หากพูดถึงช่วงสมัยเด็ก คุณนึกถึงอะไร?
ถ้าเป็นเด็กยุคก่อนๆ ก็อาจจะนึกถึงเพจเจอร์ ตลับเทป ร้านเช่าวิดีโอ แฟมิคอม หรือหนังชื่อดังอย่างโลกทั้งใบให้นายคนเดียว
ถ้าเป็นเด็กที่เติบโตมาในยุคหลัง 2000s ก็อาจจะนึกถึงกามิกาเซ่ บอยแบนด์ไทยอย่าง D2B หรือซีรีส์เกาหลีอย่าง My Sassy Girl
เมื่อเกิดและเติบโตกันคนละยุคสมัย ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่แต่ละคนจะมีความทรงจำวัยเด็กที่แตกต่างกันออกไป แต่เชื่อว่ามีสิ่งหนึ่งที่ทุกคนอาจจะคิดถึงเหมือนกันแน่ๆ นั่นก็คือ “เพื่อนวัยเด็ก”
บางคนอาจจะทำเพื่อนวัยเด็กหล่นหายไประหว่างทาง แต่บางคนก็อาจจะยังสามารถรักษาสายสัมพันธ์เหล่านั้นไว้ได้จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งหากใครรักษาไว้ได้ก็ต้องบอกว่าสายสัมพันธ์ที่พิเศษนี้จะก่อให้เกิดผลประโยชน์กับเรามหาศาล
มาดูกันว่าการรักษาเพื่อนสนิทวัยเด็กไว้ ในขณะที่เรากำลังหล่อหลอมตัวตนเป็นผู้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ มีประโยชน์ต่อตัวเราอย่างไรบ้าง
เพื่อนที่อยู่ในทุกช่วงวัยของชีวิต
การรักษามิตรภาพในวัยเด็กไว้ได้นั้นจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพจิตของเรามากๆ เพราะเพื่อนวัยเด็กเป็นเพื่อนที่เรารู้จักตั้งแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพื่อนเหล่านี้เป็นคนที่ช่วยหล่อหลอมเราขึ้นมา รวมถึงเป็นคนที่มีความทรงจำและประสบการณ์ร่วมกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความทรงจำที่เคยเรียนด้วยกันหรือเล่นด้วยกัน เรียกได้ว่าเป็นคนที่เติบโตขึ้นมาด้วยกันจริงๆ
ดังนั้นแล้วเพื่อนเหล่านี้จะรู้ได้ว่าเมื่อไรที่เรามีความสุขและเมื่อไรที่เราหมดแรงและกำลังใจ ทำให้เขาเหล่านั้นคอยอยู่เคียงข้างเรามาเสมอ
เพราะอะไรเพื่อนในวัยเด็กถึงรู้จักเราดีขนาดนั้นล่ะ?
ลองนึกภาพย้อนกลับไปในวัยเด็ก ตอนนั้นเราต่างก็ให้ความสำคัญกับคำว่า “เพื่อน” มาเป็นอันดับต้นๆ หรือสำหรับบางคนแล้วอาจจะมากกว่าคนในครอบครัวด้วยซ้ำ เพราะเวลาเรามีปัญหาอะไรก็ตาม เรามักจะไประบายและขอความช่วยเหลือจากเพื่อนก่อนเสมอ
เช่น เวลาเราชอบใครเราก็จะเล่าให้เพื่อนฟังและเพื่อนก็จะคอยสนับสนุนความรักในแต่ละครั้งของเราเสมอ หรือในบางครั้งเรามีปัญหาเรื่องการเรียน เรียนแล้วไม่เข้าใจ คนที่คอยช่วยเหลือเราก็คือเพื่อนของเรานั่นเอง
ความทรงจำเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่หล่อหลอมความเป็นตัวเรา และหล่อหลอมความสัมพันธ์ของเรากับเพื่อนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพราะเราทั้งคู่ผ่านช่วงเวลาแห่งความสุขและช่วงเวลาแห่งความเศร้ามาด้วยกัน
และนอกจากการมีเพื่อนสนิทในวัยเด็กจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพจิตของเราแล้ว ก็ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพกายด้วย เพราะจากการศึกษาที่เผยแพร่โดย Frontiers in Psychology ในปี 2021 พบว่า การมีมิตรภาพที่ดีส่งผลให้สุขภาพดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น และระดับสุขภาวะสูงขึ้น
