง (Self-Regulation) คือการจัดการอารมณ์ พฤติกรรม และแรงกระตุ้นของตัวเอง ยิ่งเราสามารถตระหนักรู้ในตัวเองได้มากเท่าไร เราก็จะยิ่งเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง และสามารถจัดการกับความรู้สึกนั้นได้อย่างถูกต้อง
[ ] ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) คือความสามารถในการทำความเข้าใจความคิดและอารมณ์ของผู้อื่น
[ ] การสร้างแรงจูงใจ (Motivation) คือความสามารถในการสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองและผู้อื่นให้กระทำอะไรบางอย่าง
[ ] ทักษะทางสังคม (Social Skills) คือการรับรู้อารมณ์ การมีปฏิสัมพันธ์ และการพูดคุยสื่อสารกับผู้อื่น กล่าวคือไม่ใช่แค่รับรู้ถึงความตึงเครียดและอารมณ์ต่างๆ แต่จะต้องสามารถแก้ไขสถานการณ์ความขัดแย้งตรงหน้าได้ด้วย

แล้วเราจะพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ของตัวเองอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้เป็นมิตรกับคนรอบข้างมากขึ้น

1. เริ่มจากการ “จดบันทึก”
ก่อนที่ในแต่ละวันจะจบลง ให้ลองไตร่ตรองดูว่าวันนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง เราปฏิบัติตนกับผู้อื่นอย่างไร เขียนออกมาให้หมดไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องดีหรือเรื่องร้าย การทำเช่นนี้จะช่วยให้เราหาแพตเทิร์นพฤติกรรมและการตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ ของตัวเองและคนรอบข้างได้ดีขึ้น และรู้ว่าตัวเราเองควรพัฒนาจุดไหนหรือเรื่องอะไรบ้าง

2. รับฟีดแบ็กแบบรอบทิศ
สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราสามารถพัฒนา EQ ให้ดีขึ้นได้คือ การเปิดใจรับฟังฟีดแบ็กจากคนรอบข้างอยู่เสมอ ไม่ว่าจะจากหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า หรือคนใกล้ตัวอย่างเช่น พ่อแม่ เพื่อนสนิท และคนรัก การเปิดใจรับฟังฟีดแบ็กจะเป็นสิ่งที่แสดงให้ผู้อื่นเห็นว่าตัวเรานั้นพร้อมที่จะพัฒนาอยู่เสมอ บางครั้งฟีดแบ็กที่ได้มาอาจจะมีทั้งดีและไม่ดี และหากเจอฟีดแบ็กที่ไม่ดี ก็ให้คิดเสียว่าเป็นโอกาสที่จะช่วยให้เราได้เรียนรู้และเติบโต

3. ฝึกรับฟังอย่างตั้งใจ
การสื่อสารของคนเราไม่ได้มีเพียงแค่การพูดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการฟังด้วย ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะการตั้งใจฟังจะทำให้เชื่อมโยงกับผู้อื่นได้ง่ายขึ้น รวมทั้งยังช่วยให้เข้าใจความคิดและความรู้สึกของผู้อื่นอีกด้วย เพราะฉะนั้นให้ลองตั้งใจฟัง โดยสามารถเริ่มได้จากการพยายามถามคำถาม พยักหน้าเมื่ออีกฝ่ายพูด และพูดทวนสิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งพูดอีกครั้ง

4. ใส่ใจอารมณ์ของตัวเอง
ก่อนที่จะทำความเข้าใจอารมณ์ของคนอื่น เราต้องเข้าใจอารมณ์ของตัวเองให้ได้ก่อน ดังนั้นเมื่อรู้สึกว่ามีอารมณ์อะไรบางอย่างก่อเกิดขึ้นมา ซึ่งดูค่อนข้างจะรุนแรง ไม่ว่าอารมณ์นั้นจะเป็นอารมณ์เชิงบวกหรือเชิงลบก็ตาม ให้ลองคิดคำนึงถึงอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นว่าเพราะเหตุใดเราถึงรู้สึกเช่นนี้ อะไรน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกนี้ขึ้นมา วิธีนี้จะช่วยให้เราตระหนักถึงอารมณ์ของตัวเองและเข้าใจคนรอบข้างมากขึ้น

5. พยายามคิดบวกและฝึกใจเย็นท่ามกลางความกดดัน
เมื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ บางคนอาจจะเลือกระเบิดอารมณ์และแสดงพฤติกรรมไม่ดีต่อคนรอบข้าง แต่คนที่ EQ สูงจะพยายามคิดบวก แสดงพฤติกรรมเชิงบวก และใจเย็นอยู่เสมอ เพราะการคิดเชิงบวกจะทำให้คนรอบข้างรู้สึกดีตามไปด้วย อีกทั้งการใจเย็นยังทำให้เราสามารถจัดการกับสถานการณ์ตรงหน้าได้ดีขึ้นอีกด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ยากๆ ให้ลองหายใจเข้าลึกๆ เพื่อให้ตัวเองใจเย็นลง เพื่อรักษาพลังงานเชิงบวกของตัวเองไว้

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายครั้งเรามักจะอารมณ์ร้อนใส่คนที่รักโดยไม่รู้ตัว แม้ว่าเราจะไม่ได้มีเจตนามุ่งร้าย แต่การกระทำที่แสดงออกมาก็เป็นการทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่งอยู่ดี หากไม่อยากเสียใจภายหลัง ก็อย่าเอาความโกรธจากที่อื่นมาลงกับคนที่เราคิดว่าเขาจะไม่ไปไหน เพราะในความเป็นจริงแล้วมันอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป จงใจเย็น มีสติและรู้ตัวอยู่เสมอ ว่าตัวเองกำลังทำอะไรและสิ่งที่เราทำจะส่งผลกระทบต่อผู้อื่นอย่างไร “จงปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่เราอยากให้เขาปฏิบัติต่อเรา”


อ้างอิง
– Why we push away those we love most: ‘They didn’t deserve that’ : Jenna Ryu, USA TODAY – https://bit.ly/3QM1xtM
– Why are we the meanest to the people who love us the most? : Ella Glover, Metro.co.uk – https://bit.ly/3K50qBA
– EMOTIONAL INTELLIGENCE SKILLS: WHAT THEY ARE & HOW TO DEVELOP THEM : Lauren Landry, Harvard Business School Online – https://bit.ly/4bEM32H
– How To Improve Emotional Intelligence in 9 Steps : Jennifer Herrity, Indeed – https://bit.ly/44GTjc9

#selfdevelopment
#emotionalintelligence
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า