self developmentทำไมว่างแล้วรู้สึกผิด? เข้าใจสาเหตุและรู้จักวิธีพักผ่อนให้เต็มที่แบบไม่รู้สึกแย่กับตัวเอง

ทำไมว่างแล้วรู้สึกผิด? เข้าใจสาเหตุและรู้จักวิธีพักผ่อนให้เต็มที่แบบไม่รู้สึกแย่กับตัวเอง

หลังจากทำงานมาอย่างหนักหน่วงทั้งสัปดาห์ ในที่สุดก็ถึงวันหยุด! เรานอนตื่นสายและเล่นโทรศัพท์อยู่บนเตียงแบบไม่รีบร้อน เข้าแอปนู้น ออกแอปนี้ วันนี้ไม่ได้มีแพลนออกไปไหน สิ่งที่อยากทำมีเพียงดูซีรีส์ที่อยากดูมานาน ..แต่กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็บ่ายแก่ๆ แล้ว เรายังไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากไถหน้าจอ

เรารู้สึกผิดขึ้นมาทันที

จู่ๆ สิ่งที่คิดว่าควรทำก็ผุดขึ้นมาในหัวเต็มไปหมด ทำไมไม่ซักผ้า ทำไมไม่ทำความสะอาดบ้าน ทำไมไม่ออกกำลังกาย หรือเรียนคอร์สออนไลน์ที่ซื้อไว้ล่ะ? จริงอยู่ที่เราอยากดูซีรีส์ แต่หลังจากไม่ทำอะไรมาทั้งวันแล้วจะให้ดูซีรีส์อีกทำให้เรารู้สึกแย่อย่างบอกไม่ถูก

วันหยุดเป็นของเราแท้ๆ แต่ทำไมเราถึงรู้สึกว่าตัวเองขี้เกียจจังนะ และทำไมว่างแล้วรู้สึกผิดด้วย!?!

เป็นเพราะเราให้คุณค่ากับการทำงานหนักเกินไปหรือเปล่า?

แม้ในช่วงหลังๆ จะมีเทรนด์อย่าง Work-Life Balance หรือ Work smarter, not harder ที่พยายามชวนคนมาให้คุณค่ากับผลงานมากกว่าชั่วโมงงานที่ทำไป ต้องยอมรับว่าหลายๆ คนยังแวดล้อมด้วยวัฒนธรรมที่ให้คุณค่า “การทำงานหนัก” อยู่ อย่างการเป็นคน Productive หรือทำหลายๆ งานจนตัวเป็นเกลียว หัวเป็นน็อต (Hustle Culture) อีกทั้งหนังสือ Self-help หลายๆ เล่มยังทำให้คนจำนวนไม่น้อยเชื่ออย่างสุดใจว่า จะประสบความสำเร็จได้ต้องยินดีทำสิ่งที่คนอีก 99% ไม่ทำกัน

นอกจากนั้นแล้ว คนเราใช้เวลากว่า 1 ใน 3 ของชีวิตแต่ละวันไปกับการทำงาน ทำให้หลายๆ คนนิยามตัวเองด้วยความสำเร็จเรื่องงาน ความ Productive เชื่อมโยงกับตัวตนจนแยกเรื่องงานจากเรื่องส่วนตัวแทบไม่ออก แน่นอน การได้รับคำชมว่าขยัน หรือผลงานออกมาดี ทำให้เรามีความสุขและรู้สึกดีกับตัวเอง แต่บางครั้งมันก็มาพร้อมกับ “ความรู้สึกผิด” เมื่อเราใช้เวลาไปกับการพักผ่อน

อีกสาเหตุที่ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนขี้เกียจเวลาพัก คือ ผลประโยชน์ที่เห็นไม่ชัดและไม่เป็นรูปธรรมของการพักผ่อน ในตอนที่เราทำงานหนัก เราเห็นผลลัพธ์ในเรื่องงานตามมาทันที (เช่น ผลงานที่ออกมาดี หรือ คำชมจากหัวหน้า) มันจับต้องได้มากกว่าผลลัพธ์ในเรื่องงานของการพักผ่อน (เช่น มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น) ด้วยเหตุผลเหล่านี้เอง คนเราจึงรู้สึกผิดกับการพักผ่อนอย่างช่วยไม่ได้ ทั้งๆ ที่การพักให้ประโยชน์ทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต และส่งผลดีกับการทำงานอย่างมาก

เวลาที่เราใช้ไปกับการพักผ่อน จริงๆ แล้วไม่ใช่เวลาที่เสียไปกับการอยู่เฉยๆ แต่เป็นช่วงเวลาแห่งการเติมเต็มพลังงานให้สมองและร่างกาย หากจะพูดให้ชัดคือ เราไม่ได้แค่พักผ่อน (Resting) แต่ยังฟื้นตัว (Recovering) อีกด้วย

ที่น่าสนใจ คือ สมองของเราระหว่างพักนั้นยังคงทำงานอย่างต่อเนื่องในการประมวลผล และจัดระเบียบข้อมูลที่เราได้รับในวันนั้น หากเราอยากให้สมองทำงานได้ดีขึ้น เราควรเรียนรู้ที่จะพักเพื่อให้สมองได้ทำงานตามที่ควรจะเป็น (นี่เป็นสาเหตุที่ว่าทำไมเวลาเราโต้รุ่งในคืนก่อนสอบ มักจะจำอะไรไม่ค่อยได้อยู่ดี เพราะสมองไม่ได้ทำงานอย่างที่มันควรทำนั่นเอง)

พอสมองเราทำงานได้อย่างดีแล้ว ประโยชน์ที่ตามมาก็มีมากมายหลายอย่าง ตั้งแต่การทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น Productive มากขึ้น มั่นใจในตัวเองมากขึ้น มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ไปจนถึงวิตกกังวลน้อยลง

Advertisements

แน่นอนว่าหลายๆ คนรู้ประโยชน์ของการพักผ่อนดีอยู่แล้ว
แต่เรื่องยากคือจะพักอย่างไรให้ไม่รู้สึกผิด?

อันดับแรก คือ เราต้องเข้าใจเสียก่อนว่า “การพักผ่อน” หรือ “การไม่ทำอะไร” นั้น ไม่ได้เท่ากับว่าเราขี้เกียจ (Inactive ≠ Lazy) ดังนั้นการพัก ไม่ว่าจะพักระหว่างวันหรือพักหลังเลิกงาน คือการรักษาพลังกาย พลังสมอง และพลังใจเสียมากกว่า หรืออาจมองว่า “การพักผ่อนคือการลงทุน” ก็ช่วยได้ เพราะมนุษย์เราลงทุนหลายอย่างในการวิ่งตามความฝัน การพักก็เป็นหนึ่งในนั้น

หากใครยังรู้สึกผิดอยู่ ลองมองจากมุมใหม่ๆ โดยการเปลี่ยนคำว่าพักผ่อนเป็น “พักฟื้น” (Recovery) แทนก็ได้ เพราะคำว่าพักพื้นนั้นดูมีเป้าหมายมากกว่า ซึ่งก็คือการฟื้นตัวเพื่อไปทำบางอย่างต่อ

ในระหว่างการพัก ไม่ว่าเราจะเรียกว่าพักฟื้นหรือพักผ่อน คาดไว้เลยว่าเราจะรู้สึกผิดบ้าง แต่อย่าตกหลุมพลางการใช้อารมณ์ตัดสิน (Emotional Reasoning) หรือการเชื่อว่าอารมณ์ของเรานั้นถูกต้องและเป็นจริงเสมอ เช่น เราพักแล้วรู้สึกแย่ = การพักนั้นไม่ดี

นอกจากนั้นแล้ว ความคิดอีกอย่างที่เราควรละทิ้ง คือ “Scarcity Mindset” หรือความรู้สึกว่าทุกอย่างมีจำกัด เช่น คนอื่นประสบความสำเร็จไปกันหมดแล้วจะไม่มีที่เหลือให้เรา เราต้องรีบเผื่อจะวิ่งแข่งกับทุกคนได้ เป็นต้น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว เราทุกคนล้วนเดินบนถนนคนละสายที่มีช่วงเวลาในการประสบความสำเร็จที่แตกต่างกัน

คนที่ประสบความสำเร็จก่อนอาจมีปัจจัยอื่นๆ ที่เอื้อให้เขาทำเช่นนั้นได้ แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จบ้าง ยิ่งไปกว่านั้น การมัวแต่มานั่งเปรียบเทียบ หรือ กังวลที่คนอื่นประสบความสำเร็จ ไม่ได้ช่วยอะไรเราเลยนอกจากทำให้เราไม่มีความสุข

อีกวิธีที่จะช่วยให้พักผ่อนอย่างไม่รู้สึกผิด คือ ไม่ใช่เวลาไปกับการทำกิจกรรมที่เรารู้สึกแย่ เช่น การเล่นโซเชียลมีเดีย จริงอยู่ที่การเล่นโซเชียลมีเดียนั้นไม่ผิด แต่งานวิจัยหลายงานพบว่า การเล่นโซเชียลมีเดียอาจทำให้เรารู้สึกลบกับตัวเอง ความมั่นใจต่ำ รู้สึกโดดเดี่ยว และอาจเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรควิตกกังวลหรือซึมเศร้าได้

แล้วจะใช้เวลาไปกับอะไรดี? เราลองมาใช้เวลาทำกิจกรรมที่ทำให้ตัวเองรู้สึกดีแทนไหม เช่น การดูหนัง อ่านหนังสือ ออกไปพบปะผู้คน เดินเล่น หรือลองทำอาหารเมนูใหม่ๆ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้อาจไม่ได้ให้ความพึงพอใจทันที (Instant Gratification) เหมือนการดูคลิปสั้นบนมือถือ แต่มันดีต่อใจเรากว่าในระยะยาวนะ

เข้าใจการพักผ่อนมากขึ้นแล้ว ลองมาวางแผนกันมั้ยว่าสุดสัปดาห์นี้อยากทำอะไรบ้าง (เช่น ออกไปสวนสาธารณะ อ่านหนังสือ ไปดินเนอร์กับเพื่อน หรือดูหนังจิบไวน์เบาๆ อยู่บ้าน) และไม่อยากทำอะไรบ้าง (เช่น จะไม่ตอบเมล หรือ จะไม่ตอบแช็ตงาน) หรือจะปล่อยไปตามอารมณ์ อยากทำอะไรก็ทำก็ได้

อย่าลืมว่าเวลานี้เป็นของเรา เราเลือกได้เต็มที่และไม่ต้องรู้สึกผิดว่าอยากทำอะไร 🙂


อ้างอิง
– 7 Ways to Disconnect from Work (Without Feeling Guilty) : https://bit.ly/42Ypbrd
– Feeling Guilty About Rest? Here are 5 Tips! | Medium : https://bit.ly/3C8XaBv
– 5 Reasons We Feel Guilty When Relaxing And What to Do | Psych Central : https://bit.ly/3Mtxi82
– How Resting More Can Boost Your Productivity : https://bit.ly/3Iw1OwD

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#selfdevelopment
#inspiration

Advertisements
Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า