เคยไหมเวลาคบกับใครแล้วสูญเสียความเป็นตัวเอง และให้ความสุขของเราขึ้นอยู่กับเขาไปหมด ถึงขนาดว่าแค่ไม่ได้เจอกันแป๊บเดียว ก็รู้สึกโหวงๆ และเอาแต่คิดถึงแต่อีกฝ่าย
ซ้ำร้าย หลายคนอาจเป็นกังวลจนไม่เป็นอันทำอะไร ถึงขนาดว่าประโยค “ขาดเขาแล้วเหมือนขาดใจ” ยังจริงน้อยไปด้วยซ้ำ!
อาการแบบนี้เรียกว่าอะไร เรารักเขามากเกินไป หรือ เรามีบุคลิกแบบ “พึ่งพาฝ่ายหนึ่งมากเกินไป” (Codependency) หรือเปล่า
รู้จัก “ #Codependency ” เมื่อตัวตนของเราผูกไว้กับเขาจนมากเกินไป
บุคลิกแบบพึ่งพาฝ่ายหนึ่งมากเกินไป หรือ Codependency ในความสัมพันธ์ คือ การที่ฝ่ายหนึ่งพึ่งพาอีกฝ่ายในหลายๆ ด้านจนมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นด้านจิตใจ ด้านอารมณ์ ร่างกาย ไปจนถึงจิตวิญญาณ โดยความสัมพันธ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นได้กับทุกๆ ความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างคนรัก เพื่อน หรือครอบครัว
แล้วอะไรล่ะที่เป็นสาเหตุของการพึ่งพาที่มากเกินไปนี้ ดอกเตอร์มาร์ก เมย์ฟิลด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษา กล่าวว่า “โดยพื้นฐานแล้ว เกิดจากการที่คนคนหนึ่งไม่ค่อยมีความเข้าใจเกี่ยวกับตัวตนและขอบเขตของตนเอง” อีกทั้งยังรวมถึงไม่มีความสามารถในการแสดงความคิดเห็นหรือปฏิเสธอีกด้วย
ความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอีกฝ่ายมากเกินไปนั้นวกวนราวกับวงกลม โดยมี “ผู้ให้” และ “ผู้รับ” โดยที่ผู้ให้นี้เองเป็นคนที่พึ่งพาผู้รับ อยากให้ผู้รับต้องการตนและจะมีความสุขได้เมื่อเป็นที่ต้องการเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้รับไม่ได้ต้องการผู้ให้อีกต่อไปแล้ว ผู้ให้จะรู้สึกเหมือนตนไร้ค่าขึ้นมาทันที
สัญญาณที่บ่งบอกว่าเราพึ่งพาอีกฝ่ายมากเกินไป ก็มีอยู่หลายอย่าง เช่น..
[ ] รู้สึกต้องระมัดระวังทั้งคำพูดและการกระทำตลอดเวลา เพราะกลัวมีปัญหากัน
[ ] เป็นฝ่ายขอโทษตลอด แม้จะไม่ได้ผิด
[ ] ยอมทำทุกอย่างเพื่ออีกฝ่าย แม้จะไม่โอเคกับสิ่งนั้นก็ตาม
หากรู้สึกคุ้นๆ และคิดว่าอาการแบบนี้ใช่เราแน่ๆ มาดูกันดีกว่าว่าเราจะทำอย่างไร ไม่ให้เราผูกตัวเองกับอีกฝ่ายไว้มากเกินไปจนไม่มีความสุข
#Independent มากขึ้นในความสัมพันธ์
คนเรามักจะพูดบ่อยๆ เรื่องการ “ค้นหาตัวตน” ของตัวเองตอนโสด หรือการกลับมารู้จักตัวเองอีกครั้งหลังการจบความสัมพันธ์ แต่กระนั้นหลายคนกลับลืมไปว่า เราก็สามารถทำเรื่องเหล่านี้ได้ แม้ว่าเราจะอยู่ในความสัมพันธ์
และจริงๆ ไม่ว่าเราจะอยู่ในความสัมพันธ์แบบ Codependency หรือไม่ การอยู่ได้ด้วยตัวเองหรือเป็นคน Independent ในความสัมพันธ์ก็เป็นเรื่องที่น่าสนับสนุนอยู่แล้ว
แล้วเราจะอยู่ด้วยตัวเองอย่างมีความสุขได้ด้วยวิธีใดบ้าง? มาดูกัน
1) ดูแลตัวเองคือสิ่งสำคัญที่สุด
การดูแลตัวเองให้ดีทั้งร่างกายและจิตใจถือเป็นการบอกรักตัวเองอย่างหนึ่ง แต่สำหรับบางคนมักจะหลงลืมเรื่องเหล่านี้ไปง่ายๆ เพราะมัวแต่พยายามทำให้อีกฝ่ายมีความสุข กว่าจะรู้ตัวอีกทีว่าละเลยความต้องการของตัวเองไปก็ตอนที่อยู่คนเดียว
จริงๆ แล้วการที่เราจะดูแลผู้อื่นแบบไม่ทำร้ายตัวเองได้ คือ เราต้องดูแลตัวเองให้ดีเสียก่อน ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการดูแลรูปลักษณ์ภายนอกอย่างการออกกำลังกาย ทานอาหารดีๆ และดูแลผิวพรรณ หรือจะเป็นการดูแลภายในจิตใจ เช่น การจดบันทึก อ่านหนังสือ หรือนั่งสมาธิ
2) ถามตัวเองว่า เราให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรบ้าง
ลองคิดดูว่ามีเรื่องอะไรที่เราให้ความสำคัญในชีวิตบ้าง เช่น การเรียนรู้ การพัฒนาตนเอง การรักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนและคนในครอบครัว และลองตอบตัวเองว่า ทุกวันนี้เรายังใส่ใจและให้ความสำคัญเรื่องพวกนี้อยู่ไหม
หากคำตอบ คือ ‘ไม่ พอมีความสัมพันธ์เราก็ไม่ได้ใส่ใจเรื่องพวกนี้เลย’ บางทีนี่อาจถึงเวลาหันไปให้ความสำคัญกับสิ่งอื่นๆ ที่เราให้คุณค่าบ้างนะ
3) ขีดเส้นขอบเขตให้ชัดเจน
การสร้างขอบเขตของตัวเองเป็นเรื่องสำคัญไม่ว่ากับความสัมพันธ์รูปแบบไหน เพราะมันเป็นการสื่อสารอย่างหนึ่งว่ามีอะไรบ้างที่เราจะไม่ยอมให้ใครล้ำเส้น ในขณะเดียวกัน หากเราจะรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเราและคนอื่น เราก็ควรจะเคารพขอบเขตของอีกฝ่ายเช่นกัน
4) ทำอะไรด้วยตัวเองบ้าง
ไปไหนมาไหน ทำอะไรด้วยตัวเองครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่? จริงอยู่ที่การทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับคนรักนั้นเป็นประสบการณ์ที่ดี แต่การทำอะไรด้วยตนเองช่วยให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น ยืนหยัดได้ด้วยตนเองมากขึ้น และเติบโตมากขึ้น แถมยังเพิ่มความสดใหม่ให้ความสัมพันธ์ด้วย เนื่องจากต่างฝ่ายต่างได้ไปทำกิจกรรมของตัวเอง รู้จักเพื่อนใหม่ๆ ได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ และกลับมาเล่าให้กันฟัง
เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อทั้งสองแยกย้ายไปใช้เวลากับตัวเองบ้าง จะได้รู้สึกขอบคุณและเห็นคุณค่าเวลาที่ได้ใช้ร่วมกันมากขึ้น
5) อย่าลืม Passion
ไม่ว่าเราจะสนใจเรื่องอะไร อย่าละทิ้งเรื่องนั้นเพียงเพราะมีความสัมพันธ์ Passion นี้เองจะเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตเรามีความหมายและเป็นที่ยึดเหนี่ยวให้เราในวันที่ต้องอยู่คนเดียว
6) และที่สำคัญอย่าลืมเพื่อนด้วย
ก่อนคุณและคนรักจะคบกัน ชีวิตคงรายล้อมไปด้วยเพื่อนและครอบครัวใช่ไหม? เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรักษาความสัมพันธ์เหล่านี้ แม้ว่าเราจะมีความสัมพันธ์ใหม่แล้ว เพราะเราคงไม่อยากให้ความสุขของเราขึ้นอยู่กับคนคนเดียว ดังนั้นหาเวลาสัก 1 วันต่อสัปดาห์ใช้เวลากับคนรอบตัวคนอื่นๆ ดูบ้าง
ความสัมพันธ์ที่ดีคือการที่ทั้งสองฝ่ายเป็นตัวเองในเวอร์ชันที่ดีขึ้น เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กันและกัน ขณะที่ต่างฝ่ายต่างวิ่งตามความฝันของตัวเอง
แน่นอนว่ากว่าจะไปถึงจุดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย หลายๆ ครั้งในความสัมพันธ์ เราสูญเสียความเป็นตัวเอง ลืมเป้าหมาย และละทิ้งความต้องการของตัวเองไปบ้าง แต่เมื่อใดที่เราตระหนักได้ การกลับมาตามหาตัวเองอีกครั้งก็ไม่ใช่เรื่องสายเกินไป
อย่าลืมว่าเรานั้นเข้มแข็งแค่ไหน และกลับมายืนหยัดได้ด้วยตัวเองอย่างมีความสุขเสมอ
อ้างอิง
https://bit.ly/3G0AXZ0
https://bit.ly/3hy6ZlM
https://bit.ly/3FHgQh5
#missiontothemoonpodcast
#missiontothemoon
#selfdevelopment
#psychology