อีกทั้งผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Psychological Science ยังพบอีกว่า ผู้ชายที่ใช้เวลากับเพื่อนในวัยเด็กเยอะๆ เมื่อโตขึ้นจนอยู่ในช่วงวัยสามสิบต้นๆ มีแนวโน้มที่จะมีความดันโลหิตและดัชนีมวลกายต่ำกว่า หมายความว่าการใช้เวลากับเพื่อนในวัยเด็กของเรามีความสัมพันธ์กับสุขภาพกายในวัยผู้ใหญ่นั่นเอง
นอกจากนี้แล้วเพื่อนในวัยเด็กยังมีคุณค่าต่อชีวิตของเราอีกมากมาย เพราะ…
[ ] เพื่อนวัยเด็กรู้จักเราเป็นอย่างดี เขาเห็นข้อดีและข้อเสียของเรามาหมดแล้ว ดังนั้นเราจึงสามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ เพราะไม่มีอะไรต้องปิดบัง
[ ] เพื่อนวัยเด็กช่วยให้เราเสริมสร้าง Self-Esteem ได้เป็นอย่างดี เพราะไม่ว่าจะผ่านร้อนหรือหนาว เขาก็จะยังคอยอยู่เคียงข้างและทำให้เรารู้สึกปลอดภัยอยู่เสมอ
เพื่อนวัยเด็กแบบไหนที่ควรปล่อยไป?
ถึงแม้ว่ามิตรภาพวัยเด็กจะมีข้อดีมากมาย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในบางครั้งเพื่อนบางคนก็ส่งผลเสียต่อชีวิตเราได้เหมือนกัน เช่น บางมิตรภาพอาจรั้งเราไว้ทำให้ไม่เป็นอิสระและไม่สามารถเติบโตต่อไปข้างหน้าได้ หรือหากเพื่อนเป็นคนที่มีนิสัยเป็นพิษ (Toxic) ก็อาจทำให้เราเสียสุขภาพจิตได้
ลองถามตัวเองด้วย 4 คำถามต่อไปนี้ว่าเราควรเก็บมิตรภาพวัยเด็กกับใครบางคนไว้หรือควรปล่อยไปกันแน่
1. มิตรภาพระหว่างเรากับเพื่อนเปลี่ยนไปหรือยัง? ลองทบทวนดูว่าเวลาที่เราต้องเผชิญกับความยากลำบาก เพื่อนคนนั้นยังคอยอยู่เคียงข้างเราหรือไม่
2. มิตรภาพระหว่างเรากับเพื่อนช่วยให้เราเติบโตและเรียนรู้อะไรมากขึ้นหรือไม่? เพื่อนที่ดีจะต้องคอยช่วยกันผลักดันให้เราเป็นตัวของตัวเองในเวอร์ชันที่ดีที่สุด ถ้าไม่เช่นนั้นก็ถึงเวลาต้องพิจารณามิตรภาพครั้งนี้ใหม่
3. เพื่อนมีนิสัยที่เป็นพิษ (Toxic) ต่อคนรอบข้างหรือไม่? ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์แบบไหนก็ตาม หากมีคนที่มีนิสัยเห็นแก่ตัว เราก็คงจะไม่มีความสุข และหากอยู่แล้วไม่มีความสุข เราก็ควรปลีกตัวออกมา
4. รู้สึกแย่เมื่อต้องใช้เวลาร่วมกันหรือไม่? ลองสังเกตตัวเองดูว่าเวลาอยู่กับเพื่อนคนนั้นแล้วเรารู้สึกสนุก มีความสุข หรือรู้สึกหนักใจและหงุดหงิดเมื่ออยู่ใกล้ๆ มากกว่า หากรู้สึกไม่สบายใจก็ควรลดระยะเวลาที่ใช้ร่วมกัน
ทุกความสัมพันธ์ไม่ได้คงอยู่ตลอดไป
คนเราเมื่อมีพบก็ต้องมีจาก เพราะช่วงวัยเด็ก วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่เป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง เช่น การย้ายโรงเรียนเพื่อเลื่อนระดับชั้น การก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย และการก้าวเข้าสู่โลกการทำงาน ช่วงเวลาเหล่านี้เป็นเหมือนบททดสอบว่ามิตรภาพที่มีจะยังไปต่อได้อยู่หรือไม่
เพราะในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้เราต้องสร้างตัวเองใหม่ ต้องเจอคนใหม่ๆ ทำให้ต้องห่างจากเพื่อนสมัยเด็กและมิตรภาพที่มีก็อาจเริ่มจืดจางลง เพราะเริ่มติดต่อกันน้อยลง ส่งข้อความหากันน้อยลง และพูดคุยกันน้อยลง ทำให้เราไม่ได้แบ่งปันประสบการณ์ที่ดี รวมถึงความทุกข์ยากในชีวิตประจำวันเหมือนอย่างที่เคยเป็นมาอีกต่อไป
น่าเศร้าที่ในบางครั้งเราก็อาจจะหลงลืมใครหลายคนไว้ระหว่างทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคนเหล่านั้นเป็นคนที่เราเคยมีความทรงจำและประสบการณ์ร่วมกันมามากมาย
เมื่อมีกันอยู่ ก็ดูแลรักษากันไว้ให้ดี
เคยได้ยินไหมว่า “สิ่งที่ยากยิ่งกว่าการสร้างความสัมพันธ์ ก็คือการรักษาความสัมพันธ์” ฉะนั้นหากใครมีเพื่อนดีๆ อยู่ข้างกายก็ควรรักษามิตรภาพเก่าแก่เหล่านั้นไว้ให้ดี ด้วยวิธีการง่ายๆ ดังนี้
1. ใจดีต่อกันให้มากหน่อย
เพราะเพื่อนเป็นส่วนสำคัญในชีวิตเรา เป็นคนที่คอยนั่งหัวเราะข้างๆ ในวันที่มีความสุขและคอยปลอบใจในวันที่เศร้า ดังนั้นเวลาที่เรามีความสุขก็อย่าลืมนึกถึงเพื่อนบ้าง โดยอาจจะลองซื้อของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ไปให้ หรือเลี้ยงข้าวกันสักมื้อก็ได้ เพื่อแสดงความรักและความเอื้อเฟื้อให้แก่กันและกัน
2. ฟังกันและกันให้มากขึ้น
“การรับฟัง” เป็นกุญแจสำคัญของทุกความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นแฟน ครอบครัว หรือแม้กระทั่งเพื่อน เพราะในบางครั้งเพื่อนอาจจะมีเรื่องทุกข์ใจ แม้ว่าเราจะไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้แต่เราก็สามารถทำหน้าที่เป็นผู้รับฟังที่ดีและคอยอยู่ข้างๆ ได้
3. หาเวลาให้กันบ้าง
แม้ว่าชีวิตเราจะวุ่นวายไปกับการเรียนหรือการทำงานบ้าง แต่ก็อย่าลืมว่ามิตรภาพของเราก็สำคัญไม่แพ้กัน ดังนั้นจึงควรหาเวลาพูดคุยหรือชวนเพื่อนออกไปพบปะกันข้างนอกบ้าง เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่มีให้คงอยู่ต่อไป
สิ่งเหล่านี้สามารถสรุปเป็นหนึ่งประโยคง่ายๆ ก็คือ “ให้ความสำคัญกันให้มากๆ” เพราะถ้าเราไม่ให้ความสำคัญกับมิตรภาพของเรา แน่นอนว่ามันก็อาจไม่สามารถคงอยู่ไปได้ตลอดอย่างที่ต้องการ
ดังนั้นแล้วหากเราต้องการให้เพื่อนสนิทอยู่ข้างๆ ไปนานๆ เราก็ต้องดูแลรักษาไว้ให้ดี เชื่อว่าสุดท้ายแล้วความสัมพันธ์อันล้ำค่านี้จะช่วยให้เราเติบโตขึ้นได้อย่างสวยงามและมีความสุขมากขึ้นอย่างแน่นอน
แปลและเรียบเรียง
– Is It Important to Keep Childhood Friends? : Barbara Field, Verywell Mind – http://bit.ly/3w51azy
– 6 Reasons why childhood friends are so valuable when we’re adults : Dolors Massot, Aleteia – http://bit.ly/3Xx5qUx
– Childhood Friends: When to Stay and When to Move On : Lisa Bruchac, Lifehack – http://bit.ly/3WdhmJH
– Maintaining Friendships in Adulthood : Kristen Fuller, Psychology Today – http://bit.ly/3vYi3vR
#selfdevelopment
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast